01 กุมภาพันธ์ 2556

การศึกษาไร้ขีดจำกัด...ที่ศูนย์บริการนศ.พิการ มธ.

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 17 ตุลาคม 2550 10:10 น. การศึกษาไร้ขีดจำกัด...ที่ศูนย์บริการนศ.พิการ มธ.
เชื่อว่าทุกคนคงเคยผ่านช่วงชีวิตที่ท้อแท้หมดกำลังใจ และคงมีคนจำนวนมากที่เลือกวิธีการให้กำลังใจตัวเองด้วยการมองคนที่กำลังเผชิญโชคหรือชะตากรรมที่ร้ายกว่า แต่สำหรับคนที่กำลังเผชิญชะตากรรมที่เลวร้ายดังเช่นคนที่มีร่างกายไม่สมประกอบ ไม่ครบ 32 เหมือนคนปกติ ที่ถูกเรียกขานกันว่า “คนพิการ”คนเหล่านี้จะมีทางออกทางใดหลงเหลือให้ชีวิตของพวกเขา
แม้ภาครัฐจะพยายามหาทางเยียวยาแก้ไขเคราะห์กรรมที่เขาประสบอยู่ก็ตาม แต่ก็ดูเหมือนว่าความช่วยเหลือที่ได้ก็ยังไม่เพียงพอและเข้าถึงคนพิการทุกคนอยู่ดี แต่ทางออกที่ดีที่พอจะทำได้นั่นก็คือ “การศึกษา” ซึ่งแม้ว่าการเข้าถึงจะยากลำบากกว่าคนปกติทั่วไป แต่ก็มีสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาที่พยายามจะเปิดช่องทางการเข้าถึงให้คนพิการได้มีโอกาสรับการศึกษาได้มากขึ้น ดังตัวอย่างเช่น ม.ธรรมศาสตร์...
"อันสิทธิมนุษยชนข้อใดเล่า
จะเทียบเท่าสิทธิการศึกษา
ประกาศก้องต้องให้ความเมตตา
เสมอหน้าหนวกใบ้ไม่เว้นเอย"
บทประพันธ์กลอนสุภาพจากปลายปากกาม.ล.ปิ่น มาลากุล เด่นตระหง่านอยู่ในกรอบป้ายเหนือศูนย์บริการนักศึกษาพิการ ม.ธรรมศาสตร์ที่ตั้งอยู่ที่ศูนย์รังสิต ที่ถือเป็นปณิธานที่ทางมหาวิทยาลัยและเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ฯ ทุกคนยึดเป็นคติประจำใจ ในการให้บริการทางการศึกษาแก่นักศึกษาพิการทุกคน นอกเหนือจากปณิธานหลักของ “ปรีดี พนมยงค์” ผู้ประศาสน์การม.ธรรมศาสตร์ ที่กล่าวเอาไว้ว่า “ต้องการให้ม.ธรรมศาสตร์ เป็นมหาวิทยาลัยสำหรับประชาชนทุกคน” ...ซึ่งนั่นหมายความว่า คนผู้มีร่างกายไม่สมประกอบ ก็ไม่ได้รับการยกเว้นจากโอกาสทางการศึกษานี้ด้วย
ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ อธิการบดีม.ธรรมศาสตร์ได้พาเราย้อนไปถึงเมื่อแรกตั้งศูนย์ว่า จากปณิธานอันแน่วแน่ของผู้ประศาสน์การ มหาวิทยาลัยเห็นควรว่าควรจะเปิดโอกาสทางการศึกษาให้แก่ผู้สนใจที่มีร่างกายไม่พร้อมเหมือนคนปกติให้มีโอกาสได้รับการศึกษา โควตาการรับนักศึกษาพิการของมหาวิทยาลัยจึงเกิดขึ้น โดยเปิดในปีการศึกษา 2546 เป็นปีแรก โดยมีนักศึกษาพิการรุ่นแรก 12 คน และในปีรุ่งขึ้น (ปีการศึกษา 2547) รับอีก 18 คน
“แต่ปรากฏว่าเราพบปัญหาใหญ่อย่างหนึ่ง คือนักศึกษาพิการเหล่านี้สามารถสอบผ่านเกณฑ์มาตรฐาน คือ เกรด 2.00 เพียง 30% เท่านั้น ในปีการศึกษา 2548 ทางมหาวิทยาลัยจึงตั้งศูนย์บริการการศึกษานักศึกษาพิการขึ้น บนความเชื่อว่า ถ้าเราทำให้นักศึกษาตาบอดอ่านได้ ถ้าเราทำให้นักศึกษาหูหนวกฟังได้ และทำให้นักศึกษาที่พิการทางการเคลื่อนไหวสามารถมาเรียนและเข้าชั้นเรียนได้นักศึกษาเหล่านี้จะพัฒนาศักยภาพตัวเองไปได้มากกว่านี้”
“เราหาเทคโนโลยีใหม่ๆ อุปกรณ์ที่จะมาช่วยเด็กของเรา เครื่องมือการอ่านหนังสือในคอมพิวเตอร์โดยการใช้อักษรเบรลล์สำหรับนักศึกษาพิการทางสายตา เรามีเครื่องขยายตัวอักษรสำหรับนักศึกษาที่สายตาเลือนราง เรามีหนังสือเสียง มีอินเทอร์เน็ตเสียง และขณะนี้เราก็สั่งต่อรถให้นักศึกษาที่พิการด้านการเคลื่อนไหวให้เฉพาะต่อคนต่อคันเพื่อให้การมาเรียนของเขาสะดวกขึ้น ซึ่งในส่วนนี้เราได้ปรับตึกเรียนทั้งตึกให้มีทางลาดเพื่อให้นักศึกษาที่พิการทางการเคลื่อนไหวมาเรียนได้สะดวก ขนาดที่ว่า เราย้ายตึกเรียนของเด็กปกติ 700 คน เพื่อนักศึกษาพิการคนเดียว เราก็ทำมาแล้วครับ” ศ.ดร.สุรพลกล่าว
วิไลวรรณ ซึ้งปรีดา หรือ “พี่วิ” ของน้องๆ นักศึกษาพิการทุกคน ทำงานนี้มาหลายปีแล้วในฐานะนักแนะแนวการศึกษาและอาชีพ พี่วิเล่าย้อนไปถึงเมื่อแรกได้รับมอบหมายจากอธิการบดีมหาวิทยาลัยให้เข้ามารับงานสร้างศูนย์บริการการศึกษาเพื่อนักศึกษาพิการว่า “เป็นงานที่หินมาก” เพราะวันแรกที่มาถึงศูนย์เจอแต่ห้องเปล่าๆ
“เริ่มจากศูนย์ทั้งหมด และเราแทบไม่มีต้นแบบเลย เพราะตอนนั้นไม่มีศูนย์บริการครบวงจรเพื่อการศึกษาของเด็กพิการ ส่วนใหญ่เอาแบบมาจากมหาวิทยาลัยจากต่างประเทศ แต่ก็ไม่ได้เอาทั้งหมด เอามาปรับใช้ให้เข้ากับเด็กของเรา”
เมื่อถามว่าในศูนย์นี้มีอะไรให้นักศึกษาพิการบ้าง พี่วิตอบว่า มีอุปกรณ์ที่ทันสมัยและเหมาะสมที่ถูกคัดสรรมาอย่างดี ไม่ว่าจำเป็นเครื่องอำนวยความสะดวกในการอ่าน ไม่ว่าจะเป็นเครื่องเบรลล์ ดิสเพลย์ เครื่องขยายตัวอักษร ห้องสมุดเสียงที่มีซีดีหนังสือเสียงแทบทุกประเภทแม้กระทั่งวรรณกรรมเด็กและนวนิยาย นอกจากนี้ยังมี “แรงใจ” จากพี่ๆ เจ้าหน้าที่ทุกคนที่คอยดูแลน้องๆ นักศึกษาพิการอย่างเต็มที่และเต็มใจ รวมไปถึงเพื่อนๆ นักศึกษาอาสาสมัครที่ใช้เวลาว่างมาอ่านหนังสือเสียง ติววิชา และช่วยเหลือเพื่อนพิการด้านอื่นๆ ด้วย
“ส่วนน้องที่พิการด้านการเคลื่อนไหว เราก็หารือกันเรื่องความสะดวกในการที่จะให้เด็กเหล่านี้หลายวิธี สุดท้ายก็ได้ข้อสรุปว่า ต้องต่อรถให้ใช้ต่อคนต่อคัน เพราะความพิการและความสามารถของแต่ละคนไม่เท่ากัน และที่สำคัญที่เราทำให้มากกว่ามหาวิทยาลัยในต่างประเทศ ก็คือเราบริการทำกายภาพบำบัดรวมไปถึงการทำธาราบำบัดให้แก่นักศึกษาที่บกพร่องทางการเคลื่อนไหวที่แพทย์ลงความเห็นว่าหากทำกายภาพแล้วจะดีขึ้น เป็นความร่วมมือระหว่างศูนย์ฯกับคณะแพทยศาสตร์”
พี่วิอธิบายถึงรถดังกล่าว คือลักษณะคล้ายรถกระป๋อง มีทางขึ้นทางลงเป็นทางลาดที่นักศึกษาพิการทางการเคลื่อนไหว ดันรถเข็นวิลแชร์ของตนเองขึ้นรถได้ด้วยตัวเองอย่างไม่ลำบาก สำหรับการเคลื่อนที่ รถคันนี้เคลื่อนที่ได้ด้วยมอเตอร์ มีความเร็วพอประมาณ ลักษณะการสตาร์ทจะสตาร์ทด้วยมือ ทุกคันถูกออกแบบให้เหมาะกับผู้ใช้ ซึ่งขณะนี้นักศึกษาผู้พิการด้านการเคลื่อนไหวทุกคนที่กำลังศึกษาอยู่ ทางมหาวิทยาลัยได้มอบรถให้ใช้ทุกคน เพื่อความสะดวกในการเข้าเรียน
“แต่เมื่อเรียนจบรถนี้ก็จะคืน แล้วก็ส่งต่อให้รุ่นน้องต่อไป ก็มีการดูแลหลังการขาย ช่างเขาก็จะมาปรับให้รถเหมาะกับนักศึกษาคนต่อไป ถ้าถามว่าเราให้อะไรบ้าง คงต้องบอกว่าทุกอย่างที่จำเป็นในการศึกษา คือนอกจากจะมีศูนย์คอยบริการแล้ว นักศึกษาพิการบางคน...จะบอกว่าอะไร คือไม่มีอะไรมาเลย ถ้าเราตรวจสอบแล้วว่าไม่มีกำลังทรัพย์ เราจะหาทุนให้ ทุนการศึกษานี้พอสำหรับค่าเรียน ส่วนค่าหอเราจะให้เด็กที่ไม่มีจริงๆ อยู่ฟรี กินข้าวที่โรงอาหารมหาวิทยาลัย 3 มื้อ เรียกได้ว่าอะไรที่จำเป็น ถ้าไม่มีจริงๆ เรามีดูแลให้” พี่วิกล่าว
ด้านผู้ออกแบบและต่อรถเพื่อนักศึกษาพิการอย่าง “อเนก ทองสิมา” อดีตนายทหารสังกัดกรมช่างอากาศที่เคราะห์ร้ายประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์จนทำให้ต้องใช้ชีวิตที่เหลืออยู่บนรถเข็นนั้น แต่นั่นไม่ได้ทำให้ความหวังและกำลังใจของผู้ชายคนนี้ดับไปกับความสามารถด้านการเดินของเขาที่ต้องสูญเสียไป เพราะภายหลังการฟื้นฟูร่างกายจากอุบัติเหตุในครั้งนั้นแล้ว เขาได้ใช้ความรู้ความสามารถด้านการช่าง คิด ประดิษฐ์ ปรับแต่ง และลองผิดลองถูก เพื่อสร้างรถติดเครื่องยนต์ให้แก่ผู้พิการทางการเคลื่อนไหว ที่ต้องการการเคลื่อนไหวที่สะดวกกว่าวิลแชร์ปกติ ทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จึงได้ติดต่อและว่าจ้างให้เป็นผู้ต่อรถดังกล่าวให้แก่นักศึกษาพิการ
“ลองทำดู เริ่มจริงๆ จากแป๊บเหล็กอันเดียว จากนั้นก็ลองผิดลองถูกเรื่อยมา พยายามดัดแปลงให้เข้ากับความพิการของร่างกายผู้สั่งให้ได้มากที่สุดเพื่อความสะดวกในการใช้งาน โดยพยายามควบคุมค่าใช้จ่ายในการทำให้น้อยที่สุดเพื่อลดต้นทุนและลดภาระของผู้จ้าง เพราะเข้าใจในความลำบากตรงนี้ เราพยายามทำให้ใช้ได้จริงและใช้ได้ดีครับ ส่วนรถที่ต่อให้น้องนักศึกษาผมให้ชื่อว่า “บัดดี้ วิลแชร์” ครับ ” ชายผู้เติมฝันด้านการเคลื่อนไหวให้แก่คนพิการกล่าว
สำหรับน้องๆ นักศึกษาที่มีความบกพร่องทางร่างกายผู้ที่มีโอกาสได้ใช้บริการของศูนย์อย่าง “น้องกิ๊ก” – กาญจนา เสลาคุณ นักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะนิติศาสตร์ เปิดเผยว่ามีความบกพร่องทางการมองเห็นแต่กำเนิด แต่ทุกวันนี้ก็สามารถอ่านหนังสือกฎหมายได้โดยอ่านผ่านเครื่องคอมพิวเตอร์เบรลล์ดิสเพลย์ นอกจากยังยังมีเพื่อนๆ อาสาสมัครและพี่เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ ดูแลเรื่องของหนังสือเสียงที่มีบริการ หรือหากเป็นเอกสารประกอบการเรียนใหม่ๆ น้องกิ๊กก็สามารถนำมาให้พี่ๆ เพื่อนๆ อ่านเป็นไฟล์เสียงเพื่อฟังได้ด้วย
ด้านนักศึกษาผู้รักการอ่านอย่าง “คุณากร สุวรรณเนตร” นักศึกษาชั้นปีที่ 2 คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ ผู้พิการทางสายตาแบบสายตาเลือนรางหรือ Low Vision เปิดเผยว่า การมีความผิดปกติด้านสายตาอย่างที่เขาเป็นอยู่นั้น ไม่ถึงกับทำให้บอดสนิท ยังคงพอเห็นได้ลางๆ แต่สำหรับการอ่านหนังสือนั้นเป็นไปได้ยาก จะอ่านแต่ละทีจะต้องเอาหน้าลงไปชิดกับหน้าหนังสือ ทำให้อ่านนานๆ แล้วจะเกิดอาการปวดหัว ปวดตา อ่านได้อย่างมากที่สุดเพียง 10 หน้า แล้วก็ต้องทนจนกว่าอาการปวดตา ปวดหัวจะหายไป จึงจะอ่านได้อีกครั้ง แต่ภายหลังมาใช้บริการของศูนย์ฯ และอ่านหนังสือผ่านเครื่องมือที่มีชื่อว่า CCTV ที่มีการขยายตัวอักษรในหน้ากระดาษลงไปที่หน้าจอมอนิเตอร์ที่ขยายใหญ่นั้น ทำให้อ่านหนังสือได้มากถึงครั้งละ 40-50 หน้าเลยทีเดียว
ส่วนน้องนักศึกษาที่มีความบกพร่องทางการเคลื่อนไหวอย่าง “น้องแป้งร่ำ” หรือคีตวีร์ เล้าฐานะเจริญ นักศึกษาคณะศิลปะศาสตร์ สาขาบรรณารักษ์ เป็นโรคก้านสมองส่วนการควบคุมการเคลื่อนไหวผิดปกติแต่กำเนิด ทำให้การเดินทุกวันนี้ของเธอเป็นไปได้ไม่ค่อยสะดวก และต้องอาศัยไม้ค้ำยัน แต่ตอนนี้เธอได้รับรถจากมหาวิทยาลัยที่จะทำเธอไปยังตึกเรียนได้สะดวกขึ้น
“สะดวกขึ้นมากเลยค่ะ โชคดีที่ได้รับโอกาสแบบนี้ โชคดีที่นอกจากจะมีเพื่อนๆ ที่คอยดูแลติววิชาและช่วยเหลือเรื่องอื่นๆ แล้ว ทางมหาวิทยาลัยก็ดูแลนักศึกษาพิการอย่างหนูในทุกๆ เรื่องด้วย” แป้งร่ำกล่าวทิ้งท้าย

17 มกราคม 2556

Miss Deaf Thailand World 2013

เผยแพร่เมื่อ 15 ม.ค. 2013 ประกวด Miss Deaf Thailand World 2013 เชิญผู้สนใจซื้อบัตรเข้าชมการประกวดรอบชิงชนะเลิศ วันที่ 3 ก.พ. 2556 บัตรราคา 500 บาท

16 มกราคม 2556

ความภาคภูมิใจที่โรงเรียนโสตศึกษาจังหวัดนครปฐม

คลิกที่นี่

‘การุณฆาต’ ?

สลด! ๒พี่น้องหูหนวกรับไม่ได้ตาบอด ขอให้แพทย์ ‘การุณฆาต’

คิดวิธิรักษาพิการทางการได้ยินได้แล้ว

คิดวิธิรักษาพิการทางการได้ยินได้แล้ว ทำกับหนูทดลองกลับได้เป็นปกติ