26 มีนาคม 2553

ก้าวย่างใหม่ของล่ามภาษามือในประเทศไทย นวัตกรรมเพื่อคุณภาพชีวิตคนหูหนวก


วันที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2553 เวลา 16:03:28 น. มติชนออนไลน์

ก้าวย่างใหม่ของล่ามภาษามือในประเทศไทย นวัตกรรมเพื่อคุณภาพชีวิตคนหูหนวก

ความพิการเป็นเพียงลักษณะทางกายไม่ใช่ ตัวบ่งชี้ศักยภาพของคน ไม่ว่าจะเป็นการบกพร่องการเคลื่อนไหวจิตใจ อารมณ์ สติปัญญาและการเรียนรู้ ดังนั้น คนหูหนวกอยู่ที่ไหนก็ต้องมีล่ามภาษามืออยู่ที่นั่น เพื่อเสริมคุณภาพชีวิตให้ดำเนินไปได้อย่างปกติสุข

เพื่อยกระดับคนพิการทางการได้ยิน ซึ่งว่าเป็นความพิการอันดับ 2 ของคนไทย ให้ใช้ชีวิตในสังคมได้ตามปกติ


กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานสร้างเสริมสุขภาพคนพิการในสังคมไทย (สสพ.) และสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) จึงร่วมกันจัดงานเสนวนา “ก้าวย่างใหม่ของล่ามภาษามือในประเทศไทย” เพื่อกระตุ้นให้เกิดการผลิตบุคคลากรที่มีความสามารถทางการสื่อสารล่ามมือ เพื่อตอบสนองความต้องการผู้พิการทางการได้ยินให้เข้าถึงการใช้ประโยชน์จาก ล่ามมือในชีวิตประจำวันได้มากขึ้น อันจะยังผลให้เกิดคุณภาพชีวิตที่ดี ตรงตามเจตนารมณ์ของรัฐบาลที่บัญญัติไว้ว่า ผู้พิการทางการได้ยินมีสิทธิ์ได้รับล่ามภาษามืออย่างเพียงพอ และมีประสิทธิภาพ ซึ่งถือว่าเป็นนวัตกรรมหนึ่งในการพัฒนาคุณภาพชีวิต


“ขณะนี้มีผู้มาจดแจ้งเป็นล่ามมือประมาณ 300 คน ขณะที่ผู้พิการทางการได้ยินทั่วประเทศจากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ เมื่อปี 2550 มีประมาณ 700,000 คน ซึ่งหมายถึง เพียงแต่กลับมีผู้พิการทางการได้ยินที่มาจดทะเบียนคนพิการเพื่อขอรับสิทธิใน การเข้าถึงบริการล่ามมือกับพม.เพียง 140,000 คนเท่านั้น ทั้งที่ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย” นายอิสสระ สมชัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าว


นายอิสสระ เสริมอีกว่า พม.ตระหนักถึงความจำเป็นที่ต้องจัดให้บริการล่ามภาษามือ ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการทางการได้ยิน จึงได้เร่งผลักดันให้เกิดระบบบริการล่ามภาษามือที่มีประสิทธิภาพขึ้น โดยมีค่าตอบแทนให้ผู้ปฏิบัติงาน ที่จะเป็นสื่ออำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ของคนหูหนวก ให้สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารทุกด้านที่เกี่ยวข้องกับการดำรงชีวิตประจำวัน และได้รับบริการทางสังคมต่างๆ รวมทั้งการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นและมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคมได้อย่าง เต็มศักยภาพเท่าเทียมกับบุคคลทั่วไป


“เราได้ร่วมดำเนินการกับเครือข่ายทั้งภาครัฐ เอกชน องค์กรของคนพิการ ตลอดจนสมาคมล่ามภาษามือแห่งประเทศไทย ซึ่งเตรียมพร้อมขยายการให้บริการให้สามารถครอบคลุมทั่วถึงทุกจังหวัด โดยค่าตอบแทนให้ผู้ปฏิบัติงาน คิดเป็นรายชั่วโมง ชั่วโมงละ 300 – 500 บาท แต่หากเป็นการบรรยายในการสัมมนา หรือเป็นวิทยากร มีค่าตอบแทนชั่วโมงละ 600 บาท” รมว.พม.กล่าว และทิ้งท้ายว่า


“ความพิการเป็นเพียงลักษณะทางกายไม่ใช่ตัวบ่งชี้ศักยภาพของคน ไม่ว่าจะเป็นการบกพร่องทางการเคลื่อนไหวจิตใจ อารมณ์ สติปัญญาและการเรียนรู้…ดังนั้นคนหูหนวกอยู่ที่ไหนก็ต้องมีล่ามภาษามืออยู่ ที่นั่น เพื่อเสริมคุณภาพชีวิตให้ดำเนินไปได้อย่างปกติสุข”


ด้านนางกิ่งแก้ว อินหว่าง เลขาธิการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ (พก.) กล่าวว่า เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2552 คณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ ได้มีมติให้ตั้งคณะอนุกรรมการส่งเสริมและพัฒนาล่ามภาษามือ เพื่อให้เป็นไปตามระเบียบคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่ง ชาติ ว่าด้วยล่ามภาษามือ พ.ศ.2552


“เมื่อพม.เปิดให้ล่ามภาษามือมายื่นจดทะเบียนแล้ว หากคนหูหนวกต้องการขอรับบริการล่ามภาษามือ ก็มายื่นคำขอรับบริการได้ใน 4 กรณี ได้แก่ 1. ใช้บริการทางการแพทย์และสาธารณสุข 2.สมัครงานหรือติดต่อประสานงานด้านการประกอบอาชีพ 3.ร้องทุกข์กล่าวโทษ หรือเป็นพยานในชั้นพนักงานสอบสวน และ 4.เข้าร่วมประชุมสัมมนาและฝึกอบรม โดยในเขตกรุงเทพฯ ให้ยื่นคำขอต่อกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ส่วนต่างจังหวัดให้ยื่นติดต่อขอใช้บริการได้ที่สำนักงานการพัฒนาสังคมและ ความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดทุกแห่งทั่วประเทศ (พมจ.)” เลขาธิการ พก.กล่าว


ส่วน ดร.มลิวัลย์ ธรรมแสง นายกสมาคมล่ามภาษามือแห่งประเทศไทย กล่าวว่า วันนี้คนหูหนวกทั่วโลกจะต้องชื่นชมที่ทางมูลนิธิให้โอกาสกับคนหูหนวก ซึ่งล่ามภาษามือ คือ ผู้ทำหน้าที่อำนวยความสะดวกให้คนหูหนวกเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร และติดต่อสื่อสารกับผู้ที่มีการได้ยิน หรือผู้ที่สื่อสารด้วยภาษาที่แตกต่างกัน


“บทบาทสมาคมล่ามภาษามือ คือ 1.เป็นองค์กรวิชาชีพหนึ่งที่อาจแปลกใหม่ แต่ในสากลมีเกิดขึ้น ซึ่งไทยมีองค์กรที่เป็นตัวแทนแล้วด้วย 2.มุ่งหวังส่งเสริมพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนหูหนวก และส่งเสริมให้อาชีพล่ามภาษามือเป็นเสมือนหนึ่งงานเชิงวิชาการ และทำให้สังคมตระหนักถึงความสำคัญของล่ามมือที่ต้องใช้ความอดทน และความชำนาญสูง แต่เมื่อเรียนจบแล้วกลับไม่มีงานที่มั่นคง สมาคมฯ จึงได้เสนอให้ พม.เร่งบรรจุล่ามภาษามือเข้าเป็นข้าราชการ เพราะเป็นหน่วยงานที่มีภาระหน้าที่ดูแลคนพิการโดยตรง” ดร.มลิวัลย์ กล่าว


ขณะที่ นายยงยุทธ บริสุทธิ์ นายกสมาคมคนหูหนวกแห่งประเทศไทย ได้ลุกขึ้นกล่าวขอบคุณด้วยภาษามือและบอกว่า คนหูหนวกคาดหวังกับการมีล่ามภาษามือมาก นอกจากนี้การมีล่ามมือที่มีประสิทธิภาพจะช่วยสนับสนุนผู้พิการทางการได้ยิน 2 ทางได้คือ 1.ได้ทำหน้าที่เป็นสื่อกลางเพื่อถ่ายทอดสิ่งที่คนหูหนวกต้องการสื่อไปยัง บุคคลอื่นให้ได้รู้ในสิ่งที่ต้องการจะบอกและได้แปลจากสิ่งที่คนปกติอยากจะ บอกให้กับคนหูหนวกรับทราบด้วย และ 2.คิดว่าล่ามภาษามือจะมีความรู้และความเข้าใจ ที่สำคัญล่ามต้องมีความเป็นวิชาชีพ รักษาความลับในบางอย่างที่คนหูหนวกไม่ต้องการเปิดเผยด้วย

06 มีนาคม 2553

อบรมเชิงปฏิบัติการเรื่อง จิตอาสาเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ


ฝากประชาสัมพันธ์ทุกท่านด้วยนะคะ
วิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดล ขอเชิญผู้สนใจเข้าร่วมอบรมเชิงปฏิบัติการ
เรื่อง จิตอาสาเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ
ระหว่างวันที่ 30 เมษายน -2 พฤษภาคม2553

เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับคนพิการ และทักษะในการช่วยเหลือคนพิการ
ให้แก่บุคคลทั่วไปที่สนใจ

หัวข้อในการอบรม
1.จิตอาสากับการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ
2.ความรู้เรื่องคนพิการ/ความพิการ
3.ความรู้เรื่องกฎหมาย/นโยบายที่เกี่ยวข้องกับคนพิการ
4.ความรู้เรื่องจิตวิทยาและการเป็นอาสาสมัคร
5.ความรู้เรื่องการช่วยเหลือ/การปฏิบัติตัวต่อคนพิการแต่ละกลุ่ม
6.การสาธิตและฝึกปฏิบัติเรื่องการช่วยเหลือคนพิการ

อบรมฟรี สำรองที่นั่งได้ที่
Disability Support Services Center
ศูนย์บริการสนับสนุนสำหรับนักศึกษาพิการ
มหาวิทยาลัยมหิดล (วิทยาลัยราชสุดา)
111 หมู่ 6 ถ.พุทธมณฑล สาย 4 ศาลายา นครปฐม 73170
โทร 0 28895315 - 9 ต่อ 120,121,112 หรือ 081 941 6577
http://www.rs.mahidol.ac.th
e-mail : dss.mahidol@gmail.com

02 มีนาคม 2553

BMCL ต้อนรับน้องๆ ร.ร.เศรษฐเสถียรฯ

เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา คณะผู้บริหาร บริษัท รถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BMCL) ผู้ให้บริการรถไฟฟ้า MRT นำโดย ดร.สมบัติ กิจจาลักษณ์ กรรมการผู้จัดการ คุณวิทูรย์ หทัยรัตนา ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการ คุณชาติชาย ประดิษพงษ์ ผู้อำนวยการงานส่งเสริมและเผยแพร่กิจกรรม และตัวแทนพนักงาน ให้การต้อนรับคณะนักเรียนและคุณครูจากโรงเรียนเศรษฐเสถียร ในพระราชูปถัมภ์ เข้าเยี่ยมชมกิจการรถไฟฟ้า MRT ในกิจกรรม “พาน้องผู้พิการทางการได้ยิน เรียนรู้ระบบรถไฟฟ้า MRT” เนื่องในเทศกาลวันแห่งความรัก (Valentine’s Day) ประจำปี 2553 และทดลองโดยสารรถไฟฟ้า MRT จากสถานีบางซื่อ – สถานีศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย เพื่อเข้าชมนิทรรศการส่วนต่อขยายบริเวณชานชาลาสายสีส้ม พร้อมร่วมทำกิจกรรมและรับประทานอาหารกลางวัน บริเวณพื้นที่ Metro Mall สถานีกำแพงเพชร

ที่มา : http://www.bangkokmetro.co.th/nap.aspx?Lang=Th&Content=791&Menu=19