29 ธันวาคม 2552

ECO Shop



ร้าน ECO Shop by Toppipat อยู่ชั้น 1 ดิจิตอลเกทเวย์ สยามสแควร์ ใครได้ไปเที่ยวมาแล้วบ้าง เป็นร้านขายสินค้าดีไซน์รักษ์โลกแห่งแรกในเมืองไทย เป็นผลงานของหนุ่มพิธีกร ท็อป-พิพัฒน์ อภิรักษ์ธนากร ซึ่งได้เปิดโอกาสให้เพื่อนคนหูหนวกเข้าไปทำงาน ลงความเห็นกันหน่อย

คลิกอ่านข่าวนี้ได้ที่ http://fashion.mediathai.net/cate_Detail.php?fashID=1200

25 ธันวาคม 2552

งานศิลปหัตถกรรมนักเรียน

งานศิลปหัตถกรรมนักเรียน ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 59 สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน จึงได้จัดกิจกรรมส่งเสริมความรู้ ทักษะ และพัฒนาศักยภาพของนักเรียน นักศึกษา เยาวชน ตลอดจนครูและบุคลากรทางการศึกษา ให้มีโอกาสนำความคิดริเริ่ม สร้างสรรค์ และทักษะการสร้างสิ่งประดิษฐ์ จัดงานศิลปหัตถกรรม ประจำปีการศึกษา 2552 ขึ้น โดยได้กำหนดการจัดงานออกเป็น 4 ภูมิภาค ดังนี้

1.ภาคใต้
จัดระหว่างวันที่ 15-17 ธันวาคม 2552 ณ. หอประชุมเมือง ทุ่งทาลาด นครศรีธรรมราช
ผู้รับผิดชอบหลัก สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษานครศรีธรรมราช เขต 1
http://www.sef52.org

2.ภาคเหนือ
จัดระหว่างวันที่ 15-17 ธันวาคม 2552 ณ. สนามกีฬาจังหวัดนครสวรรค์
ผู้รับผิดชอบหลัก สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษานครสวรรค์ เขต 1

3.ภาคกลางและภาคตะวันออก
จัดระหว่างวันที่ 21-23 ธันวาคม 2552
ผู้รับผิดชอบหลัก สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสระบุรี เขต 1
และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาลพบุรี เขต 1 เป็นเจ้าภาพร่วมกัน

4.ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
จัดระหว่างวันที่ 9-11 ธันวาคม 2552 ณ. มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี
ผู้รับผิดชอบหลัก สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาอุบลราชธานี เขต 1 โดยมีสำนักงานพื้นที่
การศึกษาอุบลราชธานี เขต 2-5 ร่วมเป็นเจ้าภาพ (http://ext2009.go.th)
ซึ่งมีทั้งหมด 14 รายการการแข่งขัน โดยรายการการแข่งขันรายการที่ 14 เป็นการแข่งขันเฉพาะความพิการ โดยโรงเรียนโสตศึกษาจังหวัดต่างๆในภาคนี้ ได้เข้าร่วมแข่งขันภาษามือสร้างสรรคจินตนาการไร้เสียง และ จินตลีลาเพลงภาษามือ (เพลงอิสระ)ขอแสดงความยินดีกับโรงเรียนโสตศึกษาจังหวัดต่างๆ ที่ได้รับรางวัลด้วย
ติดตามผลการแข่งขันของโรงเรียนโสตศึกษา ในภาคตะวันออกเฉียงหนือได้จาก http://sites.google.com/a/anont.com/gadget/14-chephaa-khwam-phikar




ประวัติความเป็นมางานศิลปหัตถกรรมนักเรียน

งานศิลปหัตถกรรมได้เริ่มจัดมาตั้งแต่ พ.ศ. 2455 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 โดยมีจุดมุ่งหมาย เพื่อจะแนะนำชักจูงให้เด็กชายหญิงในสมัยนั้น ได้เอาใจใส่ฝึกหัดศิลปหัตถกรรม ซึ่งเป็นทางเลี้ยงอาชีพต่างๆ เพื่อจะกันการที่เด็กทั้งหลายพากันนิยมในการเป็นเสมียนหรือ เข้าทำราชการให้น้อยลง

การจัดงานศิลปหัตถกรรมนักเรียนมีการจัดต่อเนื่องกันตลอดมา มีหยุดเว้นช่วงบ้าง เมื่อสถานการณ์บ้านเมืองไม่ปกติก็ตาม เปลี่ยนชื่องานไปก็หลายครั้งโดยทั่วไปนับว่าเป็นงานที่มีชื่อเสียงมาก มาแต่ในอดีต นับถึงปัจจุบันเป็นเวลา 87 ปี
ที่มา: http://ext2009.obec.go.th/download/history.doc

ทดสอบ Video Call ครั้งประวัติศาสตร์!!! โดยน้องๆ ที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน




น้องๆ นักเรียนจากโรงเรียนโสตศึกษา จังหวัดนนทบุรี ซึ่งเป็นโรงเรียนสำหรับผู้ที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน ได้มีโอกาสทดลองใช้เทคโนโลยี Video Call ในงาน TOT 3G Broadband Everywhere ที่เปิดตัวระบบ 3G เต็มรูปแบบจาก TOT ครั้งประวัติศาสตร์ของประเทศไทย ณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์
ในการทดสอบครั้งนี้ น้องสุพัตรา จากโรงเรียนโสตศึกษา ได้ส่งภาษามือไปพูดคุยกับเพื่อนที่มีความพิการทางหูเหมือนกับตนเอง โดยผ่านการสื่อสารด้วยเทคโนโลยี Video Call โดยมีอาจารย์จากโรงเรียนโสตศึกษาช่วยแปลภาษามือ จากการสนทนาระหว่าง 2 ฝ่าย ให้ผู้ชมงานได้รับฟังความรู้สึกของน้องๆ ที่มีความพิการทางหู

สุพัตรา กล่าวว่า “รู้สึกดีมากเลยที่มีระบบ 3G และเทคโนโลยี Video Call ทำให้คนหูหนวกอย่างเราสะดวกสบายมากขึ้น รู้สึกอยากใช้เพราะเห็นแล้วมีประโยชน์มาก แต่ตอนนี้ต้องรอ 3G ของ TOT ให้มีการขยายเครือข่ายออกไปให้ครอบคลุมมากขึ้น”

จากนั้นท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีที ร้อยตรีหญิงระนองรักษ์ สุวรรณฉวี ได้ขึ้นมาบนเวที เพื่อที่จะสื่อสารกับน้องๆ ด้วย

ท่านรัฐมนตรีได้ถามว่า “ดีใจมั้ยที่ได้ใช้เทคโนโลยี Video Call ในวันนี้” โดยอาจารย์จากโรงเรียนโสตศึกษา ช่วยแปลเป็นภาษามือถามน้องสุพัตรา

สุพัตรา ตอบว่า “รู้สึกดีใจมากที่มีระบบ 3G ทำให้คนพิการ คนหูหนวก อย่างพวกหนู ได้มีโอกาสสนทนากันผ่าน Video Call ทำให้ได้คุย ได้เห็นหน้ากัน ทำให้การสื่อสารของผู้พิการมีความสะดวกสบายมากขึ้น”

เพราะการสื่อสารของผู้ที่มีความพิการทางหู เดิมจะใช้ได้แค่ SMS หรือ MMS แต่ปัจจุบันด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า ทำให้อนาคตอันใกล้ การสื่อสารจะไม่เป็นอุปสรรคสำหรับผู้พิการทางหูอีกต่อไป

ที่มา: http://www.telecomjournal.net

21 ธันวาคม 2552

ฮีโร่หญิงตะกร้อไทย ฉายาเพชฌฆาตเงียบ (2)



ทีมนักหวดลูกพลาสติกสาวไทย เครื่องร้อนช้า โดน "สาวญวน" เวียดนาม จับทางได้ จี้ถูกจุดจน คว้าชัยได้เซตแรก ก่อนสาวไทยแก้เกมมาดี และ "น้องอุ้ม" นิตินัดดา แก้วคำไสย์ แบ็กตัวเก่งกลับคืนฟอร์ม พาทีมไล่อัดสาวญวนกระจุย ก่อนคว้าเหรียญทองทีมเดี่ยว มาครองได้สำเร็จ เป็นสมัยที่ 5 ติดต่อกัน




การแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 25 "เวียงจันทน์เกมส์" เมื่อวันที่ 15 ธ.ค. 52 ที่ผ่านมา เซปักตะกร้อ ที่ลาว-ไอเทค ชิง 2 เหรียญทอง ประเภททีมเดี่ยว โดยทีมหญิง เปิดเวทีชิงชัยกันก่อนในเวลา 15.00 น. เกมนี้โค้ชไทยจัดผู้เล่นที่ดีที่สุดลงลุยทันทีประกอบด้วยแบ็ก "น้องอุ้ม" นิตินัดดา แก้วคำไสย์, หน้าซ้ายชง อารีรัตน์ ตาขัน และ หน้าขวาทำ ธิดาวรรณ ดาวสกุล ส่วนเวียดนาม ประกอบด้วย แบ็ก เหงียน ทิ บิค ทุย, หน้าซ้ายชง ลู ทิ ทรัง และหน้าขวาทำ เหงียน ไฮเทา

ซึ่งในเกมรอบชิงชนะเลิศประเภททีมชุดนั้น 3 สาวไทย เคยแพ้เวียดนามชุดนี้มาแล้ว 1-2 แต่จบเกมทีมชุดไทยชนะ 2-1 ทีม และเกมนี้มีกองเชียร์ชาวไทยเข้ามาให้กำลังใจแน่นขนัดเหมือนเช่นรอบชิงชนะเลิศทีมชุด ขณะที่กองเชียร์เวียดนามขนมาเพียบเช่นกัน สถิติที่ผ่านมานั้นเวียดนามยังไม่เคยได้แชมป์ซีเกมส์เลยทั้งทีมเดี่ยวและทีมชุด



ไทยเล่นเสียเองพ่ายเซตแรก 19-21
เปิดฉากเซตแรก เวียดนาม ได้เสิร์ฟก่อน แต่เกมรับไทยยังเหนียว ธิดาวรรณ ขึ้นฟาดเก็บแต้มนำไปก่อน จากนั้นผลัดกันรุกรับแลกกันคนละหมัด กระทั่งสกอร์ 3-3 เวียดนามพลิกมาได้เปรียบเมื่อ ธิดาวรรณ ฟาดออกข้าง ต่อมา ธิดาวรรณ ตีออกข้างเดิมอีกสกอร์เวียดนามนำ 7-5 และหนี 8-5 เมื่อ บิค ทุย เสิร์ฟเป็นแต้มไทยยังไล่ตามไม่ทันผ่านครึ่งทางแรกตามหลัง 9-11

ลงสนามอีกรอบ ทิ บิค ทุย เสียสองแต้มติด โดนทิ้ง 13-9 แต่ก็หยุดเกมบุกได้และได้อีกสองแต้มจากเสิร์ฟและบล็อกไล่มา 12-13 แต่สาวไทยยังความผิดพลาดง่ายๆ ของตัวเองไม่ได้โดยเฉพาะ ธิดาวรรณ ทั้งฟาวล์และเปิดเสิร์ฟไม่ได้แต้มเวียดนามหนีอีก 17-14 เกมมาระทึกเมื่อไทยไล่เจ๊า 18-18 แต่ต่อมา นิตินัดดา เสิร์ฟติดเนตเวียดนามขึ้นแท่นเมื่อ บิค ทุย เสิร์ฟจี้ใส่ ธิดาวรรณ เป็นแต้มอีก แม้ว่าเซตพอยนต์แรกจะปิดไม่ได้แต่ต่อมา นิตินัดดาเสิร์ฟออกทำให้ เวียดนาม ชนะเซตแรก 21-19



"น้องอุ้ม" ฟอร์มแจ่มเสิร์ฟต่อชีวิตไทย
เซตสองไทย หลังชนฝาหลังสกอร์ 2-2 นิตินัดดา เสิร์ฟได้ 3 แต้มติดขยับหนี 5-2 แม้ว่าเวียดนามจะพยายามเบรกด้วยการขอเวลาผูกเชือกรองเท้าแต่ นิตินัดดา เข้าฟอร์มเสิร์ฟใส่ ทิ ทรัง จอมเก๋าของทีมจนเป๋สกอร์หนีห่าง 8-3 จากนั้นผลัดกันทำแต้มผ่านครึ่งทางแต้มสาวไทยนำ 11-6

"เพชฌฆาตเงียบ" นิตินัดดา ยังเดินเกมเสิร์ฟกดดันได้ต่อเนื่อง ผู้เล่นเวียดนามไม่เปิดล้นมาก็เปิดเสียสกอร์ไทยนำห่าง 14-7 ลูกเสิร์ฟของ น้องอุ้ม ยังทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพจนเวียดนามป่วนหนักเก็บได้แค่แต้มก่อนที่ไทยจะไปรวดเดียวขึ้นแท่น 20-8 เซตพอยนต์ น้องอุ้ม หวดเต็มแรง ลูกพลิกเนต บิค ทุย งัดไม่ขึ้นเป็นแต้มให้สาวไทยเฮ 21-8 ตีเสมอเป็น 1-1 เซต ต้องดวลกันต่อในเกมไทเบรก





"เพชฌฆาตเงียบ" แผลงฤทธิ์ไทยทอง
เกมชี้ชะตาเปิดมา เวียดนาม ก็เสิร์ฟออกโยนแต้มให้ไทยทันทีต่อมา ธิดาวรรณ งัดลูกฟาดได้ อารีรัตน์ คืนให้หวดลงไปสกอร์ 2-0 และ 3-0 เมื่อ ไฮ เทา เป๋ฟาดออกไปไกล แต้มยังหยุดไม่อยู่ไทยได้อีกสองแต้มรวดจากเสิร์ฟและบล็อกสกอร์ 5-0 ก่อนที่ ไฮ เทา จะขึ้นฟาดลงให้เวียดนามพลิกได้บุกบ้าง แต่ บิค ทุย ก็เสิร์ฟออก จากนั้นไทยอาศัยเกมรับที่เหนียวทำแต้มนำขาด 8-2 เมื่อผ่านครึ่งทาง

กลับลงสนามอีกครั้งแต้มไทยยังไปลิ่วนำไปอีก 11-4 และ 12-4 เมื่อ ธิดาวรรณ ฟาดลง และต่อมา น้องอุ้ม เสิร์ฟพลิกเนตสกอร์ 13-5 ก่อนที่เกมจะกลับไปฝั่งเวียดนามได้บุกบ้างและ บิค ทุย จะเสิร์ฟสามแต้มติดไล่มา 8-13 แต่ต่อมาไทยเปิดเสิร์ฟตั้งให้ ธิดาวรรณ หวดลงไปได้พลิกมาได้แมตช์พอยนต์แต่ยังปิดไม่ได้สกอร์ 14-9 ทว่า ธิดาวรรณ ก็จัดการขึ้นฟาดลงไปสำเร็จไทยชนะ 15-9 สรุปผลไทยชนะ 2-1 เซต ป้องกันแชมป์ทีมเดี่ยวหญิงได้สำเร็จ



ผงาดแชมป์ทีมเดี่ยวสมัยที่ 5 ติด
จากผลงานในครั้งนี้ ทำให้สาวไทยเป็นแชมป์ทีมเดี่ยวมาครองเป็นสมัยที่ 5 ติดต่อกัน โดยครั้งแรกได้จากซีเกมส์ ครั้งที่ 21 "เกมิลังเกมส์" ที่กัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ปี 2544, ครั้งที่ 2 ซีเกมส์ ครั้งที่ 22 "ฮานอยเกมส์" ที่เมืองฮานอย ประเทศเวียดนาม ปี 2546, ครั้งที่ 3 ซีเกมส์ ครั้งที่ 23 "ตากาล็อกเกมส์" ที่ประเทศฟิลิปปินส์ ปี 2548, ครั้งที่ 4 ซีเกมส์ ครั้งที่ 24 "นคราชสีมาเกมส์" ที่จ.นครราชสีมา ปี 2550 และล่าสุดคือซีเกมส์ ครั้งที่ 25 "นครเวียงจันทน์เกมส์"



"ตุ๊ก" รับเซตแรกเล่นอืดทำทีมเจ๊งชัย
หลังเกม "น้องตุ๊ก" ธิดาวรรณ ดาวสกุล ตัวฟาดทีมชาติไทย เผยว่า เซตแรกที่ไทยแพ้นั้นเกิดจากความผิดพลาดของตัวเองที่เล่นผิดพลาดง่ายๆ เสียเองตลอดทั้งฟาวล์และตีออก สาเหตุนั้นเนื่องจากว่าเมื่อลงสนามแล้วร่างกายไม่ฟรีรู้สึกอืดๆ เล่นไม่ค่อยออก ตรงนี้อาจจะเป็นเพราะว่ายืนนานไปหน่อย แต่ก็ได้พยายามปรับตัว และดึงเกมของตัวเองกลับมาให้ได้ นอกจากนี้เซตแรกนั้น แบ็กของเราเสิร์ฟกดดันคู่ต่อสู้ไม่ได้ด้วย อย่างไรก็ตามแม้ว่าจะเสียเซตแรก ก็ยังมั่นใจว่าจะกลับมาคว้าชัยชนะได้ แต่ก็ยอมรับว่ารู้สึกหวั่นๆ เช่นกัน



"ถิน" ชี้ "อุ้ม" เปลี่ยนเสิร์ฟหลังเท้าทำเฮ
ด้าน "น้องถิน" อารีรัตน์ ตาขัน ตัวชงจอมเก๋าที่ถือว่าคอยคุมเกมจนพาทีมไทยประสบชัยชนะครั้งนี้ เปิดเผยว่า เซตแรกนั้นเวียดนามเสิร์ฟดีมาก จนทำให้เราไม่สามารถจะเปิดลูกเสิร์ฟได้เลย และเมื่อเปิดลูกสิร์ฟไม่ได้ อีกทั้ง ธิดาวรรณ ก็มาเล่นผิดพลาด รวมถึงทุกคนในทีมด้วย ที่มักจะผิดพลาดกันง่ายๆ ทำให้ เวียดนามได้ใจ ยิ่งเล่นยิ่งดี และจี้ไปที่ ธิดาวรรณ คนเดียว

นอกจากนี้ นิตินัดดา เซตแรกเสิร์ฟไม่ได้ด้วย กดดันคู่ต่อสู้ไม่ได้ แต่เมื่อเซตสองเสิร์ฟได้ และให้ นิตินัดดา ปรับลูกเสิร์ฟใหม่ จากข้างเท้ามาเป็นหลังเท้า ทำให้เวียดนาม จับทางไม่ได้ จนประสบชัยชนะในที่สุด



โค้ชไทยเผยยังมั่นใจลูกทีมจะคืนฟอร์ม
ขณะที่นายวีรัส ณ หนองคาย โค้ชตะกร้อสาวไทย เผยว่า เซตแรก จุดบอดอยู่ที่ ธิดาวรรณ คนเดียว ที่เกมรับค่อนข้างอ่อน เปิดลูกด้วยเข่าเสียหมด เมื่อเกมเป๋ ทำให้แบ็กเวียดนามจี้ใส่ ธิดาวรรณ คนเดียว นอกจากนี้ผู้เล่นยังเปิดลูกเสิร์ฟกันไม่ได้ด้วย

ส่วน นิตินัดดา ก็เสิร์ฟไม่ได้ทำให้เกมตกเป็นของเวียดนาม อย่างไรก็ตามเซตสองได้แก้เกมให้ ธิดาวรรณ เปิดลูกด้วยศีรษะที่ง่ายกว่า และอย่ายืนชิดเนตเกินไป ให้ห่างจากเนตประมาณหนึ่งวา พร้อมกับอย่ารีบทำให้เกมดีขึ้น เปิดเสิร์ฟได้ ส่วน นิตินัดดา ก็เริ่มเสิร์ฟเข้าฟอร์ม

ฮีโร่หญิงตะกร้อไทย ฉายาเพชฌฆาตเงียบ




กีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ ๒๔ ที่เพิ่งปิดฉากลงไป นิตินัดดา แก้วคำไสย์ หรือ อุ้ม ตะกร้อหญิงทีมชาติไทย วัย ๒๑ ปี เจ้าของฉายา เพชฌฆาตความเงียบ ถือเป็นหัวหอกสำคัญในนัดล้างตา ชนะคู่ปรับเก่าเวียดนาม อย่างได้ใจคนไทยทั้งประเทศ อุ้มเสิร์ฟทำแต้มเอาชนะได้อย่างใจเย็นตามฉายา ซึ่งหลายคนอาจจะรู้แล้วว่า...ฉายาเพชฌฆาต ความเงียบ มาจากความพิการทางหู เป็นใบ้มาตั้งแต่กำเนิด การสื่อสารสำหรับคนหูหนวกเป็นใบ้ เป็นอุปสรรคสำคัญในการดำรงชีวิตประจำวัน แต่สำหรับ อุ้มข้อด้อยนี้กลายเป็นจุดแข็ง ในสนามแข่ง...ความเงียบ เป็นผลดีทำให้อุ้มมีสมาธิมากขึ้น "อุ้มเป็นเด็กที่มีพรสวรรค์ด้านตะกร้อสูงมาก พื้นฐานแน่นเพราะได้รับการฝึกจากคุณพ่อ มาอย่างดีตั้งแต่เด็กๆ" วีรัส ณ หนองคาย โค้ชตะกร้อหญิงทีมชาติไทย อดีตนักกีฬาทีมชาติไทยช่วงปี ๒๕๒๔-๒๕๓๒ อายุ ๕๔ ปี บอก

กว่าจะมีฝีมือระดับอุ้ม...ถ้ามีพรสวรรค์ ก็ต้องใช้เวลาฝึก ๔-๕ ปี คนที่มีพรสวรรค์ในกีฬาตะกร้อ ต้องมีความจำ มีความคิดประดิษฐ์สร้างที่รวดเร็ว มีไหวพริบที่เฉียบคม เป็นความจริงที่ว่า พรสวรรค์เหล่านี้ ไม่มีใครสอนใครได้ โค้ชวีรัส บอกว่า ถึงอุ้มจะมีปัญหาเรื่องการสื่อสาร แนะนำด้วยคำพูดไม่ได้ ก็ใช้การทำให้ดู และให้ทำตาม ท่าไหนผิด ก็รีบแก้ โชคดีที่อุ้มเรียนรู้เร็ว จำเก่ง ลูกเสิร์ฟ...ถือว่าสำคัญ กว่าอุ้มจะเสิร์ฟได้ขนาดนี้ ต้องใช้เวลาฝึกฝนนานพอดู

ไม่เฉพาะเพชฌฆาตมือเสิร์ฟเท่านั้น อุ้มยังถือได้ว่าเป็นนักตะกร้อครบเครื่อง เล่นได้ทุกตำแหน่ง จะเสิร์ฟก็ได้ จะเป็นตัวทำก็ทำได้ดี เพื่อนฝูงเห็นฝีมือกันมายาวนาน มักเรียกอุ้มว่าอัจฉริยะ เพราะคนปกติซ้อมหนักแค่ไหนก็ยังเล่นตะกร้อไม่ได้เก่งครบเครื่องเท่าอุ้ม ในเกม...อุ้มออกแม่ไม้ทีเด็ดให้เห็นบ่อยๆ ไม่ว่า เสิร์ฟลูกปั่นหยอด เสิร์ฟหลังเท้า แปฝ่าเท้า ตอนเล่น...ก็มีทั้งลูกเหยียบ ลูกปาด เขกหัว ฟาดได้ ทุกลีลาเป็นไหวพริบ ปฏิภาณ พรสวรรค์เฉพาะบุคคล ที่ผ่านการฝึกมาอย่างโชกโชน

ในสนามแข่งขัน อุ้มเป็นคนเดียวที่มีปัญหาด้านการสื่อสาร หัวหน้าทีมจะใช้ภาษามือสื่อสาร กับอุ้ม บางครั้งก็เข้าใจกันดี แต่บางครั้งก็มีปัญหา "โค้ชตัดปัญหาด้วยการเขียนเป็นตัวหนังสือ ชูป้ายบอกอยู่ข้างๆ จะแก้เกมแบบไหน โยนเสิร์ฟสั้นไป ยาวไป จะให้จังหวะการเล่น ช้าไปหรือเร็วไปแค่ไหน ก็ปรับกันไปเรื่อยๆ" อย่าเข้าใจผิดว่านี่คือวิธีพิเศษ...ไม่ปกติเฉพาะนักกีฬาที่มีปัญหาการสื่อสาร โค้ชวีรัส บอกว่า ปกติบรรยากาศในสนาม เสียงเชียร์โห่ร้องดังสนั่นอยู่แล้ว โค้ชตะโกนเท่าไหร่ลูกทีมก็ไม่ได้ยิน วิธีเขียนบอกจะทำให้ลูกทีมเล่นได้ตามแผนแม่นขึ้น

สิทธิ์ แก้วคำไสย์ อายุ ๔๕ ปี ผู้เป็นทั้งพ่อและครูตะกร้อคนแรกของอุ้ม เล่าว่า อุ้มเล่นตะกร้อ ตั้งแต่อายุ ๑๐ ขวบ เล่นกับเด็กผู้ชายสนามกีฬาประจำชุมชนใกล้บ้าน เหตุผลจริงๆที่ให้อุ้มเล่นตะกร้อ...พ่อไม่ได้หวังจะให้ไปไกลถึงทีมชาติ แต่อยากให้ลูกได้เล่นกับ เพื่อนๆพี่ๆที่เป็นคนปกติ ให้อุ้มได้ฝึกการใช้ชีวิตร่วมกันกับคนในสังคมปกติ บังเอิญอุ้มเล่นแล้วชอบตะกร้อมาก มีแววไปไกล พ่อก็ซ้อมให้จริงจัง...เช้าเล่น ๑ ชั่วโมง เย็นก็เล่นอีก ๓ ชั่วโมง คุณพ่ออุ้มเป็นครู สอนหนังสืออยู่โรงเรียนบ้านหนองแวง อาศัยหน้าที่การงานช่วยให้อุ้มเรียนหนังสือกับคนปกติจนจบ ป.๖ อุ้มเรียนรู้สังคมได้มากขึ้นก็จริงอยู่ แต่โรงเรียน ไม่มีครูสอนคนหูหนวกโดยตรง ด้านการเรียนอุ้มรับรู้ได้ไม่ถึง ๒๐ เปอร์เซ็นต์

อุ้มอายุได้ ๑๐ กว่าขวบ...พอจะเขียนหนังสือ อ่านหนังสือได้แล้ว อุ้มพยายามตั้งคำถามถามพ่อ "ทำไมอุ้มพูดไม่ได้ แต่คนอื่นพูดได้?" พ่อก็เขียนตอบกลับพร้อมทำท่าอธิบายให้เข้าใจว่า "หูหนูพิการ ไม่ได้ยิน เลียนเสียงพูดไม่ได้ คนอื่นหูไม่มีปัญหา" จบ ป.๖ แล้ว ฝีมือกีฬาตะกร้อของอุ้มพัฒนาโดดเด่นกว่าใคร ถึงจะหูหนวกเป็นใบ้ ก็ได้รับโอกาส เรียนต่อด้านตะกร้อโดยตรง ที่โรงเรียนกีฬา อุบลราชธานี อุ้มครองแชมป์หลายสนาม ทั้งระดับจังหวัด ระดับประเทศ กระทั่งติดทีมชาติ อุ้มก็คว้า แชมป์ระดับนานาชาติมาแล้วหลายรายการ ถึงวันนี้อุ้มประสบความสำเร็จสูงสุดแล้ว แต่คุณพ่อก็ยังไม่มั่นใจว่า ลูกสาวคนนี้ เข้มแข็งพอที่จะ ยืนอยู่บนสังคมนี้ได้เหมือนคนปกติ "พ่อยังห่วง...บางเรื่องอุ้มยังไม่เข้าใจสังคมเท่าใดนัก" คุณพ่อสิทธิ์ บอกว่า ไปเก็บตัวซ้อมนานๆ อยู่ไกลกัน โทรศัพท์พูดคุยกันไม่ได้ ก็อาศัยฝาก ความคิดถึง ความห่วงหาอาทรไปกับการส่งข้อความ "ทุกวัน...พ่อจะส่งข้อความเป็นกำลังใจ ให้ตั้งใจซ้อม ซ้อมให้สนุกนะลูก พ่อแม่รัก คิดถึง พอตกกลางคืนก็จะส่งข้อความไปอีกครั้ง ให้อุ้มหลับฝันดี" บางครั้ง...อุ้มก็ส่งข้อความกลับมา "คิดถึงพ่อ คิดถึงแม่ คิดถึงน้องมาก พ่อแม่ทำอะไรอยู่..." วันไหนอุ้มส่งข้อความคุยกันยาว แสดงว่าอุ้มมีปัญหา โค้ชดุ เล่นไม่เก่ง อุ้มเครียด จะระบาย ให้พ่อแม่รู้ พ่อก็ส่งข้อความกลับไป อุ้มเก่งอยู่แล้ว ไม่เป็นไรบางวันเล่นดี บางวันเล่นไม่ดี ทุกคนก็ต้องเจอแบบนี้ ทำใจให้สบาย ซ้อมให้สนุกก็พอ

คุณพ่อสิทธิ์ บอกอีกว่า อุ้มยังไม่ได้วางแผนไปไกลถึงอนาคต คิดแต่ว่าอยากเล่นตะกร้อ ต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าร่างกายจะไม่ไหว แต่พ่ออยากให้อุ้มมาอยู่ใกล้ๆตัวจะได้คอยดูแล อุ้มจะค้าขาย ทำธุรกิจส่วนตัวเล็กๆก็ได้ เพราะถึงยังไง บั้นปลายชีวิตคนหูหนวกเป็นใบ้ จะไปทำงานที่ไหนก็ลำบาก ในสังคมที่ซับซ้อนอย่างทุกวันนี้ ยังไงพ่อก็อดห่วงลูกไม่ได้ มีหลายเรื่องที่คุณพ่อสิทธิ์อยาก จะอธิบายให้ลูกเข้าใจ ก็ทำได้ลำบาก แต่ในเมื่อลูกรักตะกร้อ อยากเล่นตะกร้อไปเรื่อยๆ พ่อก็ตั้งใจว่าจะคอยสนับสนุนอย่างเต็มที่

เผยหัวใจพ่อไปแล้ว ถามหัวใจอุ้มบ้าง เป็นอย่างไร? อุ้มบรรยายความรู้สึกผ่านหน้ากระดาษ ให้ฟังว่า... "ตะกร้อเป็นสิ่งเดียวที่ทำให้อุ้มรู้สึกไม่แตกต่างจากคนปกติ เมื่อใดที่ได้เล่นตะกร้อ ทำให้รู้สึกว่าตัวเองไม่มีปัญหา ไม่ว่าจะเป็นการฟัง หรือพูดกับคนข้างตัว" เครื่องยืนยันถึงความรัก ความผูกพัน และกำลังใจอันมากล้นที่อุ้มได้รับจากครอบครัว อุ้มจะชอบวาดรูปครอบครัว พ่อแม่ น้อง เป็นตัวการ์ตูน ยืนจับมือกัน แล้วก็เขียนคำว่า "คิดถึงพ่อกับแม่มากนะคะ" แปะไว้ที่หัวเตียงตอนเก็บตัวซ้อมทุกครั้ง ก่อนจะจบการสนทนา อุ้มฝากความคิดถึงไปยังบ้านที่ร้อยเอ็ด ด้วยหน้าตายิ้มแย้มสดใส ด้วยว่า "คิดถึงพ่อแม่มากๆ...รักพ่อแม่ อยากเจอและกอดแน่นๆค่ะ". (ไทยรัฐออนไลน์ ๑๗ ธค. ๒๕๕๐)

16 ธันวาคม 2552

ผู้บกพร่องทางการได้ยิน พูด ใช้ SMSในการสื่อสารเพิ่ม


กทช.เผยปัจจุบันผู้บกพร่องทางการได้ยิน-พูด มีการใช้บริการ SMS เพิ่มมากขึ้น คาดหวังให้มีบริการวิดีโอออนไลน์บนมือถือ เพื่อง่าย และสะดวกในการใช้งาน …

นายสุชาติ สุชาติเวชภูมิ กรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) กล่าวว่า กทช. และศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ร่วมมือกันศึกษาสถานภาพการบริการถ่ายทอดการสื่อสารในต่างประเทศในแง่มุมต่างๆ เช่น กฎหมาย นโยบาย ระบบบริการถ่ายทอดการสื่อสาร รูปแบบของศูนย์บริการถ่ายทอดการสื่อสาร มาตรฐานการบริการ รวมทั้งศึกษาการใช้บริการโทรคมนาคมของผู้ที่บกพร่องทางการได้ยิน และผู้บกพร่องทางการพูดในปัจจุบัน โดยมีผู้ตอบแบบสอบถามจำนวน 416 คน แบ่งเป็นผู้ที่บกพร่องทางการได้ยินจำนวน 385 คน ผู้ที่บกพร่องทางการพูด 31 คน

ผลการสำรวจ พบว่า คนหูหนวกนิยมใช้บริการเอสเอ็มเอส (SMS) ติดต่อสื่อสารมากที่สุด และคาดหวังว่าจะมีบริการวิดีโอออนไลน์บนมือถือให้ใช้บริการ ปัจจุบันคนหูหนวก มีโทรศัพท์มือถือไว้ใช้บริการกว่า 95% ใช้เวลาในการติดต่อสื่อสารครั้งประมาณ 6-10 นาที และเวลาที่ใช้บริการสื่อสารบ่อยที่สุด คือ ช่วงเวลา 18.01-21.00 น.ส่วนผู้ที่บกพร่องทางการพูดนั้น มีโทรศัพท์มือถือไว้ใช้บริการประมาณ 24% และใช้เวลาในการติดต่อสื่อสารแต่ละครั้งประมาณ 6-10 นาที และมีความหวังว่า ถ้ามีบริการวิดีโอออนไลน์บนมือถือจะช่วยให้การติดต่อสื่อสารง่าย และสะดวกมากขึ้น

นางสาวรัชนีย์ กัลยาวินัย อาจารย์ประจำคณะเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) กล่าวว่า คณะวิจัยได้นำมาจัดทำเป็นร่างแผนจัดตั้งศูนย์บริการถ่ายทอดการสื่อสารสำหรับ ผู้ที่บกพร่องทางการได้ยิน และผู้บกพร่องทางการพูด โดยเป็นแผนระยะ 6 ปี เริ่มตั้งแต่ปี 2552-2557 แบ่งเป็น 3 ระยะ ตามความพร้อมของระบบบริการถ่ายทอดการสื่อสาร คือ ระยะที่1 เปิดบริการช่วยเอสเอ็มเอส/เอ็มเอ็มเอส และวิดีโอผ่านอินเทอร์เน็ต รวมถึงมีเครื่องโทรศัพท์สาธารณะและบ้านที่มีแป้นพิมพ์สำหรับผู้พิการ อีกทั้ง มีวิดีโอที่ใช้งานผ่าน 3จี และการแปลภาษามือที่เป็นวิดีโอผ่านอินเทอร์เน็ต ระยะที่ 2 เปิดบริการเพิ่มด้วยวิธีแปลงเสียงเป็นตัวหนังสือโดยไม่ต้องผ่านเจ้าหน้าที่ แต่ยังต้องอาศัยเจ้าหน้าที่ช่วยเหลือบ้าง และต้องปรับเสียงสำหรับผู้ไม่มีกล่องเสียงให้ชัดเจนขึ้น รวมถึงมีภาษามือพร้อมกับตัวหนังสือประกอบ และระยะที่ 3 ปรับปรุงจากระยะที่ 2 ให้สมบูรณ์และครบทั้งภาพและเสียง.

ที่มา : http://www.thairath.co.th/content/tech/52969