24 พฤษภาคม 2555

งานเสวนาเพื่อผู้ปกครองเด็กที่มีความบกพร่องทางการได้ยินช่วงอายุ ๗ ขวบปีแรก


เนื่องในโอกาสครบรอบ ๖๐ ปี มูลนิธิอนุเคราะห์คนหูหนวก ในพระบรมราชินูปถัมภ์ มูลนิธิฯ ร่วมกับ ศูนย์การศึกษาพิเศษ โรงเรียนสาธิตละอออุทิศมหาวิทยาลัย ราชภัฏสวนดุสิต จัดงานเสวนาเพื่อผู้ปกครองเด็กที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน โดยเฉพาะช่วงอายุ ๗ ขวบปีแรก ซึ่งเริ่มเข้าสู่สังคมการศึกษา เรื่อง “เปิดโลกเงียบ สู่สังคมการศึกษา ด้วยเทคโนโลยี” ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติ ๕๐ พรรรษา มหาวชิราลงกรณ์มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต (เยื้องห้างสรรพสินค้าตั้งฮั่วเส็ง) ในวันเสาร์ที่ ๒๖ พฤษภาคม ๒๕๕๕ เวลา ๘.๐๐-๑๒.๐๐ น.ไม่เสียค่าใช้จ่าย
สำหรับผู้ที่มางานเสวนาในครั้งนี้สามารถลงทะเบียนเพื่อขอรับการพิจารณาเข้าโครงการ “หนูอยากได้ยินเสียงแม่” เพื่อรับบริจาค เครื่องช่วยฟังหรือประสาทหูเทียมจาก มูลนิธิอนุเคราะห์คนหูหนวก ในพระบรมราชินูปถัมภ์ฟรี…ติดต่อลงทะเบียนร่วมงานได้ที่ ๐๘-๑๙๙๒-๑๕๕๗ (ThaiPR. net ออนไลน์/มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย ๒๓ พ.ค.๒๕๕๕) (HUNUAK)

สาวหูหนวกเป็นใบ้ เธอสู้ จนได้เป็นนางแบบที่เซ็กซี่ที่สุดในโลก


เธอชื่อ Brenda Costa นางแบบวัย ๒๔ จากบราซิล แม้เธอจะพิการหูหนวกเป็นใบ้แต่กำเนิด แต่พระเจ้าก็มอบรูปร่างหน้าตาอันแสนเซ็กซี่ เย้ายวน ไว้ให้เธอด้วย เธอจึงสามารถก้าวขึ้นสู่ทำเนียบนางแบบระดับโลกได้ แต่กว่าจะได้รับการยอมรับ Brenda ต้องต่อสู้กับเพื่อนมนุษย์บางคนที่มีร่างกายปกติแต่จิตใจไม่ปกติ ที่ชอบดูถูกดูแคลนคนพิการ
ความโชคดีอีกอย่างของ Brenda ก็คือ แม้จะเกิดมาพิการหูหนวกเป็นใบ้ แต่ก็เกิดมาในครอบครัวที่ฐานะดี พ่อเป็นหมอ แม่เป็นอดีตนางแบบ จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่า เธอได้ความเซ็กซี่มาจากไหน พ่อแม่ รักษาความพิการของ Brenda โดยไม่ยอมส่งเธอไปเข้าเรียนในโรงเรียนของคนหูหนวก แต่ให้เธอเรียนร่วมกับเด็กปกติในโรงเรียนปกติ
ตอน ๖ ขวบ Brenda เริ่มฝึกพูดและเรียนรู้วิธีการอ่านริมฝีปากของคู่สนทนา ทำให้เธอเข้าใจทุกอย่าง เวลาที่มีใครพูดกับเธอ หรือไม่ต้องพูดกับเธอ แต่ถ้าเธออยากรู้ว่าใครพูดอะไร เธอก็เพียงมองดูที่ริมฝีปาก ก็จะรู้ทันทีว่าใครกำลังนินทาเธออยู่รึเปล่า แต่ต้องเป็นภาษาโปรตุเกตเท่านั้น
Brenda สื่อสารด้วยการพูดก็ได้ครับ แต่ทำได้ไม่ดีเท่าที่ควร ตามประสาผู้พิการหูหนวกเป็นใบ้ คู่สนทนาต้องใช้ความอดทน ฟังเธอพูดอย่างช้าๆ แต่ถ้าใครรู้ภาษามือ ก็เข้าไปส่งภาษามือพูดคุยกับเธอได้เลย
ตอนเรียนร่วมกับเด็กปกติ แน่นอนครับว่า Brenda ต้องถูกเด็กไม่ดีบางคนแกล้งและแสดงความรังเกียจ เคยมีเด็กผู้ชายคนหนึ่งชอบล้อเลียนความพิการของเธอ ทั้งที่เด็กผู้ชายคนนั้นก็สายตาสั้น Brenda เลยตรงเข้าไปถอดแว่นของเด็กผู้ชายคนนั้นออก แล้วก็ยึดไว้ซะเลย แล้วเธอก็พูดกับเด็กผู้ชายคนนั้นว่า"ฉันเป็นใบ้ ส่วนเธอก็มองไม่เห็น"หลังจากวันนั้น เด็กผู้ชายคนนั้นไม่เคยแกล้ง Brenda อีกเลย
พอโตเป็นเด็กมัธยม Brenda ถูกเพื่อนสนิท ปฏิเสธไม่ให้เดินกลับบ้านด้วยกัน ทั้งที่ปกติก็พูดคุยกันดี ตอนนั้น Brenda คิดว่า เพื่อนอาจจะอายคนอื่น ที่ต้องเดินกลับบ้านกับคนหูหนวกเป็นใบ้อย่างเธอ แต่พ่อกับแม่จะบอก Brenda อยู่เสมอว่า"คนที่ปฏิเสธลูก เป็นเพราะพวกเขายังไม่รู้จักลูกดีพอ แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่พวกเขาทำความรู้จักลูกให้มากกว่านี้ พวกเขาจะต้องเปลี่ยนใจ"
พออายุ ๑๖ แววสวยของ Brenda เริ่มเผยออกมา แม่พาเธอไปคุยกับเอเจนซี่นางแบบหลายสิบแห่งในบราซิล ทุกเอเจนซี่บอกเหมือนกันหมดว่า Brenda สวยมาก แต่กลัวว่าความพิการหูหนวกเป็นใบ้ของเธอ จะทำให้เกิดความลำบาก เวลาที่ต้องทำงานร่วมกับคนปกติ ทั้งที่ Brenda ก็ใช้ชีวิตร่วมกับคนปกติมาตลอดชีวิตและเข้าใจคำพูดทุกอย่าง หากช่างภาพแฟชั่นต้องการให้เธอโพสต์ท่าแบบไหน เธอก็สามารถทำตามความต้องการของช่างภาพได้ทันที แต่หลังจากถูกเอเจนซี่หลายสิบแห่งปฏิเสธ เอเจนซี่สุดท้ายที่ตัดสินใจรับ Brenda เข้าเป็นนางแบบในสังกัด ก็เพราะเจ้าของเอเจนซี่ มีลูกชายเป็นผู้พิการหูหนวกเป็นใบ้เหมือนกับ Brenda เขาจึงเล็งเห็นศักยภาพในตัวผู้พิการและต้องการให้โอกาส Brenda ในที่สุดเอเจนซี่ก็ตัดสินใจส่งเธอมาคาสติ้งงานที่กรุงปารีสในปี ๒๐๐๓
เมื่อมาถึงกรุงปารีส Brenda เล็งเห็นความก้าวหน้าในอาชีพนางแบบระดับโลก เธอตัดสินใจเรียนรู้วิธีอ่านริมฝีปากของคู่สนทนาเป็นภาษาอังกฤษและภาษาฝรั่งเศสด้วยตัวเอง จากเดิมที่เธออ่านริมฝีปากของคู่สนทนาเป็นภาษาโปรตุเกตได้เพียงภาษาเดียว
ความสวยคมเข้มบวกกับความเป็นคนพิเศษของ Brenda ก็ไปเข้าตา Models.com เว็บไซด์นางแบบอันดับหนึ่งของโลก ที่จัดให้ Brenda เป็น Model Of The Week ของเว็บไซด์ช่วงต้นปี ๒๐๐๓ ซึ่งนี่แหล่ะครับ คือจุดเริ่มต้นที่ทำให้ Brenda เริ่มเป็นที่รู้จักของคนในวงการแฟชั่นระดับโลก
ช่วงที่เธอเดินแบบใหม่ๆ Brenda บอกว่า เพื่อนนางแบบบางคนไม่รู้ว่าเธออ่านริมฝีปากและสามารถเข้าใจทุกคำพูดได้ทันที เธอจึงได้รู้ว่าเพื่อนนางแบบบางคนดูถูกเธอ เพราะพวกเธอชอบนินทา Brenda ว่า คนพิการหูหนวกเป็นใบ้แบบ Brenda ไม่มีทางที่จะประสบความสำเร็จในอาชีพนางแบบ
ช่างภาพแฟชั่นส่วนหนึ่งก็ไม่อยากทำงานกับเธอ เพราะกลัวว่า จะสื่อสารกับเธอไม่รู้เรื่อง ทั้งที่จริงๆแล้ว ไม่ว่าช่างภาพจะสั่งอะไร Brenda ก็เข้าใจและสามารถทำให้ตามที่ช่างภาพต้องการได้ทุกอย่าง รวมถึงโปรดิวเซอร์งานแฟชั่น วีค บางคนก็รังเกียจเธอ เวลาพูดกับ Brenda ตอนซ้อมเดินแบบก็ชอบตะคอกและพูดเสียงดังใส่เธอ แต่ความเลวร้ายของเพื่อนมนุษย์บางคนที่มีร่างกายปกติแต่จิตใจไม่ปกติเหล่านี้ Brenda ไม่เคยเอามาใส่ใจ แต่เธอกลับนำความเลวร้ายที่เธอถูกกระทำจากเพื่อนมนุษย์เหล่านี้ มาเป็นแรงขับ ที่ช่วยผลักดันให้เธอต้องมีจิตใจที่เข้มแข็งเพื่อเอาชนะคำสบประมาทเหล่านี้ให้ได้ อย่างไรก็ตาม ในวงการแฟชั่นไม่ได้มีแต่มนุษย์ที่ใจคอโหดร้ายอย่างเดียว คนแฟชั่นที่เป็นคนดี นิสัยน่ารักก็ยังมีอีกเยอะ และคนดีๆเหล่านี้แหล่ะครับ ที่ให้โอกาส Brenda ตัว Brenda เองก็ไม่เคยคิดว่า ความหูหนวกเป็นใบ้ของเธอนั้นจะเป็นอุปสรรคของชีวิต เธอจะหัวเราะเสมอ เวลาที่มีใครมาบอกเธอว่า รู้สึกสงสารที่ Brenda ต้องเกิดมาเป็นแบบนี้ เธอยืนยันว่า ถ้าเธอเลือกเกิดได้ เธอก็ขอเกิดมาเป็นคนหูหนวกเป็นใบ้แบบนี้แหล่ะเพราะมันช่วยทำให้เธอกลายเป็นคนเข้มแข็งและไม่ยอมแพ้ให้กับอะไรง่ายๆ ตอนนี้ Models.com จัดอันดับให้ Brenda เป็นหนึ่งใน ๒๕ นางแบบ ที่เซ็กซี่ที่สุดในโลกในยุคปัจจุบัน ( MThaiออนไลน์/มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย ๒๓ พ.ค.๒๕๕๕) (HUNUAK)

23 พฤษภาคม 2555

CAI สื่อมัลติมีเดียเพื่อ “เด็กพิการทางการได้ยิน”นวัตกรรม “ทำด้วยใจ” ที่โรงเรียนภูเก็ตปัญญานุกูล

“โรงเรียนภูเก็ตปัญญานุกูล” เป็นโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษาให้กับเด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญาและทางการได้ยิน จากจังหวัดภูเก็ต พังงา สุราษฎร์ธานี กระบี่ และนครศรีธรรมราช โดยเปิดสอนในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ไปจนถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 ซึ่งมุ่งเน้นในเรื่องของหลักสูตรการเรียนรู้ควบคู่ไปกับทักษะอาชีพ

โดยปกติแล้วเด็กที่มีปัญหา “บกพร่องได้ยิน” มาตั้งแต่กำเนิด คนทั่วไปก็มักจะคิดว่าเป็นเรื่องที่ “เป็นไปไม่ได้” หากจะทำให้เด็กกลุ่มนี้สามารถสื่อสารกับคนอื่นได้ด้วย “การพูด” แต่สิ่งเหล่านี้กลับ “เป็นไปได้!” ในโรงเรียนแห่งนี้ด้วยความตั้งใจของ “ครูจุรี โก้สกุล” ครูสอนดีของ “สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน” ตามโครงการ “สังคมไทยร่วมกันคืนครูดีให้ศิษย์ เชิดชู ยกย่อง ครูสอนดี”

“ข้อจำกัดของเด็กกลุ่มนี้ก็คือหู ของเขาไม่ได้ยินเสียง ซึ่งเป็นจุดด้อยที่เราจะต้องพัฒนาให้เขาไปสู่การเรียนรู้ที่ชัดเจนเหมือนเด็กปกติ สามารถอ่านออกเสียง และสามารถทำภาษามือ พูดและใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับคนปกติได้อย่างมีความสุข” ครูจุรีเล่าถึงความตั้งใจในการทำงาน

ด้วยเหตุนี้ “ครูจุรี” ได้ทุ่มเทแรงกายและแรงใจ ผนวกกับประสบการณ์ที่ดูแลเด็กพิเศษกลุ่มนี้มายาวนานกว่า 30 ปี โดยเฉพาะในเรื่องของการ “ฝึกพูด” ควบคู่ไปกับการเรียน “ภาษามือ” โดยได้ออกแบบเครื่องมือและสื่อการเรียนการสอนที่เรียกว่า “ซีเอไอ ” หรือ Computer Assisted Instruction (CAI) ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่สามารถบูรณาการหลักสูตรการเรียนการสอนสำหรับเด็กพิเศษได้อย่างครอบคลุมทุกมิติ และยังสามารถสร้างทักษะในการคิดวิเคราะห์ให้กับเด็กที่มีปัญหาทางการได้ยินอย่างมีประสิทธิภาพ

โดยสื่อ “ซีเอไอ” จะเป็นสื่อการเรียนการสอนที่ผู้เรียนสามารถเรียนรู้เพียงคนเดียวผ่านหน้าจอทีวี หรือเรียนเป็นกลุ่มผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์ก็ได้ โดยโปรแกรมนี้ผู้เรียนจะสามารถมองเห็นภาพของ “ปาก” ในขณะที่กำลังอ่านออกเสียงคำนั้นๆ เพื่อฝึกอ่านปาก ในขณะเดียวกันก็จะเห็นการทำท่าทางของ “ภาษามือ” ที่สื่อความหมายถึงคำที่พูดถึง พร้อมมีตัวหนังสือ “ภาษาไทย-ภาษาอังกฤษ” ให้เกิดการเรียนรู้ความหมาย และ “รูปของวัตถุ” ต่างๆ ที่กล่าวถึง ปรากฏขึ้นมาพร้อมกัน

ทั้งนี้เนื่องจากการสอนเด็กพิเศษ “สื่อการสอน” มีความจำเป็นเป็นอย่างมาก เพราะเด็กกลุ่มนี้จะไม่ได้ยินเสียง ดังนั้นสื่อที่จะนำมาใช้จึงต้องมีคุณลักษณะที่พิเศษกว่าสื่อการเรียนการสอนสำหรับเด็กปกติกล่าวคือ ต้องมองเห็นได้ชัด มีการขยายผล ขยายนาม ขยายกรรม และขยายกริยา

“ซีเอไอ เป็นสื่อแบบมัลติมีเดีย ที่จะช่วยให้เด็กกลุ่มนี้สามารถ ฝึกพูด ฝึกอ่านปาก ฝึกภาษามือ ฝึกภาษาไทย ฝึกภาษาอังกฤษ แบบบูรณาการ และสามารถคิดวิเคราะห์ไปสู่เรื่องอย่างอื่นได้ โดยเป็นสื่อที่ทันสมัย ทำให้เด็กๆ มีความสนใจและสามารถพัฒนาการเรียนได้เพิ่มขึ้น” ครูจุรีกล่าว

นอกจากนี้ในเรื่องของ “การฝึกพูด” นั้น “ครูจุรี” ได้มีการออกแบบสื่อการเรียนการสอนมากมายหลายรูปแบบ และยังได้พัฒนา “เทคนิคการบริหารกล้ามเนื้อปากและลิ้น” เพื่อเป็นพื้นฐานในการแก้ไขการพูดสำหรับเด็กพิเศษ รวมไปถึงการขยาย “เครือข่ายครู” ที่ทำงานกับกลุ่มเด็กที่มีปัญหาทางการได้ยิน เพื่อให้คุณครูท่านอื่นๆ ที่ดูแลเด็กพิเศษ ได้นำเอาประสบการณ์และความรู้ของตนเองไปประยุกต์ใช้เพื่อเติมเต็มศักยภาพให้กับเด็กพิเศษในที่อื่นๆ อีกด้วย

โดยสิ่งที่ถือว่าเป็นหัวใจที่ใช้การจัดกระบวนการเรียนการสอนให้กับเด็กกลุ่มก็คือ “ทฤษฏีแห่งความรัก” ที่ประกอบไปด้วย “L T H” ซึ่ง “ครูจุรี” อธิบายว่า L ก็คือ Love คือความรักในวิชาชีพ T คือ Touch คือการสัมผัส สัมผัสเด็กด้วยแผ่วเบา สัมผัสอุปกรณ์ สัมผัสด้วยสายตา สัมผัสด้วยมือ สัมผัสอย่างเข้าใจ และ H ก็คือ Heart หรือใจที่หมายถึงต้องรักลูกศิษย์และดูแลเอาใจใส่เขาให้เหมือนลูกของเรา

“อยากให้มองว่าคนหูหนวกเขาก็พูดได้ ไม่ใช่หูหนวกแล้วจะพูดไม่ได้ ถ้าเขาได้รับการฝึกเขาก็จะพูดได้ เพียงแต่ว่าเราจะช่วยเหลือเขาอย่างไร เพื่อให้เขาสามารถอยู่ในสังคมได้ ด้วยความที่เราอยู่กับเด็กพิเศษและจบทางด้านการศึกษาพิเศษก็อยากจะบอกว่า เขาพูดได้ เพียงแต่ว่าเราต้องค่อยๆ ฝึกเขา และสังคมอย่าทอดทิ้งเขาในการพัฒนา โดยสิ่งที่เห็นและความภูมิใจคือรอยยิ้มและแววตาของเขามีความสุข และที่สำคัญผู้ปกครองเขามีความสุขด้วย” ครูจุรีกล่าวถึงแรงบันดาลใจในการทำงาน

นายวิรัช กล้าหาญ ผู้อำนวยโรงเรียนภูเก็ตปัญญานุกูล เล่าถึงเป้าหมายของโรงเรียนว่ามีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะพัฒนาและส่งเสริมให้ครูและนักเรียนได้รับการศึกษาอย่างมีประสิทธิภาพ แต่การที่จะขับเคลื่อนไปสู่ความสำเร็จได้นั้นขึ้นอยู่กับคุณภาพของ “ครู” เป็นสำคัญ

“ถ้าครูสอนดี เด็กนักเรียนก็จะมีคุณภาพได้อย่างแน่นอน แต่ปัญหาของโรงเรียนในปัจจุบันก็คือการขาดแคลนครู เพราะการสอนและดูแลเด็กพิการนั้นจะสอนยากและต้องเหนื่อยกว่าครูปกติ ครูผู้สอนจะต้องใส่ใจดูแลเป็นพิเศษ ซึ่งครูจุรีนั้นก็เป็นแบบอย่างที่ดีให้กับครูคนอื่นๆ ในเรื่องของความเสียสละทุ่มเทในการทำงาน จนทำให้ได้รับรางวัลจากองค์กรและหน่วยงานต่างๆ มากมาย” ผอ.วิรัชกล่าว

ในวัย 55 ปีของ “ครูจุรี” ในวันนี้ มีความตั้งใจสูงสุดอีกอย่างหนึ่งนอกเหนือไปจากการทุ่มเทเอาใจใส่ดูแลเด็กพิเศษให้ได้มีโอกาสในการเรียนรู้ทัดเทียมกับเด็กปกติคนอื่นๆ ในสังคม นั่นก็คือการขยายผลนวัตกรรมต่างๆ ที่ได้คิดค้นขึ้นมาให้ได้รับการเผยแพร่ออกไปสู่เด็กพิเศษในพื้นที่ต่างๆ ของประเทศไทยให้กว้างขวางมากยิ่งขึ้น เพื่อให้เพื่อนครูที่ทำงานเกี่ยวข้องกับเด็กๆ กลุ่มนี้ ได้นำเครื่องมือและสื่อการเรียนการสอนที่ออกแบบไว้ไปใช้ในการเพิ่มพูนและพัฒนาศักยภาพของเด็ก

รวมไปถึงเผยแพร่องค์ความรู้ในการพัฒนาเด็กพิเศษไปสู่ผู้ปกครอง เพื่อให้เด็กที่ขาดโอกาสทางการศึกษาที่อยู่กับครอบครัวที่บ้าน ได้อาศัยสื่อการเรียนเหล่านี้ในการฝึกฝน และเรียนรู้ในสิ่งที่จำเป็นสำหรับผู้ที่บกพร่องทางการได้ยิน เพื่อให้เขาสามารถใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างปกติและมีความสุข

“เขาก็เหมือนเด็กปกติ เพียงแต่ว่าหูของเขาไม่ได้ยิน แต่เขามีทักษะ มีความคิด มีไอเดียที่ดีเยี่ยม แต่ต้องค้นพบเขา พยายามแก้ปัญหา และให้กำลังใจในการที่จะนำเขาสู่โลกภายนอกและสังคมปกติได้ เพราะเด็กพิการเขาก็พิการแต่เพียงร่างกาย แต่ว่าจิตใจของเขาปกติ ดังนั้นสังคมอย่าทอดทิ้งเขา อย่าดูถูกเขา เพราะเขาก็มีความรู้สึกเหมือนกับเราเหมือนกัน ให้โอกาสเขาได้อยู่ในสังคมอย่างมีความสุข” ครูจุรีกล่าวสรุป

(บ้านเมืองออนไลน์ 22/05/2012)

21 พฤษภาคม 2555

ไทยส่ง ๓ กีฬาหูหนวกเอเชีย มั่นใจมีทองติดมือ


เมื่อวันที่ ๑๘ พ.ค. ๒๕๕๕ ที่หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา กองบัญชาการกองทัพไทย พล.ต.ชัยพฤกษ์ อัยยะภาคย์ ผู้อำนวยการสำนักงานทหารพัฒนา (นทพ.) ร่วมกับ พลตรีโอสถ ภาวิไล นายกสมาคมกีฬาคนพิการแห่งประเทศไทยฯ แถลงข่าวการส่งนักกีฬาคนหูหนวกแข่งขันในศึก “กีฬาคนพิการทางหู เอเชีย-แปซิฟิค ครั้งที่ ๗” ที่กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ โดยการแข่งขันครั้งนี้จะมีขึ้นระว่างวันที่ ๒๖ พ.ค.-๒ มิ.ย.นี้ และมีนักกีฬาคนหูหนวกเป็นผู้แทนเข้าร่วมแข่งขันในกีฬา ๓ ชนิด ได้แก่ ฟุตบอล, ฟุตซอล และแบดมินตัน จำนวน ๓๕ คน พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ทั้งหมด ๔๕ คน โดยนักกีฬาทั้งหมดได้เริ่มเก็บตัวตั้งแต่วันที่ ๒๐ เม.ย.-๒๑ พ.ค.นี้ สำนักงานทหารพัฒนา (นทพ.) แขวงทุ่งสีกัน ดอนเมือง ภายใต้การดูแลของ พ.อ.ทวีป ปิยะอรุณ หัวหน้าผู้ฝึกสอน และมีนายสุชาติ แจสุรภาพ เป็นผู้จัดการทีม
พ.อ.ทวีป เผยว่า การแข่งขันครั้งนี้ทีมฟุตบอลในฐานะแชมป์เก่าเมื่อ ๕-๖ ปีก่อน อยู่ในสายเดียวกับ “เจ้าภาพ” เกาหลีใต้, ซาอุดีอาระเบีย, อิรัก, อุซเบกิสถาน เราตั้งความหวังถึงรอบ ๔ ทีมสุดท้าย, ส่วนทีมฟุตซอลที่เราเคยรั้งรองแชมป์โลก และศึกครั้งนี้อยู่สายเดียวกับเยเมน, คาซัคสถาน และอิห -xxx- ซึ่งเราตั้งความหวังเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศ ขณะที่แบดมิดตัน นำทัพโดยศิริวัฒน์ มาตยานุมัติ เจ้าของเหรียญทองกีฬาแห่งชาติ และการแข่งขันแบดมินตันปุ้มปุ้ยครั้งล่าสุด ซึ่งมั่นใจว่าทีมนักกีฬาไทยสามารถสู้ได้กับทุกทีม และมีเหรียญทองติดมือกลับบ้านแน่นอน ทั้งนี้ ประเทศที่ชนะเลิศจะได้สิทธิ์แข่งขันกีฬาระดับโอลิมปิกสำหรับคนหูหนวก “เดียฟลายปิก” ในปี ค.ศ.๒๐๑๓ ที่ประเทศฮังการี อีกด้วย.( http://m.oohho.com/ มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย ๑๙ พ.ค.๒๕๕๕)
29783

02 พฤษภาคม 2555

พจนานุกรมดิจิตอลภาษามือไทย



ภาษามือไทย เป็นภาษาที่ใช้สื่อสารกันในกลุ่มคนหูหนวกต่างๆทั่วประเทศ อย่างไรก็ตาม ภาษามือไทยของคนหูหนวกแต่ละกลุ่มอาจมีความแตกต่างกันบ้าง โดยเฉพาะภาษามือไทยซึ่งสอนโดยคนที่ได้ยินปกติมักได้รับอิทธิพลจากภาษาไทย ในชีวิตประจำวัน ความสับสน และการสื่อสารไม่ตรงกับความหมาย เป็นเหตุการณ์ปกติที่เกิดขึ้นระหว่างคนหูหนวกที่ใช้ภาษามือไทยเป็นภาษาแม่และคนที่ได้ยินปกติซึ่งใช้ภาษามือไทยเป็นภาษาที่สอง
พจนานุกรมสารสนเทศภาษามือไทย เป็นโครงการวิจัยที่ได้รับการสนับสนุนจากสถาบันวิจัยและพัฒนามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกในการสื่อสารระหว่างคนหูหนวกที่ใช้ภาษามือไทยกับคนหูดีที่ใช้ภาษาไทย ซึ่งเป็นผลที่ได้จากการวิเคราะห์ภาษามือไทยในแนวภาษาศาสตร์และจากความร่วมมือของผู้ใช้ภาษามือไทยเป็นภาษาแม่
พจนานุกรมฉบับนี้เป็นสื่อสารสนเทศฉบับแรกสำหรับภาษามือไทย ประกอบด้วยศัพท์ภาษาอังกฤษและภาษา ไทยมากกว่า ๑,๐๐๐ คำ มีการแสดงท่ามือของลักษณะนามภาษามือไทยในภาพสามมิติ สำหรับคำนามที่เป็นศัพท์ตั้งมีกว่า ๕๐๐ คำ มีวีดิทัศน์แสดงท่ามือประกอบศัพท์ตั้งในหมวดคำต่างๆ เช่น คำนาม คำกริยา และมีวีดิทัศน์แสดงท่ามือการสะกดนิ้วมืออักษรไทย คำอธิบายไวยากรณ์ภาษามือไทย วีดิทัศน์แสดงท่ามือภาษามือเชียงใหม่และท่ามือภาษามือสงขลาควบคู่กับท่ามือภาษามือไทย(กลาง) สำหรับศัพท์ตั้งกว่า ๒๐๐ คำ
เข้าถึงพจนานุกรมนี้ได้โดย อุปกรณ์พกพาและโทรศัพท์มือถือ เป็นประโยชน์สำหรับคนหูหนวกไทยและต่างประเทศ คนไทยและชาวต่างประเทศที่สนใจเรียนภาษามือไทย พจนานุกรมนี้ช่วยลดช่องว่างในการสื่อสารระหว่างคนหูหนวกกลุ่มต่างๆ และระหว่างคนหูหนวกกับคนที่ได้ยินปกติ อันมีผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อการพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตของคนหูหนวกไทย ซึ่งสอดคล้องกับแนวนโยบายของรัฐบาลในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนพิการไทย
ผู้สนใจวีดิทัศน์ภาษามือไทยออนไลน์และพจนานุกรมดิจิตอลภาษามือไทย ในรูปแบบภาษามือไทย และภาษาไทย ศึกษาได้ที่ http://pirun.ku.ac.th/~fhumalt/THSL/THSL/html/nav_th/THSL_intro_th.htm www.rilc.ku.ac.th และhttp://rilc.ku.ac.th/iWeb/index.html
หากต้องการใช้แอพพลิเคชั่นภาษามือไทยออนไลน์ บน ไอแพด ( iPad ) ไอโฟน ( iPhone ) หรือโทรศัพท์มือถือระบบแอนดรอยด์ (android) สามารถดาวน์โหลดได้ฟรีที่ไอจูนซ์ ( iTunes) (สถาบันภาษาศาสตร์และวัฒนธรรมศึกษาราชนครินทร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์/มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย ๑ พ.ค. ๒๕๕๕)