27 กรกฎาคม 2555

มก. ปิ๊งไอเดีย ช่องทางสื่อสารภาษามือไทยผ่าน Thai SL App

   มนุษยศาสตร์ มก. ปิ๊งไอเดีย พัฒนานวัตกรรมผสมผสานภาษามือไทยกับเทคโนโลยีสารสนเทศ  เป็น Thai SL App แอปพลิเคชันภาษามือไทย ทลายกำแพงการสื่อสารระหว่างคนปกติและผู้บกพร่องทางการได้ยิน 

      
       ปัจจุบันเทคโนโลยีทางด้านการสื่อสาร มีการพัฒนาอย่างไม่หยุดนิ่ง สถาบันภาษาศาสตร์และวัฒนธรรมศึกษาราชนครินทร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คิดค้นและพัฒนานวัตกรรม Thai SL App แอปพลิเคชันภาษามือไทยที่ผสมผสานภาษามือไทยกับเทคโนโลยีสารสนเทศเข้าด้วยกัน ก่อให้เกิดประโยชน์ทางการสื่อสาร และยังสร้างเสริมความเข้าใจทั้งผู้บกพร่องทางการได้ยิน ผู้ได้ยินปกติ รวมถึงผู้ที่สนใจเรียนภาษามือไทยด้วย
รศ.ดร. อภิลักษณ์ ธรรมทวีธิกุล ผู้อำนวยการสถาบันภาษาศาสตร์และวัฒนธรรมศึกษาราชนครินทร์ คณะมนุษยศาสตร์ เล่าถึงที่มาของนวัตกรรมชิ้นนี้ว่า แอปพลิเคชันภาษามือไทยหรือนวัตกรรมสื่อพกพาภาษามือไทย Thai Sign Language iPhone/IPad App และ Android App (Thai SL App) ถือกำเนิดมาจากงานวิจัยที่ทำร่วมกับนิสิตปริญญาโทที่ใช้ภาษามือ จากพจนานุกรมดิจิตอลภาษามือไทย เพื่อให้คนหูหนวกและคนหูดีเชื่อมโยงสื่อสารระหว่างกัน
      
       
"ต่อมาได้พัฒนาต่อยอดเป็นพจนานุกรมสารสนเทศภาษามือไทยซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากภาครัฐและเอกชนในการจัดทำ โดยมีคณะผู้วิจัยคือ รศ. ดร. อภิลักษณ์ ธรรมทวีธิกุล หัวหน้าโครงการ และผู้วิจัยหลัก น.ส. จิรภา นิวาตพันธุ์ ผู้ร่วมวิจัย และ Mr. Philipp Dill ผู้เชี่ยวชาญด้านสารสนเทศ นอกจากนี้ยังได้รับการสนับสนุนด้านบุคลากรจากวิทยาลัยราชสุดา และมูลนิธิภาษาศาสตร์ประยุกต์ในการร่วมวิจัย จากนั้นได้พัฒนาต่อยอดมาเป็นแอปพลิเคชันภาษามือไทย ซึ่งเปิดให้ดาวน์โหลดฟรีตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2555 ที่ผ่านมา"

       รศ.ดร. อภิลักษณ์กล่าวต่อไปว่า ภาษามือมีรูปแบบที่ชัดเจน แต่ละภาษามีพยัญชนะ สระ คำนาม สรรพนาม กริยา และไวยากรณ์ที่ชัดเจนเหมือนภาษาพูดทั่วไป ต่างกันตรงที่วงจรการสื่อสารของภาษามือใช้ท่ามือแทนคำพูด เนื่องจากการรับสารเกิดจากการมองเห็น แทนการได้ยิน และเนื่องจากคำศัพท์ใช้ท่ามือและรับรู้โดยสายตา ศัพท์จำนวนหนึ่งจึงอาจเข้าใจได้ง่ายและคล้ายกันในภาษามือต่างๆ เพราะท่ามือมีรูปแบบใกล้เคียงกับรูปลักษณ์ของสิ่งที่อ้างถึง
      
       
"ผู้ที่มีอุปสรรคในการสื่อสารภาษามือ สามารถค้นหาคำศัพท์ที่สงสัยจากแอปพลิเคชันภาษามือไทยและพจนานุกรมสารสนเทศภาษามือไทยได้ ซึ่งคำตอบจะเป็นวีดิโอคลิป มีทั้งศัพท์ภาษามือเชียงใหม่และภาษามือสงขลา พร้อมมีตัวอักษรภาษาไทย และภาษาอังกฤษประกอบ ทำให้ง่ายต่อการเรียนรู้ภาษามือไทย นอกจากนี้ในโปรแกรมยังจัดเรียงศัพท์เป็นหมวดต่างๆ ตามคุณสมบัติทางไวยากรณ์เพื่อความสะดวกและรวดเร็วในการสืบค้น และมีการเพิ่มคำอธิบายไวยากรณ์ พร้อมตัวอย่างการใช้จริงในพจนานุกรมฉบับสารสนเทศ"
      
      
      
       ผอ.สถาบันภาษาศาสตร์ฯ เพิ่มเติมว่า การจัดหมวดหมู่ต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกในการสื่อสารกับคนที่บกพร่องทางการได้ยิน รวมถึงเป็นเครื่องมือช่วยสำหรับการสื่อสารระหว่างกลุ่มคนหูหนวกไทยต่างๆ ที่ใช้ภาษามือแตกต่างกันไปตามท้องถิ่นของตน และยังใช้เป็นเครื่องมือช่วยการเรียนการสอนในการอ่านเขียนภาษาไทยและภาษาอังกฤษสำหรับนักเรียนนักศึกษาหูหนวกไทยได้ด้วย
      
       
"จากผลสำรวจยังพบว่า คนหูหนวกมีความสนใจฝึกออกเสียงพูด ซึ่งถ้าหากพัฒนาได้ พวกเขาจะมีความสุขมากหากสามารถสื่อสารกับคนได้ยินปกติได้ด้วยการออกเสียงพูด แต่อุปสรรคขณะนี้คือ มีการสื่อสารอ่านออกเขียนได้ พูดได้น้อยมาก ทางสถาบันฯ จึงได้ต่อยอดพัฒนาโปรแกรมสอนการออกเสียงพูด โปรแกรมระบบเสียงภาษาไทยออนไลน์ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนหูหนวก หรือเรียกว่านวัตกรรมสื่อระบบเสียงภาษาไทยออนไลน์ ซึ่งแสดงระบบเสียงภาษาไทยผ่านมัลติมีเดียโดยมีการสาธิตการออกเสียงสระ พยัญชนะและวรรณยุกต์ภาษาไทย เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการศึกษาระบบการออกเสียงภาษาไทย ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่บกพร่องทางการได้ยิน คนได้ยินปกติ รวมถึงชาวต่างชาติด้วย" ผอ.สถาบันภาษาศาสตร์ฯ กล่าวทิ้งท้าย
      
       
สำหรับผู้สนใจสามารถดาวน์โหลดฟรี ได้ที่ App Store หรือที่เว็บไซต์ สถาบันภาษาศาสตร์และวัฒนธรรมศึกษาราชนครินทร์  และสำหรับผู้ที่ต้องการศึกษาระบบเสียงภาษาไทย สามารถเยี่ยมชมนวัตกรรมสื่อระบบเสียงภาษาไทยออนไลน์ได้  >>ที่นี่<<  หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ สถาบันภาษาศาสตร์และวัฒนธรรมศึกษาราชนครินทร์ โทร. 02 - 579 - 5567 - 8 ต่อ 1516

21 กรกฎาคม 2555

Reflection of Mind

มีเพื่อนในคลิปวีดีโอนี้ด้วย ลองคลิกดูนะ



Creative: หรินทร์ แพทรงไทย
ผู้กำกับ&ตัดต่อ: พิอ้าย แจ่มจันทร์
ภาพ: ชัยวัฒน์ ถกลอดิสัย

12 กรกฎาคม 2555

เด็กหูหนวกในประเทศไทยมีกว่าล้าน ๘ แสนคน เด็กชนบทเสี่ยงมากกว่าเด็กในเมือง


มูลนิธิอนุเคราะห์คนหูหนวกในพระบรมราชินูปถัมภ์ โดยการสนับสนุนของบริษัทอินทิเมกซ์ เปิดโครงการ “หนูอยากได้ยินเสียงแม่” ณ โรงแรมเชียงใหม่ฮิลล์ จังหวัดเชียงใหม่ เนื่องในโอกาสครบรอบ ๖๐ ปีแห่งการก่อตั้งมูลนิธิฯ เพื่อช่วยเหลือผู้บกพร่องทางการได้ยิน โดยเฉพาะเด็กวัย ๐-๗ ปี ให้เข้าถึงอุปกรณ์ช่วยการได้ยิน ส่งเสริมให้เด็กได้รับโอกาสในการเข้าถึงระบบการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกับเด็กทั่วไป มีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดี สามารถอยู่ร่วมกับบุคคลอื่นในสังคมได้อย่างมีความสุข โดยมีความประสงค์จะมอบเครื่องช่วยฟังหรือประสาทหูเทียมให้ผู้ที่บกพร่องทางการได้ยินที่ผ่านการพิจารณาแล้ว
นายศุขสนั่น โชติกเสถียร ประธานกรรมการมูลนิธิอนุเคราะห์คนหูหนวกในพระบรมราชินูปถัมภ์กล่าวว่า สถิติเด็กที่เกิดมาแล้วหูหนวกมีประมาณ ๓ ในพันคน หรือประมาณ ๑ ล้าน ๘ แสนคนทั่วประเทศ ซึ่งคนหูหนวกนั้นจะเป็นใบ้โดยปริยาย คนหูหนวกมีปัญหามากกว่าคนตาบอด คนตาบอดสามารถได้ยินและพัฒนาการได้เหมือนคนปกติ ขณะที่คนหูหนวกจะไม่สามารถพูดได้ และมีโอกาสที่จะเป็นบุคคลปัญญาอ่อนได้ด้วย ดังนั้นจึงต้องเร่งให้ความช่วยเหลือบุคคลหูหนวกเพื่อให้เขาได้มีโอกาสทางสังคมอย่างเท่าเทียมกับคนอื่น
นอกจากนี้ยังพบว่าพื้นที่ห่างไกล ทุรกันดาร เด็กมีโอกาสเสี่ยงเกิดมาหูหนวกมากกว่าเด็กในเมือง เนื่องจากมีลักษณะการดำรงชีวิตที่ไม่เหมาะกับสุขภาวะ เช่น แม่อาจจะใช้ยาปฏิชีวนะ หรือเด็กทารกที่เป็นหัดเยอรมัน ไข้สูง อย่างไรก็ตามพบว่าปัจจุบันสถิติเด็กที่เกิดใหม่จำนวนเด็กหูหนวกลดลง (สวท.เชียงใหม่ออนไลน์/มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย๗ ก.ค.๒๕๕๕)

บรรยากาศ งานประกวดนางงามคนหูหนวก 2012

ศิลป์สโมสร : นางงามในโลกเงียบ 11 ก.ค. 55 | 13.00 - 13.30


http://program.thaipbs.or.th/entertainmentprogram/article57634.ece

ฮือฮา!!ถุงมืออัจฉริยะ แปลงภาษามือเป็นคำพูด(ชมคลิป)


เดลิเมล์ - เหล่านักประดิษฐ์ยูเครน ทำการพัฒนาถุงมือไฮเทคที่สามารถเปลี่ยนภาษามือเป็นคำพูด ความสำเร็จครั้งสำคัญที่จะช่วยกลุ่มบุคคลซึ่งบกพร่องทางการพูด สนทนาได้เหมือนคนปกติทั่วไป
      
       ถุงมืออัจฉริยะที่มีชื่อว่า"EnableTalk"นี้ ติดตั้งเครือข่ายเซ็นเซอร์ครบวงจรซึ่งสามารถรับรู้ถึงความเคลื่อนไหวของมือและแปลสัญญาณมือต่างๆเป็นคำพูดผ่านทางแอพพลิเคชันสมาร์ทโฟน
      
       อุปกรณ์ไฮเทคนี้คว้ารางวัลชนะเลิศการประกวดมาแล้วและเหล่านักประดิษฐ์เหล่านี้หวังว่า EnableTalk จะช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนหลายล้านคนทั่วโลกที่มีปัญหาความบกพร่องทางการพูดและการรับฟัง

     รายงานข่าวระบุว่าเจ้าถุงมืออัจฉริยะ ประกอบด้วยเซ็นเซอร์แบบยืดหยุ่น เซ็นเซอร์สัมผัส ไจโรสโคปและตัววัดความเร่ง รวมถึงโซลาร์เซลล์ สำหรับคอยให้พลังงาน
      
       EnableTalk ยังทำได้กระทั่งให้ผู้ใช้สามารถสร้างและกำหนดโปรแกรมสัญญาณมือต่างๆด้วยตนเอง ทั้งนี้แม้ว่ามันยังเพิ่งอยู่ในขั้นต้นแบบ แต่ก็คว้ารางวัลอันทรงเกียรติเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
      
       โครงการนี้คว้ารางวัลชนะเลิศ ณ ไมโครซอฟต์ อิมเมจิน คัพ ในออสตรเลีย การแข่งขันที่จัดขึ้นมาเพื่อสนับสนุนนวัตกรรมทางเทคโนโลยี และเหล่านักประดิษฐ์เชื่อมั่นว่าจะสามารถพัฒนาจนได้ผลิตภัณฑ์ที่สามารถเปลี่ยนชีวิตบุคคลซึ่งบกพร่องทางการพูดได้

 แมกซิม โอซิกา โปรแกรมเมอร์ บอกว่า "แรงบันดาลใจของเราคือความต้องการช่วยเหลือเพื่อนๆที่มีความบกพร่องทางการพูดและได้ยิน ให้สามารถสื่อสารได้เหมือนกับคนทั่วไป"
      
       กลุ่มนักประดิษฐ์ยังเผยด้วยว่าค่าใช้จ่ายสำหรับฮาร์ดแวร์ในการสร้างถุงมืออัจฉริยะต้นแบบนั้นแค่ 50 ปอนด์(ประมาณ 2,500 บาท) นั่นหมายความว่าพวกเขาสามารถเดินหน้าพัฒนาสิ่งประดิษฐ์นี้จนเสร็จสมบูรณ์โดยปราศจากอุปสรรคทางการเงินใดๆ


09 กรกฎาคม 2555

ดช. ๕ ปี ทำคบเพลิงโอลิมปิกขายช่วยคนหูหนวก


           โลแกน แม็คเคอร์โรว์ เด็กชายวัย ๕ ขวบ เกิดได้ความคิดหลังจากที่เห็นคบเพลิงโอลิมปิกเกมส์ ครั้งที่ ๓๐ หรือ ลอนดอนเกมส์ ๒๐๑๒ ได้ถูกโพสต์ขายบนอินเทอร์เน็ต ด้วยราคาที่สูงหลายพันปอนด์ จึงคิดนำเอากระดาษมาสร้างเป็นคบเพลิงโอลิมปิก พร้อมทั้งได้เสนอขายทางอินเทอร์เน็ตเช่นกัน ซึ่งได้รับความสนใจจากประชาชนทั่วไป เพื่อช่วยเหลือในการนำเงินที่ได้จากการจำหน่ายคบเพลิงกระดาษ ไปมอบให้องค์กรการกุศลช่วยเหลือคนหูหนวกต่อไป (ไอเอ็นเอ็นออนไลน์/มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย๗ ก.ค.๒๕๕๕)
30380

02 กรกฎาคม 2555

มูลนิธิอนุเคราะห์คนหูหนวก มอบเครื่องช่วยฟัง ‘สำหรับผู้พิการทางหู’


มูลนิธิอนุเคราะห์คนหูหนวกในพระบรมราชินูปถัมภ์ มอบเครื่องช่วยฟังให้กับผู้ที่บกพร่องทางการได้ยินฟรี ภายในงาน"หนูอยากได้ยินเสียงแม่"ช่วยเหลือผู้บกพร่องทางการได้ยิน
มูลนิธิอนุเคราะห์คนหูหนวกในพระบรมราชินูปถัมภ์ ภายใต้การสนับสนุนของอินทิเม็กซ์ ภายใต้โครงการ ไรท์ ทู เฮียร์ (Right To Hear) จัดงาน " หนูอยากได้ยินเสียงแม่" เพื่อช่วยเหลือผู้ที่พร่องทางการได้ยิน โดยเฉพาะเด็กวัย ๐-๗ ปี ที่มีความบกพร่องทางการได้ยินให้เข้าถึงอุปกรณ์ช่วยการได้ยิน ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้เด็กสามารถเรียนรู้ในระบบการศึกษา และสามารถกลับสู่สังคมของการสื่อสาร โดยการใช้ภาษาพูด โดยจะมีการลงทะเบียนเพื่อขอรับการพิจารณารับเครื่องช่วยฟังหรือประสาทหูเทียมฟรี ในวันที่ ๗ กรกฎาคม ๒๕๕๕ เวลา ๐๘.๐๐-๑๒.๓๐ น. ณ โรงแรมเชียงใหม่ฮิลล์ ส่วนภาคอื่นๆและกรุงเทพฯ ในวันที่๒๙กรกฏาคม๒๕๕๕
จากข้อมูลทะเบียนกลางคนพิการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ ระบุว่าจำนวนของผู้พิการทางการได้ยินทั่วประเทศ ระหว่าง๑ พ.ย ๓๗ -๓๑ พ.ค ๕๕ มีจำนวน ๑๙๖,๒๗๒ คน ซึ่งการสูญเสียการได้ยินทำให้ขาดโอกาสในการศึกษาและการกลับเข้าสู่สังคม จากการศึกษาพบว่า การผ่าตัดประสาทหูเทียมในเด็กที่มีความบกพร่องทางการได้ยินในช่วง ๕ ปีนั้นมีผลในการช่วยเหลือฟื้นฟูภาษาได้(newsvoicetvออนไลน์/มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย ๓๐ มิ.ย. ๒๕๕๕ )