25 ตุลาคม 2552

ทีวีไกด์: รายการคุณพระช่วย สุดทึ่ง ออเคสตร้าร่วมเปียโนโดย คนหูหนวก!! ผ่านบทเพลงที่แต่งโดย ประภาส ชลศรานนท์


Tuesday, 14 July 2009 08:23 -- บันเทิง
กรุงเทพฯ--14 ก.ค.--เวิร์คพอยท์ เอ็นเตอร์เทนเม้นท์

คนหูหนวกไม่ได้ยินเสียง แต่เล่นดนตรีได้จริง!!! รายการ “คุณพระช่วย” ตอน เสียงจากจิตใจ นำเสนอเรื่องราวของ ดนตรีบำบัดด้วยเปียโน ซึ่งนอกจากคนหูหนวกแล้ว คนที่เป็นอัลไซเมอร์ ออทิสติก หรือแม้กระทั่งคนแก่ สามารถเล่นเปียโนได้ภายในเวลาแค่ ๑๐ นาที ซึ่งสร้างปรากฏการณ์ครั้งแรก!!! ที่ผู้ชมจะได้เห็นการบรรเลงเปียโนโดยคนหูหนวก ร่วมกับวงเครื่องสายฝรั่ง พร้อมเสียงร้องจากศิลปินคุณภาพ คิว วงฟลัวร์ ในบทเพลง “เสียงในความเงียบ” แต่งพิเศษขึ้นใหม่โดย คุณประภาส ชลศรานนท์ เป็นบทเพลงที่ดังออกมาจากหัวใจของคนหูหนวกสู่คนปกติ

โดย อาจารย์ตรีรัตน์ อุปถัมภ์โพธิวัฒน์ ที่ปรึกษาโครงการดนตรีบำบัด ด้านเปียโน กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข มาเล่าถึงจุดเริ่มต้นเมื่อได้ไปเรียนเปียโนกับคุณพ่อ แต่คุณพ่อเรียนไม่ได้เพราะเข้าใจว่าคนเล่นเปียโนได้ต้องเริ่มเรียนตั้งแต่เด็กๆ เท่านั้น จึงคิดหาวิธีเพื่อสอนให้ทุกคนเล่นเปียโนเป็น จึงเริ่มหัดสอนคนปกติจนถึงเล่นกับคนพิการ ซึ่งคนที่เป็นออทิสติกจากไม่พูดก็เริ่มหัดพูด ผู้ป่วยที่เป็นโรคมะเร็งที่เหลือเวลาอีกแค่ ๒ สัปดาห์เมื่อได้มาเรียนเปียโนก็ทำให้สามารถนอนหลับได้ดีไม่ต้องทนกับความเจ็บปวด ทำให้เกิดแรงบันดาลใจในการสอนคนหูหนวกที่ไม่ได้ยิน แต่สามารถเล่นดนตรีให้คนปกติฟังได้เช่นกัน ในหลักสูตรที่เรียกว่า วัน ทู ไฟว์ คือการใช้นิ้วมือทั้ง ๕ ในการสัมผัส ซึ่งนานาประเทศยังไม่สามารถทำได้ ประเทศไทยถือเป็นประเทศแรกที่เปิดการสอนเปียโนให้คนหูหนวก ฟังแล้วพิธีกรเท่งทนไม่ไหวขอร่วมพิสูจน์เรียนเปียโนด้วยอีกคน มาร่วมพิสูจน์ความสามารถของคนไทยพร้อมฟังเพลงเพราะๆจากการประพันธ์ของ ประภาส ชลศรานนท์ ได้ในรายการ “คุณพระช่วย” วันอาทิตย์ที่ ๑๙ ก.ค.นี้ เวลา ๑๖.๐๐ น. ทางโมเดิร์นไนน์ ทีวี

ชีวิตในโลกเงียบของ "ดร.ดอน แบงส์" กับบทบาทครูสอนคนหูหนวก

แหล่งที่มา กรุงเทพธุรกิจ ฉบับที่ 5233 [หน้าที่ 5 ] ประจำวันที่ 20 มกราคม 2546

ในบรรยากาศที่เงียบสงบ อาจจะมีเสียงดังเล็ดลอดออกมาบ้าง เป็นครั้งคราวของโรงเรียนเศรษฐเสถียร โรงเรียนสำหรับผู้ที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน บุรุษร่างท้วม ผิวขาว จมูกโด่ง สวมแว่นตากลมๆ เขาไม่ใช่คนไทย แต่กลับยินดีเดินทางมาเมืองไทยหลายครั้ง ด้วยงบประมาณส่วนตัว เพื่อเป็นอาสาสมัครสอนเด็กหูหนวกที่โรงเรียนแห่งนี้

ดร.ดอน แบงส์ ชายผู้มีความบกพร่องทางการได้ยิน คืออาสาสมัครที่เอ่ยถึง เขาเป็นคนหูหนวกชาวอเมริกัน แต่กลับมีความสามารถมากกว่าคนปกติอีกหลายคนเสียอีก ด้วยตำแหน่งปัจจุบันคือผู้จัดการฝ่ายศิลปะการละคร Califonia Sign Rise Theater และผู้ประสานงานด้านภาษามืออเมริกันของวิทยาลัยเซ็นต้า โรซ่า จูเนียร์ และเซ็นต้า โรซ่า แคลิฟอร์เนีย

"งานหลักของผมเป็นผู้จัดการฝ่ายศิลปะการละคร ซึ่งเป็นหน่วยงานภาคเอกชนที่สหรัฐอเมริกา การละครจะไม่ใช่งานที่ทำทุกวัน กว่าละครจะเปิดก็เดือน 9 คือเดือนพฤศจิกายนถึงเดือน 5 แล้วปิดประมาณ 5 เดือน ผมว่างก็จะมาเมืองไทย 5-6 อาทิตย์ และก็จะมาช่วยสอนเด็กหูหนวกที่โรงเรียนเศรษฐเสถียร เนื่องจากว่าผมรู้จัก ดร.มลิวัลย์ ธรรมแสง ผู้อำนวยการของโรงเรียนเป็นอย่างดี ท่านเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านภาษามือ ที่ให้ความช่วยเหลือผมเป็นอย่างดี" ดร.ดอน แบงส์ กล่าวด้วยล่ามภาษามือ ผ่าน ดร.มลิวัลย์ เพื่อถ่ายทอดให้คนหูดีๆ อย่างเราๆ เข้าใจ

ส่วนงานที่สอง เขาทำงานเป็นอาจารย์สอนวิชาภาษามือในมหาวิทยาลัย มีนักเรียนประมาณ 1,500 คน เขาบอกว่าที่สหรัฐอเมริกา คนเรียนภาษามือมีเป็นจำนวนมาก ปัจจุบัน 7 แสนคนที่รู้ภาษามือ และเมืองไทยต่อไปก็คาดหวังว่าจะเหมือนกัน

การที่ ดร.ดอน แบงส์ ยอมมาเป็นอาสาสมัครช่วยสอนเด็กที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน ที่ตัวเขาเองก็มีปัญหาเช่นกัน เนื่องจากต้องการที่จะช่วยให้นักเรียนได้รู้จักสร้างทัศนคติที่ดีต่อคนหูหนวกต่อตนเอง ที่แต่ละคนกำลังประสบอยู่ โดยการใช้ตัวละครเป็นสื่อ สร้างภาพพจน์คนหูหนวกในทางสังคม เพราะคนหูหนวกในสหรัฐอเมริกาที่มองตัวเองในด้านลบ การละครจะช่วยลดปัญหานี้ได้มากทีเดียว

"ผมจะสอนการเล่นเกมที่ช่วยให้สร้างความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ไม่ใช่เรื่องการเขียน แต่ผมอยากจะสอนให้เกิดการทำงานเป็นกลุ่มให้กว้างออกไปมากกว่า คนหูหนวกตั้งแต่เล็กจนโต มักจะมีข้อขัดแย้งกับพ่อแม่อยู่เรื่อย ไม่ค่อยมีข้อแลกเปลี่ยน ผมอยากจะให้สื่อภาษาให้ชัดเจน ผมมาช่วยเสริมประสบการณ์ความคิดของเด็กเท่านั้นเอง" เขากล่าว

ดร.ดอน แบงส์ เขาใช้เทคนิคการสอนด้วยละคร เช่น สอนเด็กด้วยลักษณะการมองเห็นของมนุษย์โดยใช้ละครประกอบ ให้เด็กเป็นส่วนประกอบของตา มนุษย์มองเห็นได้อย่างไร ลักษณะการได้ยินเสียงของมนุษย์ การได้ยินเกิดขึ้นได้อย่างไร การได้ยินของหู เด็กคนแรกอาจเป็นไก่ขัน คนต่อไปจะเป็นแก้วหู คนต่อไปจะเป็นกระดูกฆ้อน กระดูกทั่ง กระดูกโกลน อวัยวะครึ่งวงกลม เส้นประสาท ส่วนตัวละครตัวสุดท้ายจะเป็นคนที่นอนหลับอยู่

และถ้าแก้วหูเสียจะเป็นอย่างไร เด็กก็จะแสดงออกมา เพื่อบอกว่าเสียงสามารถส่งผ่านได้นิดเดียว สรุปแล้ว ดร.ดอน แบงส์ สามารถทำให้เป็นการแสดงอะไรก็ได้ ใครเป็นล้อ ใครเป็นควาย ใครเป็นคนขี่ควาย ใครเป็นหาง เกวียน ความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ มนุษย์แสดงแทนล้อ แทนควายเพื่อให้เห็นลักษณะเคลื่อนไหว

"ผมชอบสอนเด็ก ผมอยากเห็นเด็กหูหนวกเบิกบานเหมือนดอกไม้บาน เพราะว่าคนหูหนวกอ่านเขียนไม่เก่ง ถ้าเรามาฝึกเรื่องการอ่านเขียนอย่างเดียว เด็กไม่มีความสุข แต่การละครช่วยให้จิตวิญญาณของภาษาดีขึ้น หลายครั้งผมได้สังเกตเห็นที่ประเทศสหรัฐอเมริการก็เหมือนกัน ภาษาไม่ดี แต่พอใช้การละคร ทำให้ความสนใจ ความสามารถทางด้านภาษาเพิ่มขึ้น ทำให้เด็กเกิดความเชื่อมั่นในตนเองขึ้น"

ดร.ดอน แบงส์ คิดว่าเด็กหูหนวกทั่วโลกเหมือนกันหมด ต้องการที่จะสื่อสารกับคนอื่น พ่อแม่ กับทุกคนที่บ้าน ปัญหาในการสื่อสารกับที่บ้านมีน้อย พอเข้าโรงเรียนเด็กก็อยากจะเรียนมากขึ้น อยากเป็นคนหูหนวกที่โตๆ แล้วทำงานเป็นนักวิชาชีพ ปัญหาจริงๆ อยู่ที่แต่ละคนมักจะเหงา เพราะว่าเป็นคนหูหนวก แต่ถ้ามีล่ามภาษามือสบายมาก

เขาจบเอกการละคร จากมหาวิทยาลัยเบิร์กเลย์ (Berkely) ที่เปรียบเสมือนมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด หรือไม่ก็จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยของเมืองไทย โดยจบปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยกาลอเด็ท วอชิงตัน เป็นมหาวิทยาลัยสอนคนหูหนวก ปริญญาโท 2 ปริญญา จากเทนเทสซี การศึกษาสำหรับคนหูหนวก และจากเท็กซัส เอกการทำภาพยนตร์

"ผมมาเมืองไทยเรื่อยๆ มีครอบครัวเป็นคนหูหนวก แต่งงานแต่หย่าแล้ว ตอนนี้ก็เลยชอบมาทำงานที่นี่ อยากบอกว่าคนหูหนวกทั่วๆ ไป มี 2 ครอบครัว คือ ครอบครัวจริงๆ ที่เขาเกิดมา กับคนหูหนวกด้วยกัน เพราะว่าครอบครัวที่เขาเกิดจริงๆ มักจะมีปัญหาในการสื่อสารกันเป็นไปโดยลำบาก ยิ่งโตขึ้นมาการสื่อสารก็ยังไม่เข้าใจ ตอนที่ผมยังเป็นเด็ก สื่อสารไม่รู้เรื่อง พอเก่งขึ้นแม่ก็ตกใจ แม่อายุ 68 พอเห็นผมสื่อสารดีขึ้นกว่าเดิม แม่ก็ไปเรียนภาษามือ พอผมกลับไปบ้าน แม่ก็ไปจ้างล่ามมา จ้างมาสัก 2 ชั่วโมง ทำให้รู้เรื่อง ไม่มีปัญหาการสื่อสารอีกต่อไป"

บทบาทของ ดร.ดอน แบงส์ แม้จะอยู่ในฐานะคนหูหนวก เขาเคยไปที่ประเทศแคนาดา ทำภาพยนตร์วิดีโอเทปเกี่ยวกับการล่วงละเมิดทางเพศ เป็นภาพยนตร์ประชาสัมพันธ์ เขาช่วยเขียนบท กำกับการแสดง เหมือนกับการให้ไอเดียการทำกิจกรรมต่างๆ

สำหรับคนหูหนวกนั้น เขาบอกว่า การยอมรับของคนในสังคมในเรื่องหน้าที่การงานเมื่อก่อนมีปัญหา แต่เดี๋ยวนี้เริ่มดีขึ้น ในสหรัฐ เมื่อสองปีที่แล้วนางงามสหรัฐก็เป็นคนหูหนวก เมื่อ 10 ปีที่แล้ว อธิการบดีของมหาวิทยาลัยสอนคนหูหนวกก็เป็นคนหูหนวก เนื่องจากมีการประท้วงว่าต้องการอธิการบดีที่เป็นคนหูหนวก ข่าวนี้ช่วยกระตุ้นให้คนในสังคมตื่นตัว และรับรู้มากขึ้น ทำให้คนหูหนวก ได้รับการสนับสนุนได้รับโอกาสที่ทัดเทียม

"3 ปีที่แล้วประเทศแคนาดา มีการเลือกตั้งและมีคนหูหนวกได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เดี๋ยวนี้คนให้การยอมรับคนหูหนวกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อย่างหนังเรื่อง Bangkok Dangerous พระเอกเป็นคนหูหนวก คนหูหนวกในสหรัฐ จบระดับดอกเตอร์ 500-600 คน เป็นหมอก็มี เป็นผู้พิพากษา เป็นทนายความ 40 คน หมอฟันประมาณ 10 คน มีทุกสาขาวิชาชีพ"

ศักยภาพของคนหูหนวกอย่าง ดร.ดอน แบงส์ เขาพยายามแสดงให้สังคมเข้าใจว่า ชีวิตของคนหูหนวกจะต้องมีจิตใจที่เบิกบาน การสอนเด็กหูหนวกด้วยละคร เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ดีที่สุด ที่จะสร้างสรรค์ชีวิตในโลกเงียบให้ครึกครื้น รื่นเริงและชื่นฉ่ำ ใช้ชีวิตอยู่ในโลกได้อย่างมีความสุขเฉกเช่นคนปกติทั่วไป...

ระบบโทรทัศน์สำหรับคนหูหนวก

Submitted by ContentAdmin on Wed, 12/17/2008 - 02:03.
ฉบับที่ : 8 / 2549
โดย : รศ. ดร.เอกชัย ลีลารัศมี

โครงการวิจัยและพัฒนาอุปกรณ์เทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวก เพื่อช่วยเหลือผู้พิการ ที่ได้จัดทำขึ้นภายในคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนั้นมีอยู่หลายโครงการ ซึ่ง รศ. ดร.เอกชัย ลีลารัศมี อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า ก็เป็นบุคลากรท่านหนึ่งของคณะฯ ที่ได้คิดค้นอุปกรณ์สำหรับให้ผู้พิการได้ใช้เพื่อการดำรงค์ชีวิตอยู่ได้อย่างไม่ลำบากจนเกินไปนัก รศ.ดร.เอกชัย ได้เล่าถึงงานวิจัยที่ท่านได้คิดค้นขึ้นผ่านทางช่างพูด



“งานที่ทำเกี่ยวกับคนพิการชิ้นล่าสุดคือ เกี่ยวกับคนหูหนวก คือ ทำอย่างไรให้คนหูหนวก ชมรายการโทรทัศน์ได้ เพราะเขาไม่ได้ยินเสียง ก็ต้องใช้วิธีอ่านตัวหนังสือแทนหรือไม่ก็ดูภาพภาษามือ เราจึงทำระบบโทรทัศน์ที่สามารถแสดงตัวอักษรคำบรรยายใต้ภาพ ให้อ่านแทนการฟังเสียงได้ ที่เรียกว่าเป็นระบบ เพราะมันมีทั้งฮาร์ดแวร์ และซอฟต์แวร์ ที่ประกอบไปที่ตัวเครื่องรับโทรทัศน์ แล้วก็ทางด้านการส่งของสถานีโทรทัศน์ด้วย โดยผู้ใช้บริการจะสามารถกดปุ่ม สั่งให้โทรทัศน์แสดงตัวหนังสือขึ้นมาได้ เรียกว่า Caption“



“ผู้ชมจะกดปุ่มชมรายการที่บ้านได้เลย แต่จะต้องติดตั้งเครื่องถอดรหัส / ขยายภาพ (set top box) เข้ากับเครื่องรับโทรทัศน์ด้วย จึงจะสามารถใช้บริการได้ ระบบนี้จะไม่รบกวนการรับชมของคนปกติ และผู้ใช้บริการสามารถเลือกชมคำบรรยายภาพได้ 2 ภาษา คือ ไทย และ อังกฤษ”



“ในกรณีที่รายการโทรทัศน์มีการแสดงภาพภาษามืออยู่แล้วโดยมักแสดงในหน้าต่างหรือจอเล็กๆ (ตามรูป) ฮาร์ดแวร์เราก็สามารถขยายจอเล็กนี้ให้ใหญ่ขึ้นได้ คนหูหนวกบางคน เคยบอกว่าอยากให้กลับกันด้วยซ้ำไป คือ ภาพหลักคือภาพคนแสดงภาษามือ ส่วนภาพเล็กเป็นภาพที่คนธรรมดาดู เขาอ้างว่าบางประเทศ เช่น สวีเดน มีบางรายการที่ทำให้คนหูหนวกโดยเฉพาะ แต่ถ้าทำแบบนี้ต้องไปถ่ายทำและต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับทางสถานีด้วย ซึ่งของเราจะไม่ไปข้องเกี่ยวกับทางสถานีเลย อย่างระบบขยายภาษามือ เราก็อาศัยว่ามันมีรูปอยู่แล้วแต่ว่ามันเล็กไป เราก็ขยายออกมาด้านละ 2 เท่า รวมเป็น 4 เท่า เครื่องที่ทำขึ้นจะให้เลือกอัตราขยายได้เช่น 1 เท่าครึ่ง แต่ต้องไม่เกิน 4 เท่า ฮาร์ดแวร์ที่เราทำรุ่นล่าสุดจะรวม 2 ฟังชั่นนี้ไว้ด้วยกัน ในเครื่องเดียว”



วิวัฒนาการในการพัฒนา
“เราใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 8 ปี ตั้งแต่เริ่มต้นทำงานชิ้นนี้ โดยเริ่มจากการทำ Caption ก่อน ซึ่งจะต้องไปติดตั้งที่สถานีโทรทัศน์ด้วย ใช้เวลาหลายปี ประมาณ 4-5 ปี แล้วก็มาทำภาษามือนี้ต่ออีก 3 ปี ตอนนี้ก็หยุดทำไปชั่วคราว ซึ่งมันใช้ได้แล้ว แต่เราไม่ได้ทำขาย เมื่อ 2 ปีที่แล้ว เนคเทคพยายามสนับสนุนให้ผลิตจำนวนมาก แต่ติดปัญหาหลายด้าน ตั้งแต่ผู้ผลิตรายการ สถานี และ เงิน เพราะคนหูหนวกก็คงไม่อยากซื้อเอง ตอนนี้การเอาผลงานไปใช้ประโยชน์ทางพาณิชย์ หรือเอาไปใช้ประโยชน์จริงๆ ก็ยังไม่เกิดขึ้น”



“ผลงานนี้ได้ให้วิทยาลัยราชสุดา และ สมาคมคนหูหนวก ลองใช้บ้าง แต่สุดท้าย เขาก็ยังไม่เห็นความสำคัญเท่าไหร่ คือ เขายังพอทนได้ในเรื่องของการดูภาษามือ หรือว่าการที่ดูโทรทัศน์ไม่รู้เรื่อง พวกเขาก็ไม่เดือดร้อนมากเท่ากับเรื่องการประกอบอาชีพ ยังไม่ถึงขนาดทนไม่ได้“



ต้นทุนของของ ตัวเครื่องถอดรหัส / ขยายภาพ ( set top box)
“ต้นทุนเฉพาะค่าวัสดุของเครื่องถอดรหัส / ขยายภาพ ( set top box) จะอยู่ที่ประมาณ 3,000 บาท เสียค่าจูนเนอร์เข้าไปอย่างเดียวก็ 700 บาทแล้ว แต่ถ้าซื้อจำนวนมากๆ ก็ถูกลง แต่เราใช้จูนเนอร์สำเร็จรูปแบบที่มีคุณภาพ”



สัญญาณทีวี จะต้องเข้าในกล่องเรา แล้วเราผสมสัญญาณในกล่องเรา
“เราจะมีจูนเนอร์อยู่ในเครื่องของเราด้วย เพราะมันต้องรับสัญญาณ ช่อง 3, 5, 7, 9 ได้ แต่ถ้าเอาเครื่องนี้ไปฝังอยู่ในโทรทัศน์ก็ใช้จูนเนอร์ร่วมกันได้ แล้วเราต้องติดตั้งเครื่องเข้ารหัส (Encoder)ข้อความของเราที่สถานีโทรทัศน์ด้วย ซึ่งเคยทดลองทำได้ผลที่ช่อง 7 เมื่อปีที่แล้ว นับว่าสถานีนี้จะลงทุนน้อยมากเพราะเป็นอนาล็อกทั้งระบบตั้งแต่ห้องส่งไปจนถึงเสาส่ง ซึ่งอยู่ห่างกันหลายกิโลเมตร จนต้องยิงไมโครเวฟจากห้องส่งไปที่เสาส่ง ช่อง 7 จึงออกอากาศระบบของเราได้โดยไม่ต้องลงทุนเพิ่มเลย เพราะตัวเครื่องเข้ารหัส (Encoder) เป็นของเรา ส่วนทีวีช่องอื่นๆ เช่น ช่อง 9 ยังทำไม่สำเร็จ เพราะว่าห้องส่งของเขาเป็นระบบดิจิตอล แม้ว่าตอนออกจากเสาส่งจริงจะเปลี่ยนกลับมาเป็นอนาล็อก เลยต้องหาเงินซื้อหรือสร้างอุปกรณ์เพิ่มเพื่อส่งข้อความของเราตามไปรวมกันที่เสาส่ง ประกอบกับสถานีไม่สะดวกที่จะให้ไปทดลองบ่อยๆ พอติดปัญหาทางเทคนิคนี้ ทางช่อง 9 ก็เฉยเลย จริงๆ แล้ว ลงทุนไม่แพงเท่าไหร่ แต่ก็ไม่อยากทำอยู่ดี ถ้าช่อง 7 จะไปต่างจังหวัด เขายิงเป็นดิจิตอลส่งออกไปขึ้นดาวเทียม เราเสร็จเหมือนกัน ข้อความของเราก็ถูกตัดออกจากสัญญาณภาพ เราก็ต้องยิงข้อความของเราเป็นดาต้าตามไป พอถึงปลายทางที่สถานีถ่ายทอดของเขาก็นำกลับมารวมกันใหม่ สุดท้ายก็ต้องส่งเป็นอนาล็อก ที่อเมริกาก็เป็นแบบนี้ ก็ยังลงทุนไม่มากอยู่ดี”



ตัว Caption มีคนพิมพ์เข้าไปหรืออัตโนมัติ
“Caption ถ้าทำแห้ง หมายถึงรายการสารคดี ทำที่สตูดิโอก็ได้ ถือออกมาเป็นม้วนวิดีโอเลย ปกติรายการทั่วๆไป ยังเป็นเบต้าอยู่ คือยังเป็นอนาล็อก ถือมาส่งที่สถานี ก็ออกอากาศไปเลย ตัวหนังสือข้อความก็อยู่ในนั้นอยู่แล้ว โดยถูก Encode รหัสเข้าไปในสัญญาณภาพ สัญญาณภาพที่เป็นอนาล็อก มันจะมีช่วงเวลาที่เงียบๆ ไม่มีภาพอยู่ ช่วงนั้นจะใส่อะไรไปก็ได้ การทำสารคดี ก็คือไปเอาสารคดีม้วนนั้นมา แล้วเราก็เติมข้อความโดยพิมพ์ให้เครื่อง Encoder แทรกเป็นรหัส ASCII เข้าไป ต่างประเทศเช่น ญี่ปุ่น เคยใช้เครื่องถอดเสียงเป็นตัวหนังสืออย่างอัตโนมัติ แต่ระบบนี้จะแพงมาก ถ้าใครเคยเปิดช่อง 3 แล้วเวลาภาพมันเลื่อน จะเห็นเป็นโลโก้ช่อง 3 ซึ่งเป็นที่ว่างๆ ที่ใส่อะไรก็ได้ โดยคนดูจะไม่รู้ ขายสัมปทานได้ด้วย คือ สามารถส่งข้อมูลต่างๆออกไปยังผู้รับปลายทางทุกคนทางเครื่องรับโทรทัศน์ได้ เช่น ราคาหุ้น ตารางเที่ยวบิน ข้อมูลอะไรก็ได้ และส่วนหนึ่งที่เราเอามาใช้ เพื่อคนพิการ ใช้เพียงนิดเดียวเอง ไม่ได้ใช้ทั้งหมด ก็ยังมีส่วนว่าง ที่ยังใช้ประโยชน์อื่นๆ ได้อีก”



ที่ทำมาทั้งหมด ได้รับการสนับสนุนมาจากสภาวิจัยแห่งชาติก่อน ประมาณ 3-4 ล้านบาท เป็นโครงการ 3 ปี ตามด้วยจากเนคเทค ไม่เกิน 1 ล้านบาท



โครงการนี้เป็นโครงการที่มีประโยชน์มาก เพราะอะไรถึงไม่มีใครเอาไปพัฒนาต่อยอด เพื่อเอาไปใช้ได้จริง
“จริงๆ แล้วมีการสัมมนาหลายครั้ง ไม่ใช่ว่าเราอยู่เฉยๆ เราเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องกับทางสถานีมา เขาก็ส่งฝ่ายเทคนิคเข้ามา ประเด็นก็คือ เขาไม่รู้ว่าจะทำไปทำไม หากว่าทำแล้วรายได้ไม่ได้เพิ่มขึ้นแถมยังต้องเสียเวลาเพิ่มอีก มันจึงต้องมีมาตรการบังคับของภาครัฐ อย่างที่สหรัฐอเมริกาจะบังคับ ถ้าหากไม่บังคับเค้าก็ไม่ทำ เพราะว่างานเค้าก็เยอะอยู่แล้ว ถ้าทำแล้วเค้าก็กลัวว่าจะมีผลเสียอะไรหรือเปล่า หรือว่าจะต้องมีมาตรฐานอย่างไรบ้าง“



สมมุติว่า ถ้าเมื่อไหร่ก็ตามที่รัฐบาลบังคับ เครื่องไม้เครื่องมือที่เรามีอยู่ พร้อมใช้ได้เลย โดยเฉพาะช่อง 7 และถ้าบ้านของผู้พิการมีกล่องอยู่ ก็ใช้ได้เลย คือถ้ามีใครมาลงทุนแล้วทำให้เกิดขึ้น ก็พร้อมแล้ว
“ถูกต้อง คือเรารู้วิธีออกแบบ หรือวิธีสร้างอุปกรณ์พวกนี้แล้ว เรามีประสบการณ์พวกนี้แล้ว ต้นทุนก็ไม่ได้แพง ถ้าทำจำนวนมาก ราคาก็ถูกลงไปอีก แต่คนใช้ก็ไม่น่าจะเยอะ ยกเว้นคนหูดีอยากจะใช้ด้วย เช่น ดูรายการเสียงภาษาอังกฤษแล้วไม่รู้เรื่อง ก็ขึ้นตัวหนังสือให้ก็ได้ ตลาดก็จะกว้างขึ้น”



ภาระตอนนี้ก็อยู่ที่สถานีส่งว่า เค้าจะต้องมานั่งคีย์ Caption พวกนี้เข้าไป ก็เลยไม่อยากทำ
“อันนั้นจะเป็นปัญหาอันหนึ่งด้วย ผู้ผลิตรายการเองก็มีปัญหา เราเคยคุยกับผู้ผลิตรายการ ถ้าเขาเองต้องเสียเวลาอีกหนึ่งวัน เพื่อจะคีย์ข้อมูลอันนี้ Encode เข้าไป เค้ารู้สึกว่าเป็นภาระที่หนักมาก คือ บางรายการก็ไม่ค่อยมีเวลาอยู่แล้ว ทำงานแบบวันต่อวัน ถ้าทำจะต้องปรับเวลา คือต้องทำเสร็จอย่าง น้อย 2 วัน เพื่อที่จะมาเข้าระบบนี้อีก 1 วัน กว่าที่จะไปออกรายการได้ เขายังไม่คุ้นกับระบบนี้ รายการละครยิ่งไม่ต้องพูดเลย เขาบอกว่าบางทีก่อนจะออก 1 ชั่วโมงค่อยเสร็จ แล้วเอาไปส่งที่สถานีส่ง นี้คือชีวิตของเขา เพราะฉะนั้นไม่ต้องพูดเลยว่า ทำไมเขาทำไม่ได้ แต่จริงๆ แล้วเราก็ไม่ได้สนใจรายการละครอยู่แล้ว เราสนใจรายการข่าว หรือรายการที่เป็นสารคดี อย่างวันที่ 12 สิงหาคม ก็จะพยายามทำสดเลย แต่กลัวว่าจะพิมพ์พลาด แล้วจะมีปัญหา ก็ไม่กล้าทำ”



จำนวนคนหูหนวกที่ใช้บริการ ในปัจจุบันเป็นอย่างไร
“โดยเฉลี่ยประมาณเกือบ 10 % รวมถึงคนหูตึงด้วย จากประชากรทั้งหมด ซึ่งเอาตัวเลขมาจากอเมริกา แต่ถ้าเอาแต่คนหูหนวกแต่กำเนิด ก็มีจำนวนหลายแสนเหมือนกัน แต่หลายคนก็อาจอ่านหนังสือไม่ออก เพราะฉะนั้นการขึ้น Caption ก็ไม่มีประโยชน์ เราถึงต้องทำภาษามือขยายให้เขา”



ในส่วน Caption ถ้ามีการขึ้นโดยอัตโนมัติ ก็คงเป็นคำตอบที่ช่วยให้สถานีทำมากขึ้น
“ถึงอย่างไรก็ต้องมีคนมาดูแลอยู่ดี เพราะมันมีภาพ มีการตัดต่อเพื่อให้มันเหมาะสม ผมคิดว่าคงเป็นข้ออ้างเท่านั้นเองสำหรับสถานีในการที่ไม่ยอมออกอากาศ จริงๆ แล้วใช้แรงคนก็ยังทำได้ อาสาสมัครก็ได้ อย่างสหรัฐอเมริกา อาสาสมัครก็ยังมี ต่างประเทศก็ยังใช้แบบพิมพ์เข้าไป แต่ต้องฝึกโดยเฉพาะ เพื่อที่จะได้พิมพ์เร็วขึ้น เพราะถ้าคนธรรมดาไปทำก็จะผิดบ้าง พิมพ์ไม่ทันบ้าง ซึ่งบ้านเรายังไม่มีใครทำ อาจจะต้องให้วิทยาลัยราชสุดา ไปฝึกอบรมพวกนี้ก็ได้ ถ้าหากจะทำอะไรให้เป็นประโยชน์”



ผลงานชิ้นนี้ ได้ตีพิมพ์ในวารสาร IEEE Transactions on Consumer Electronics
“เมื่อปีที่แล้วผมส่งตัวฮาร์ดแวร์ไปลงในวารสาร IEEE Transactions on Consumer Electronics เนื่องจากงานชิ้นนี้มันมีกลไกในการเก็บภาพและขยายภาพแบบเรียลไทม์ หมายความว่าต้องทำให้ได้ทันที ตอนนั้นเราทำบนฮาร์ดแวร์ ซึ่งค่อนข้างจะมีรีซอร์ส (Resources) จำกัดมาก เพราะเราไม่ค่อยมีเงิน ต้องคิดทุกวิธีประหยัดรีซอร์ส สุดท้ายก็ทำมาได้ เราก็เลยได้ตีพิมพ์”



ถ้าเปรียบเทียบตัวนี้กับอุปกรณ์ถ้าซื้อมาจากต่างประเทศ อย่างต้องทำ Caption และเรื่องของขยาย
“ต่างประเทศไม่มีอุปกรณ์ขยายจออันนี้อยู่แล้ว เพราะฉะนั้นเราก็จดสิทธิบัตรด้วย ที่จุฬาฯ แต่ว่าจดมาแล้ว 3 ปี ก็ยังเงียบอยู่ ก็เข้าใจว่าขั้นตอนมันนาน สินค้าแบบนี้หรือผลิตภัณฑ์แบบนี้มันไม่มีในโลก เพราะกลุ่มเป้าหมายมีไม่เยอะ ไม่ใช่ว่าทำไม่ได้ จริงๆ ทำได้แต่เค้าไม่ทำ ถ้าเป็น Caption ของเรามัน 2 ภาษา ต่างประเทศก็ทำไม่ได้เหมือนกัน พอเราทำ 2 ภาษา ก็ไม่มีใครเหมือน แต่ถ้าเป็นภาษาอังกฤษอย่างเดียว ก็มีปัญหาอีก เพราะระบบโทรทัศน์ของสหรัฐอเมริกาเป็น.แบบ NTSC เอามาใช้กับบ้านเราซึ่งเป็นระบบ PAL ก็ไม่ได้อีก คือมันมีข้อจำกัด ที่สินค้านำเข้าใช้ไม่ได้ แต่ถ้าใช้ได้เราก็คงไม่ทำเหมือนกัน”



นอกเหนือจากการทำ Caption มีอะไรบ้าง
“ถ้าเกี่ยวกับคนพิการ ก็ทำคนตาบอดมาก่อน เราเริ่มต้นจากการร่วมมือกับทางภาควิชาภาษาศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ โดยมี ผศ. ดร.สุดาพร ลักษณียนาวิน เป็นหัวหน้า เราเข้าไปช่วยทางเทคนิค เรียกง่ายๆ ว่าฝ่ายช่าง เราเป็นคนออกแบบ สร้าง แต่ว่าหัวใจของการสังเคราะห์เสียงมาจากทางคณะอักษรฯ เราก็สร้างกล่องฮาร์ดแวร์ที่พูดไทยได้ขึ้นมากล่องหนึ่ง เวลาใช้ก็ต่อพ่วงกับคอมพิวเตอร์ แต่ถ้ามันเจอคำภาษาอังกฤษที่ปนมาด้วย ก็จะโยนคำนั้นไปที่อีกกล่องที่พูดภาษาอังกฤษได้ซึ่งมีอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นคนใช้ก็สามารถอ่านตำราทั้ง 2 ภาษาบนจอภาพได้ เพราะฉะนั้นระบบของเราเลยพูดได้ทั้งภาษาไทยและอังกฤษ ซึ่งก็เป็นตัวเดียวในโลกอีกเหมือนกัน เพราะไม่มีใครทำแบบนี้ ตอนนั้นเราก็ได้รางวัลสภาวิจัยแห่งชาติด้วย ตัวนี้ทำมา 10 กว่าปีมาแล้ว โครงการตอนนั้นประมาณ 3 ปีได้ ตอนหลังเราก็มาทำเป็นซอฟต์แวร์แทน เพราะพีซี สมัยนี้ทำงานได้เร็วมาก และ ผศ. ดร.สุดาพร ก็ไปได้งานจาก IBM อีก เราก็เป็นฝ่ายช่างให้เหมือนเดิมคือทำซอฟต์แวร์สังเคราะห์เสียงภาษาไทยจนสำเร็จ หลังจากนั้นก็จบไป”



“ตอนนี้ที่เราทำอยู่ก็เป็นชิป (Chip) ช่วยฟัง นิสิตปริญญาโทของเรากำลังออกแบบชิปที่กินไฟน้อยมากๆ จะได้ทำเครื่องช่วยฟังที่ใช้ได้นานเป็นเดือนโดยไม่ต้องเปลี่ยนถ่าน แต่เป็นงานวิชาการมากกว่า เพราะโอกาสที่จะทำชิปจริงๆ ตัวนี้ไม่มี หมายถึงว่า เราต้องคิดวิธีที่จะขยายสัญญาณ โดยที่ใช้ไฟน้อยจริงๆ ก็เป็นเรื่องที่ต่างประเทศก็ทำเหมือนกัน ต่างคนต่างทำ วงจรก็ไม่เหมือนกัน“



“ส่วนที่น่าจะเป็นสินค้าจริงๆ ก็มี รศ.ดร.มานะ ศรียุทธศักดิ์ เคยทำเครื่องช่วยฟัง ผมคิดว่าจริงๆ แล้ว น่าสนับสนุน แต่ถ้าอินแทรนด์หน่อย ก็ต้องทำแบบที่ว่าดูไม่ออกว่าใช้เครื่องช่วยฟังอยู่ ซึ่งต้องมีขนาดเล็กมาก ออกแบบยาก เป็นปัญหาท้าทาย ถ้า low-tech หน่อย คือมีสายห้อยลงมา มีห่วงคล้อง มีไมค์ จะถูกมากๆ เพราะของหาซื้อได้อยู่แล้ว แต่คนก็อาจจะรู้สึกว่ามันไม่ดี เมื่อก่อนอาจจะมีปัญหาว่า มันเห็นเป็นเครื่องช่วยฟัง แต่เดี๋ยวนี้อาจจะไม่รู้สึก เพราะคิดว่าเป็นเครื่องเล่น MP3 ก็ได้ ผมคิดว่าน่าจะมีกลุ่มเป้าหมายที่ใช้ประโยชน์จากตรงนี้ได้ คือไม่ต้องไปใช้อะไรที่มันพิสดารมาก”



“นอกจากนี้ ที่เราทำ คือ มิเตอร์ระบบอิเล็คทรอนิกส์ โดยทำให้การไฟฟ้านครหลวงทดลอง อันนี้ค่อนข้างจะเป็นระดับอุตสาหกรรมหน่อยหนึ่ง ถ้าได้ผลก็จะมีการใช้จำนวนมาก เพราะทุกบ้านต้องใช้ ถ้าเทียบกับมิเตอร์แบบจานหมุน ราคาจะไม่ถูกกว่า แต่ว่ามันแม่นกว่า และมีประสิทธิภาพเหนือกว่า เช่น มีหน่วยความจำสามารถบันทึกอัตราการใช้พลังงานตามเวลาได้เลย คือมันเก็บว่าช่วงเวลาไหนเราใช้เยอะหรือใช้น้อย แบบจานหมุน เดือนหนึ่งก็อ่านได้ครั้งเดียว เราก็ไม่รู้ว่าตัวเลขตรงนี้มันไปกระจุกตัวอยู่ที่เวลาไหนบ้าง แต่ถ้าเป็นอิเล็คทรอนิกส์ มีหน่วยความจำ เราเก็บได้ทีทั้งเดือนเลย สามารถดูข้อมูลออกมาได้ว่า ใช้ไปอย่างไร และระบบคิดค่าไฟต่อไปนี้ จะคิดตามช่วงเวลาด้วย คือ กลางวันคิดราคาหนึ่ง กลางคืนคิดราคาหนึ่ง เพราะฉะนั้นมิเตอร์จะต้องมีตัวเลข 2 ตัวเลขเสมอ ถ้าเป็นระบบใหม่ มันจะเริ่มยุ่งในการจด ซึ่งจดไม่ไหวแล้ว ด้วยเหตุนี้จึงต้องมีวิธีอ่านโดยที่ไม่ต้องใช้คนจด”



อยากฝากอะไรไว้ให้คนใหม่ๆ ได้รับทราบ
“แนวโน้มทางด้านการใช้วงจรอิเล็คทรอนิกส์ ในบ้านเรา หรือการออกแบบ มันจะมีมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีสำหรับคนที่เรียนมาทางด้านนี้ เพราะจบไปแล้วได้ใช้ความรู้จริงๆ ถ้าเทียบกับสมัย 10 ปีที่แล้ว แทบไม่มี เดี๋ยวนี้ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบชิปก็ดี การออกแบบวงจรที่ต้องใช้ระบบฝังตัว ความต้องการบุคลากรกลุ่มนี้เพิ่มขึ้นมาก ถ้าเราสื่อให้กับนิสิตของเราให้รับรู้ก็อาจจะมีคนสนใจมากขึ้น เพราะมันมีแหล่งทุนและมีความต้องการอยู่แล้ว”

24 ตุลาคม 2552

"น้ำพุ" ฉบับเงียบฝีมือเด็กพิเศษมสด.


เป็นอันรู้ดีว่าที่มาของความสามารถนั้นมีอยู่ด้วยกัน อยู่สองรูปแบบ ก็คือ แบบพรสวรรค์ และแบบพรแสวง ซึ่งทั้งสองอย่างที่กล่าวมานี้ไม่ว่าแต่ละคนจะมีอยู่ด้วยกันในรูปแบบไหนๆในที่สุดแล้วก็เป็นอันว่าเจ้าของความสามารถต่างภาคภูมิใจไม่ด้วยกันทั้งนั้น

เฉกเช่นความภูมิใจของเหล่าเด็กพิเศษที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน ของ ชมรมภาษามือไทย ในหลักสูตรการศึกษาพิเศษ จาก มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต (มสด.) ที่พวกเขาต่างได้ซุ่มรวมตัวกันผลิตผลงานภาพยนตร์หนังสั้น เรื่อง น้ำพุ ขึ้นมา เพื่อเป็นการบอกกับสังคมให้รู้ว่า พวกเขามีศักยภาพอย่างเท่าเทียมกับคนปกติทั่วไป... และก็กำลังมีความภูมิใจนำเสนออีกเสียด้วย

"วิทยุต บุนนาค" อาจารย์ที่ปรึกษาของชมรมภาษามือไทยและเป็นผู้ดูแลเรื่องการแสดงของนักศึกษาในภาพยนตร์เรื่องนี้แม้จะเป็นคนต่างชาติที่มีความบกพร่องทางการได้ยินเช่นกันแต่ก็สามารถอธิบายถึงผลงานนี้ได้อย่างลึกซึ้งว่า "การทำภาพยนตร์ในครั้งนี้ที่เลือกเรื่อง "น้ำพุ" เพราะมันค่อนข้างตรงกับวัยของนักศึกษา และเรายังต้องการเผยแพร่ภาษามือออกสู่สังคมให้มากขึ้นด้วยรวมไปถึงคนปกติทั่วไปก็สามารถเรียนรู้ภาษามือได้และง่ายต่อการจดจำจากภาพยนตร์เรื่องนี้ด้วย และยังมี"วิโรจน์ องค์อภิชาต" หรือ "บี" ที่รับหน้าที่เป็นผู้กำกับภาพยนตร์เรื่องนี้ บอกว่า เคยแต่ดู พอได้มาลองทำยอมรับว่ายากมากแต่ภูมิใจที่ผ่านมาได้ด้วยดี"

นอกจากเนื้อหาสาระของหนังแล้วอาจารย์บอกเพิ่มเติมว่า "ท่านผู้ชมยังจะได้เรียนรู้ถึงวัฒนธรรมของการใช้ภาษาในกลุ่มคนพิเศษว่าแท้จริงแล้วก็มีการใช้ภาษาท่าทางที่มีความหมายได้อย่างลึกซึ้งเหมือนคนปกติทั่วไปเช่นกันที่สำคัญหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะก่อเกิดประโยชน์ต่อสังคมได้อย่างดีที่สุด"อาจารย์ขยายความ

นายสุวัฒน์ บุณเพ็ญ หรือ “โอ” นักศึกษาหลักสูตรการศึกษาพิเศษ ชั้นปีที่ 3 ที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน รับบทแสดงเป็น น้ำพุ พระเอกของเรื่องซึ่งเป็นเด็กมีปัญหา ติดยาเสพติด โอ บอกว่าได้รับประสบการณ์ทางการแสดงที่น่าสนใจและไม่เคยคิดว่าตนเองจะทำได้มาก่อนอีกด้วย “ การแสดงเป็นน้ำพุ นั้นเป็นบทที่แสดงยากและไม่เคยมีประสบการณ์ด้านการแสดงมาก่อนจึงมีอาจารย์และเพื่อนๆ ให้คำแนะนำในการฝึกทำสีหน้า ท่าทาง ให้เข้าถึงบทง่ายขึ้น ซึ่งนอกจากได้ประสบการณ์ในการแสดงแล้วภาพยนตร์เรื่องนี้ยังมีประโยชน์ต่อเยาวชนและสังคมในเรื่องโทษของยาเสพติดรวมถึงแนวทางในการป้องกันอีกด้วย”

ส่วน "สุพัตรา มงคลแสง" หรือ "แนน" นักศึกษาหลักสูตรการศึกษาพิเศษ ชั้นปีที่ 3 ที่รับบทนางเอก ชื่อ "แป้ง" แฟนสาวของน้ำพุ ที่เป็นเด็กสาวที่ใจแตก ตัวติดกันกับแฟนหนุ่ม(น้ำพุ)ตลอด น้องแนน เล่าว่าแม้ว่าตนจะเป็นเด็กพิเศษที่คนอื่นคิดว่าเราไม่มีบทบาทอะไรนั้น แต่แท้จริงแล้วการแสดงก็ทำให้เธอรู้จักตัวเองว่าเป็นคนที่มีความสามารถทำอะไรได้เหมือนกับคนปกติเช่นกัน

“ตอนแรกรับบทเป็นคนใช้ในบ้านของน้ำพุแต่รูสึกว่ามันไม่ใช่บทบาทที่ถนัดเลยเปลี่ยนบทมาเป็นนางเอกแทนแต่การแสดงเป็นแป้งก็ยากกว่าเป็นคนใช้อยู่หลายเท่า แต่สุดท้ายก็ผ่านมาได้เพราะมีความตั้งใจและคิดว่าเราก็ทำได้เหมือนีคนอื่นนะ”

และอีกหนึ่งบทบาทที่โดนสังคมมองว่าร้ายกาจและเป็นภัยสังคมตลอดมา กับบท “จ๋า” โสเภณีสาวสวย ซึ่งรับบทโดย "ร่มขวัญ สายทอง" หรือ "ขวัญ" นักศึกษาหลักสูตรการศึกษาพิเศษ ชั้นปีที่ 4 ซึ่งประเดิมละครเรื่องแรกขวัญก็รับบทแรงเสียแล้วแต่นั่นก็ทำให้เจ้าตัวคิดว่าเป็นการพิสูจน์ความสามารถและเป็นโอกาสที่หาได้ยากและยิ่งตัวเธอเป็นเด็กพิเศษด้วยแล้วการได้ทำกิจกรรมดังกล่าวนั้นเป็นอะไรที่ทำให้เธอรู้สึกว่าเธอภาคภูมิใจในตัวเอง

“ ตอนแรกที่เพื่อนให้บทไป ก็ปฏิเสธในทันที เพราะกลัวว่าคนจะมองเราไม่ดี แต่พอเพื่อนๆ อธิบายให้เราทำความเข้าใจว่า มันเป็นเพียงแค่การแสดงเท่านั้นจึงรับบทจ๋าเป็นโสเภณีที่ ชอบพอ ในตัวน้ำพุ และหลอกน้ำพุให้มาอยู่กินด้วยและยังยึดอาชีพขายตัวเพื่อเลี้ยงตัวเองไปด้วย เป็นประสบการณ์ที่ดีและได้เกิดมุมมองใหม่ในอาชีพนี้ ว่าแท้จริงมันก็เป็นอาชีพหนึ่งที่ไม่ได้เลวร้ายอะไรเลยเพราะท้ายที่สุดมันก็เพื่อความอยู่รอดของชีวิตเขาและคนในครอบครัวตามสถานะที่พอจะอยู่ได้ แค่อาจต่างตรงวิถีทางเท่านั้นเอง”ขวัญสรุปก่อนที่จะปิดท้ายด้วยการเฉลยคำถามที่หลายคนอาจสงสัย ว่าแล้วละครเรื่องนี้คนธรรมดาจะดูเข้าใจยังไง ตลอดจนจะแสดงกันอย่างไร

ซึ่งก็ไขเฉลยว่าแสดงโดยใช้ภาษามือเป็นการสื่อสาร ส่วนที่เหลือจะเป็นเรื่องของอารมณ์ สีหน้าและความรู้สึกที่คนอ่านภาษาออกมือออกก็จะดูและเข้าใจได้ง่ายขึ้นส่วนคนที่ยังดูภาษามือไม่เข้าใจก็ให้จับที่หน้าตา อารมณ์ความรู้สึกและใช้หัวใจที่เปิดกว้างให้แก่เพื่อนมนุษย์ที่บกพร่องด้านร่างกายรับชม

ผู้ร่วมงานเบื้องหน้า เบื้องหลัง ละคร "น้ำพุ"



นายวิทยุต บุนนาค อาจารย์ที่ปรึกษาของชมรมภาษามือไทยและเป็นผู้ดูแลเรื่องการแสดงของนักศึกษา






นายวิโรจน์ องค์อภิชาต หรือ "บี" รับหน้าที่เป็นผู้กำกับภาพยนตร์






สุวัฒน์ บุณเพ็ญ หรือ "โอ" รับบท "น้ำพุ"



สุพัตรา มงคลแสง หรือ น้องแนน นักศึกษาหลักสูตรการศึกษาพิเศษ รับบทนางเอก "แป้ง"









ร่มขวัญ สายทอง หรือ "ขวัญ" นักศึกษาหลักสูตรการศึกษาพิเศษ รับบทโสเภณี

23 ตุลาคม 2552

"กระเช้ารามี่"กศน.สาทรสร้างรายได้ผู้บกพร่องการได้ยิน


“ดีใจมากที่ กศน.สาทร เข้ามาอบรมการฝึกวิชาชีพระยะสั้นให้ โดยเฉพาะการทำกระเช้ารามี่ จะได้นำความรู้ที่ได้ไปสอนคุณแม่ที่ทำงานในโรงแรมแห่งหนึ่งทำกระเช้าขายในช่วงปีใหม่ เพื่อหารายได้เสริมช่วยแม่อีกทางหนึ่ง และจะนำความรู้ที่ได้เป็นช่องทางในการประกอบอาชีพต่อไปในอนาคต เพราะการบกพร่องทางการได้ยิน อาจจะไม่สามารถทำงานร่วมกับคนปกติได้สมบูรณ์มากนัก" ลดาภรณ์ สันติชัยกมลกุล หรือน้องมายด์ อายุ 17 ปี โรงเรียนโสตศึกษาทุ่งมหาเมฆ กล่าว
แม้ว่าจะมีความบกพร่องทางการได้ยินแต่ไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการใช้ชีวิตน้องมายด์อย่างใดไม่ เพราะเธอได้รับความไว้วางใจจากเพื่อนๆ ให้เป็นประธานนักเรียน มีความสามารถด้านอื่นๆ อีก เช่น รองแชมป์วอลเลย์บอล เปตอง รองชนะเลิศการเล่าภาษามือ ชนะเลิศนาฏศิลป์ไทย ที่ จ.ชลบุรี และอื่นๆ อีกมากมาย ประพฤติปฏิบัติตัวอย่างเหมาะสม สุภาพเรียบร้อย
นางจันทร์ธดี จันทรเสน ครู คศ2 (ครูชำนาญการ) ครูโรงเรียนโสตศึกษาทุ่งมหาเมฆ ซึ่งเป็นผู้แปลภาษามือให้ฟัง และสอนที่โรงเรียนนี้มาเกือบ 20 ปีแล้ว เล่าว่า โรงเรียนมีกระบวนการเรียนการสอน ฝึกวิชาชีพระยะสั้นให้แก่กลุ่มนักเรียนตามระดับชั้นเพื่อให้ผู้เรียนได้นำความรู้ไปใช้ประกอบอาชีพหาเลี้ยงตนเองได้ ซึ่งการที่ กศน.สาทร ภายใต้การดูแลของ อุไรรัตน์ จันดี มาจัดกิจกรรมดังกล่าวเพื่อเป็นการปูพื้นฐานให้นักเรียนผู้มีความบกพร่องทางการได้ยิน ใช้สำหรับประกอบอาชีพต่อไปในอนาคตเพื่อไม่ให้เป็นภาระของสังคม ถือว่ามีประโยชน์มาก
ประชาชนที่สนใจเรียนวิชาชีพระยะสั้น สอบถามข้อมูลได้ที่ กศน.เขตสาทร สำนักงานเขตสาทร ชั้น 6 ฝ่ายการศึกษา แขวงทุ่งวัดดอน เขตสาทร กทม.10120 โทร.0-2212-5396 หรือเว็บไซต์ www.nfe-sathon.net

07 ตุลาคม 2552

เครื่องเสียงปราบม็อบ “แอลแรด” ทำให้หูหนวก


การประชุมสุดยอดกลุ่มจี-๒๐ ที่เมืองพิตส์เบิร์ก สหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ ๒๔-๒๕ ก.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งนายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เข้าร่วมประชุมด้วย งานนี้มีกลุ่มเคลื่อนไหวต่อต้านระบบทุนนิยม รวมพลประท้วงป่วนการประชุมหลายพันคนและตำรวจสหรัฐได้งัดเครื่องเสียงควบคุมฝูงชน “แอลแรด” ขึ้น มาใช้เป็นครั้งแรกในประเทศ

แอลแรด (LRAD : Long Range Acoustic Device) ยังเป็นของใหม่และยังไม่มีชื่อเรียกเป็นทางการในบ้านเรา เท่าที่เห็นบ้างก็เรียกว่า เครื่องขยายเสียง (รบกวน) ระยะไกล เครื่องที่ก่อให้เกิดคลื่นความถี่สูง หรือเครื่องรบกวนพิเศษระยะไกล แต่บางคนบอกว่า เรียก “เครื่องเสียงปราบม็อบ” ดูจะง่าย และตรงตามจุดประสงค์ของมันมากที่สุด เท่ากับว่าสหรัฐประเทศผู้ผลิตคิดค้นมัน ตำรวจนำออกมาใช้หลังไทยเราเสียอีก เพราะตำรวจไทยนำมาใช้รับมือการชุมนุมประท้วงของสหภาพแรงงานบริษัทไทรอัมพ์ และคนงานบริษัทเวิลด์ เวลล์ การ์เมนต์ บริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล และรัฐสภา เมื่อวันที่ ๒๗ ส.ค. อันที่จริงมันถูกนำไปใช้ในอิรักหลายปีแล้ว สำหรับสกัดฝูงชนที่อยู่นอกเหนือการควบคุม แต่ที่ทำให้มันเป็นที่รู้จักกันแพร่หลาย เห็นจะเป็นคราวที่ใช้ปราบปรามการ ชุมนุมของคนนับแสน ประท้วงขับไล่รัฐ บาลจอร์เจีย ในกรุงทบิลิซีเมื่อเดือน พ.ย. ๒๕๕๐

ถึงแม้มันจะเข้าข่ายเป็น “อาวุธสงคราม” ชนิดหนึ่ง แต่องค์การสหประชาชาติก็ได้ให้การรับรองการใช้งาน คลื่นลำเสียง เหมือนลำแสงของไฟสปอตไลต์ สามารถส่งเสียงรบกวนประสาทหูมนุษย์ ในระดับ ๑๕๑ เดซิเบล หากยืนอยู่ห่าง ๑ เมตร แต่พิกัดทำการปกติของมัน จะอยู่ที่ประมาณ ๓๐๐-๕๐๐ เมตร ซึ่งเสียงรบกวนจากแอลแรดจะดังประมาณ ๙๐ เดซิเบล แค่นี้ประสาทหูคนปกติก็ทนไม่ได้ อยู่ไม่ไหวแล้ว ระดับเสียงที่จะทำให้มนุษย์ เจ็บปวดประสาทหู อยู่ที่ ๑๐๖ เดซิเบลขึ้นไป ถ้าเปิดเสียงดังเต็มที่ สามารถได้ยินไกลถึง ๓ กิโลเมตรกว่า คนที่เคยได้ยินเสียงมัน บางคนบอกในระยะไกลเสียงมันเหมือนสัญญาณกันขโมยในรถยนต์ แต่ถ้าเข้าใกล้จะคล้ายเสียงเครื่องยนต์ไอพ่น หลังจากตำรวจมะกันนำออกมาใช้เป็นครั้งแรกที่พิตส์เบิร์ก มีเสียงต่อต้านเซ็งแซ่ ทั้งจากคนในวงการกฎหมาย และกลุ่มสิทธิมนุษยชน

โจเอล คัพเฟอร์แมน ทนายความจากสมาคมนักกฎหมายแห่งชาติสหรัฐ หนึ่งในผู้เข้าร่วมการชุมนุมประท้วงการประชุมจี-๒๐ ที่พิตส์ เบิร์ก ด้วย ในฐานะผู้สังเกตการณ์ทางด้านกฎหมายบอกกับนักข่าวที่ไปสัมภาษณ์ว่า เสียงของมัน “สุดจะทนไหว” ส่วนวิค วอลแซค หัวหน้าฝ่ายกฎ หมายของสหภาพเสรีภาพพลเมืองอเมริกัน ในรัฐเพนซิลเวเนีย บอกว่ามันเป็นอาวุธสำหรับกองทัพ ที่สามารถทำให้คนสูญเสียการได้ยินอย่างถาวร และมันท้าทายต่อการถูกฟ้องร้อง ในข้อหาใช้กำลังประทุษร้ายเกินกว่าเหตุ

ขณะที่ แคเธอรีน พาลเมอร์ แห่งคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย อธิบายว่า ระดับเสียง ๑๔๐ เดซิเบล สามารถทำให้คนหูหนวกได้ในทันที ดังนั้นจึงถือว่ามันเป็นเครื่องมือที่อันตรายมาก หากถูกใช้โดยไม่ระมัดระวังเพียงพอ แต่สำหรับโรเบิร์ต พัตนั่ม โฆษก บริษัทอเมริกัน เทคโนโลยี คอร์ป แห่งเมือง ซานดิเอโก ซึ่งเป็นผู้ผลิตแอลแรด บอกว่า ตั้งแต่มันถูกใช้งานมานานหลายปี ในหลายประเทศ ยังไม่เคยได้รับรายงานมีผู้บาดเจ็บจากมัน มีแต่เสียงชมเชยจากผู้ใช้บอกว่าเป็น เครื่องมือสื่อสารระยะไกล ที่ใช้ได้ผลดีจริง ๆ ( เดลินิวส์ออนไลน์/มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย ๖ ต.ค. ๒๕๕๒ )

กฎหมาย อาชีพสำหรับคนพิการ



ในประเทศต่างๆ เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฟิลิปปินส์ และสวีเดน เป็นต้น ได้มีการตรากฎหมาย ระเบียบ และข้อบังคับเพื่อคุ้มครองสิทธิประโยชน์ และสิทธิขั้นพื้นฐานของคนพิการ กล่าวคือ สิทธิในการศึกษา การทำงานประกอบอาชีพ การมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ ของสังคม จึงทำให้มีการจัดการให้การฟื้นฟูสมรรถภาพบุคคลพิการทุกด้านคือ ด้านการแพทย์ การศึกษา สังคม และอาชีพในประเทศต่างๆ เหล่านี้

สำหรับประเทศไทยนั้น ได้มีการดำเนินการร่าง "พระราชบัญญัติการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ" มาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๒๒ โดยที่กรมประชาสงเคราะห์เป็นผู้รับผิดชอบ ทางกรมประชาสงเคราะห์ได้ประกาศที่จะให้พระราชบัญญัติการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการเป็นของขวัญแก่คนพิการไทย ในปีคนพิการสากลที่ทางองค์การสหประชาชาติได้ประกาศไว้ซึ่งตรงกับ
ปี พ.ศ. ๒๕๒๔ แต่ก็ไม่บรรลุผล คนพิการจึงได้รวมตัวกันจัดตั้ง "สภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย" ขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๒๖ เพื่อรณรงค์ให้มีกฎหมายดังกล่าว สภาคนพิการฯได้จัดสัมมนาในระหว่างกลุ่มคนพิการด้วยกันและกับบุคคลที่เกี่ยวข้องจากหน่วยงานต่างๆหลายครั้งเพื่อนำข้อมูลมายกร่างพระราชบัญญัติการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการเสนอต่อรัฐบาลในขณะเดียวกันทางกรมประชาสงเคราะห์ก็ได้นำร่างพระราชบัญญัติที่กรมประชาสงเคราะห์เป็นผู้รับผิดชอบ เสนอคณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายของกระทรวงมหาดไทย และได้รับการพิจารณาให้มีการปรับปรุงแก้ไข และให้ดำเนินการจัดหาข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อประกอบการพิจารณาใหม่ ต่อมาได้นำเสนอคณะรัฐมนตรีและจนในที่สุดคณะรัฐมนตรีที่ประชุมวันที่๑๔ พฤษภาคม ๒๕๓๔ ก็ได้สร้างประวัติศาสตร์ขึ้น โดยมีมติเห็นชอบด้วยตามร่างพระราชบัญญัติการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการที่คณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตรวจสอบพิจารณา และยังให้กระทรวงมหาดไทยและคณะกรรมการกฤษฎีกาแก้ไขเพิ่มเติม โดยให้คงหลักการเดิมในร่างมาตรา ๑๗ คือ การกำหนดให้เจ้าของอาคาร สถานที่ยานพาหนะ หรือบริการสาธารณะอื่นๆ จัดอุปกรณ์อำนวยความสะดวกแก่คนพิการและกำหนดให้นายจ้างหรือสถานประกอบการของรัฐ หรือสถานประกอบการของเอกชน รับคนพิการเข้าทำงานในอัตราส่วนที่เหมาะสมกับลูกจ้างอื่น แต่ให้ปรับลักษณะที่เป็นบทบังคับบทกำหนดโทษในร่างมาตร ๑๘ เป็นลักษณะให้การสนับสนุน ให้สิ่งจูงใจให้ปฏิบัติ เช่น กำหนดให้เจ้าของอาคารสถานที่ ยานพาหนะหรือบริการสาธารณะสุขอื่นๆ ที่จัดสิ่งอำนวยความสะดวกแก่คนพิการ สามารถนำค่าใช้จ่ายที่เสียไปเพื่อการนั้นตามจำนวนที่เหมาะสมไปหักเป็นค่าลดหย่อน เพื่อประโยชน์ในการคำนวณภาษีเงินได้และผู้ใดจ้างคนพิการปฏิบัติงานให้สามารถหักค่าใช้จ่ายเป็นค่าลดหย่อนภาษีได้เป็น ๒ เท่าเป็นต้น ทางคณะกรรมการกฤษฎีกาจึงได้แก้ไขเพิ่มเติมตามมติคณะรัฐมนตรี และได้นำเสนอคณะรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่งในวันที่ ๑๓ สิงหาคม ๒๕๓๔ ซึ่งคณะรัฐมนตรีก็ได้มีมติให้นำเสนอร่างพระราชบัญญัติการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้มีมติผ่านพระราชบัญญัติดังกล่าวในวาระที่หนึ่ง พร้อมทั้งได้ส่งให้คณะกรรมาธิการการปกครองพิจารณาจนเสร็จสิ้น แล้วจึงนำเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติในวาระที่สองและที่สาม ซึ่งที่ประชุมได้มีมติผ่านร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวทั้ง ๒ วาระ รัฐบาลจึงได้นำร่างพระราชบัญญัติการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย และได้นำไปประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๐๘ ตอนที่ ๒๐๕ ลงวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๓๔ แล้ว
จากปี พ.ศ. ๒๕๒๒ จนถึงปี พ.ศ. ๒๕๓๔ รวมเป็นเวลาประมาณ ๑๒ ปี ทั้งฝ่ายรัฐบาลและหน่วยงานทุกหน่วยที่เกี่ยวข้องกับบุคคลพิการเห็นพ้องกันว่าถึงเวลาที่เราจะต้องมอบกฏหมายฉบับนี้แก่คนพิการเพื่อประกาศอย่างชัดแจ้งว่า ทั้งรัฐบาลและปวงชนชาวไทยมีความเห็นว่า คนพิการเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่สำคัญของประเทศและจะไม่ถูกปล่อยปละละเลยอีกต่อไป คนพิการจะได้รับการพัฒนาฟื้นฟูสมรรถภาพทุกด้าน และมีสิทธิเสรีภาพเท่าเทียมกับคนปกติและมีการเปิดโอกาสให้คนพิการเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองและสังคมได้อย่างเต็มที่เพื่อให้คนพิการสามารถดำรงชีวิตยู่ในสังคมไทยได้อย่างมีศักดิ์ศรี
สรุปประเด็นสำคัญของพระราชบัญญัติการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ พ.ศ. ๒๕๓๔
๑. ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งเรียกว่า "คณะกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ" มีหน้าที่หลักดังนี้ คือ เสนอแนะนโยบายการดำเนินงานและแผนบริหารงานเกี่ยวกับการสงเคราะห์การพัฒนาและการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการต่อรัฐมนตรี เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบ และมอบหมายให้ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป พร้อมทั้งให้คำแนะนำปรึกษาเสนอความเห็นแก่รัฐมนตรีในการปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ สนับสนุนและส่งเสริมการดำเนินงานโดยให้ความช่วยเหลือทางวิชาการ เงินอุดหนุน ฯลฯ แก่ส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐและเอกชน ที่เกี่ยวข้องกับการให้การสงเคราะห์ การพัฒนาและการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ จัดทำโครงการ และวางระเบียบข้อบังคับและข้อกำหนดต่างๆ ภายในขอบเขตการดำเนินงานเกี่ยวกับการสงเคราะห์ การพัฒนา และการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ อนุมัติโครงการหรือแผนงานที่จะใช้เงินกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ และวางระเบียบเกี่ยวกับการบริหารและการใช้จ่ายเงินกองทุนดังกล่าว รวมทั้งปฏิบัติงานอื่นตามที่รัฐมนตรีมอบหมาย
๒. ให้บริการฟื้นฟูสมรรถภาพทุกด้านคือ ด้านการแพทย์ การศึกษา การสังคม และการอาชีพครบทุกด้านแก่คนพิการ รวมทั้งกำหนดให้มีศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษาพิเศษในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ
๓. ให้จัดตั้ง "กองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ" ขึ้นในสำนักงานคณะกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ เพื่อดำเนินงานและสงเคราะห์ช่วยเหลือคนพิการ สนับสนุนสถาบันบริการด้านการฟื้นฟูสมรรถภาพทุกด้าน รวมทั้งสนับสนุนศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษาพิเศษด้วย
๔. ให้เจ้าของอาคารสถานที่ ยานพาหนะหรือบริการสาธารณะอื่นๆ จัดอุปกรณ์อำนวยความสะดวกแก่คนพิการ
๕. ให้นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการของเอกชน รับคนพิการเข้าทำงานตามลักษณะของงานในอัตราส่วนที่เหมาะสมกับลูกจ้างอื่น
อ้างอิงจาก สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 16
จากพรบ.การฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ พ.ศ. 2534 ได้กำหนดอัตราส่วนพนักงานคนพิการต่อคนทั่วไป ในบริษัท หรือหน่วยงาน ในอัตราส่วนประมาณ 1% หมายถึง พนักงานในบริษัท มี 100 คนต้องมีคนพิการอย่างน้อย 1 คน หรือถ้าไม่รับคนพิการเข้ามาทำงานก็ให้ทดแทนด้วยการทำบุญบริจาคช่วยเหลือได้
อย่างไรก็ตาม มีกฎหมายรองรับอาชีพคนพิการ ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี แต่สังคมไทย จะเคร่งครัดปฏิบัติตามกฎหมายมากน้อยกแค่ไหน ใครจะเป็นผู้ตรวจสอบ
สัญลักษณ์คนพิการ ด้วยสีเขียว สัญลักษณ์สากลที่บอกให้ผู้พิการทราบว่าสามารถใช้สถานที่นั้น ๆ ได้


โทมัส เอดิสัน นักประดิษฐ์หูหนวก ผู้ไม่เคยยอมแพ้


“ความล้มเหลวหลายๆ อย่างในชีวิต เป็นเพราะคนเราไม่ตระหนักว่า พวกเขาอยู่ใกล้ความสำเร็จแค่ไหน ตอนที่เขายอมแพ้” สำหรับน้องๆที่เรียนวิชาวิทยาศาสตร์กันมาก่อน คงคุ้นเคยกับชื่อนี้เป็นอย่างดีนะครับ เพราะว่าเขาเป็นนักประดิษฐ์ผู้ที่มอบแสงสว่างให้กับโลกในช่วงค่ำคืน เอดิสันมีผลงานการประดิษฐ์มากมายนะครับ ไม่ว่าจะเป็นหลอดไฟ หีบเสียง หรือเครื่องบันทึกเสียง โดยมีสิ่งประดิษฐ์ที่จดลิขสิทธ์กว่า 1,200รายการ อีกทั้งยังได้รับการยกย่องจากนิตยสารไลฟ์ว่าเป็น1ใน100คน ที่สำคัญที่สุดในช่วง1,000ปี ที่ผ่านมา

ภาพความสำเร็จที่เราเห็นกันอยู่ในทุกวันนี้ก็ดูสวยงามและดูมีความสุขดีนะครับ แต่จะมีใครทราบบ้างไหมครับว่าเบื้องหลังความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ของเขามีความเป็นมาอย่างไร วัยเด็ก
เอดิสันเคยถูกให้ออกจากโรงเรียนเนื่องจากว่าเขาไม่สามารถเรียนวิชาคณิตศาสตร์ได้ ครอบครัวของเขาจึงต้องนำเอดิสันไปเลี้ยงดูเองและปล่อยให้เขาได้เรียนรู้ด้วยตนเอง ในช่วงอายุ12ปีเขาทำงานเป็นเด็กเดินข่าวของรถไฟ ครั้งหนึ่งเอดิสันทดลองเคมีทำให้เกิดเสียงระเบิดไฟไหม้ จนเขากลายเป็นคนหูหนวก โดยสาเหตุของการหูหนวกก็ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าเกิดจากอะไร
บางแห่งก็ว่าเขาถูกตบแก้วหูทำให้แก้วหูหนวกและอื้อ บางแห่งว่าเกิดเสียงระเบิดสนั่นทำให้เอดิสันกลายเป็นคนหูหนวก แต่ตามที่เอดิสันแถลง เขากล่าวว่า การที่เขาหูพิการเกิดจากเขาลื่นไถลลงไปใต้ท้องรถไฟจนเกือบจะถูกล้อทับ ได้มีคนช่วยเหลือเขาไว้โดยจับหูเขาดึงขึ้นมาบนรถ
ข้อคิด มีนักข่าวคนหนึ่งเคยถามเอดิสันว่า กว่าที่จะสามารถผลิตหลอดไฟได้ ต้องใช้ความพยายามลองผิดลองถูกกว่า 700 ครั้ง คุณไม่รู้สึกท้อและล้มเหลวบ้างหรือครับ เอดิสันกล่าวว่า ไม่ครับ ผมไม่รู้สึกท้อแท้และล้มเหลว เพราะผมได้เรียนรู้แล้วว่า การทดลองกว่า700ครั้งนั้นผิดพลาดเพราะอะไร และก็รู้ว่ามี700วิธีที่ไม่ใช่ ผมก็แค่หาวิธีผลิตหลอดไฟต่อจากนั้นเองครับ
เห็นไหมครับว่าเอดิสันล้มเหลวกว่า 1,000 ครั้ง เขาก็ยังลุกขึ้นสู่ต่อโดยไม่ยอมแพ้ และยังได้เรียนรู้จากความผิดพลาดอีกด้วยนะครับ แล้วน้องๆล่ะครับเคยตั้งใจอยากจะทำสิ่งใดบ้างไหมครับ แล้วเวลาที่เราทำไม่สำเร็จ เราทำอย่างไรครับ ยอมรับว่าเราทำไม่ได้หรือเรียนรู้จากความผิดพลาดครับ
ความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ไม่ได้เกิดขึ้นในชั้วข้ามคืนนะครับ และพี่ก็เชื่อว่ามีหลายครั้งทีเราเลือกจะยอมแพ้ก่อนที่จะถึงเส้นชัย ซึ่งบางที่เส้นชัยนั้นก็อยู่ต่อหน้าเราแล้ว ลองตั้งใจเดินตามความฝันและเป้าหมายต่อไปนะครับ แล้วน้องๆจะรู้สึกดีใจและพูดอย่างภูมิใจกับตัวเองว่า ดีนะที่เราไม่ยอมแพ้

คอนสแตนดิน ไชออลคอฟสกี้ ผู้ประดิษฐ์ยานอวกาคนหูหนวก


เส้นทางไปยังดวงดาวจัดสร้างขึ้นมาตามทฤษฎีของคอนสแตนดิน ไชออลคอฟสกี้ นักวิทย่าศาสตร์คนสำคุญของโลกชาวรัสเซีย นักวิทยาศาสตร์ท่านนี้มีทฤษฎีอยู่ว่าในการเดินทางออกจากโลกไปยังโลกอื่นมนุษย์จำเป็นต้องสร้างสถานีอวกาศให้สำเร็จ เพื่อใช้เป็น "บันได" สำหรับการก้าวออกไปจากโลก คอนสแตนดิน ไชออลคอฟสกี้ เกิดเมื่อวันที่ 17 กันยายน ค.ศ. 1857 ในหมู่บ้านอีเซฟสโกยี ต่อมาครอบครัวย้ายมาอยู่ที่เมืองวยาตก้า ที่เมืองนี้เด็กชายไชออลคอฟสกี้ชอบแม่น้ำยาตก้าเป็นพิเศษ เขาชอบลงไปว่ายน้ำบนแม่น้ำสายนี้อย่างสนุกสนาน ในฤดูใบไม้ผลิแผ่นน้ำแข็งบนแม่น้ำแตกตัว เด็กชายไชออลคอฟสกี้มีความกล้าหาญมาก เขากระโดดจากแผ่นน้ำแข็งแผ่นหนึ่ง ไปยังอีกแผ่นหนึ่งด้วยวิธีนี้ เขาสามารถข้ามแม่น้ำสายนั้นไปยังอีกฟากหนึ่ง โดยไม่ต้องว่ายน้ำข้ามไป

แต่มีความหายนะใหญ่หลวงกำลังรอคอยอยู่ ในฤดูหนาวหลังจากเล่นสเกตน้ำแข็ง ไชออลคอฟสกี้ ล้มป่วย เป็นหวัดก่อนแล้วเป็นไข้อีดำอีแดง การล้มเจ็บขยายตัวลุกลามจนในที่สุดเขากลายเป็นคนหูหนวก สำหรับไชออลคอฟสกี้การกลายเป็นคนหูหนวก โลกภายนอกทั้งหมดถูกจมอยู่ในความเงียบ เขาไม่สามารถได้ยินเสียงเพลงของนกหรือเสียงของลมพัด เขาไม่ได้ยินเสียงอะไรเลย ไชออลคอฟสกี้เขียนถึงโลกของเขาไว้ว่า :-
ในกลุ่มเด็กวัยเดียวกันและในกลุ่มคนโดยทั่วไป ผมมักงุ่มง่ามเสมอเป็นธรรมดาอยู่เอง การเป็นคนหูหนวก ทำให้ผมเป็นตัวตลกน่าขบขัน มันทำให้ผมต้องเหนิห่างจากผู้อื่น และผลักดันผมออกจากความน่าเบื่อหน่ายด้วยการอ่านหนังสือ ด้วยการใช้ความคิดอย่างแน่วแน่และฝันกลางวัน เนื่องจากผมเป็นคนหูหนวก ทุก ๆ นาทีของมีชีวิตที่ผมใช้ชีวิตร่วมกับคนอื่นเป็นเรื่องทรมาน ผมมีความรู้สึกว่า ผมถูกแยกออกไปอยู่โดดเดี่ยว น่าอาย เป็นคนที่ไม่มีใครต้องการคบหา ความรู้สึกเช่นนี้ ทำให้ผมต้องถอยลึกลงไปในตัวผม เพื่อค้นหาจุดหมายยิ่งใหญ่ เพื่อให้เป็นที่ยอมรับของคนอื่น ๆ และเพื่อไม่ให้ต้องถูกเหยียดหยามดูหมิ่น
มารดาาของไชคอฟสกี้ สอนการอ่านและการเขียนหนังสือก่อนนำไปเข้าโรงเรียนในเมือง เขาเรียนหนังสืออยู่ที่โรงเรียนสามปี การเรียนหนังสือที่โรงเรียนสำหรับเด็กหูหนวกเช่น ไชออลคอฟสกี้กลายเป็นเรื่องยากลำบาก แต่มาริยามารดาของเขาคอยปลอบใจ และพร่ำสอนให้เขามีความเข้มแข็ง รักชีวิตและมีความเชื่อมั่นว่า เขาจะหายจากการเป็นโรคหูหนวก
แต่เด็กชายคอนสแตนติน ไชออลคอฟสกี้ มีเคราะห์กรรมหนักยิ่งขึ้นไปอีก เมื่อเขามีอายุได้ 13 ปี มารดาของเขาเสียชีวิต หลังจากนั้นไม่นาน เขาต้องออกจากโรงเรียน ถนนไปยังอนาคตของเขาดูเหมือนว่า หายไปทันที
เมื่อไม่สามารถเรียนหนังสือที่โรงเรียน เด็กหนุ่มไชออลคอฟสกี้นึกถึงคำแนะนำของคุณแม่ เขาเริ่มต้นศึกษาจากตำราเรียนของพี่ชาย และอ่านหนังสือในห้องสมุดของบิดา เมื่ออายุ 14 ปี เขาสนใจวิชาวิทยาศาสตร์อย่างจริงจัง จากการอ่านตำราวิชาฟิสิกส์ เขามีแนวคิดเรื่องการสร้างรถขับดันด้วยไอน้ำ แนวคิดเรื่องนี้คือหลักการเรื่อง การเคลื่อนที่เชิงปฏิกิริยาของไชออลคอฟสกี้ในเวลาต่อมา
เมื่ออายุได้ 16 ปี คอนสแตนติน ไชออลคอฟสกี้ ตัดสินใจเดินทางไปยังกรุงมอสโก ทั้งนี้เพราะต้องการให้การศึกษาด้วยตัวเองมีความก้าวหน้ายิ่งขึ้นไปอีกที่กรุงมอสโก เขาไม่รู้จักใครเลย แต่เด็กหนุ่มหูหนวกแต่งตัวมอซอจากาชนบท ย่ำไปบนถนนของเมืองหลวง เขาประทับใจภาพของเมืองใหญ่แต่สับสนจณะเดินไปตามถนน สายตาของเจาคอยมองหาตัวหนังสือห้องให้เข่า ในที่สุดเขาเช่ามุมหนึ่งของห้องจากหญิงรับจ้างซักผ้าด้วยเงินเพียงไม่กี่โกเปค
ทุกเช้าก่อนประตูห้องสมุดประชาชนในกรุงมอสโกลเปิด เด็กหนุ่มบ้านนอกจะรออยู่ตรงหน้าประตู เพื่อเข้าไปอ่านหนังสือที่เขาต้องการค้นคว้า เมื่อได้หนังสือที่เขาต้องการเขาจะไปนั่งตรงมุมหนึ่งของห้อง แล้วเริ่มต้นอ่าน เมื่อเวลาของกลางวันผ่านพ้นไป และยามกลางคืนกำลังใกล้เข้ามา ไชออลคอฟสกี้ จึงออกจากห้องสมุด เรื่องที่ฝังอยู่ในความคิดของเขา คือ เรื่องการเดินทางเลยออกไปจากบรรยากาศของโลก
ไชออลคอฟสกี้ ใฝ่ฝันเรื่องการเดินทางออกจากโลกเรื่อยไป ปีที่สองของการใช้ชีวิตอยู่ในกรุงมอสโก โดยไม่ได้ไปเรียนหนังสือที่โรงเรียน และโดยที่ไม่มีครูสอน ปรากฏว่าไชออล คอฟสกี้ มีความรู้วิชาวิทยาศาสตร์ชั้นสูง และคณิตศาสตร์ชั้นสูง จากากาเรียนด้วยตนเองอยู่ภายในห้องสมุดประชาชน
แต่ไชออล คอฟสกี้ มีชีวิตอยู่ท่ามกลางความหิวโหย เพราะความยากจนเสื้อผ้าที่เขาสวมเหมือนผ้าขี้ริ้ว ถึงจะมีสภาพเช่นนี้ไชออล คอฟสกี้ เชื่อมั่นในอนาคตความรู้ทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ที่เขาเรียนรู้มา กลายเป็นพลังแข็งแกร่งอยู่ในตัวของเด็กหนุ่มหูหนวกยากจนจากชนบท
ท่ามกลางความยากจน ไชออล คอฟสกี้ แต่งงานกับวาร์จารา โซโกโลวา ภรรยาของไชออล คอฟสกี้ ทำทุกอย่างที่ทำได้ เพื่อให้สามีมีเวลาวิจัยงานด้านวิทยาศาสตร์และมีเวลาเขียนบทความ โซโกโลวาเป็นเพื่อนที่ดี เป็นภรรยที่เสียสละ และเชื่อในความอัจฉริยะของสามี งานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่ไชออล คอฟสกี้ เสนอไว้ในบทความของเขา มีนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำของรัสเซียหลายคน เช่น เมนเดเลเยฟ, ชูคอฟสกี้, สโตเลตอฟ และคนอื่น ๆ ให้ความสนใจ แต่ไม่มีใครสามารถช่วยไชออลคอฟสกี้พ้นจากความจน เพื่อความอยู่รอดของชีวิตและครอบครัว ไชออล คอฟสกี้นักวิทยาศาสตร์หนุ่มหูหนวกจึงตัดสินใจไปสอนหนังสือในโรงเรียนของหมู่บ้านกาลูก้า เมื่อมีอาชีพเป็นครู เวลาของการค้นคว้าทางด้านวิทยาศาสตร์ จึงมีเฉพาะเวลาว่างเท่านั้น
ฤดูหนาวของปี ค.ศ. 1892 ไชออลคอฟสกี้ และครอบครัวย้ายมาอยู่ที่หมู่บ้านกาลูก้า และอยู่ที่นั่นตลอดชีวิต เขานำชื่อเสียงมาสู่หมู่บ้านกาลูก้า แต่เป็นเวลายาวนานที่ชีวิตของเจาและครอบครัวของเขาที่นั่น ถึงแม้ว่าจะมีอาชีพเป็นครู แต่กํยังมีชีวิตอยู่ท่ามกลางความยากจน อย่างไรก็ดี ไชออลคอฟสกี้ไม่เคยท้อถอย เขาทำงานหนักต่อไป
ในฤดูใบไม้ผลิของปี ค.ศ. 1893 ขณะปิดภาคเรียนไชออลคอฟสกี้เขียนหนังสือเล่มแรกชื่อ อวกาศเสรี (Free Space) ในหนังสือเล่มนี้ ไชออลคอฟสกี้อธิบายเรื่องการเดินทางอวกาศถูกต้องตามหลักการของวิทยาศาสตร์ จนผู้อ่านมีความเชื่อว่า ผู้เขียนหนังสือเคยเดินทางอวกาศมาแล้วด้วยตัวเอง ตอนหนึ่งในหนังสือเล่มนั้นเขาเขียนไว้ว่า :-
เป็นเรื่องน่าตกใจในห้วง (อวกาศ) ไม่มีเขตแดนและปราศจากสิ่งที่เคยคุ้นเคย ไม่มีพื้นดินอยู่ใต้เท้าของผู้ใด ไม่มีท้องฟ้าในระยะไกล มันเป็นโลกไม่มีจุดอ้างอิง ไม่มีแนวระดับ ไม่มีแนวยืน ไม่มีความรู้สึกเรื่องน้ำหนัก ไชออลคอฟสกี้ มีความเห็นต่อไปว่า "มนุษย์จะไม่อยุ่บนโลกนี้ตลอดกาล ในการแสวงหาแสงสว่างและอวกาศจองเจา ก่อนอื่นเขาจะก้าวเลยออกไปจากบรรยากาศ (ของโลก) หลังจากนั้นจะพิชิตอวกาศรอบ ๆ (ระบบสุริยะ)"
ในหนังสือเล่มนี้คอนสแตนติน ไชออลคอฟสกี้ ออกแบบยานอวกาศขุยดันด้วยจรวด ให้มนุษย์ใช้เป็นยานเดินทางไปในอวกาศ
ในปี ค.ศ. 1895 นักวิทยาศาสตร์หนุ่มหูหนวก เขียนหนังสือ ชื่อ ความฝันของโลกและท้องฟ้า ในหนังสือเล่มนี้ แนวคิดเรื่องความเป็นไปได้ในเรื่องการเดินทางอวกาศจองมนุษย์ และเรื่องสภาพของอวกาศ มีรายละเอียดเพิ่มเติมจากหนังสือเล่มก่อน ๆ ของเขา ในหนังสือเล่มนี้ ไชออลคอฟสกี้ เสอนเรื่งอการสร้างดาวเทียมเป็นครั้งแรก เขาเขียนไว้ว่า :-
บริวารของโลก (ที่จะสร้างขึ้น) เหมือนดวงจันทร์ แต่อยู่ใกล้โลกของเรา สามารถบินเลยเขตแดนของบรรยากาศของโลก ห่างจากพื้นโลกประมาณ 200 ไมล์ เนื่องจากมีมวลน้อยมาก ดาวเทียมจะแสดงให้เห็นถึงตัวอย่างของสภาพแวดล้อมที่ปราศจากแรงดึงดูด
ปี ค.ศ. 1903 เป็นปีประวัติศาสตร์ ไม่ใช่เฉพาะสำหรับตัวไชออลคอฟสกี้ เองเท่านั้น แต่สำหรับโลกวิทยาศาสตร์ด้วย ปีนั้น ไชออลคอฟสกี้จัดพิมพ์บทความมีชื่อเสียงเรื่อง การสำรวจอวกาศด้วยสิ่งประดิษฐ์เชิงปฏิกิริยา ผลงานชิ้นนี้ ไชออลคอฟสกี้วางพื้นฐานการแก้ปัญหาทางวิทยาศาสตร์สำหรับการเดินทางอวกาศ โดยเสนอสูตรมีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก คือ สูตรการเคลื่อนที่ของจรวดต่อมาสูตรนี้เรียกกันว่า สูตรไชออลคอฟสกี้ เป็นสูตรชี้ให้เห็นข้อดีของจรวด ไชออลคอฟสกี้ ใช้สูตรของตนเองออกแบบจรวดสำหรับนำยานเดินทางอวกาศ สูตรไชออลคอฟสกี้ กลายเป็นหลักการของการพัฒนาจรวดสำหรับยานเดินทางออกนอกโลก
ระหว่างสงครามโลกครั้งแรก ภายหลังการปฏิวัติของพวกบอลเซวิก รัฐบาลโซเวียตให้การสนับสนุนงานด้านวิทยาศาสตร์ของไชออลคอฟสกี้ ในทุกแนวทาง ปีค.ศ. 1918 ไชออลคอฟสกี้ได้รับเลือกเป็นสมาชิกของบัณฑิตสภาพโซเซียลิสต์ ปี ค.ศ. 1919 ได้รับเลือกเป็นสมาชิกเกียรติยศของสภามิตรภาพวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ ปี ค.ศ. 1921 รัฐบาลในรางวัลด้วยการให้เงินบำนาญตลอดชีวิต ปีค.ศ. 1924 ได้รับคัดเลือกเป็นศาสตราจารย์เกียรติยศจองวิทยลัยกองทัพอากาศชูคอฟสกี้
ไชออลคอฟสกี้ผู้วางหลักการเรื่องการเดินทางอวกาศ ยืนยันด้วยความมั่นใจตลอดเวลาว่า มนุษย์ไม่อยู่บนโลกนี้ตลอดกาล มนุษย์สามารถพิชิตอวกาศ ยานอวกาศขับดันด้วยจรวดจะเดินทางไปในจักรวาล นำมนุษย์ไปยังดาวเคราะห์ ซึ่งมีอยู่มากมายในเอกภพ มนุษย์จะสามารถสร้างดาวเทียม และไม่ใช่เป็นเพียงดาวเทียมเท่านั้น แต่จะเป็น "เกาะบนฟากฟ้า" หรือเป็น สถานีอวกาศ โคจรอยู่รอบโลก เพื่อเป็นที่พักพิงสำหรับการเดินทางไปในจักรวาล
ไชออลคอฟสกี้เชื่อว่า มีแหล่งอารยธรรมมากมายในจักรวาล ความเชื่อในเรื่องนี้เขาเขียนไว้ว่า :
"แกแลกซี่ มีดวงอาทิตย์นับพันล้านดวงแต่ละดวงมีดาวเคราะห์มากมาย และอย่างน้อยที่สุดต้องมีดาวเคราะห์ดวงหนึ่งของดวงอาทิตย์ (นับพันล้านดวงในแกแลกซี่หนึ่ง) มีสภาพเหมาะสมเอื้ออำนวย (สำหรับชีวิต)"
ในช่วงท้ายของชีวิตไชออลคอฟสกี้เร่งรีบจัดทำโครงการเพื่อจักรวาลตามแผนการนี้เขาเขียนคำนวณ และจดทำแผนการเดินทางไปยังอวกาศของมนุษย์ขณะที่เขียนโครงการนี้ ไชออลคอฟสกี้รู้ดีว่าตนเองคงไม่ได้เห็นการเดินทางของยานอวกาศในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1935 สุขภาพของเขาทรุดโทรมอย่างรวดเร็ว ต้องอยู่ในความดูแลอย่างใกล้ชิดของแพทย์ แต่ถึงกระนั้นก็ดี ขณะนอนป่วยอยู่บนเตียงคนไข้ เขาบอกให้คนเขียนจดหมายตามคำพูดของตนส่งไปถึงรัฐบาลของวันที่ 19 กันยายน ค.ศ. 1935 คอนสแตนติน ไชออลคอฟสกี้ ถึงแก่กรรม บ้านของเขาที่กาลูก้ากลายเป็นพิพิธภัณฑ์สถาน เป็นอนุสรณ์ให้กับผู้บุกเบิกการเดินทางอวกาศคนแรกของประเทศชาติ

โทรศัพท์สาธารณะคนหูหนวกได้ใช้แน่ มิ.ย. นี้ (ข่าวเก่าแล้ว)


ทีโอที เร่งโครงการ USO ทำโทร ศัพท์สาธารณะในพื้นที่ห่างไกล เผยโทรศัพท์คนหูหนวกเสร็จ มิ.ย.นี้ ด้าน กทช. ชี้โครงการ USO คืบแค่ 30%
นายธีรวุฒิ บุณยโสภณ ประธานกรรมการบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ทีโอที ซึ่งเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมประเภทที่ 3 ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ติดตั้งโทรศัพท์สาธารณะในพื้นที่ห่างไกลและผู้ด้อยโอกาส ในการให้บริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึง และบริการเพื่อสังคม (USO : Universal Service Obligation) รวม 25,878 เลขหมาย ใน 50 จังหวัด โดยมีระยะเวลาดำเนินงาน 3 ปี ตั้งแต่ 5 ต.ค. 2549-5 ก.ย. 2552 คาดว่าจะทำได้เสร็จตามกำหนดเวลา

นายธีรวุฒิ กล่าวต่อ ว่า ส่วนการให้บริการโทรศัพท์สาธารณะและบริการอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการทางหู จำนวน 500 เลขหมาย ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนแปลงเครื่องโทรศัพท์สาธารณะ โดยนำคีย์บอร์ด (แป้นพิมพ์) เชื่อมต่อกับเครื่องโทรศัพท์ ให้คนพิการทางหูได้คุยกันผ่านการพิมพ์ คาดว่าจะเสร็จในเดือน มิ.ย.นี้
สำหรับการดำเนินงานในโครงการ USO ปัจจุบันดำเนินการแล้ว 20-30% โดยล่าสุดได้ติดตั้งบริการโทรศัพท์สาธารณะที่หมู่บ้านปางพระราชทาน จ.เชียงราย พร้อมติดตั้งอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียมไอพีสตาร์ความเร็ว 2 เมกะบิต โดยใช้ชุมชนเป็นผู้ดูแล เมื่อเกิดข้อบกพร่องเจ้าหน้าที่ทีโอทีจากส่วนกลาง จ.เชียงราย จะเข้าไปแก้ไขภายใน 24 ชั่วโมง.
ข่าว : เดลินิวส์

06 ตุลาคม 2552

ภาษามือสื่อสารเงียบๆ


ห้วงยามที่นักการเมืองเข้าไปสุมกันในสภา-เริ่มพูด มีสาระบ้าง ไม่มีสาระบ้าง-แล้วเรียกมันว่า การประชุมสภา (แต่คนทางบ้านที่ดูโทรทัศน์อาจไม่รู้สึกอย่างนั้นในบางครั้ง) ลองเคลื่อนสายตาไปที่มุมล่างขวาของจอ ‘นักสื่อสารในโลกไร้เสียง’ หรือ ‘ล่ามภาษามือ’ ก็กำลังทำหน้าที่อย่างแข็งขันและอดทน ต้องใช้คำว่า ‘อดทน’ ...อันเนื่องจากความปั่นป่วนในสภาและการประท้วงของผู้ทรงเกียรติ สำหรับบางคน ถ้าภูมิคุ้มกันไม่ดีพอ อาจถึงขั้นหลอนนอนไม่หลับถ้าเปลี่ยนช่องหนีไม่ทัน แต่สำหรับพวกเธอ หน้าที่ย่อมต้องเป็นหน้าที่
สมัยประธานสภาฯ อุทัย พิมพ์ใจชน ครั้งนั้น องค์กรที่ทำงานเกี่ยวกับคนพิการได้ยื่นเอกสารเพื่อเรียกร้องให้รัฐสภาจัดหาสิ่งอำนวยความสะดวกให้แก่คนพิการ และสมาคมคนหูหนวกแห่งประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในองค์กรที่ว่า กลายเป็นที่มาของการมีล่ามภาษามือเพื่อสื่อสารเนื้อหาการประชุมให้กับผู้พิการทางหูได้รับรู้
กนิษฐา รัตนสินธุ์ กันยา แซ่อึ่ง และจุฑามาศ สุธนวัฒนาเจริญ คือเจ้าหน้าที่จากสมาคมคนหูหนวกแห่งประเทศไทย ที่คอยรับหน้าที่ประจำวันพฤหัสบดี หากทางรัฐสภาร้องขอล่ามภาษามือไปทางสมาคมคนหูหนวกแห่งประเทศไทย คำถามแรกที่เรายิงใส่พวกเธอทั้ง ๓ คน คือ “ภาษามือยากมั้ย?”
คำตอบโดยสรุป-ไวยากรณ์ภาษามือจะมีการเรียงประโยคต่างจากภาษาพูด โดยจะเรียงจากประธาน กรรม กริยา เช่น ถ้าพูดว่า ‘ฉันกินข้าว’ ภาษามือจะเป็น ‘ฉันข้าวกิน’ แต่พวกเธอบอกว่าภาษามือก็ไม่ต่างจากภาษาอังกฤษ คือเรียนแล้วต้องใช้ ใช้ก็ส่วนใช้ แต่คนจะเป็น ‘ล่ามภาษามือ’ ได้จำต้องผ่านการเรียน การอบรม ที่มีหลักสูตรกำกับ เนื่องจากภาษามือที่ใช้สำหรับสื่อสารกับภาษามือที่ใช้ในการแปลมีลักษณะต่างกันออกไป แต่โดยหลักการแล้ว ภาษามือจะมีองค์ประกอบ ๕ อย่าง คือ รูปแบบท่ามือ ตำแหน่งวางการมือ การพลิกหันฝ่ามือ ทิศทางการเคลื่อนไหวมือ และการเคลื่อนไหวของลำตัวและการใช้สีหน้าซึ่งใช้ในการแสดงอารมณ์ ความรู้สึก และน้ำเสียงของสิ่งที่แปล
“สื่อสารก็คือการพูดคุยธรรมดา แต่ถ้าเป็นล่ามต้องฝึกการฟัง ฝึกการตีความ ฝึกการจับประเด็นแล้วก็ถ่ายทอดออกไป” กนิษฐาอธิบายความเหมือนที่แตกต่าง “การแปลที่ดีที่สุดคือทำยังไงก็ได้ให้คนหูหนวกเห็นภาพ เหมือนกับเราเอาสตอรีบอร์ดมาเรียง อย่างพูดถึงแตงโมลูกหนึ่งนี่เห็นชัด แต่อย่างคำว่า กตัญญู จะแปลยังไง เราก็ต้องอธิบายความหมายของคำคำนี้”
การแปลภาษาพูดเป็นภาษามือจึงเป็นไปเพื่อให้ผู้พิการทางหู ‘เข้าใจ’ เนื้อหามากที่สุด เรื่องความสละสลวยของถ้อยคำ ระดับชั้นของภาษา เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ดังที่จุฑามาศอธิบายว่า “การแปลภาษามือ เราจะแปลสารให้คนเข้าใจ เราไม่ได้ต้องการให้เขารู้ภาษาไทย นั่นเป็นสิ่งที่เขาต้องไปเรียนรู้ ไม่ใช่หน้าที่ของล่าม หน้าที่ของเราคือฟังสิ่งที่เราจะถ่ายทอด แล้วถ่ายทอดออกมาเป็นภาษามือให้เขาเข้าใจเนื้อหามากที่สุด อย่างถ้าเราจะบอกว่าพระฉัน เราก็แค่บอกว่าพระกิน ส่วนคนหูหนวกจะแปลเป็นพระฉันหรือพระกิน นั่นขึ้นอยู่กับความรู้ทางภาษาไทยของคนคนนั้น”
เตรียมมือ เตรียมใจ - การเป็นล่ามภาษามือในการประชุมสภาก็เหมือนกับอาชีพอื่นๆ ที่จะต้องมีการเตรียมตัวก่อนทำงาน สิ่งที่ขาดไม่ได้คือการติดตามข่าวสารบ้านเมือง เพื่อจะได้ทราบว่าทิศทางข่าวและเรื่องราวที่น่าจะถูกหยิบยกขึ้นมาถกในสภาเป็นเรื่องอะไร ส่วนที่ ๒ ที่ล่ามภาษามือต้องเตรียมซึ่งคนที่ไม่มีปัญหาเรื่องการฟังอาจไม่เคยรู้ก็คือ เสื้อผ้า ทำไม? ผู้พิการทางหูต้องใช้สายตาเป็นหลักเพื่อรับรู้ข้อมูลจากภาษามือ ดังนั้น เสื้อผ้าที่ล่ามภาษามือใช้จะต้องเป็นสีเรียบและเข้มที่ตัดกับสีผิวของมือ (ถ้าสังเกตดู พวกเธอจะใส่เสื้อสีดำตลอด) บรรดาเครื่องประดับหรือแม้แต่กระดุมเสื้อที่สะท้อนแสงวิบวับก็ไม่ควรใส่เพราะจะเป็นการรบกวนสายตาผู้พิการทางหู
ยังไม่นับรวมการเตรียมสุขภาพร่างกายให้พร้อม ไม่เจ็บไข้ได้ป่วย โดยปกติล่าม ๓ คน จะทำหน้าที่ผลัดเปลี่ยนกันคนละ ๒๐ นาที ซึ่งถ้าเป็นการประชุมสภาทั่วๆ ไปก็ไม่ใช่เรื่องหนักหนานัก แต่ถ้าเป็นการอภิปรายไม่ไว้วางใจซึ่งบางครั้งลากยาวไปจนถึงตี ๒ ตี ๓ ถ้าร่างกายไม่พร้อมอาจน็อกตั้งแต่หัวค่ำ กนิษฐาสาธยายความเหนื่อยล้าว่า “เจออภิปรายติดกัน ๓ วัน วันแรกเสร็จตี ๔ สภาพร่างกายก็เริ่มแย่ วันที่ ๒ เลิกตี ๓ วันที่ ๓ เลิกตี ๒ ร่างกายไม่ไหว สมองเราจะล้ามากกว่า ฟัง แต่สมองไม่สั่งการ มือก็ไป มือก็ตก สมมติแรกๆ ถ้าแปลถึงแค่ ๔ โมงเย็นก็ยังโอเค แต่ถ้าเลยไปสัก ๒ ทุ่มก็จะเริ่มล้าแล้ว ช่วงแรกๆ มือก็ตั้งดี แต่หลังๆ จะตกลงเรื่อยๆ บางทีก็จะหลับ แต่จะต้องทำยังไงก็ได้ไม่ให้คนดูจับผิดเราได้ว่าเรากำลังอ่อนเพลียอยู่”
เตรียมร่างกายแล้ว ยังต้องเตรียมจิตใจด้วย ไม่ว่าจะทะเลาะกับที่บ้าน เจ้าหนี้ทวงหนี้ ลูกไม่สบาย พวกเธอบอกว่าเมื่อต้องทำหน้าที่ ภาระทุกอย่างในใจที่แบกหามไว้ต้องตัดออกให้หมด เพื่อไม่ให้รบกวนการทำงาน นอกจากนี้ สภาพแวดล้อมก็เป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะเรื่องเสียง ถ้ามีเสียงรบกวนมาก การทำงานจะยิ่งลำบาก ซึ่งถ้าไม่เหลือบ่ากว่าแรงนัก พวกเธอก็จะขอให้เจ้าหน้าที่ที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงลดเสียงลง
เจออย่างนี้ แปลยังไง? - ข้อจำกัดของภาษามืออยู่ที่ไม่สามารถสื่อสารคำที่เป็นนามธรรมได้ชัดเจนนัก พอมาอยู่ในที่ประชุมสภาที่เต็มไปด้วยศัพท์แสงยากๆ ที่ไม่ค่อยใช้ในชีวิตประจำวัน ความยากในการสื่อสารก็ยิ่งทวีคูณ ลองนึกถึงคำประเภท ‘วาระ’ ‘ญัติ’ ‘กระทู้’ หรือ ‘อารยะขัดขืน’ บางทีล่ามถึงกับต้องกุมขมับ แต่ถึงที่สุดก็ต้องแปลออกมาให้ได้ วิธีการหนึ่งคือการแปลคำยากๆ เหล่านี้ออกมาเป็นคำที่เข้าใจได้ทั่วไป เช่น คำว่า ‘กระทู้’ ก็แปลเป็น ‘คำถาม’ เป็นต้น หรือถ้ายากกว่านั้น จุฑามาศอธิบายว่า “อย่างคำว่า อารยะขัดขืน เราเข้าใจนะ แต่มันเยอะมากไง ถ้าเรารู้ว่าต้องมาแปล เราก็ต้องเตรียมตัว ปรึกษาหารือกันก่อน ถ้าเราเตรียมความพร้อมมาก การแปลของเราก็มีโอกาสที่จะลื่นไหลมากขึ้น ต้องฟังบริบทที่เขาพูด เช่น พูดว่าจะอารยะขัดขืนด้วยการไม่เสียภาษี เวลาเราแปลจะไปบอกอารยะขัดขืนก็ไม่ได้ เราก็บอกไปเลยว่า เราจะไม่เสียภาษี คือเราไม่ได้แปลเป็นคำๆ มันต้องฟังเนื้อเรื่องด้วย แล้วตีความให้ออก “หรือคำว่ายานพาหนะ ก็มีหลายอย่าง แต่เวลาเราแปล เราต้องแปลทุกอย่าง คนหูดีพูดแค่ยานพาหนะรู้เรื่อง แล้วแต่จะจินตนาการ แต่บริบทของเรื่องคืออะไร เช่น ถ้าพูดเรื่องรถเช่าเอ็นจีวี จะแปลคำว่ายานพาหนะเป็นรถมอร์เตอร์ไซต์ไม่ได้แล้ว ในเมื่อเรื่องนั้นเป็นเรื่องของรถเมล์ ภาษามือก็พูดไปได้เลยว่ารถเมล์”
แล้วเคยแปลผิดหรือเปล่า? - “ตั้งใจแปลผิดไม่มีแน่ แต่บางครั้งเสียงบางเสียงมันใกล้เคียงกันมาก อย่างเสียงว่า สอทอ ถ้าอยู่ๆ พูดขึ้นมาแบบนี้ มันก็มีตั้งหลายอย่าง แล้วเราจะเลือกแปลยังไง บอกไม่ได้ อาจจะเป็นศึกษาธิการหรือสาธารณสุขก็ได้ แต่ถ้าเขาพูดเรื่องยามาก่อนแล้ว เราก็จะรู้ว่าเขากำลังพูดเรื่องกระทรวงสาธารณสุข แต่ถ้าอยู่ๆ ขึ้นมา สอทอ ประกาศ ล่ามต้องแปลแล้ว ต้องคิดว่าจะสออะไรดี หรือไม่ก็ต้องรอช่วงเวลานิดหนึ่งให้เขาพูดออกมาว่าเป็นสอไหน”
แต่เรื่องที่เราสงสัยที่สุดก็คือ แล้วเวลาที่บรรดาผู้ทรงเกียรติเอาแต่ประท้วงเรื่อยเปื่อย แย่งกันพูดจนฟังไม่ได้ศัพท์ คนเป็นล่ามจะทำอย่างไร ซึ่งเราได้รับการเฉลยว่า ฟังจากเสียงเป็นหลัก จับเสียงไหนได้ก็เลือกแปลเสียงนั้น แต่ถ้าจับได้ทั้งสองเสียงก็จะเลือกแปลทั้งสองเสียง โดยใช้สีหน้าและการเคลื่อนไหวลำตัว ขยับซ้ายขวา ผู้พิการทางหูก็จะรู้ว่ามีคน ๒ คนกำลังพูด พวกเธอเล่าว่าเคยมีบางครั้งที่ผู้ทรงเกียรติประท้วงกันไปมา กระทั่งล่ามภาษามือไม่ได้แปลอะไรเลยตลอด ๒๐ นาที!!!
“แต่ในกรณีที่ประธานสภาดับไมค์ เราไม่แปล เพราะเราถือว่าคนฟังก็ไม่ได้ยินเหมือนกัน เราต้องเลือกแปลเสียงที่เปิดจากไมค์ก่อน เพราะเสียงนั้นเป็นเสียงที่ถ่ายทอดออกไป” จุฑามาศเสริม
“นักการเมืองบางคนต้องไปเรียนการใช้ภาษาไทยใหม่ด้วยซ้ำ” ความยากอีกประการของการทำหน้าที่ล่ามภาษามือในการประชุมรัฐสภา ส่วนหนึ่งอยู่ที่นักการเมือง กันยาบอกกับเรา “นักการเมืองบางคนพูดคำความหมายเดียว แต่แยกคำ มือเราก็ไปไปก่อนแล้ว แต่พอจบคำแล้วไม่ใช่ ก็ต้องเปลี่ยน หรือถ้าพูดช้ามากก็จะแปลยาก มือก็จะค้างอยู่กลางอากาศ” หรือหนักกว่านั้น พวกเธอถึงกับบอกว่านักการเมืองบางคนต้องไปเรียนการใช้ภาษาไทยใหม่ด้วยซ้ำ เพราะว่าพูดไม่มีจังหวะ ไม่มีวรรคตอน ส่วนเป็นใครนั้นขออนุญาตไม่บอก เราถามว่าแล้วนักการเมืองคนไหนพูดแล้วแปลง่าย คำตอบคืออดีตนายกรัฐมนตรี สมัคร สุนทรเวช ต้องหมายเหตุให้เข้าใจว่า ‘แปลง่าย’ ของคนเป็นล่ามภาษามือหมายถึงคนพูดพูดจาชัดถ้อยชัดคำ มีจังหวะจะโคนในการพูด และแบ่งวรรคได้ถูกต้อง ซึ่งไม่ได้เกี่ยวกับว่าเนื้อหาที่พูดนั้นดีหรือไม่ดี นายกฯ อภิสิทธิ์ก็เป็นอีกคนที่ล่ามภาษามือไม่ต้องทำงานหนักมาก เพราะพูดชัด แบ่งวรรคตอนการพูดได้ดี เสียตรงที่สำนวนเยอะไปหน่อย บางทีล่ามต้องตีความให้ออกมาเป็นภาษามือที่ตรงกับความหมายที่นายกฯ อภิสิทธิ์ต้องการพูด
“แล้วอย่างเวลาคุณเฉลิม อยู่บำรุงพูดถึงภาษิตกฎหมายภาษาละติน ทำยังไง? กนิษฐาตอบว่า “ไม่แปล เราต้องรอให้คุณเฉลิมพูดเป็นภาษาไทยก่อน แล้วค่อยแปล” หน้าที่ของนักสื่อสารในโลกไร้เสียง
“แล้วอย่างเวลาคุณเฉลิม อยู่บำรุงพูดถึงภาษิตกฎหมายภาษาละติน ทำยังไง? กนิษฐาตอบว่า “ไม่แปล เราต้องรอให้คุณเฉลิมพูดเป็นภาษาไทยก่อน แล้วค่อยแปล” หน้าที่ของนักสื่อสารในโลกไร้เสียง
เมื่อการสนทนาเสร็จสิ้น เราขอเข้าไปสังเกตการณ์การทำงานของพวกเธอในห้องประชุมรัฐสภา ซึ่งตอนแรกเราเข้าใจว่าสถานที่ทำงานของล่ามภาษามือจะแบ่งเป็นสัดเป็นส่วน มีสิ่งอำนวยความสะดวกตามสมควร แต่ที่ไหนได้ มันเป็นแค่ซอกมุมเล็กๆ มุมหนึ่งบนชั้นลอยของห้องประชุมสภา พวกเธอต้องเตรียมผ้าใบพลาสติกมาปูนั่งกันเอง เวลาประชุมกันดึกดื่น พวกเธอก็นอนแหมะกันบนผ้าใบนั่น ซึ่งเราขอเรียกร้องไปยังทางรัฐสภาว่าถ้าจริงใจกับสิ่งอำนวยความสะดวกแก่คนพิการจริง ก็ควรจะดูแลเรื่องสถานที่ สิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับล่ามภาษามือให้ดีกว่านี้
สุดท้ายก่อนลา เราใช้ความรู้สึกเวลาดูถ่ายทอดการประชุมสภาเป็นตัวนำคำถาม บ่อยครั้งที่เราทนไม่ได้กับการนั่งดูนักการเมืองพูดจาไม่มีเนื้อหาหรือประท้วงไร้สาระ เราจึงอยากรู้ความรู้สึกของพวกเธอว่าเป็นอย่างไรกันบ้าง สุขภาพจิตยังดีอยู่หรือที่ต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมเช่นนี้คำตอบที่ได้วนกลับไปสู่สิ่งที่เรียกว่า ‘หน้าที่’ พวกเธอไม่ได้บอกว่า ‘ไม่มีความรู้สึก’ แต่เมื่ออยู่ตรงนั้นก็ต้องทำหน้าที่ให้ดีที่สุด ต้องตัดความรู้สึกออก เพราะถ้าเกิดความรู้สึกไม่พอใจ รำคาญ สิ่งเหล่านี้จะแสดงออกมาทางสีหน้า ซึ่งผู้พิการทางหูจะจับได้เวลาอยู่หน้าจอ แต่พอลงมาจากเก้าอี้นั่นก็อีกเรื่องหนึ่ง พวกเธออาจจะมานั่งคุยกันหรือนั่งคิดตามลำพังว่าสิ่งที่ได้ยินนั้น บ่งบอกแก่นสารของนักการเมืองได้มากน้อยแค่ไหน เพราะในฐานะประชาชนคนหนึ่ง พวกเธอย่อมมีเสรีภาพเต็มในการคิดต่อพฤติกรรมของนักการเมือง
นักการเมืองคนนี้ใช้ท่ามือว่าอะไร? ภาษามือที่ใช้เรียกนักการเมือง สำหรับผู้พิการทางหู พวกเขาก็มีศัพท์เฉพาะไม่ต่างกับคนที่หูไม่พิการ เช่น ยี้ห้อย หลงจู๊เติ้ง หรือเทพเทือก ศัพท์พวกนี้เรารู้ได้ทันทีโดยไม่ต้องเอ่ยชื่อ ผู้พิการทางหูก็เช่นกัน พวกเขาจะจับจากลักษณะเด่นของนักการเมืองแต่ละคนมาใช้เป็นภาษามือ ซึ่งคนที่เป็นล่ามจะต้องคอยถามไถ่ผู้พิการทางหูถึงท่ามือเฉพาะของแต่ละคน ไม่สามารถคิดขึ้นเองได้ และนี่คือตัวอย่าง อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ภาษามือคือหน้าตาดี+ตัว อ.อ่าง บรรหาร ศิลปอาชา ภาษามือคือ บ.ใบไม้+ตัวเตี้ย พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ ภาษามือจะทำเป็นรูปใบหู สมัคร สุนทรเวช ท่ามือจะขยุ้มที่จมูก ชวน หลีกภัย ท่ามือจะบอกลักษณะของผมที่ขึ้นเป็นกระบังตลอดเวลา พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ท่ามือคือแว่นกับคาง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ท่ามือคือการเอานิ้วชี้ชี้ขึ้นไปบนฟ้า (ประมาณว่าชี้ดาวเทียม) ส่วนอดีตนายกฯ สมชาย วงศ์สวัสดิ์ ไม่มีท่ามือเฉพาะ ใครจะแปลความว่าไม่มีอะไรโดดเด่นเลย นั่นก็แล้วแต่จะคิด (เรื่อง-กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล ASTV ออนไลน์ ๒๒ เมย. ๒๕๕๒ )

ข้อขบคิด :)

ปัญหาของคนหูหนวก = ภาษาไทย (เป็นภาษาที่สอง)

ถ้าสมมติคนหูหนวกไม่ได้รับการสนับสนุนด้านข้อมูล ข่าวสาร จะเป็นอย่างไร ช่วยเหลือตัวเองได้ เลี้ยงชีพได้

ใครเก่งที่สุดในบรรดาความพิการทุกประเภท คนตาบอด และคนหูหนวก
คำตอบ คือ เก่งคนละอย่าง

ลองตั้งจุดเป้าหมาย ของชีวิตคนหูหนวก อันดับหนึ่ง เลี้ยงชีพได้ อันดับสอง อ่านออกเขียนได้ เรียนสูงขึ้น

01 ตุลาคม 2552

เรื่องเล่า...จากโลกเงียบ ของ”วัชรินทร์ จินะมุสิ”


ไม่น่าเชื่อ อยากเก็บมาให้อ่าน :) เรื่องราวของเธอ
“เขาไม่อยากให้ใครมองเราว่ามีพ่อแม่เป็นใบ้” เจอหน้ากันไม่เท่าไหร่ วัชรินทร์ จินะมุสิ หรือที่คนส่วนใหญ่รู้จักในนาม แหม่ม เอเอฟ ๑ ก็พูดจ๋อยๆ เล่าเรื่องโน้นเรื่องนี้ให้ฟัง ประหนึ่งว่ารู้จักกันมาเป็นปี
พูดเก่งนะนี่ เราแซวเธอก็ว่า “ค่ะ” แล้วพูดต่อยิ้มๆ ว่า “เก่งที่สุดในบ้าน” จากนั้นจึงเฉลยว่าที่เป็นอย่างนั้นเพราะบ้านอันประกอบด้วยพ่อ แม่ และเธอ มีเพียงเธอคนเดียวเท่านั้นที่พูดได้ ใช่, เข้าใจไม่ผิด พ่อและแม่ของเธอเป็นผู้พิการทางหู จึงทั้งไม่ได้ยินและพูดไม่ได้

”สงสัยล่ะซิว่าแล้วแหม่มพูดได้ไง” ไม่ทันได้ถาม เธอก็ดักคอ แล้วก็เฉลยเสร็จสรรพว่า “เพราะตอนเด็กๆ มีญาติช่วยเลี้ยงค่ะ” การเติบโตมากับพ่อแม่ที่พิเศษกว่าพ่อแม่คนอื่นๆ แหม่มว่าสำหรับเธอไม่ใช่ปัญหาเลยสักนิด “เรื่องที่พ่อแม่ไม่ได้ยินมันไม่ใช่เรื่องใหญ่จนทำให้เรารู้สึกเป็นปมด้อย” แน่นอนอาจมีความรู้สึกบ้างตอนยังเป็นเด็กเล็กมากๆ หากเมื่อค่อยโตขึ้นก็ค่อยๆ เข้าใจ ดังนั้นขณะที่บางคนอาจจะอายเวลาพาพ่อแม่ออกไปเจอคนอื่น แต่เธอ “ไม่เลย” “เราลั้นลามาก” กลับเป็นพ่อและแม่ด้วยซ้ำที่ระยะหนึ่งในช่วงที่เธอเติบโตและเข้าเป็นสมาชิกเอเอฟ อะคาเดมี แฟนเทเชีย ใหม่ๆ ที่ทั้งคู่ดูจะอึดอัดเวลาต้องไปไหนมาไหนด้วย “เขาไม่อยากให้ใครมองเราว่ามีพ่อแม่เป็นใบ้ แต่แหม่มก็บอกให้เขาเป็นตัวของตัวเองนะแหละ แหม่มชอบที่พ่อกับแม่เป็นแบบนี้ ชอบที่เขาใช้ภาษามือกับเรา อย่าไปแคร์ แค่เราแฮปปี้ก็พอ” นี่อาจจะเป็นเพราะตลอดเวลาที่ผ่านมา เธอมีครอบครัวที่อบอุ่น และแม้จะไม่สามารถพูดคุยหยอกล้อกันได้อย่างพ่อแม่ลูกทั่วไป แต่ก็มีวิธีแสดงความรักต่อกันอย่างสม่ำเสมอ ”พวกเราจะโอเวอร์แอ๊คมาก” แหม่มบอกยิ้มๆ การกอดกันของพวกเธอจึงเป็นเรื่องสามัญและทำบ่อยครั้งจนนับไม่ถ้วน และเพราะการแสดงออกที่ชัดเจนแบบนี้แหละ แหม่มถึงว่าในวันที่พ่อกับแม่ตัดสินใจแยกทางกัน เธอจึงเข้าใจ รับได้ และไม่เห็นเป็นปัญหา “เรื่องที่เกิดขึ้นมันอาจจะเลวร้าย แต่อย่าไปจมอยู่กับมันนัก ไปเก็บมันมาคิดก็ช่วยอะไรไม่ได้ เรื่องดีๆ ต่างหากที่เราควรเก็บเอาไว้” ถามเธอว่า การเติบโตมาในครอบครัวลักษณะพิเศษนี้ เมื่อเทียบกับครอบครัวปกติทั่วไป มีอะไรที่แตกต่างบ้างไหม? เธอนิ่ง คิดอยู่สักครู่ ก่อนจะพูดยิ้มๆ ว่า ดูเหมือนสมาชิกครอบครัวเธอจำเป็นจะต้องเจอหน้ากันบ่อยกว่าสมาชิกครอบครัวปกติอื่นๆ “พวกเราไม่สามารถบอกความรู้สึกผ่านทางมือถือ เลยต้องมาเจอกัน ซึ่งมันอาจจะทำให้ต้องเดินทางมากขึ้น ต้องเสียเวลามากขึ้น เหนื่อยมากขึ้น แต่มันก็ทำให้เราได้เห็นหน้ากัน ได้สัมผัส แล้วการได้เจอหน้ากัน ความรู้สึกมันต่างจากการส่งข้อความหรือพูดผ่านมือถือนะ” “ที่สำคัญคือมันอิ่ม” ท่าทางขณะที่บอกเล่า ดูแล้วเจ้าตัวมีความสุขเหลือเกิน

นอกจาก “อิ่ม” แล้ว แหม่มยังว่า ทุกครั้งที่ได้เจอ ไม่ว่าจะพ่อหรือแม่ ทั้งคู่เป็นต้องแนะนำทั้งในเรื่องคำสอน มุมมอง และประสบการณ์ชีวิต “แม่ทำให้แหม่มรู้ว่าการให้ไม่ต้องหวังผลหรอก ให้ไปเถอะ ให้เท่าที่เราให้ได้” เป็นการ “ทำให้รู้” แบบการสอนผ่านภาษามือ รวมไปถึงผ่านการปฏิบัติตนที่เธอเห็นผ่านสังคมของแม่และเพื่อนซึ่งเป็นผู้พิการทางหูด้วยกัน “มันอาจจะเป็นลักษณะพิเศษเฉพาะของพวกเขาก็ได้ สังเกตดูเวลาคนหูหนวกเขาเจอกัน ไม่รู้จักกันหรอก แต่เขาจะยิ้มให้กัน คุยกันด้วยภาษามือ ที่สำคัญคือเขามีน้ำใจแตกต่างจากคนปกตินะ คือคนพวกนี้เขาพร้อมที่จะช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และมันทำให้แหม่มได้เรียนรู้” เช่นเดียวกับเรื่องความพยายาม “เคยมีคนพูดว่า พระเจ้าให้ความพยายามกับมนุษย์มา ๑๐๐% แต่มนุษย์ใช้ไปไม่ถึง ๓๐% นั่นคือสิ่งที่คนปกติอย่างเราๆ เป็นกัน คือรอคอยแต่โอกาส แต่กับคนที่เขาไม่ครบ ๓๒ เขาพยายามมากกว่านั้น

“อย่างพ่อแม่แหม่ม เขาเลี้ยงแหม่มมาได้จนโตขนาดนี้ สอนให้แหม่มเข้าใจโลกและเข้มแข็ง และก็ยังมีพ่อแม่ที่เป็นใบ้คู่อื่นที่แหม่มรู้จักที่เขาสามารถเลี้ยงลูกให้เติบโตมา มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีหน้าที่การงานที่ดี” ซึ่งเธอรู้สึกขอบคุณอยู่ทุกวัน และเพื่อแสดงความรู้สึก รวมถึงอยากบอกเล่าแง่มุมต่างๆ ที่ได้สัมผัส ตอนนี้เธอจึงกำลังซุ่มเขียนหนังสือ ชื่อ “เรื่องเล่าบนโลกเงียบ” เพื่อตอบโจทย์ในใจที่อยากทำอะไรสักอย่างให้พ่อกับแม่ และรวมไปถึงให้เพื่อนของพ่อและแม่ “แหม่มจะหยิบเอาตรงส่วนระหว่างโลก ๒ ใบ ทั้งโลกที่เงียบของพ่อแม่ และโลกที่มีเสียงของแหม่มที่มันเกี่ยวเนื่องกันอยู่มาเล่าให้คนอื่นฟัง” เผื่อเรื่องเล่าบนโลกเงียบใบนั้นจะให้แง่คิดที่ก่อให้เกิดประโยชน์กับใครๆ บ้าง(มติชนออนไลน์ ๓๑ ส.ค. ๒๕๕๒)

หนุ่มสาวหูหนวกวิวาห์หวานชื่น


หนุ่มสาวหูหนวก จ.นครศรีธรรมราช วิวาห์หวานชื่น เจ้าบ่าว หอบสินสอดเงินสด 1 แสนบาท ทองคำหนัก 2 บาท ขณะล่ามแปลภาษามือทุกขั้นตอน ....

ผู้สื่อข่าวรายงาน วันนี้ (1 ต.ค.) ว่า ที่บ้านเลขที่ 103 หมู่ 1 ต.นาพรุ อ.พระพรหม จ.นครศรีธรรมราช ได้จัดพิธีวิวาห์ คู่บ่าวสาวที่เป็นใบ้ทั้งสองคนขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ โดยเชิญแขกหรื่อมาร่วมเป็นสักขีพยานกว่า 500 คน โดยมีเพื่อนของคู่บ่าวสาวซึ่งล้วนเป็นคนใบ้กว่า 10 คน เดินทางมาช่วยงานและร่วมเป็นสักขีพยานกับคู่บ่าวสาวคู่นี้ โดยเจ้าบ่าวคือนายธรรมรงค์ ธิบดี อายุ 25 ปี เป็นทายาทเจ้าของสวนยางพารา และ สวนผลไม้ใน อ.ฉวาง จ.นครศรีธรรมราช ส่วนเจ้าสาว คือ น.ส.สุนี อักษรกูล อายุ 24 ปี ช่างเสริมสวยฝีมือดีเจ้าของร้านเสริมสวยใน จ.ภูเก็ต และเป็นลูกสาวของเจ้าของบ้านดังกล่าว
คู่บ่าวสาว ยืนเคียงคู่คอยต้อนรับแขกบริเวณซุ้มเข้าลานจัดเลี้ยง โดยแขกที่มาร่วมงานส่วนใหญ่ทราบดีว่าเจ้าบ่าว และเจ้าสาวเป็นใบ้ทั้งคู่ แต่มีแขกเหรื่อจำนวนหนึ่งที่ไม่ทราบว่าทั้งสองเป็นใบ้ เมื่อเดินผ่านซุ้มจึงพูดคุยสอบถามเจ้าบ่าวเจ้าสาว และต้องแปลกใจเมื่อทั้งสองไม่ยอมพูดด้วย แต่จะใช้ภาษามือสื่อสารแทน จนเมื่อทราบจากล่ามที่ยืนประกบคู่บ่าวสาวว่าเจ้าบ่าวและเจ้าสาวหูหนวกเป็นใบ้
ในขณะที่ประกอบพิธีทางศาสนา โดยพระภิกษุสงฆ์ 5 รูปได้เทศนาสั่งสอน จะมีล่ามคอยแปลเป็นภาษามือให้คู่บ่าวสาวรับรู้ ในขณะการดำเนินการตามขั้นตอนตามประเพณีวิวาห์ ล่ามจะคอยแปลคำสั่งให้คู่บ่าวสาวปฏิบัติตาม ต่อด้วยการรดน้ำสังข์ ที่ผู้ใหญ่ของทั้งสองฝ่ายทยอยเข้ารดน้ำสังข์ และ อวยพรให้ทั้งสองครองรักกันจนถือไม้เท้ายอดทองกระบองยอดเพชร จากนั้น บรรดาเพื่อน ๆ ของคู่บ่าวสาว ซึ่งล้วนหูหนวกเป็นใบ้ก็ทยอยเข้ารดน้ำสังข์แสดงความยินดีกับคู่บ่าวสาว โดยมีการใช้ภาษามือหยอกล้อกันอย่างสนุกสนาน จนเสร็จสิ้นพิธีกรรม คู่บ่าวสาวจึงเดินคลอเคลียออกมาพบปะกับแขกเหรื่อตามโต๊ะจนครบทุกโต๊ะ เป็นบรรยากาศที่สนุกสนานและชื่นมื่น ท่ามกลางบรรยากาศที่มืดครึ้ม เนื่องจากฝนตกโปรยปรายลงมาแทบตลอดเวลา
ทั้งนี้ นางสุดา อักษรกูล อายุ 48 ปี มารดาของเจ้าสาว เปิดเผยว่า ทั้งคู่พบรักกันที่โรงเรียนฝึกอาชีพพิเศษนครศรีธรรมราช และคบหาดูใจกันมา 3 ปี ก่อนเข้าพิธีแต่งงานในที่สุด
รูปเป็นเพียงภาพประกอบข่าวเท่านั้น :]

เมื่อเร็วๆ นี้ พรรคการเมืองออสเตรีย ชื่อ Austrian Green Party ได้รับชัยชนะ ๒ ที่นั่งในรัฐสภายุโรป (European Parliament ) ดังนั้น จึงเปิดทางให้ Helene Jarmer เป็นสมาชิกรัฐสภาออสเตรีย
ผลเลือกตั้งสุดท้ายอย่างเป็นทางการของการเลือกตั้งยุโรป ( European Elections ) ได้เปิดเผยต่อสาธารณชนเมื่อวันที่ ๑๕ มิถุนายน ๒๕๕๒ โดยยืนยันว่าผู้แข่งขันที่นำหน้าของพรรค Green Party ซึ่งได้ที่นั่งในรัฐสภายุโรป คือ Ulrike Lunaceks และ Helene Jarmer พิธีเข้ารับตำแหน่งของ Helene Jarmer เกิดเมื่อวันที่ ๘ กรกฎาคม ๒๕๕๒ ซึ่งผู้เป็นประธานในพิธีคือ Barbara Prammer ประธานรัฐสภาออสเตรีย
คณะกรรมการและเจ้าหน้าที่ของสหภาพยุโรปของคนหูหนวก (The European Union of the DEAF : EUD) ได้แสดงความยินดีต่อความสำเร็จของ Helene Jarmer ที่ได้รับตำแหน่งในรัฐสภาออสเตรียและรอคอยที่จะร่วมงานกับเธอในอนาคต (http://www.eud.eu/news.php?action=view&news_id=74 /มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย ๙ ก.ย. ๒๕๕๒ )

ประวัติศาสตร์ได้ถูกจารึกที่รัฐสภายุโรปโดยคนหูหนวก


ในเว็บไซต์ของรัฐสภายุโรปได้กล่าวถึงประวัติศาสตร์ของอาดัม (Ádám) หรือสมาชิกรัฐสภายุโรป Dr. Ádám Kósa (HU) ซึ่งเมื่อได้รับเลือกตั้งใหม่ๆ เขากล่าวว่า เขารู้สึกตื้นตันเป็นอย่างมากที่ได้เป็นสมาชิกหูหนวกคนแรกของที่ประชุมรัฐสภายุโรป โดยเขาสามารถใช้ภาษามือสื่อสารได้ การที่เขาได้เป็นสมาชิกของรัฐสภายุโรปหมายถึงว่าชนกลุ่มน้อยทางภาษาและคนพิการได้ประสบความสำเร็จด้วย เพียง ๒ สัปดาห์ก่อนหน้านั้น รัฐสภาสโลแวคเพิ่งผ่านกฎหมายที่เข้มงวดต่อการใช้ภาษาของชนกลุ่มน้อย เขาจึงขอให้สภายุโรปรับประกันสิทธิและโอกาสอย่างเท่าเทียมกับคนทั่วไปของชนกลุ่มน้อยและคนพิการ (http://www.europarl.europa.eu/news/expert/infopress_page/004-58190-195-07-29-901-20090714IPR58189-14-07-2009-2009-false/default_en.)