30 มิถุนายน 2551

YLC 51

คุณวิทยุต บุนนาค ผู้ประสานโครงงานค่ายเยาวชนผู้นำ ปี 2551


เยาวชน 71 คนที่มาเข้าค่ายนี้ จากมหาวิทยาลัยราชภัฎสวนดุสิต



กลุ่มวิทยากรทั้งหมดเป็นคนหูหนวก

การแสดงของเยาวชนที่สร้างสรรค์ ยอดเยี่ยมมาก ให้คะแนน +5 :]



YLC (Youth Leader Camp) เดิมทีเริ่มต้นมาจากการจัดค่ายเยาวชนคนหูหนวกผู้นำ ก่อตั้งโดยคนหูหนวกคนหนึ่ง ชื่อย่อภาษาอังกฤษว่า FT (ต้องขออภัยที่ไม่ได้จดชื่อบุคคลสำคัญท่านนี้ เดี๋ยววถามพี่เจ) จากนั้นผู้มีประสบการณ์ค่ายในต่างประเทศ คุณวิทยุต บุญนาค ได้ผลักดันร่วมกับโครงการในมหาวิทยาลัยราชภัฎสวนดุสิต ซึ่งได้จัดทำขึ้นทุกปี และในปีนี้จะเน้นความรู้วิทยากรที่เป็นคนหูหนวกทั้งหมด เพื่อที่ถ่ายทอดความรู้ ประสบการณ์ ได้โดยตรง ถือเป็นครั้งแรกที่มีการจัดค่ายโดยคนหูหนวกทั้งหมด ได้จัดขึ้นเมื่อ วันที่ 4 - 7 มิถุนายน 2551 ที่ อุทยานเขาใหญ่
ในโครงการนี้ได้เชิญวิทยากรทั้งหมด 6 ท่าน ซึ่งเป็นคนหูหนวกทั้งหมด มีดังต่อไปนี้
1.คุณไพโรจน์ เจริญวิไลศิริ
2. คุณอนุชา รัตนสินธุ์
3. คุณเกียรติสักดิ์ แผ้วมานะกุล
4. คุณเพชรรัตน์ นิลสุวรรณโฆษิต
5. คุณผคม ลิมปิพิพัฒน์(ผู้เขียนบล็อกนี้)
6. คุณฉัตรนภา บุญวัฒนะ

ได้จัดให้มีกิจกรรมต่างๆ ที่สำคัญหลายกิจกรรม ซึ่งได้ใช้หลักการส่วนใหญ่จาก YLC นำมาประยุกต์ใช้ในการจัดกิจกรรมเข้าค่ายครั้งนี้ เช่น กิจกรรม 4 วิชาการ (วิชาข่าว, วิชาค้นหาตัวตน, วิชาการแสดง, วิชาองค์กร) กิจกรรมโต้วาที กิจกรรมเดิน 4 ฐาน กิจกรรมเดินทางไกล กิจกรรมวันวิปโยค และกิจกรรมการละเล่นอื่นๆ
ใน ระยะเวลา 3 วัน ได้ประสบการณ์มากมาย จากการที่ได้ใช้ชีวิตในอุทยานเขาใหญ่แห่งนี้

จากค่ายนี้ เปรียบเสมือนเป็นห้องเรียนสำหรับคนหูหนวกนอกสถานที่ ได้สัมผัสธรรมชาติ ซึ่งได้สอนให้รู้จักความเป็นผู้นำ รู้จักการทำงานร่วมกันเป็นทีม รู้จักอดทน เสียสละ และซื่อสัตย์ ถ้าในปีหน้าขอทุนมาทำโครงการได้อีก ก็จะขอมาร่วมงานนี้อีก เพื่อสนับสนุนความเป็นคนหูหนวก

YLC 51

กิจกรรมเกมการละเล่น เพื่อละลายพฤติกรรม

เกมสวาปาม โดยในทีมช่วยกันกินแต่ละจุด


ขนมนี้ กินให้ไวนะ ช่วยกันกิน

น้ำแดงนี้ของโปรด ดื่มได้สบายคอ

เดี๋ยวขอปิดจมูกก่อนดื่ม กลัวสำลัก

YLC 51

เวลา 1 ทุ่มตรง เล่าเรื่องประสบการณ์ของวิทยากร
เหล่าวิทยากรร่วมกิจกรรมเล่าประสบการณ์สู่กันฟัง ดูการนำเสนอของเยาวชน

เรียนภาคค่ำ วิชาประวัติศาสตร์หูหนวก ที่มาของค่ายเยาวชนผู้นำ มีเรื่องเล่าไม่น่าเบื่อนัก

กลุ่มวิทยากร เข้าร่วมเรียนด้วย สนุกไม่น้อย ตั้งหน้าตั้งตาฟังกันจริง

ทำกิจกรรมแลกเปลี่ยนความคิดในกลุ่ม ในหัวข้อ "คุณสมบัติของความเป็นผู้นำ"

YLC 51

กิจกรรมวิชาองค์กร การเลือกตั้ง และการประชุม สำคัญนะจ๊ะ คุณเพชรรัตน์ และคุณฉัตรนภามาถ่ายทอดให้

วิชาการแสดง โดยคุณไพโรจน์ และคุณอนุชา เป็นผู้สอน

วิชา การค้นพบตัวตน สอนโดย คุณผคม

คุณเกียรติศักดิ์ ก็สอนวิชาการข่าว

อาคารนี้แหละ ที่เรามาทำค่ายเยาวชนผู้นำ YLC 51

YLC 51

วันที่รอคอยกับกจิกรรมเดินทางไกล และฐานผจญภัย ในเช้าวันที่ 6 มิ.ย. เยาวชนผู้นี้ไม่เคยหวาดกลัว

เอาละ เตรียมชุดกันฝนให้ดี เดี๋ยวจะเป็นหวัด ใส่ถุงเท้ากันทากให้พร้อม ทากจะได้ไม่ขึ้นมาดูดเลือดเรา


มีข่าวสารจากวิทยุมาบอกว่า ตอนนี้น้ำลำธารไหลเชี่ยวมาก กำลังท่วมถนน อาจสัญจรไปมาไม่ได้ ในเวลา 2-3 ชั่วโมงต่อมาน้ำก็ลดลง เข้าสู่สภาพปกติ ทำกิจกรรมได้ต่อเนื่อง

สภาพลำธารที่ไหลเชี่ยวมาอย่างแรง และรวดเร็ว ท่วมสะพานข้ามน้ำ เนื่องจากฝนตกหนักในตอนเช้ามืด

ฐานตะกร้าลำเลียงของ เป็นฐาน 1 ใน 4 ฐานผจญภัย ผูกให้บาลานซ์ให้ดีนะ เดี๋ยวของตกหล่น

YLC 51

หา หา ไม้ไผ่ เชือก ที่วิทยากร แอบซ่อนไว้

ฐานเก้าอี้โต๊ะ เป็น 1 ใน 4 ฐานผจญภัย ทำถูกไหมนะ ไม่มีแบบให้ดูเลย


หมวดสั่ง มาตรวจงานละ ความจริงมันต้องมีโต๊ะ แล้วจะกินข้าวได้ยังไง ห๊า

เดินหน้าต่ออีกหลายกิโล ไม่รู้เมื่อไรจะถึงซักที

เดินมาถึงนี่แล้ว หลงทางหรือเปล่าเนี่ย

YLC 51

ร่วมแรงร่วมใจ นำอิสระภาพสู่เยาวชนผู้นำ สู้ตาย! ฐานธง เป็นฐาน 1 ใน 4 ฐานผจญภัย

ผูกพันกันยังไงนะ


เร่งมือหน่อย ฐานบันได 1ใน4ฐานผจญภัย เดี๋ยวงานเข้า หมวดสั่งมาว้ากแน่

เสร็จจากฐานผจญภัย ก็เดินทางไกลต่อไปอีก 2-3 กิโล

เจอหมวดสั่ง มาอบรมกลางทางซักเลย

YLC 51

งานปาร์ตี้ คืนสุดท้ายของค่ายเยาวชนผู้นำ

ตัวตลกประจำค่าย สร้างสีสันของงานนี้


วันที่ค่ายเยาวชนผู้นำ ปี51 ต้องจบลง ผ่านไป 3วัน 3คืน

สัมผัสชีวิตสัตว์ป่า โอกาสอย่างนี้หาไม่ง่ายนัก ในป่าเขาใหญ่

เจ้าจ๋อ เจี๊ยก มาขอแจมด้วยคน YLC 51!

15 พฤษภาคม 2551

i-Create 2008

จากงานประชุม *i-Create 2008 ได้บันดลบันดาลให้คนพิการได้มีชีวิตใหม่ เพราะสังคมได้สนับสนุนให้คนพิการสามารถอยู่ได้ด้วยตัวเอง โดยใช้สิ่งอำนวยความสะดวก เข้ามาช่วยในชีวิตประจำวัน ต้องขอยกนิ้วมือให้กับนักวิจัย นักพัฒนาเครื่องมือ ที่มาจากทั้งในประเทศไทย และต่างประเทศในเอเชีย เช่น สิงค์โปร์ มาเลเชีย จีน และประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งถือเป็นการประชุมใหญ่สำหรับเรื่องสื่อและสิ่งอำนวยความสะดวก (AT) จัดให้มีขึ้นเช่นเดียวประเทศที่อยู่ด้านตะวันตก ซึ่งผลงานที่พัฒนาขึ้นจากความรู้ความสามารถของนักศึกษา และอาจารย์ ซึ่งเป็นนักพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวก จะใช้กับคนพิการทั่วๆไป รวมทั้งผู้สูงอายุ งานนี้สนับสนุนTCEB (the Thailand Exhibition & Convemtion Bureau) โดยความร่วมมือจากสององค์การระหว่าง NECTECH (ประเทศไทย)กับ START (สิงค์โปร์) ซึ่ง i-Create ได้จัดขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย


สิ่งอำนวยความสะดวกใหม่ๆสำหรับคนหูหนวกที่น่าสนใจ ที่ได้พัฒนาขึ้นเป็นเครื่องมือขยายกรอบของล่ามภาษามือในโทรทัศน์ให้ขยายใหญ่ขึ้นได้ เรื่องนี้ทำวิจัยนานแล้ว มาจากม.จุฬา เพื่อนของผู้เขียนบอก แต่ยังไม่ได้นำออกมาใช้ ค่าใช้จ่ายในการติดตั้ง ก็ไม่สูงมากนัก

สิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้พิการทางการได้ยินก็ไม่ค่อยมีให้เห็นมากนัก เนื่องจากคนหูหนวกไม่มีอุปสรรคในการดำรงชีวิตในกิจวัตรประจำวัน เพียงแต่มีอุปสรรคในการสื่อสารเท่านั้น แต่อย่างไรก็ตามนักพัฒนาเองก็พยายามค้นหาสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนหูหนวกเช่นกัน ในเรื่องของการสื่อสารนั้นน่าจะเป็นเรื่องของการฝึกฝนการใช้ภาษา ต้องได้รับการสนับสนุน การดูแลเอาใจใส่ในเรื่องของการเรียนรู้ ตั้งแต่อายุแรกเกิดเป็นกรณีพิเศษ ถ้าคนหูหนวกได้เกิดมา ได้ใช้ภาษา เพื่อพัฒนาความคิดสร้างสรรค์โดยทางการมองเห็น ก็จะมีความเฉลียวฉลาด เช่นเดียวกับคนทั่วไป ซึ่งในปัจจุบันนี้ ยังขาดการเลี้ยงดูที่เหมาะสม เนื่องจากการสื่อสารด้วยภาษามือยังไม่เพียงพอ เพราะภาษามือนั้นเป็นภาษาที่1 ของคนพิการทางการได้ยิน ผู้ที่ไม่ได้ยินเสียง เพียงแต่เห็นภาพเคลื่อนไหวเท่านั้น การพัฒนาภาษามือในวัยแรกเริ่ม เป็นสิ่งที่สำคัญกว่า การเรียนภาษาที่สอง เพื่อพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ให้มากที่สุด เพื่อให้สมองเติบโต พัฒนาศักยภาพของมัน

เราต้องคอยผลักดันสิ่งดีๆให้กับคนพิการรวมทั้งผู้พิการทางการได้ยิน ได้มีส่วนร่วมในสังคม เพื่อให้เขามีชีวิตที่อิสระในสังคมได้ ช่วยเหลือตัวเองได้ จะด้วยสิ่งอำนวยความสะดวก หรือ การสนับสนุนการบริการ ก็ดี

pkm

*i-Create (the international convention for Rehabilitation Engineering & Assistive Technology)

06 พฤษภาคม 2551

อันนี้ก็ดีแต่สั้นไปหน่อย (คลิปหนังสั้นของคนหูหนวก)

คลิปที่เข้าตากรรมการ

คำจำกัดความ

คนหูตึง คือ ผู้สูญเสียการได้ยินพยายามที่จะพูด
คนหูหนวก คือ ผู้สูญเสียการได้ยินใช้ภาษามือสื่อสาร
คนใบ้ คือ ผู้สูญเสียการได้ยินใช้ทั้งภาษามือ และออกเสียงร้อง

25 เมษายน 2551

คนเราต้องอดทน

คนเรามันต้องอดทนกับปัญหามากมาย
คนตาบอดทนต่อการเดินชน เป็นความหงุดหงิดเล็กๆ
ส่วนฉันฟังไม่รู้เรื่องเป็นความหงุดหงิดเล็กๆ
มันก็สะสมเป็นความเครียดเล็กๆ
ใครอดทนและเดินหน้าต่อไปได้มากกว่ากัน

pkm

02 เมษายน 2551

Deaf and Hard of hearing.

ข้อมูลจาก


โลกของผมสวยงามเหมือนคนทั่วไป ผมไม่ท้อ ถึงแม้จะพิการ…

สวัสดีครับ วันนี้ผม มีเพื่อนที่น่ารัก 2 คนมาแนะนำให้รู้จักกัน ถ้าเพื่อนๆ ได้ทำความรู้จักกับเพื่อนของผมแล้วล่ะก็ จะรู้ได้ทันทีเลยว่าเขาน่ารักแค่ไหน

แต่ก่อนที่จะไปพบกับเพื่อนของผมทั้ง 2 คน ผมจะขออธิบายคำที่เกี่ยวข้องกับพวกเขาให้เข้าใจกันก่อนนะครับ คำนั้นคือคำว่า “คนพิการทางการได้ยิน” และ “บุคคลที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน” ทั้ง 2 คำนี้นะครับ หมายถึงคนที่สูญเสียความสามารถในการได้ยิน ทำให้ไม่สามารถได้ยินเสียงต่างๆ หรือได้ยินไม่ชัดเจน ซึ่งแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือคนหูหนวกและคนหูตึงครับ

เพื่อนของผมทั้ง 2 คนก็อยู่ใน 2 ประเภทนี้ล่ะ แต่ว่าเขาจะมีลักษณะอย่างไร ผมว่าให้พวกเขาอธิบายเอง น่าจะดีที่สุดนะครับ ไปพบกับพวกเขากันเลยครับ

โลกของคนหูหนวก


สวัสดีครับ ยินดีที่ได้รู้จักกับเพื่อนๆ ทุกคน ผมเป็นคนหูหนวกครับ ผมชื่อ เดฟ นี่คือชื่อภาษามือของผม ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แทนตัวผมครับ คนหูหนวกทุกคนก็มีชื่อภาษามือของตัวเองกันทั้งนั้นโดยชื่อภาษามือนี้จะตั้งขึ้นมาตาม ลักษณะเด่นของเจ้าของชื่อนั่นล่ะครับ ส่วนใหญ่เพื่อนหรือครูจะตั้งชื่อให้ ผมไม่ได้ยินเสียง จึงพูดไม่ได้ เรียกผมว่าคนหูหนวกก็ได้ครับ แต่อย่าเรียกว่า “ใบ้” หรือ “ไอ้ใบ้” นะ เพราะมันเป็นคำที่มีความหมายในเชิงดูถูกฉัน

ถ้าจะเรียกผม ก็อย่าตะโกนเรียกนะครับ เพราะผมไม่ได้ยินให้เรียกผมด้วยชื่อภาษามือของผมนะครับ แต่ถ้าเรียกแล้วผมไม่เห็น ก็ให้เข้ามาแตะแขนผมเบาๆ หรือเดินเข้ามาอยู่ในรัศมีสายตาของผมเพื่อให้ผมมองเห็น ถ้าเราอยู่ไกลกัน เพื่อนๆ อาจจะเรียกผมด้วยการโบกไม้โบกมือให้ผมเห็นก็ได้นะครับ
หูของผมไม่ได้ยิน ผมจึงต้องใช้ตาดูแทนหูฟัง เพื่อรับรู้ข้อมูลต่างๆ และสื่อสารด้วยภาษามือซึ่งเป็นภาษาแรกของผมแทนปากพูด แต่ถ้าเพื่อนๆ ใช้ภาษามือไม่ได้ เราก็เขียนภาษาไทยคุยกันก็ได้ ไม่ต้องห่วงเพราะผมมักจะพกกระดาษและปากกาติดตัวไว้เสมอ เวลาเขียนคุยกันช่วยเขียนคำสั้นๆ ง่ายๆ นะครับ เพราะภาษาไทยนั้นเป็นภาษาที่ 2 ของผม ซึ่งผมมักจะเขียนภาษาไทยตามไวยากรณ์ภาษามือ คำที่ใช้จะเป็นคำสั้นๆ ง่ายๆ และวางสลับที่กัน ถ้าเพื่อนจะเขียนคุยกับผม ช่วยเขียนเป็นภาษาพูดนะครับ เพราะจะทำให้ผมเข้าใจได้มากกว่าการเขียนประโยคยาวๆ

หรือบางที ก็จะมีคนที่สามารถใช้ภาษามือได้ มาช่วยเป็นสื่อกลางในการสื่อสารให้กับเรา คนๆ นั้น เราเรียกว่า “ล่ามภาษามือ” ครับ ซึ่งการมีล่ามภาษามือช่วยในการสื่อสาร จะทำให้เราเข้าใจกันได้มากขึ้น และล่ามภาษามือนี้ ก็มีส่วนสำคัญอย่างมากในการช่วยให้ผมรับรู้ข้อมูลข่าวสารต่างๆ แต่ผมก็อยากให้เพื่อนๆ เรียนรู้ภาษามือด้วยนะครับ เพราะทำให้เราคุยกันได้โดยตรง ไม่แต่นะครับ ถ้าเพื่อนๆ ใช้ภาษามือได้ดีมากขึ้น ก็อาจจะช่วยเป็นล่ามภาษามือให้แก่คนหูหนวกคนอื่นๆ ได้อีกด้วย
อ้อ... เวลาคุยกัน ผมก็จะมองหน้าคนที่ผมคุยด้วยตลอดเวลาเพื่อที่จะได้เห็นสีหน้าและเข้าใจอารมณ์ของคู่สนทนาได้อย่างชัดเจน ถ้าเพื่อนๆ คุยกับผม โปรดอย่าหันหลังให้กับแสงสว่างนะครับ เพราะผมจะมองเห็นหน้าไม่ชัด และผมก็จะแสบตาด้วย เพราะแสงที่ส่องเข้าตาผมนั่นเอง และการที่ผมต้องใช้ตาดูเพื่อรับรู้ข้อมูลนี้เอง ทำให้ผมไม่สามารถจะจดบันทึกข้อมูลต่างๆ ได้ด้วยตนเอง เพราะถ้าผมก้มหน้าลงจกบันทึกผมก็จะพลาดการรับรู้ข้อมูลในช่วยนั้นไป จึงจำเป็นที่ควรจะมีใครสักคนช่วยจดบันทึกให้ผม จะเป็นสิ่งที่ดีมากเลยนะครับ ถ้าเพื่อนๆ จะช่วยจดบันทึกสรุปเนื้อหาให้ผม

นอกจากนี้นะครับ ผมยังต้องการเวลาสักครู่ในการทำความเข้าใจข้อมูลต่างๆ ที่ได้รับรู้ ดังนั้น ถ้าเพื่อนๆ ตั้งคำถามกับผม โปรดให้เวลาผมในการตัดสินใจบ้างพอสมควรนะครับ อ้อ... แล้วการใช้สายตาดูภาษามือนานๆ ก็จะทำให้สายตาของผมล้าได้ ผมจึงจำเป็นต้องมีเวลาพักสายตาเพื่อผ่อนคลายความล้าสักครู่เพื่อให้ผมสามารถรับรู้ข้อมูลต่อไปได้

อย่างที่ผมบอกไปแล้วว่าผมไม่ได้ยินเสียง จึงต้องใช้ตาดูเพื่อรับรู้ข้อมูลต่างๆ ผมจึงมักเป็นคนช่างสังเกต และมองสิ่งต่างๆ เป็นภาพ ผมจะจำเรื่องราวต่างๆ เป็นลำดับขั้นตอน เพราะจะช่วยทำให้ผมเชื่อมโยงความคิดได้มากกว่าการเล่าข้ามขั้นตอน หรือสลับจากเรื่องโน้นไปเรื่องนี้ ถ้าเพื่อนๆ จะเล่าเรื่องอะไรแก่ผม โปรดจัดลำดับเนื้อหาด้วยนะครับ เพื่อให้ผมสามารถสร้างภาพในความคิดและเชื่อมโยงเรื่องราวนั้นๆ ได้อย่างถูกต้อง

อ้อ... ถ้าเพื่อนๆ ทราบข้อมูล ข่าวสารที่เป็นประโยชน์ ก็ช่วยบอกผมบ้างนะครับ ผมจะได้ไม่ตกข่าว อีกอย่างนะครับเวลาเกิดเหตุฉุกเฉิน หรือมีการเตือนภัย ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นสัญญาณเสียงนั้น เพื่อนๆ ช่วยบอกผมด้วย
เอาล่ะ ข้อมูลอย่างนี้ก็คงทำให้เพื่อนๆ ได้รู้จักผมมากขึ้นแล้วนะครับเป็นอย่างไรบ้างครับ นายเดฟของเราน่ารัก และน่าสนใจมากเลยใช่ไหมคราวนี้ เรามาทำความรู้จักกับเพื่อนของผมอีกคนหนึ่งดีกว่า รับรองว่าน่ารักไม่แพ้กันเลยล่ะครับ

โลกของคนหูตึง

สวัสดีครับ ยินดีที่ได้รู้จักกับเพื่อนๆ ทุกคนครับ ผมเป็นคนหูตึงครับ ผมชื่อ ฮาร์ด นี่คือชื่อภาษามือของผมผมพอจะได้ยินเสียงอยู่บ้าง แต่ก็ได้ยินไม่ชัดเจนเท่าไร จึงต้องใส่เครื่องช่วยฟังเพื่อช่วยให้ได้ยินเสียงมากขึ้น อ้อ... ถ้าจะเรียกผม อาจจะต้องใช้เสียงเรียกที่ดังกว่าปกตินะครับ แต่ไม่ต้องตะโกน ผมพูดได้นะครับ แต่ก็ไม่ค่อยชัดหรอก เวลาอยู่ในกลุ่มเพื่อหูตึงด้วยกันผมก็จะพูดไปพร้อมกับทำภาษามือที่เราคิดกันเองภายในกลุ่มส่วนใหญ่จะเป็นท่าทางธรรมชาติครับ

เวลาคุยกับคนอื่นๆ ผมก็จะใช้วิธีการอ่านปากของคนที่ผมคุยด้วยโดยจะดูสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ประกอบไปกับการฟังเสียงพูดของเขา ซึ่งจะช่วยให้ผมเข้าใจเสียงพูดที่ได้ยินผ่านเครื่องช่วยฟังได้ดีขึ้นครับ ถ้าเพื่อนๆ จะพูดคุยกับผมล่ะก็ ช่วยพูดช้าๆนะครับผมจะได้เข้าใจ แต่ไม่ต้องตะโกนนะครับ (ขอย้ำ) ในเวลาเรียน บางครั้งผมก็อาจจะต้องขอยืมสมุดจดงานของเพื่อนๆ ด้วย เพราะการที่ผมต้องอ่านปากคนที่กำลังพูดอยู่กับผมนั้น บางครั้งก็ทำให้ผมไม่สามารถจดบันทึกได้ครับ เอาล่ะ เราทำความรู้จักกันแค่นี้ก่อน ถ้าอยากรู้อะไรเกี่ยวกับตัวผมมากขึ้นก็ลองเข้ามาทักทายกันนะครับ เราจะได้รู้จักกันดียิ่งขึ้นครับ

เป็นยังไงบ้างครับ ได้รู้จักกับเพื่อน ที่ชื่อ เดฟ และ ฮาร์ด ไปแล้ว คงจะเข้าใจคนหูหนวกและคนหูตึงมากขึ้นและนะครับ ถ้าได้พบกับคนหูหนวกหรือหูตึงก็ตาม ผมก็หวังว่าเพื่อนๆ จะมีความเข้าใจ รู้ว่าควรจะทำอย่างไร และมีความมั่นใจในการเป็นอาสาสมัคร เป็นเพื่อนที่คอยช่วยเหลือดูแลเพื่อนเหล่านั้นได้นะครับ เอาล่ะครับ วันนี้ผมคงต้องไปก่อนนะ และพบกันใหม่คร้าบ....

เรื่องเล่า สู่กันฟัง


คนหูหนวกที่พูดไม่ได้ เพราะเขาไม่รู้เสียงที่ชัดเจนเป็นอย่างไร จึงออกเสียงอ้อแอ้ แต่อย่าได้เรียกพวกเขาเป็นคนใบ้เลย มันเหมือนไม่ให้เกียรติคนหูหนวก เพราะฟังดูคล้ายกับ "บ้าใบ้" เหมือนกับคำว่า"พิการ" ไม่อยากให้เรียก เพราะใกล้เคียงกับคำว่า" พิกลพิการ" คือเป็นคนแปลกประหลาด

คนหูหนวก ในภาษาอังกฤษระบบอเมริกัน เขาจะใช้ Deaf ดีตัวใหญ่ จะไม่ใช้ The deaf เพราะคนหูหนวกนั้นไม่ต้องการให้ชี้เฉพาะเจาะจงมากนัก ไปชี้เฉพาะคนอื่นแทน

เรียนภาษามือง่ายนิดเดียว ข้อแนะนำในการเรียนภาษามือ

1. ทำมือให้สวย เหมือนนางรำ

2. ทำมือช้าๆ พอเก่งเดี๋ยวก็เร็วเอง

3. ใช้ตามากๆ ใช้การสังเกต

4. อ้อ ปล. ก่อนเรียน อุดหูสองข้างด้วย

pkm

28 มีนาคม 2551

แอลดี

วันหนึ่งของเด็กแอลดีในโรงเรียน
เขาชื่อเพี้ยนไม่อยากเรียนหนังสือ
เพราะโดนครูด่าว่าแกซื่อบื้อ
คือไม่มีใครเข้าใจเด็กแอลดี
เขาลอกการบ้านเพื่อนอยู่ทั้งปี
เขาจึงหนีโรงเรียนไปอยู่ป่า
อะไรเป็นสาเหตุความพิการ
เพราะสุราแม่กินตอนตั้งครรภ์



23 มีนาคม 2551

มีคำถาม

ถ้าให้เลือกระหว่างหูหนวก กับ ตาบอด จะเลือกอันไหน
พบคำตอบได้ด้านล่าง

คำตอบ

คำตอบจากคำถามเมื่อวันที่ 19 มีนาคม :ฉันขอเลือก ตาบอด เพราะว่า ตาบอด ไม่เห็นอะไร เพียงตัดขาดจากสิ่งแวดล้อม ถ้าเลือกหูหนวก เหมือนตัดขาดจากผู้คน เข้าใจความรู้สึกของคนส่วนใหญ่ได้ยาก

ข้อคิด

"อย่าคิดแทนคนพิการ"