11 กันยายน 2553

ข้อควรปฏิบัติในการอยู่ร่วมกับคนหูหนวก

ข้อควรปฏิบัติในการอยู่ร่วมกับคนหูหนวก

เมื่อคนหูหนวกอยู่ในวงสนทนา ควรแสดงท่าภาษามือขณะที่พูดไปด้วย (อย่างน้อย พยายามสื่อเรื่องได้ก็ยังดี ไม่ว่าจะโดยการเขียน หรือแสดงภาษามือ) เพื่อให้คนหูหนวกในวงสนทนาได้รู้และเข้าใจเรื่องที่กำลังคุยกัน ในบางทีคนหูหนวกก็อยากเข้ามาร่วมแสดงความคิดเห็นด้วย

เมื่อคนทั่วไปอิสระ คนพิการก็มีสิทธิ์อิสระได้เช่นกัน

เมื่อพูดถึงความปลอดอุปสรรค (Barrier Free) นั่นหมายถึงว่าเมื่อคนทั่วไปเดินทางไปไหนมาไหนได้ คนนั่งเก้าอี้ล้อก็สามารถเดินทางไปไหนได้เช่นเดียวกัน (คนนั่งเก้าอี้ล้อ หมายรวมถึงคนพิการ, คนสูงอายุด้วย) ในปัจจุบันจึงพยายามจัดสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น ทางลาด ลิฟท์ เพื่อให้คนเก้าอี้ล้อเข้าถึงได้

คนทั่วไปดูโทรทัศน์ได้ รับรู้ข่าวสารได้ คนหูหนวกต้องรับรู้ข่าวสารได้ด้วยเช่นกัน แต่เนื่องจากคนหูหนวกเป็นชนกลุ่มเล็กกลุ่มซึ่งยังไม่มีสื่อที่เหมาะสม ก็ยังมีบางรายการในโทรทัศน์ ที่จัดล่ามภาษามือ และตัวหนังสือบรรยายใต้ภาพ ก็ยังดี และมีส่วนน้อย

จึงได้พูดถึงเรื่องด้านอื่นๆที่น่าจะสามารถปลอดอุปสรรคสำหรับคนหูหนวกได้ ก็คือ การสนทนากลุ่ม ซึ่งเคยมีตัวอย่างให้เห็นในประเทศอื่นๆ เช่น อเมริกา เขาได้มีการตั้งกฎว่า ใครที่เข้ามาในมหาวิทยาลัยของคนหูหนวก (กาลาเดท) ต้องสื่อภาษามือด้วย โดยเฉพาะคนทั่วไปที่มีการได้ยิน (คนหูดี) เพื่อที่คนหูหนวกได้รับรู้ เห็นเรื่องที่เขากำลังคุยกัน ไม่ว่าจะอยู่ใกล้ หรือไกล เช่นเดียวกับคนทั่วไปที่ส่งเสียงคุย คนอื่นก็สามารถได้ยินเช่นเดียวกัน

Hunuak

31 สิงหาคม 2553

ขสมก.ปลดป้ายโฆษณาปิดเส้นทางรถเมล์....เพื่อคนหูหนวก


-มีข่าวดีมาบอกค่ะ

ขสมก.ปลดป้ายโฆษณาปิดเส้นทางรถเมล์....เพื่อคนหูหนวก

เมื่อวันที่ ๑๐ กันยายน ๒๕๕๒ มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทยได้รับหนังสือแจ้งจากกระทรวงคมนาคมว่า ตามที่มูลนิธิฯ ได้มีหนังสือขอให้กระทรวงคมนาคมปรับการติดป้ายโฆษณาบนรถโดยสารประจำทางไม่ให้ปิดทับป้ายบอกเส้นทางของรถโดยสารทุกคัน เพื่อให้คนหูหนวกซึ่งรับข้อมูลข่าวสารจากการอ่านป้ายสามารถรับทราบเส้นทางวิ่งของรถโดยสาร ขณะนี้ กระทรวงคมนาคมได้ให้องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพมีหนังสือแจ้งผู้เช่าเนื้อที่โฆษณาบนรถโดยสารเร่งดำเนินการแก้ไขปรับปรุงแล้ว

-ขอบคุณกระทรวงคมนาคมค่ะ

-ถ้าทุกหน่วยงานเอาใจใส่เรื่องคนพิการอย่างนี้...ก็ดีซินะ

-อย่างไรก็ตาม...ถ้าคนพิการแจ้งปัญหามา....มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทยก็พยายามหาทางแก้ไขอย่างเต็มที่ค่ะ

จากคุณ พวงแก้ว กิจธรรม ผู้จัดการมูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย เมื่อ 11 ก.ย. 52 เวลา 09:42:50 IP: 125.24.133.xxx

โลกของคนหูหนวก

ม่านชีวิตของ “ม่านฟ้า สุวรรณรัต” สุดยอดคนหูหนวกที่องค์การสหประชาชาติยกย่อง สู้จนวาระสุดท้าย...เพื่อคนหูหนวกทั่วโลก

ชีวิตต้องสู้ของ “ม่านฟ้า สุวรรณรัต” ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จการค้นคว้าวิจัยภาษามือไทย ขณะมีชีวิตได้ต่อสู้ทุกวิถีทาง เป็นตัวแทนคนหูหนวกเดินทางเข้าร่วมประชุมกับสหพันธ์คนหูหนวกโลกและองค์กรคนพิการสากล (DPI) ภาษามือนานาชาติหลายครั้งดิ้นรนต่อสู้จนได้สิทธิของคนหูหนวกในองค์การสหประชาชาติ โหมทำงานวิจัยภาษามืออย่างหนักเพื่อคนรุ่นหลัง แต่คนไทยด้วยกันกลับไม่ให้ความสำคัญ สุดท้ายต้องจบชีวิตลงด้วยวัยก่อนเวลาอันควร การเสียสละของเธอได้รับการยกย่องจากเลขาธิการสหประชาชาติให้เป็นสุดยอดหญิงเอเชียและแปซิฟิกคนแรกที่อุทิศตนเพื่อสังคมอย่างแท้จริง ปัจจุบันผลงานของเธอได้ถูกสานต่อโดยสามีและเพื่อนร่วมอุดมการณ์ จนกลายเป็นที่ยอมรับของคนทั่วโลกในที่สุด...

เมื่อนานมาแล้ว คนพิการมักจะถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพไม่ให้มีโอกาสเท่าเทียมกับคนปกติ ทั้งๆ ที่เขาก็เป็นคนซึ่งมีเลือดเนื้อเหมือนกัน โดยเฉพาะคนพิการทางหูนั้น ความเงียบได้กลายเป็นกำแพงขวางกั้น ไม่ให้คนปกติสามารถเดินทางข้ามไปถึง หลายครั้งที่เห็นคนหูหนวกบางคนออกมาเรียกร้องสิทธิที่พวกเขาควรจะได้รับ แต่ทว่าก็เป็นแค่พลังเล็กๆ ที่ไม่อาจจุดประกายให้คนทั่วไปมองเห็นความสำคัญ

การสื่อสารของคนหูหนวกเป็นไปอย่างยากลำบาก เนื่องจากไม่สามารถถ่ายทอดเป็นภาษาพูดเช่นคนพิการด้านอื่นๆ ภาษามือไทยยุคแรกเริ่มยังขาดเอกลักษณ์และไร้ทิศทาง เมื่อสื่อสารออกไปก็ยากที่คนปกติจะเข้าใจ “ม่านฟ้า สุวรรณรัต” อัญมณีเม็ดเล็กๆ ในโลกเงียบจึงได้ฉุกคิดขึ้นว่า ถ้าคนยุคเธอไม่ลงมือจุดตะเกียงด้วยตัวเองแล้ว ไฉนเลยลูกหลานชาวหูหนวกจะมองเห็นทางเพื่อออกไปพบสิ่งดีงามได้


เกิดในตระกูลดี
แต่โชคร้ายหูพิการแต่กำเนิด

“ม่านฟ้า สุวรรณรัต” (นามสกุลเดิม วงษ์สกุล) หรือ “ตุ่ม” เกิดในตระกูลมีอันจะกินท่ามกลางความรักความเข้าใจของครอบครัว จึงทำให้เธอไม่รู้สึกว่าความพิการเป็นปมด้อย เธอเป็นลูกสาวคนโตในจำนวนพี่น้อง 3 คน แต่เป็นคนเดียวที่โชคร้ายพิการทางหูตั้งแต่เกิด

สมัยเด็กม่านฟ้าเป็นคนร่าเริง และขยันเรียนมาก เธอเข้าเรียนชั้นอนุบาลจนถึงม.2 ที่โรงเรียนเศรษฐเสถียร ซึ่งเป็นโรงเรียนพิเศษสำหรับนักเรียนที่มีปัญหาทางการได้ยิน จากนั้นได้ไปต่อที่โรงเรียนทุ่งมหาเมฆจนจบ ม.3 ระหว่างการศึกษาเธอพบกับอุปสรรคปัญหาด้านการสื่อสารจนแทบไม่มีกำลังใจสู้ชีวิตในสังคมคนปกติ แต่นับเป็นโชคดีอย่างหนึ่งที่เธอมีพ่อแม่ และคนใกล้ชิดคอยดูแล ให้กำลังใจ ทำให้มีกำลังใจที่จะสู้เพื่อตัวเองและเพื่อนคนหูหนวกด้วยกัน

“เธอเป็นคนมุ่งมั่นมากในสายตาของผม เธอเป็นภรรยาที่ดีและขยันมาก หลังจากเรียนจบโรงเรียนเพาะช่าง ก็เข้าทำงานเป็นครูสอนภาษามือให้กับเด็กหูหนวกที่โรงเรียนโสตศึกษาทุ่งมหาเมฆ ปี 2518 ประมาณ 3 ปี เธอหมดกำลังใจที่จะสอน เนื่องจากได้เสนอความคิดต่อผู้บังคับบัญชาให้จัดทำหลักสูตรการศึกษาสำหรับนักเรียนคนหูหนวก แต่ไม่มีใครสนใจ เหมือนกำลังสู้ตามลำพัง และจุดนี้เองที่เป็นเหมือนชนวนทำให้เธอคิดอยากสู้เพื่อคนหูหนวกทุกคน ต่อมาจึงตัดสินใจลาออก...”

กำพล สุวรรณรัต ชายพิการทางหู สามีม่านฟ้าและปัจจุบันเป็นผู้ก่อตั้ง มูลนิธิส่งเสริมและพัฒนาคนหูหนวกไทย ถ่ายทอดเป็นภาษามืออย่างช้าๆ ถึงภรรยาของเขาให้เรารับรู้

สมัยอดีตเด็กหูหนวกเหมือนเด็กอาภัพ เนื่องจากภาษามือไทยถูกจำกัด ไม่มีการพัฒนา อีกทั้งมีบุคลากรผู้เชี่ยวชาญด้านภาษามือน้อย ทำให้ม่านฟ้าเกิดแรงผลักดันคิดประดิษฐ์ภาษามือท่าใหม่ๆ เพิ่มเติมเพื่อเด็กหูหนวกรุ่นหลัง และแล้วจากความตั้งใจอย่างแรงกล้า ทำให้ความฝันของเธอบ่ายหน้าสู่ความจริงในเวลาต่อมา...


หนังสือปทานุกรม “ภาษามือไทย” เล่มแรก
ฝรั่งให้ความสำคัญ แต่คนไทยไม่เห็นค่า

ม่านฟ้าเข้าเป็นอาสาสมัครช่วยสอนที่โรงเรียนเศรษฐเสถียรเมื่อปี 2522 หลังจากรู้จักพูดคุยกับ “ชาร์ล ไรลี่” ครูอาสาสมัครชาวอเมริกัน ถึงปัญหาที่เกิดขึ้นกับสังคมคนหูหนวกไทย เขาให้ความสนใจอย่างมาก จึงได้ร่วมมือกับเธอจัดทำเอกสารชื่อ “ภาษามือไทย : ปทานุกรมภาษามือไทยฉบับทดลอง” ขึ้น โดยเธอรับเป็นหัวหน้าโครงการวิจัยภาษามือไทย และเมื่อได้เสนอต่อกระทรวงศึกษาธิการ หนังสือของเธอกลับถูกทอดทิ้ง กลายเป็นเศษขยะไร้ค่าสำหรับผู้ใหญ่บางท่าน

“ครั้งนั้นผมเห็นเธอโกรธมากที่ผู้ใหญ่ไม่ให้ความสำคัญ ดูเหมือนพวกเราคนหูหนวกไม่ใช่คน เป็นเศษสวะไร้ค่าปล่อยให้ลอยเคว้งกลางแม่น้ำ ตามแต่กระแสน้ำจะพัดพาไป...ม่านฟ้าเคยให้สัมภาษณ์กับ “เฮเลน อี ไวท์ ใน “THE ASIAN WALL STREET JOURANL”

“ม่านฟ้ากล่าวว่าเธอเจ็บปวดมากที่ข้าราชการไทยเห็นความสำเร็จของการรู้หนังสือ และการศึกษาโดยใช้อักษรเบรลล์เพื่อสอนคนตาบอด คนหูดีต่างแปลกใจว่า ทำไมความสำเร็จจึงไม่เกิดขึ้นกับคนหูหนวกบ้าง เธอบอกว่าจะสำเร็จได้ยังไง ในเมื่อส่วนประกอบของการสื่อสารของคนหูหนวกไม่ได้อยู่ที่อักษรเบรลล์ ซึ่งมันแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง”

แม้จะไม่ได้รับการเหลียวแลจากคนไทยด้วยกัน แต่เธอก็ไม่ยอมแพ้ ดิ้นรนทุกวิถีทางเพื่อจะให้ทั่วโลกยอมรับผลงานของเธอให้ได้ ในที่สุดก็ได้รับการต้อนรับจากโครงการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์นานาชาติ (IHAP) และเงินทุนจากหน่วยงานเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ และหน่วยงานระหว่างประเทศอื่นๆ

“ต่อมาม่านฟ้าและทีมงานได้ออกเดินทางไปต่างจังหวัดเพื่อทำวิจัยภาษามือ โดยใช้วิธีซักถามพูดคุยกับคนหูหนวกทั้ง 4 ภาคของประเทศไทย ได้เห็นปัญหาแตกต่างกันมากมาย จากนั้นนำปัญหาที่ได้มาสรุป คิดประดิษฐ์ออกมาเป็นไวยากรณ์ภาษามือ ซึ่งยากลำบากมาก เพราะต้องรวบรวมท่ามือต่างๆ และพยายามจำแนกให้เป็นกลุ่มรากศัพท์ นอกจากนี้ยังต้องมีการถ่ายรูปท่ามือ จึงจะสามารถเขียนภาพลายเส้นด้วยมือได้ แต่ม่านฟ้าเธอมีความพยายามมากจนปทานุกรมฉบับนั้นสำเร็จเป็นรูปเป็นร่าง”

เมื่อปี พ.ศ.2529 จากความมานะพยายามของเธอและทีมงาน ทำให้ปทานุกรมภาษามือเล่มแรกซึ่งหนา 384 หน้า ได้รับการตีพิมพ์เป็นผลสำเร็จ และติดตามด้วยเล่มสอง ซึ่งเธอหวังมากว่าจะเห็นมันออกมาเป็นรูปเล่มสมบูรณ์เคียงคู่กับเล่มแรก


ฉันจะสู้จนลมหายใจเฮือกสุดท้าย
เพื่อลูกหลานคนหูหนวก

ครูไทยหูปกติสมัยก่อนบางท่านมีความเข้าใจผิดๆ ว่า การทำท่ามือแบบส่งรหัสมอร์สจะทำให้เด็กหูหนวกอ่านออกเขียนได้ แต่หาเป็นเช่นนั้นไม่ เมื่อทราบความจริงอีกทีก็เกือบจะสายเสียแล้ว เพราะนอกจากจะสร้างความสับสนให้เด็ก ยังทำให้พัฒนาการด้านการเรียนรู้ภาษามือล่าช้าออกไปอีกด้วย กำพลเล่าให้ฟังว่า

“ครูหูดีไม่สามารถสื่อสารกับนักเรียนหูหนวกได้ดีเท่ากับครูซึ่งเป็นคนหูหนวกด้วยกัน หลายคนพยายามเขียนตำราแล้วยัดเยียดท่ามือประดิษฐ์ที่ไม่ได้บ่งบอกอะไรเกี่ยวกับความพิการทางหู แต่เพราะสามารถเสนอผลงานผ่านให้กับเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลได้ง่าย จึงเกิดภาษามือไทยพันธุ์ผสม ซึ่งทำให้เด็กหูหนวกรู้สึกยุ่งยากในการทำความเข้าใจ ครั้งนั้นม่านฟ้าจึงต่อสู้อย่างหนัก เพื่อให้ภาษามือที่วิจัยออกมาเป็นที่ยอมรับ”

ซึ่งการแข่งขันในครั้งนั้นกำพลบอกว่า เป็นการเชือดเฉือนฟาดฟัน เพื่อให้ได้มาซึ่งชัยชนะ เพื่อลูกหลานชาวโลกเงียบจะได้รับรู้หนังสือในขั้นพื้นฐาน เธอเคยกล่าวไว้ว่า

“สิ่งสำคัญสำหรับเด็กเล็กๆ คือ เปิดใจและฝึกสมอง ในขั้นแรกนั้นการเขียนยังไม่ใช่สิ่งสำคัญ เด็กหูหนวกจำเป็นต้องสื่อสารกันทางตา(ไม่ใช่ทางปาก) ด้วยภาษาของตัวเองเพื่อพัฒนาการทางอารมณ์ การศึกษา และทางกาย แล้วจึงค่อยๆ สอนภาษาเขียนเป็นคำๆ เกี่ยวกับสิ่งของที่เด็กๆ รู้จักดีอยู่แล้ว หลังจากนั้นค่อยสร้างทักษะในการเขียนจากรากฐานที่มั่นคง” (จาก : THE ASIAN WALL STREET JOURNAL : AUGUST 14 -15, 1987)

งานวิจัยภาษามือของม่านฟ้าในยุคแรกส่วนใหญ่ไม่มีใครในเมืองไทยเห็นคุณค่า แต่เธอกลับเป็นที่รู้จักอย่างดีในกลุ่มนักภาษาศาสตร์และคนพิการในต่างประเทศ ซึ่งเป็นเรื่องน่าแปลกและเกิดคนถามมากมายตามมาในใจของใครหลายคน

ก่อนที่เธอจะเสียชีวิต เธอกับกำพล สุวรรณรัตผู้เป็นคู่ชีวิต พร้อมด้วยเพื่อนร่วมอุดมการณ์กลุ่มเล็กๆ ได้ร่วมมือกันต่อสู้โดยไม่มีวันได้หยุดพัก ม่านฟ้าได้รับคัดเลือกเป็นตัวแทนคนหูหนวกเดินทางไปเข้าร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการสำหรับนักวิจัยหูหนวกในต่างประเทศหลายครั้ง ในฐานะผู้เชี่ยวชาญภาษามือ และเป็นคนเอเชียคนแรกที่องค์การสหประชาชาติยกย่องว่าเป็นผู้เสียสละและอุทิศตนเพื่อคนพิการอย่างแท้จริง

หลังจากได้ต่อสู้มาเป็นเวลายาวนาน ทั้งเป็นคนบุกเบิกวิจัยภาษามือจนทั่วโลกยอมรับ เป็นผู้จุดประกายให้มีภาษามืออยู่มุมหนึ่งของจอทีวี เพื่อจะได้สื่อสารกันรู้เรื่องระหว่างคนหูดีกับคนหูหนวก และหลากหลายผลงานที่เธอได้ทำฝากไว้ให้กับแผ่นดิน ขณะที่ชีวิตของเธอกำลังรุ่งโรจน์ และผลงานกำลังเป็นที่จับตามองของสังคมไทยมากขึ้น แต่อนิจจาเธอทำบุญมาน้อย ยังไม่ทันได้ชื่นชมกับความสำเร็จเท่าไหร่เลย เธอก็ป่วยอย่างเฉียบพลัน และเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2532 เวลาประมาณ 10.00น. ก็ปิดม่านชีวิตตัวเองลง ณ โรงพยาบาลศิริราช สริรอายุได้เพียงแค่ 37 ปีเท่านั้นเอง

การเสียชีวิตของเธอสร้างความโศกอาดูรกับผู้ใกล้ชิด เพื่อนร่วมงาน และเพื่อนชาวต่างชาติอย่างมากมาย การเสียสละของเธอทำให้องค์การสหประชาชาติเล็งเห็นความดี จึงได้มอบวุฒิบัตรเชิดชูเกียรติกันม่านฟ้า ซึ่งเป็นอาจารย์และนักวิจัยที่มีชื่อเสียงของประเทศไทยด้านภาษาสื่อคนหูหนวก ผู้เสียสละและอุทิศตนสนับสนุนโครงการสหประชาชาติด้านคนพิการ โดยม่านฟ้าเป็นคนเดียวในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกขณะนั้นที่ได้รับรางวัล และเป็น 1 ในจำนวน 7 คนจากทั่วโลกที่ได้รับรางวัลนี้

ปัจจุบันผลงานของเธอถูกสานต่อโดยสามีกำพล สุวรรณรัต และเพื่อนร่วมอุดมการณ์

“วันนี้ผมได้รวบรวมเงินทุนทรัพย์จากผู้มีจิตกุศลจากที่ต่างๆ ได้ก่อตั้ง “มูลนิธิส่งเสริมและพัฒนาคนหูหนวกไทย” ขึ้นเป็นผลสำเร็จ เมื่อต้นปีนี้เอง วัตถุประสงค์นอกจากจะส่งเสริมการศึกษาฝึกอบรมให้ผู้นำคนหูหนวก และส่งเสริมการศึกษาคนหูหนวกที่ด้อยโอกาสในชุมชนแล้ว ยังช่วยเหลือคนหูหนวกด้านต่างๆ อีกหลายด้าน”

กำพลกล่าวทิ้งท้ายเป็นภาษามือกับ “ชีวิตต้องสู้” ว่า การดำเนินงานของมูลนิธิช่วงนี้ยังเปรียบเหมือนเด็กฝึกเดิน จึงต้องประคับประคองไปเรื่อยๆ ผู้ร่วมงานในมูลนิธิส่วนใหญ่เป็นผู้พิการทางหูแทบทั้งสิ้น

เมื่อคนหูดีอย่างเราได้เห็นการต่อสู้ของพลังเงียบ ซึ่งเป็นพลังเล็กๆ นี้แล้ว หากมัวแต่ท้อแท้สิ้นหวัง ก็ต้องหันกลับมาถามตัวเองบ้างแล้วล่ะว่า ทำไมผู้ที่ด้อยโอกาสกว่าเราเขาถึงสามารถจุดแสงสว่างให้ตัวเองได้อย่างสง่างาม...แล้วเราล่ะ วันนี้คิดจะทำอะไรเพื่อศักดิ์ศรีคำว่า “คน” บ้างหรือยัง?

“พ. สวัสดิ์พร” sawadporn@thaimail.com





โดย : พ. สวัสดิ์พร

24 สิงหาคม 2553

สมุดประจำตัวคนพิการ

นายจีรศักดิ์ ศรีพรหมมา พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดนครปฐม กล่าวว่า จังหวัดนครปฐม ได้รับแจ้งจากสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ (พก.) ว่า การออกบัตรประจำตัวคนพิการที่ใช้แสดงตนของคนพิการ มีจำนวน ๓ แบบ ได้แก่

๑)สมุดประจำตัวคนพิการ - แบบเดิมตาม พ.ร.บ. การฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ พ.ศ. ๒๕๓๔
๒.) บัตรประจำตัวคนพิการ แบบสมุด - ออกให้ตั้งแต่ ๓ ธ.ค.๒๕๕๒-๓๑ มีนาคม ๒๕๕๓ ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. ๒๕๕๐
๓) บัตรประจำตัวคนพิการ (ID Card ) ออกตั้งแต่วันที่ ๑ เม.ย. ๒๕๕๓ และออกให้วันคนพิการสากล ๓ ธ.ค.๒๕๕๒ (ประมาณ ๑๐๐ คน)

ทำให้คนพิการ ประชาชนทั่วไป หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ทราบข้อมูลรูปแบบของบัตรประจำตัวอย่างทั่วถึง ซึ่งเป็นอุปสรรคของคนพิการในการใช้แสดงตนหรือติดต่อขอรับบริการ และส่งผลต่อการพิจารณาให้บริการแก่คนพิการของหน่วยงาน จึงขอประชาสัมพันธ์ว่า บัตรประจำตัวคนพิการ

ทั้ง ๓ รูปแบบนี้ คนพิการสามารถนำไปใช้แสดงตนในการขอรับบริการต่างๆ ได้ตามกฎหมาย รวมทั้งใช้สิทธิ์ยกเว้นค่าโดยสารในการเดินทางด้วยรถไฟฟ้า MRT โดยให้คนพิการใช้บัตรประจำตัวคนพิการดังกล่าวแล้วแต่กรณี จนกว่าบัตรฯ จะหมดอายุ จึงขอเปลี่ยนบัตรประจำตัวคนพิการที่เป็นรูปแบบปัจจุบันต่อไป(บ้านเมืองออนไลน์/มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย ๑๗ ส.ค.๒๕๕๓ )

06 สิงหาคม 2553

มูลนิธิอนุเคราะห์คนหูหนวก ในพระบรมราชินูปถัมภ์

1. มูลนิธิฯร่วมกับบริษัท เอ็คโฆ โปรส์ จำกัด (โดยคุณศุขสนั่น โชติกเสถียร)



จัดทำโครงการปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 78 พรรษา 12 สิงหาคม 2553 โดยจะนำนักเรียนหูหนวกโรงเรียนเศรษฐเสถียร ในพระราชูปถัมภ์ และนักศึกษาหูหนวก มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต จำนวน 40 คน เข้าร่วมโครงการปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติ ในวันเสาร์ที่ 31 กรกฎาคม 2553
ณ สวนรุกขชาติกำแพงแสน จ.นครปฐม

2. มูลนิธิอนุเคราะห์คนหูหนวกฯ จัดงานแข่งม้าการกุศล
ในวันอาทิตย์ที่ 3 ตุลาคม 2553 ณ สมาคมราชกรีฑาสโมสร



3. มูลนิธิอนุเคราะห์คนหูหนวกฯ จัดงานปันรักปันใจให้คนหูหนวก ครั้งที่ 5




เพื่อหารายได้สมทบทุนการศึกษานักเรียนหูหนวก และอุปกรณ์การเรียนการสอนให้แก่นักเรียนหูหนวกในโรงเรียนโสตศึกษา 20 โรงทั่วประเทศ ในวันพฤหัสบดีที่ 18 พฤศจิกายน 2553 ณ โรงเรียนเศรษฐเสถียรฯ และขอเชิญชวนให้ท่านผู้จิตศรัทธาร่วมซื้อสลากการกุศลงานปันรักปันใจให้คนหูหนวก ครั้งที่ 5 สลากการกุศลราคาใบละ 100 บาท

03 สิงหาคม 2553

สาวใบ้นครไทยเฮ-ถูกหวย 4 ล้าน



พิษณุโลก - สาวใบ้แม่ค้าขายผัดไทยเฮ ถูกหวยรางวัลที่ 1 รวยทันที 4 ล้าน เจ้าตัวย้ำยังคงขายผัดไทยต่อไปไม่ทิ้งอาชีพแม้มีเงินล้าน เผยก่อนถูกรางวัลได้ว่านมหาโชค มหาลาภมาบูชา ขณะที่หวยรางวัลที่ 1 เคยโผล่ที่นครไทยมาแล้วเมื่อปี 52

ผู้สื่อข่าวรับแจ้งว่า มีแม่ค้าที่ อ.นครไทย จ.พิษณุโลก ถูกรางวัลที่ 1 งวดวันที่ 1 ส.ค.2553 จึงเดินทางไปตรวจสอบ พบว่าผู้ถูกรางวัลเป็นสาวพิการหูหนวก อาชีพขายผัดไทย หน้าสำนักงานที่ดินจังหวัดพิษณุโลก สาขานครไทย ชื่อ น.ส.รัตนา แก้วคำมา อายุ 46 ปี อยู่บ้านเลขที่ 124 ม.4 ต.นครไทย อ.นครไทย จ.พิษณุโลก ที่กำลังยืนขายผัดไทยอยู่ที่ร้าน ซึ่งสร้างเป็นเพิงชั่วคราว โดยมีคนมาแสดงความยินดีกันตลอดเวลา

จากการสอบถามปรากฏว่าพูดคุยไม่รู้เรื่องเพราะเป็นใบ้มาตั้งแต่กำเนิด แต่ทางญาติสามารถพูดคุยโดยใช้ภาษามือสอบถามรู้เรื่อง โดย น.ส.รัตนาไปหาซื้อลอตเตอรี่กับแฟนที่ตลาดสดนครไทย กระทั่งไปพบเลข 210008 ซึ่งเลขท้ายตรงตามที่ต้องการคือ 008 และมีเพียงใบเดียวจึงซื้อทันที หลังจากนั้นได้นำไปฝากกับแม่ไว้ จนกระทั่งถึงเวลาออกรางวัล ได้นำออกมาตรวจพบว่าถูกรางวัลที่ 1 ทำให้ดีอกดีใจกันทั้งบ้าน โดยมีเพื่อนบ้านที่ทราบข่าวมาร่วมแสดงความยินดีกันจำนวนมาก

นายนภิศพันธ์ สุโน อายุ 46 ปี อยู่บ้านเลขที่ 96 ม.18 ต.หนองกระท้าว อ.นครไทย จ.พิษณุโลก กล่าวว่า ตนเป็นลูกจ้างทำงานอยู่ที่เทศบาลตำบลนครไทย เพิ่งคบกับ น.ส.รัตนา ประมาณ 1 ปี ยังไม่ได้แต่งงานกันเพราะยังไม่พร้อมในเรื่องเงิน ก่อนหน้าได้ว่านมหาโชคมหาลาภมาบูชา จึงจุดธูปอธิษฐานบอกกล่าวว่าฐานะยากจนหากมีเงินจะทำบุญและทำกู้ภัยช่วยเหลือผู้ที่เจ็บป่วยและบาดเจ็บ กระทั่งตกกลางคืนเห็นยายที่เสียชีวิตไปแล้วมาเข้าฝัน ตนจึงบอกยายว่ายากจนเหลือเกิน จากนั้นยายได้จับมือตนเขียนเป็นเลข 008 กับ 80 จึงได้เก็บความฝันเอาไว้

เช้าวันที่ 1 ส.ค. ตนพร้อม น.ส.รัตนาได้พากันขี่รถจักรยานยนต์ไปหาซื้อลอตเตอรี่ เลข 008 กับ 80 ปรากฏว่าหาทั่วนครไทยแล้วไม่มี จนพากันไปหาในตลาดสดนครไทย เจอลอตเตอรี่เลข 210008 ซึ่งมีเลขท้ายเลขท้าย 008 ที่ตนต้องการเหลืออยู่ 1 ใบ จึงรีบซื้อทันทีในราคา 100 บาท เพราะแม่ค้าบอกว่าขายเลหลังเพราะใกล้เวลาลอตเตอรี่จะออกแล้ว จากนั้นก็พากันกลับบ้าน จนช่วงบ่ายหลังลอตเตอรี่ออกรางวัล ได้นำมาตรวจพบว่าถูกรางวัลที่ 1 จึงไปไปแจ้งความที่ สภ.นครไทย กับเจ้าหน้าที่ตำรวจลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐาน

สำหรับเงินที่ได้จะเก็บไว้เป็นทุน ส่วนหนึ่งจะเอาไปทำบุญ และตั้งใจซื้อรถยนต์ทำกู้ภัยช่วยเหลือผู้บาดเจ็บและช่วยเหลือคนป่วย เนื่องจากได้ตั้งใจเอาไว้ก่อนหน้าแล้ว

สอบถามทั้งคู่ยังประกอบอาชีพตามปกติ โดยไม่คิดจะลาออกจากงานหรือเลิกขายผัดไทยแต่อย่างใด ส่วนลอตเตอรี่จะไปขึ้นเงินที่กรุงเทพฯ โดยจะมีญาติเดินทางร่วมไปด้วย

อนึ่ง งวดวันที่ 16 ตุลาคม 2552 มีผู้ถูกหวยรางวัลที่ 1 มาแล้วครั้งหนึ่ง โดยผู้โชคดีรายนั้นพักอยู่บ้านเลขที่ 66/1 หมู่ 2 ชื่อนายบุญเริ่ม คำป้อ อายุ 56 ปี ผู้โชคดีรายนี้ เป็นสมาชิกสภาเทศบาลตำบลนครไทย สมัยที่ 4 มีอาชีพทำไร่ทำนา ที่บ้านเปิดขายของชำอยู่

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก
http://manager.co.th/Local/ViewNews.aspx?NewsID=9530000106848

28 กรกฎาคม 2553

ขอเชิญผู้สนใจเข้าร่วมประชุมและนำเสนอผลงานวิชาการในงาน


"สัมมนาทางวิชาการระดับชาติด้านคนพิการ ครั้งที่ ๒ ประจำปี ๒๕๕๓"
ในวันศุกร์ที่ ๓๐ กรกฎาคม ๒๕๕๓ ณ เซนจูรี่ ปาร์ค กรุงเทพมหานคร

กำหนดการประชุม

08.00 -09.00
ลงทะเบียนและรับเอกสาร

09.00-09.30
พิธีเปิด
กล่าวรายงานการจัดประชุมวิชาการ
โดยปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
กล่าวเปิดการประชุมวิชาการ
โดยรัฐมนตรีกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

09.30-10.30
การปาฐกถาพิเศษ เรื่อง การร่วมสร้างสังคมเท่าเทียม
โดย Dr. Rhonda Galbally
Chair of the Federal Government’s National People with Disabilities and Carers Council

10.30-10.45 รับประทานอาหารว่าง

10.45-12.00
การอภิปราย เรื่อง การร่วมสร้างสังคมเท่าเทียม
โดย
1. ผู้แทนสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย
2. เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ( สกอ.)*
3. ผู้แทนจากภาคธุรกิจ (AIS)*
4.ท่าน ว.วชิรเมธี หรือ ผู้แทน สสส.*
ผู้ดำเนินการอภิปราย ผศ. ดร.พิมพา ขจรธรรม

12.00-13.00 พักรับประทานอาหารกลางวัน

13.00-16.30
การนำเสนอผลงานทางวิชาการในห้องประชุมย่อย (4 ห้องแยกตามยุทธศาสตร์ในแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ พ.ศ. 2550 - 2554)

23 กรกฎาคม 2553

เว็บข่าวหูหนวกไทย


รายการหัตถภาษานานาข่าว - ดูวิดีโอทั้งหมด กดที่นี่


เกิดซักที ข่าววีดีโอหูหนวก เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ในยุกดิจิตอล ซึ่งนับเป็นทางออกหนึ่งที่ได้พยายามทำขึ้น ขอปรบมือต้อนรับความพยายามของสองสถาบันนี้ด้วยครับ คณะนิเทศศาสตร์ ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ และมูลนิธิส่งเสริมและพัฒนาคนหูหนวกไทย

ขอให้พัฒนาต่อไปนะครับ

ขอแสดงความยินดีด้วยทุนสนับสนุนผู้พิการจากรัฐบาล

(สำเนา)
ประกาศคณะกรรมการดำเนินการคัดเลือก
เรื่อง รายชื่อผู้มีสิทธิได้รับทุนรัฐบาลตามความต้องการของส่วนราชการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2553
ทุนสนับสนุนการศึกษาของคนพิการ (ระดับปริญญา)
----------------------
ตามที่ได้มีประกาศสำนักงาน ก.พ. ลงวันที 12 เมษายน 2553 เรื่อง รับสมัครคัดเลือกบุคคล
เพื่อรับทุนรัฐบาลตามความต้องการของส่วนราชการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2553 ทุนสนับสนุน
การศึกษาของคนพิการ (ระดับปริญญา) และประกาศคณะกรรมการดำเนินการคัดเลือก ลงวันที 28
มิถุนายน 2553 เรื่อง รายชื่อผู้มีสิทธิเข้ารับการประเมินความเหมาะสมของบุคคลเพื่อรับทุนรัฐบาลตาม
ความต้องการของส่วนราชการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2553 ทุนสนับสนุนการศึกษาของคนพิการ
(ระดับปริญญา) ไปแล้ว นั้น
บัดนี้ คณะกรรมการดำเนินการคัดเลือกได้ประมวลผลการประเมินความเหมาะสมของ
บุคคลเพื่อรับทุนฯ เสร็จเรียบร้อยแล้ว จึงขอประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิได้รับทุนดังกล่าว ดังต่อไปนี้

ทุนสำหรับคนพิการทางการเห็น
หน่วยที 7201
ตามความต้องการของวิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดล
ไปศึกษาสาขาวิชา Special Education
วิชาเอก/เน้นทาง Mathematics or Science and Technology
ระดับปริญญาเอก ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา
จำนวน 1 ทุน
- ไม่มีผู้สมัครสอบ -

หน่วยที 7202
ตามความต้องการของวิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดล
ไปศึกษาสาขาวิชา Special Education
วิชาเอก/เน้นทาง Assistive Technology
ระดับปริญญาเอก ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา
จำนวน 1 ทุน
ได้แก่ เลขประจำตัวสอบ 531720024 นางรุจิรา สงขาว


ทุนสำหรับคนพิการทางการได้ยิน
หน่วยที 7203
ตามความต้องการของวิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดล
ไปศึกษาสาขาวิชา Secondary Education of Students Who Are Deaf or Hard of Hearing
ระดับปริญญาโท ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา
จำนวน 1 ทุน
ได้แก่ เลขประจำตัวสอบ 531720010 นางสาววรวรรณ นิลมาลี

หน่วยที 7204
ตามความต้องการของวิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดล
ไปศึกษาสาขาวิชา Deaf Education
ระดับปริญญาโท ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา
จำนวน 1 ทุน
ได้แก่ เลขประจำตัวสอบ 531720002 นางสาวพวงผกา จันยาวงศ์

หน่วยที 7205
ตามความต้องการของวิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดล
ไปศึกษาสาขาวิชา Special Education
วิชาเอก/เน้นทาง Deaf and Hard of Hearing
ระดับปริญญาโท ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา
จำนวน 1 ทุน
ได้แก่ เลขประจำตัวสอบ 531720017 นายพนัส นาคบุญ

หน่วยที 7206
ตามความต้องการของวิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดล
ไปศึกษาสาขาวิชา Communication and Media Technologies
ระดับปริญญาโท ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา
จำนวน 1 ทุน
ได้แก่ เลขประจำตัวสอบ 531720018 นายสุภชาญ ตรัยตรึงศ์สกุล

หน่วยที 7207
ตามความต้องการของวิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดล
ไปศึกษาสาขาวิชา Linguistics
ระดับปริญญาโท ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา
จำนวน 1 ทุน
ได้แก่ เลขประจำตัวสอบ 531720008 นางสาวชนิตา มะธ

21 กรกฎาคม 2553

โป๊ปฝ่าวิกฤติภาพลักษณ์บาทหลวงล่วงละเมิดทางเพศเด็กหูหนวกราว ๒๐๐ คน



เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๔ เม.ย. ๒๕๕๓ ชาวคริสต์ทั่วโลกร่วมเฉลิมฉลองเทศกาลอีสเตอร์ หรือวันรำลึกการคืนชีพของพระเยซู โดยสมเด็จพระสันตะปาปา เบเนดิกต์ที่ ๑๖ ประมุขคริสตจักรนิกายโรมันคาทอลิก ทรงประทานพรแก่กรุงโรมและโลก (Urbi et Orbi) ที่มหาวิหารเซนต์ ปีเตอร์ ในสำนักวาติกัน ท่ามกลางการจับตามองว่า พระองค์จะเอ่ยถึงเรื่องอื้อฉาวที่เหล่าบาทหลวงล่วงละเมิดทางเพศเด็กๆในอดีต ซึ่งกำลังรุมเร้าสำนักวาติกันและโป๊ปเองหรือไม่ แต่ระหว่างพิธีมิสซาที่มหาวิหารเซนต์ ปีเตอร์ เมื่อ ๓ เม.ย. พระองค์ไม่ได้เอ่ยถึงเรื่องนี้ แต่เน้นสั่งสอนเรื่องการค้นหาความเป็นอมตะของมนุษย์ ว่าชีวิตที่ไม่สิ้นสุดไม่ใช่สวรรค์

ในปีนี้คริสตจักรวาติกันถูกรุมเร้าด้วยเรื่อง บาทหลวงล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กหลายคดีเกิดขึ้นเมื่อหลายสิบปีก่อน รวมทั้งในสวิตเซอร์แลนด์ เนเธอร์แลนด์ ออสเตรีย สหรัฐฯ ไอร์แลนด์ และเยอรมนี ซึ่งเป็นบ้านเกิดของโป๊ป เบเนเดิกต์ที่ ๑๖ พระองค์เองยังถูกโจมตีว่านิ่งดูดายสมัยยังเป็นอาร์คบิชอปแห่งมิวนิกและเป็นผู้ควบคุมกฎระเบียบวินัยของคริสตจักร แม้จะได้รับรายงานว่าบาทหลวงคนหนึ่งในรัฐวิสคอนซินของสหรัฐฯ ล่วงละเมิดทางเพศเด็กหูหนวกราว ๒๐๐ คน และปลายเดือนที่แล้วบาทหลวงชาวไอริชก็ถูกเปิดโปงว่าล่วงละเมิดทางเพศเด็กอีก ส่งผลให้โป๊ปต้องเขียนจดหมายขอโทษ

ผู้นำระดับสูงของคริสตจักรวาติกันต่างดาหน้าปกป้องโป๊ปและวาติกัน แต่เรื่องยิ่งอื้อฉาวยิ่งขึ้นเมื่อ บาทหลวงรานิเอโร คันตาลาเมสซา นักเทศน์ส่วนพระองค์ของโป๊ป เปรียบเทียบการโจมตีคริสตจักรวาติกันเรื่องล่วงละเมิดทางเพศเด็กกับพวกต่อต้านชาวยิวในอดีต ทำให้รานิเอโรถูกกดดันอย่างหนักจนต้องออกโรงขอโทษ นอกจากนี้ ยังมีการเปิดเผยในศาลว่า พระคาร์ดิ-นาล วิลเลียม เลวาดา อาร์คบิชอปแห่งเมืองพอร์ทแลนด์ รัฐโอเรกอนในสหรัฐฯ เคยแต่งตั้งให้บาทหลวงที่ต้องคดีล่วงละเมิดทางเพศเด็ก ดำรงตำแหน่งสำคัญอีกครั้งหลังเข้ารับการรักษาสภาพจิตใจแล้ว โดยมีข้อแม้ว่าต้องไม่ติดต่อกับเด็กๆหรือวัยรุ่นโดยตรง

ผู้นำศาสนาคริสต์หลายคนตำหนิสำนักวาติกัน ที่ปกปิดหรือเพิกเฉยในเรื่องล่วงละเมิดทางเพศเด็ก โดยอาร์คบิชอป โรแวน วิลเลียมส์ ผู้นำคริสตจักรนิกายแองกลิกันโลก กล่าวว่า คดีบาทหลวงไอริชล่วงละเมิดทางเพศเด็ก ทำให้คริสตจักรไอร์แลนด์สูญเสียความน่าเชื่อถือทั้งหมด ขณะที่อาร์คบิชอป โซลลิตช์ แห่งเมืองไฟรบูร์ก อิม บรีสเกา ในเยอรมนี กล่าวว่า คริสตจักร วาติกันจำเป็นต้องสำรวจอดีตอันดำมืดของตน อนึ่ง ตำรวจเมืองเดส์ มอยส์ รัฐไอโอวาในสหรัฐฯ เผยว่า พี่น้องวัยรุ่น ๒ คนที่ไปเที่ยวหาไข่ในเทศกาลอีสเตอร์ต้องผงะ เมื่อไปเจอศพของชายคนหนึ่งในสวนสาธารณะบีเวอร์เดลแทน ( ไทยรัฐออนไลน์/มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย ๕ เม.ย. ๒๕๕๓ )

โดย ไทยรัฐออนไลน์/มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย ๕ เม.ย. ๒๕๕๓ - 5 เม.ย 53

12 กรกฎาคม 2553

ขั้นเทพ! ทีม SKeek มก.คว้าชัย "ซอฟต์แวร์โลก" ระบบช่วยคนหูหนวก


สุดยอด! ทีม SKeek กลุ่มนิสิต ม.เกษตรฯ ประกาศชัยกระหึ่มสนามแข่งประเทศโปแลนด์ คว้าแชมป์โลกออกแบบซอฟต์แวร์ช่วยเหลือผู้พิการทางการได้ยิน การแข่งขัน ImagineCup 2010

พิสูจน์ความสามารถให้เห็นกันอีกแล้ว สำหรับเยาวชนไทยที่เพิ่งจะได้คว้ารางวัลชนะเลิศอันดับ 1 การแข่งขันออกแบบและพัฒนาซอฟต์แวร์ระดับโลก Worldwide Imagine Cup 2010 ที่เทียบเท่าการแข่งขัน โอลิมปิคด้านซอฟต์แวร์ ณ ประเทศโปแลนด์ ระหว่างวันที่ 3-8 กรกฎาคม 2553 โดยเอาชนะทีมนักศึกษากว่า 300,000 คนจาก 100 ประเทศทั่วโลก สร้างผลงานด้วยการทุบสถิติ ให้ไทยเป็นประเทศแรกในโลกที่ครองแชมป์ด้านซอฟต์แวร์ถึง 2 สมัย และเป็นประเทศแรกในเอเชียที่คว้าแชมป์โลกด้านซอฟต์แวร์มาครองได้สำเร็จ หลังจากเมื่อปี 2550 นิสิตวิศวฯ ม.เกษตร ทีม 3KC Returns ได้สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่เป็นครั้งแรกให้กับภูมิภาคเอเชียบนเวทีเดียวกันนี้ ณ ประเทศเกาหลีใต้ มาแล้ว

โดยเด็กเก่งดังกล่าว เป็น 4 หนุ่มนิสิตจากสาขาวิศวกรรมซอฟต์แวร์และความรู้ โครงการเปิดสอนระดับปริญญาตรีหลักสูตรนานาชาติ ( International Undergraduate Program : IUP) ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้แก่ นายกฤตธี ศิริสิทธิ์ นายพิชัย โสดใส นายธนสรรค์ ดิลกพินิจนันท์ และ นายนนทวรรธ ศรีจาด ที่รวมตัวในนามของทีม ‘SKeeK’ โดยมี รศ.ดร.อัศนีย์ ก่อตระกูล อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา

สำหรับซอฟต์แวร์ที่ได้รับรางวัลนั้น ทีม Skeek ได้พัฒนาโครงการ eye Feel ซึ่งเป็นแอพพลิเคชั่นที่ช่วยลดช่องว่างและเปิดโอกาสทางการสื่อสารของของผู้มีปัญหาทางการได้ยินกับคนปกติ ผ่านระบบแปลงเสียงพูดและจับความเคลื่อนไหวของใบหน้าผู้พูดให้เป็นตัวอักษรและภาษามือที่สร้างด้วยแอนนิเมชั่นแบบเรียลไทม์ โดยผู้พูดเพียงพูดผ่านไมโครโฟนที่อยู่หน้าเว็บแคม จากนั้นระบบจะแปลงเป็นภาษามือและตัวอักษรแสดงออกมาบนจอ ทั้งนี้เพื่อช่วยเปิดโอกาสให้ผู้ที่พิการทางการได้ยินสามารถเข้าศึกษาและทำกิจกรรมต่างๆ ได้เท่าเทียมกับนักศึกษาหรือคนปกติทั่วไปได้

อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันพรุ่งนี้ (10 มิ.ย.) ที่สนามบินสุวรรณภูมิ รศ. วุฒิชัย กปิลกาญจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พร้อมด้วย อาจารย์นนทวัฒน์ จันทร์เจริญ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ และนิสิต จะเดินทางไปต้อนรับนิสิต มก. ทีม ‘SKeeK’ ที่จะเดินทางกลับประเทศไทย ด้วยสายการบินลุฟต์ฮันซา เที่ยวบิน LH 782 เครื่องลงเวลา 14.10 น.

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 9 กรกฎาคม 2553 15:55 น.

30 มิถุนายน 2553

ครูพายุ-ณัฐศักดิ์ ครูสอนว่ายน้ำ ฮีโร่ของเด็ก ๆ หูหนวก


เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

...ถ้าเราหูดีพูดได้ ตะโกนได้ จมน้ำก็ตะโกนขอความช่วยเหลือได้ แล้วถ้าคนที่ตะโกนไม่ได้หรือคนหูหนวก จมน้ำขึ้นมาจะทำอย่างไร... ??????

คำถามที่เกิดขึ้นในใจ ก่อเกิดเป็นแรงบันดาลให้ ณัฐศักดิ์ ท้าวอุดม หรือ ครูพายุ อดีตนักกีฬาว่ายน้ำเยาวชนทีมชาติไทย เลือกทางเดินชีวิตมาเป็นครูสอนว่ายน้ำให้กับเด็กหูหนวก เพื่อหวังลดสถิติการจมน้ำตายของเด็กไทย ที่นอกจากจะว่ายน้ำไม่เป็นแล้ว ยังไม่สามารถร้องเรียกขอความช่วยเหลือได้

ทว่า อุปสรรคของการสื่อสารทำให้ไม่ใช่เรื่องง่ายที่ ครูพายุ จะสอนเด็กหูหนวกให้ว่ายน้ำเป็นในระยะเวลาอันรวดเร็ว "ภาษามือ" จึงเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ ครูพายุ ทุ่มเททั้งแรงกายแรงใจศึกษามาเป็นแรมปี เพื่อนำไปใช้สื่อสารกับเด็ก ๆ เหล่านั้น วันนี้เราจะพาคุณไปรู้จักกับ ครูพายุ ครูสอนว่ายน้ำจิตใจงาม ซุปเปอร์ฮีโร่ของเด็ก ๆ หูหนวกกัน

แรงบันดาลใจในการมาเป็นครูสอนว่ายน้ำเด็กหูหนวก ?

ครูพายุ : ระหว่างที่นั่งว่าง ๆ เกิดความคิดขึ้นมาว่า ถ้าเราหูดีพูดได้ ตะโกนได้ จมน้ำก็ตะโกนขอความช่วยเหลือได้ แล้วถ้าคนที่ตะโกนไม่ได้หรือคนหูหนวก จมน้ำขึ้นมาจะทำอย่างไร เลยเป็นที่มาของโครงการสอนว่ายน้ำเพื่อเด็กหูหนวก ก่อนหน้านั้น ผมเริ่มต้นจากการเป็นครูสอนว่ายน้ำให้เด็กปกติก่อน จากนั้นมีผู้ปกครองพาลูกเป็นออทิสติกมาให้ผมสอน น้องคนนี้ฉลาดมาก สามารถจำหมายเลขทางหลวงในเชียงใหม่ได้ทั้งหมด รวมทั้งหมายเลขทางหลวงในประเทศไทยที่เคยไปมาได้หลายทางมาก ผมเริ่มสนใจเด็กออทิสติก ประกอบกับตัวผมเองในอดีตเคยมีอาการของเด็กพิเศษกลุ่มหนึ่งคือ ADHD (Attention Deficit Hyperactive Disorder) หรือเด็กสมาธิสั้น ประกอบกับมีอาการลมชักร่วมด้วย คุณพ่อเลยพาไปว่ายน้ำเพื่อเป็นการบำบัด อาการเลยดีขึ้น

จากนั้นจึงคิดว่า หากบำบัดกับเราแล้วอาการดีขึ้น น่าจะช่วยเด็กสมาธิสั้นได้ เลยมีการทำคอร์สพิเศษเพื่อสอนเด็กออทิสติกจริงจัง โดยขยายความคิดนี้ไปถึงเด็กหูหนวก เพราะเด็กหูหนวกบางคนมีอาการซ้ำซ้อน ทั้งหูหนวกและออทิสติก หรือหูหนวกและเอ็มอาร์ (Mental Retradation) หรือเด็กบกพร่องทางสติกปัญญา ซึ่งเด็กพวกนี้ก็น่าจะมีโอกาสได้เรียนด้วย

เด็กสอนยากไหม การสื่อสารด้วยภาษามือเป็นอุปสรรคมากหรือเปล่า ?

ครูพายุ : สนุกครับ แต่ยากตอนเรียนภาษามือครั้งแรก เพราะไม่มีที่ไหนเปิดสอน หากมีสอนหรือมีเรียนก็จะเป็นแบบที่ง่าย ๆ และด้วยความที่หาเรียนยาก ผมเลยยิ่งอยากเรียน เรียนเองอยู่ประมาณหนึ่งปีกว่า ๆ จากการค้นคว้าหาหนังสืออ่านเอาเอง ได้คำศัพท์จากภาษามือเยอะมาก แต่ว่าใช้สื่อสารไม่ได้ เพราะไวยากรณ์ภาษามือกับไวยากรณ์ภาษาไทยแตกต่างกัน เช่น คนหูดีพูดว่า "วันนี้อากาศร้อนมาก อยากไปเที่ยวทะเล ไปด้วยกันไหม" คนหูหนวกพูดว่า "อากาศร้อนมาก ทะเลเที่ยวไหมนะ ด้วยกันไหมนะ" เข้าใจแต่ผิดไวยากรณ์ ดังนั้น ยากที่สุดคือการเรียนภาษามือเอง จนในที่สุดได้มีโอกาสได้พบครูสอนภาษามือครั้งแรก เป็นพี่ ๆ ที่ขายของตามถนนคนเดินเชียงใหม่ ช่วยสอนภาษามือและไวยากรณ์ให้ แลกกับการช่วยขายของ จนในที่สุดก็สื่อสารภาษามือได้

ประสบการณ์ที่น่าประทับใจในการสอน ?

ครูพายุ : เป็นครั้งแรกในชีวิตผมครับ ที่สอนเด็กร้อยกว่าคน แล้วไม่ต้องใช้เสียง (ไม่เมื่อยปากเลย แต่เมื่อยมือมาก) และที่สำคัญ เวลาผมไปโรงเรียนโสต (โรงเรียนโสตศึกษา อนุสารสุนทร จังหวัดเชียงใหม่) เด็กทุกคนจะวิ่งมารุมพร้อมกับถามเป็นภาษามือว่า "ว่ายน้ำวันไหน สมัครที่ไหน เรียนกี่โมง ครูพายุสอนใช่ไหม" ทำให้รู้ว่าโครงการนี้นอกจากจะสร้างประโยชน์ด้านการสอนว่ายน้ำแล้ว ยังทำให้เด็ก ๆ มีความสุขด้านจิตใจอีกด้วย

ปัจจุบันมีลูกศิษย์กี่คน ?

ครูพายุ : ปีที่แล้วมีนักเรียนที่พิการทางหู 40 คน ปีนี้ 100 คน รวมแล้วก็ 140 คนครับ

ในอนาคต มีแพลนจะทำโครงการอะไรดี ๆ แบบโครงการสอนเด็กหูหนวกว่ายน้ำอีกไหม ?

ครูพายุ : อาจจะมีการต่อยอดโครงการสอนว่ายน้ำเพื่อเด็กหูหนวกครับ เพราะยังมีกีฬาอื่นที่ต้องใช้พื้นฐานทางกีฬาว่ายน้ำ เช่น กีฬาพายเรือ ซึ่งมีโอกาสประสบความสำเร็จในระดับชาติสูงมากในอนาคต แต่ต้องมีพื้นฐานด้านการว่ายน้ำที่ดีก่อน เนื่องจากต้องฝึกพายจริงในแม่น้ำที่มีอันตรายสูงหากเกิดเรือคว่ำ

อย่างไรก็ตาม ครูพายุ ฝากบอกด้วยว่า ตอนนี้เด็กๆ จากโครงการสอนว่ายน้ำเพื่อเด็กหูหนวก ยังขาดแคลนทุนทรัพย์ด้านอุปกรณ์ หากท่านใดอยากช่วยสนับสนุนโครงการดี ๆ แบบนี้ สามารถร่วมสนับสนุนได้ที่ ธนาคารกสิกรไทย สาขาถนนสุเทพ เลขที่บัญชี ออมทรัพย์ 471-2-30670-5 ชื่อบัญชี โครงการสอนว่ายน้ำเพื่อเด็กด้อยโอกาส โดย นายณัฐศักดิ์ ท้าวอุดม หรือเข้าไปเยี่ยมชมรายละเอียดได้ที่ http://www.krupayu.com/ / @kpayu

การศึกษา : มัธยมศึกษา โรงเรียนปริศรอยแยลส์ วิทยาลัยเชียงใหม่ ปริญญาตรี คณะการสื่อสารมวลชน สาขาการโฆษณาและการประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัย เชียงใหม่ ปริญญาโท คณะศึกษาศาสตร์ สาขาการศึกษาพิเศษ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (กำลังศึกษา)

ประสบการณ์การทำงาน : ครูสอนว่ายน้ำเพื่อเด็กออทิสติก, ครูสอนว่ายน้ำ English Program และครูสอนว่ายน้ำเพื่อเด็กหูหนวก

14 มิถุนายน 2553

วิศวะคอมพิวเตอร์ มช. คว้าสองรางวัลใหญ่จากการประกวดนวัตกรรมเพื่อผู้พิการ


จากการประกวด นวัตกรรมเพื่อผู้พิการในงาน ถนนเทคโนโลยี ๒๕๕๓ หรือ Technology Street ๒๐๑๐ ซึ่งจัดโดย บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ในระหว่างวันที่ ๑๒-๑๓ มิถุนายน ๒๕๕๓ ที่ผ่านมา ณ ศูนย์แสดงสินค้า อิมแพค เมืองทองธานี กรุงเทพฯ เพื่อเป็นเวทีในการพัฒนาต่อยอด และสนับสนุนให้นักศึกษาและประชาชนทั่วไป ได้แสดงความสามารถทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ด้านการคิดค้นออกแบบผลงานที่ช่วยพัฒนาศักยภาพในการทำงานทดแทน อวัยวะที่สูญเสียไปของผู้พิการได้เป็นอย่างดีนั้น

นักศึกษาภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คว้าสองรางวัลใหญ่จากการประกวดนวัตกรรมเพื่อผู้พิการ โดยนำผลงานชื่อ โปรแกรม แปลภาษาไทยเป็นภาษามือไทยสามมิติ คว้ารางวัลชนะเลิศอันดับที่ ๑ ทุนการศึกษา จำนวนเงิน ๕๐,๐๐๐.- บาท พร้อมโล่เกียรติยศ และผลงาน "เครื่องเปิดหนังสืออัตโนมัติสำหรับผู้พิการทางแขน" คว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ ๒ ทุนการศึกษา ๒๐,๐๐๐.- บาท จากการประกวดนวัตกรรมเพื่อผู้พิการ

(www. blognone.com/มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย ๑๔ มิ.ย.๒๕๕๓)

09 มิถุนายน 2553

คนหูหนวกร่วมคนพิการ ประท้วงสลาก



08 มิถุนายน 2553 เวลา 19:11 น.
"เป็นปฏิบัติการขอคืนพื้นที่ทำเนียบรัฐบาลภายในเวลารวดเร็วโดยที่ศอฉ.ไม่ต้องสั่งใช้กำลังทหาร จากนี้เหลือแต่การเยียวยา จิตใจและสร้างความเป็นธรรมตามข้อเรียกร้อง"

โดย...ทีมข่าวการเมือง

เหตุการณ์บ้านเมืองกลับคืนสู่ความสงบ หลังการบังคับใช้กฎหมายภายใต้การบริหารบ้านเมืองของรัฐบาลอภิสิทธิ์ ยังคงมีความศักดิ์สิทธิ์ อยู่เหนือกฎหมู่ การกระชับพื้นที่ได้ผล กลุ่มคนเสื้อแดงยุติการชุมนุม ขณะที่แกนนำเข้ามอบตัว เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม

ความตรึงเครียดของบ้านเมืองผ่อนคลายลง

แต่ทว่า เช้าวันนี้ ความชุลมุนมาเยือนทำเนียบฯ เมื่อกลุ่มสมาคมคนพิการแห่งประเทศไทย ประมาณ 200 คน นำโดยสมชาย ปัญญาวงศ์ นายกสมาคมคนตาบอด เดินทางมาชุมนุมที่หน้าทำเนียบรัฐบาล บริเวณเชิงสะพานชมัยมรุเชฐ เพื่อเรียกร้องขอพบตัวแทนรัฐบาลและให้มีการจัดสรรโควตาสลากการกุศลใหม่


นับเป็นผู้ชุมนุมกลุ่มแรก ที่ประเดิมต้อนรับรัฐบาล ถึงหน้าทำเนียบฯ ตั้งแต่สถานการณ์ความรุนแรงทางการเมืองสงบ ที่แน่ๆ พวกเขาไม่มีชุดดำ ไม่มีการ์ดเป็นการถาวร มีแต่ไม้เท้า รถเข็น และภาษามือ คอยอำนวยความสะดวก ต่อการสื่อสารเรียกร้องรัฐบาล

กองกำลังติดภาษามือ เคยมาเรียกร้องความต้องการของวกเขาแล้วหลายครั้ง จนกระทั่งล่าสุด เลขานุการของประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ รมช.คลัง ประสานงานให้ไปพบที่กระทรวงการคลังเพื่อเจรจา เมื่อวันที่ 7 มิ.ย. ที่ผ่านมา แต่เมื่อไปถึงแล้วกลับไม่มีรัฐมนตรี เลขานุการ หรือ ปลัดกระทรวง เข้าร่วมหารือเลยมีเพียงตัวแทนระดับผู้อำนวยการ เท่านั้น ผู้พิการเหล่านี้จึงรู้สึกว่าถูกหลอกและวันนี้จึงมาเพื่อขอพบกับรัฐมนตรีประดิษฐ์

ความวุ่นวายพัฒนาขึ้นตามลำดับ

เวลา 11.45น. ยังไม่มีตัวแทนของรัฐบาลออกมารับเรื่องจากกลุ่มผู้ชุมนุมแต่อย่างใด จนกระทั่งเวลาประมาณ 12.30 ทำให้กลุ่มผู้ชุมนุมเกิดความไม่พอใจ มีการจัดทัพให้คนหูหนวกที่สายตาดีอยู่แถวหน้า ขณะที่ผู้พิการทางตาแตะไหล่เกาะกลุ่มอยู่แถวหลัง

การผลักดันประตูรั้วบริเวณเชิงสะพานชมัยมรุเชฐเกิดขึ้น สามารถเคลื่อนเข้ามาอยู่บน ถ.นครปฐม หน้าประตู 1 ของทำเนียบรัฐบาล พร้อมกับเรียกร้องขอพบประดิษฐ์ ซึ่งขณะนั้น รมต.ประดิษฐ์ได้เดินทางออกจากทำเนียบรัฐบาลแล้ว จึงได้มอบหมายให้ พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ ผบช.น.1 เข้ามาเจรจา ขอให้ผู้ชุมนุมออกไปอยู่บริเวณเดิม

แต่ไม่เป็นผล

พล.ต.ต.วิชัย จึงประกาศผ่านเครื่องขยายเสียงว่า ขณะนี้ผู้ชุมนุมกำลังทำผิด พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน และบุกรุกเข้ามาในสถานที่ต้องห้าม จึงขอให้ถอนกลับไปอยู่ที่เชิงสะพานชมัยมรุเชฐ และให้กำลังตำรวจประมาณ 2 กองร้อยเข้ามารักษาความปลอดภัย และเคลื่อนรถขังผู้ต้องหาเข้ามาใกล้ สร้างความไม่พอใจให้ผู้ชุมนุมและตะโกนด่าทอเจ้าหน้าที่


อย่างไรก็ตามขณะนั้น สมชายผู้เป็นแกนนำ ได้ไปยืนอยู่ที่ริมคลองเปรมประชากร และประกาศว่าหาก เจ้าหน้าที่ตำรวจทำอะไรก็จะกระโดดน้ำฆ่าตัวตายทันที

ต่อมา นายประดิษฐ์ ได้โทรศัพท์ ประสานเข้ามาขอคุยกับนายสมชายเพื่อขอให้ไปพบที่ กระทรวงการคลัง แต่ผู้ชุมนุมไม่ยอม และระบุว่า “ พวกเขาเป็นคนพิการทำไมนายประดิษฐ์ที่เป็นรัฐมนตรีมีกระทั่งรถนำ ไม่มาหาพวกเขาที่นี่ แต่ถ้าไม่สะดวกก็ให้ใครออกมาพบก็ได้ ให้นายศิริโชค โสภา ส.ส. สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ คนสนิทนายกฯมาพบก็ได้ แต่ในที่สุดก็ไม่มีใครออกมาเจรจา จากนั้น พล.ต.ต.วิชัยก็ประกาศว่า เมื่อรัฐบาลเปิดโอกาสให้ไปเจรจาที่กระทรวงการคลัง แต่ผู้ชุมนุมไม่ยอมก็จำเป็นต้องดำเนินการตามกฎหมาย และขอให้ผู้ชุมนุมออกจากพื้นที่ซึ่ง ก็ทีผู้ชุมนุมส่วนหนึ่งยอมออกไป แต่อีกจำนวนหนึ่งก็ยังอยู่

จากนั้นพล.ต.ต.วิชัย จึงตัดสินใจให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ เข้าไปจับกุมแกนนำที่อยู่ในกลุ่มผู้ชุมนุม ทำให้นายสมชายตัดสินใจกระโดดน้ำทันที แต่เนื่องด้วยน้ำในคลอง ไม่ลึกและมีผู้กระโดดตามไปทำให้นายสมชายไม่ได้รับอันตราย และในขณะนั้นเองเจ้าหน้าที่ก็ได้ควบคุมแกนนำ และผู้ที่ขัดขวางการจับกุม ท่ามกลางการด่าทอและความชุลมุน ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถจับกุมผู้ต้องขังทั้งที่พิการและไม่พิการกว่า 20 คน

หลังจากจับกุมแกนนำ เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ได้เริ่มผลักดันผู้ชุมนุมที่เหลือจำนวนไม่มากให้กลับไป อยู่ที่เชิงสะพานชมัยมนุเชฐ และบอกให้ผู้ชุมนุมแยกย้ายกันไปเจรจากับ รัฐมนตรีที่กระทรวงการคลัง แต่หากไม่ไปเจ้าหน้าที่ก็ต้องดำเนินการจับกุมเนื่องจากกระทำผิด พ.ร.ก. ฉุกเฉิน และ กีดขวางการจราจร โดยจะใช้เจ้าหน้าที่สามคนต่อผู้ชุมนุมหนึ่งคน และจะเริ่มจับกุมจากผู้ชาย ก่อน

ระหว่างนั้นเองเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ายึดรถกระบะที่นำมาจอดเพื่อเป็นรถอำนวยการไว้ ทำให้ผู้ชุมนุมต้องแยกย้ายกันกลับไป ส่วนนายสมชายนั้นได้ขึ้นฝั่งที่คลองอีกด้านหนึ่ง แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ตามไปคุมตัวไว้ได้ ก่อนที่จะนำไปควบคุมตัวที่ สน.ดุสิต ต่อไป หลังจากนั้นเหตุการณ์หน้าทำเนียบจึงเข้าสู่ภาวะปกติในเวลาประมาณ 14.45 น.

ถือเป็นปฏิบัติการขอคืนพื้นที่ทำเนียบรัฐบาลภายในเวลารวดเร็ว โดยที่ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน(ศอฉ.) ไม่ต้องสั่งใช้กำลังทหาร จากนี้เหลือแต่การเยียวยาจิตใจและสร้างความเป็นธรรมตามข้อเรียกร้อง ซึ่งไม่รู้ว่าจะดำเนินการได้ผลขนาดไหน เพราะดันเปิดปฏิบัติการขอกระชับพื้นที่กับคนพิการซะขนาดนี้

07 มิถุนายน 2553

ครูญาดา ชินะโชติ

โลกแห่งความเงียบที่ผู้พิการทางหูประสบอยู่นั้นคงจะเป็นเรื่องยากในการสื่อสารกันกับคนทั่วไปที่จะให้เข้าใจได้ ครูญาดา ชินะโชติ ครูสอนภาษามือโรงเรียนเศรษฐเสถียร ได้อุทิศทั้งชีวิตกับเด็กที่พิการทางหูโดยการให้เรียนรู้การใช้ภาษามือตั้งแต่การนับเลข ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ตลอดจนสอนคนทั่วไปที่อยากจะเข้าใจโลกแห่งความเงียบนี้ ทั้งๆ ที่ครูญาดา ไม่ได้เงินเดือนแต่อย่างใด การสอนภาษามือของครูญาดานี่เองที่ได้ช่วยให้โลกเงียบของผู้พิการทางหูไม่ได้เป็นแค่โลกไร้เสียงของผู้พิการทางหูอีกต่อไป

ขอเชิญคลิกอ่านลิงก์ด้านบน :)


โพส : วันศุกร์ที่ 04 มิถุนายน 2553 เวลา 08:53
โดย : ทีมงานทรูปลูกปัญญา

04 มิถุนายน 2553

หุ่นยนต์แปลภาษามือ


หุ่นยนต์แปลภาษามือ
คลิปวีดีโอข่าวช่อง 9

เชียงใหม่ 4 มิ.ย. - มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สร้างหุ่นยนต์ต้นแบบแปลภาษามือผู้พิการทางการได้ยิน ประสบความสำเร็จเป็นตัวแรกของโลก

นักศึกษาและอาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกันสร้างหุ่นยนต์ต้นแบบแปลภาษามือให้ผู้พิการทางการได้ยิน ประสบความสำเร็จเป็นตัวแรกของโลก หลังใช้เวลาในการวิจัยนานเกือบ 5 ปี โดยใช้เทคโนโลยีทางคอมพิวเตอร์ จดจำภาษามือภาษาไทย เริ่มจากการเก็บและสร้างต้นแบบไว้มากกว่า 4,000 ภาพภาษามือ ซึ่งขณะนี้สามารถอ่านภาษามือได้เพียง 10 คำ โดยจดจำภาษามือที่เป็นภาพเคลื่อนไหวและเสียงพูดภาษาไทย เช่น ผู้หญิง ผู้ชาย พี่ ปู่ ย่า ตา ยาย ขอบคุณ คิดถึง ใจดี และยังทำหน้าตาเป็นหมีแพนด้าหลินปิงได้ด้วย ซึ่งหุ่นยนต์จะอ่านภาพภาษามือผ่านกล้อง และแปลออกมาทางหน้าจอและเสียงพูด

ผศ.ดร.ศันสนีย์ เอื้อพันธ์วิริยะกุล อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ขณะนี้กำลังพัฒนาหุ่นยนต์ให้มีความจำมากขึ้น และให้มีขนาดเล็กพกพาได้ หากประสบความสำเร็จจะทำให้ผู้พิการทางการได้ยินกว่า 100,000 คนทั่วประเทศ สามารถสื่อสารกับคนทั่วไปที่ไม่รู้ภาษามือ โดยใช้ซอฟต์แวร์และหุ่นยนต์เป็นผู้ช่วยได้. - สำนักข่าวไทย

01 มิถุนายน 2553

ประกาศจากค่ายหูหนวก กลุ่ม GRO



ขอประกาศเรื่อง อาสาสมัครค่ายผู้นำหูหนวก ได้เลื่อนออกไปในปีหน้า เนื่องจากเหตุการณ์ความไม่ปลอดภัยในที่ผ่านมา จะแจ้งข่าวให้ทราบ ขอขอบคุณที่ติดตาม

ความคิดเห็นที่ 1 : น่าเสียดายจัง ตอนนี้เหตุการณ์ก็น่าจะสงบแล้วนะ
Hunuak

29 พฤษภาคม 2553

ฟุตบอลโลกในโลกเงียบ เล่าด้วยภาษามือผ่านหนังสือทำมือ


วันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2553 ปีที่ 20 ฉบับที่ 7119 ข่าวสดรายวัน

นับถอยหลังอีกไม่กี่วัน บรรดาคอบอลทั้งหลาย คงจะได้รับชมฟุตบอลโลก 2010 ที่ประเทศแอฟริกาใต้ ซึ่งจะเริ่มขึ้นในวันที่ 11 มิ.ย.นี้

ทำให้ช่วงนี้ไม่ว่าจะหันไปทางไหนล้วนแต่เต็มไปด้วยกระแสของฟุตบอลโลก

ไม่เว้นแม้กระทั่งเด็กพิการทางหูของโรงเรียนเศรษฐเสถียร ในพระราชูปถัมภ์ ได้จัดทำหนังสือทำมือ โดยใช้ชื่อว่า "สนุกกับฟุตบอลโลก ปี 2010" ซึ่งหนังสือทำมือเล่มนี้มีรูปเล่มขนาดพอดี

ภายในเล่มนั้นจะประกอบไปด้วยรูปภาพของธงชาติของทีม พร้อมภาษามือรายชื่อของทั้ง 32 ประเทศ ที่ผ่านเข้ามาเล่นฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย



ฟุตบอลในโลกเงียบ

น.ส.นงค์นภา ปอศิริชัย หัวหน้านักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ในฐานะผู้วาดภาพหนังสือสนุกกับฟุตบอลโลกปี 2010 เล่าผ่านการเขียน ว่า โดยส่วนตัวแล้วมีความสนใจเรื่องกีฬา โดยเฉพาะประเภทฟุตบอลโลก ซึ่งได้ติดตามข่าวสารจากหนังสือพิมพ์ และในปีนี้ตนเองอยากรู้ว่าทีมใดจะคว้าแชมป์ฟุตบอลโลก

ทั้งนี้ นอกจากจะมีความสนใจกีฬาประเภทฟุตบอลแล้ว ยังสนใจธงชาติของแต่ละประเทศอีกด้วย อย่างไรก็ตาม บรรยากาศภายในห้องเรียนยังติดโปสเตอร์ธงชาติในฟุตบอลโลกอีกด้วย

น.ส.ชุนานาถ บำรุงยุติ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 บอกว่า ขอบคุณคุณครูทุกท่านที่ได้อบรมสั่งสอนนักเรียนหูหนวกให้มีความรู้และสามารถนำความรู้ไปใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อตนเองและสังคมได้เป็นอย่างดี รวมทั้งรุ่นพี่ที่ช่วยสอนวาดภาพ ทั้งนี้ หนังสือสนุกกับฟุตบอลโลกเล่มนี้ถือว่าเป็นหนังสือที่อ่านสนุก เข้าใจง่าย แถมยังมีพื้นที่ให้ระบายสีรูปธงชาติ การทำหนังสือเล่มนี้นอกจากจะทำให้นักเรียนคนพิการเรียนรู้เกี่ยวกับฟุตบอลโลกแล้วยังทำให้รู้ถึงกระบวนการทำหนังสือ ซึ่งสามารถนำไปประกอบอาชีพได้ในภายหน้า ขณะที่ตัวผู้ซื้อหนังสือเองจะได้ความรู้เกี่ยวกับภาษามือด้วย
1.ครูญาดา

2.น.ส.นงค์นภา ปอศิริชัย

3.น.ส.ชุนานาถ บำรุงยุติ




เมื่อถึงช่วงกระแสฟุตบอลโลกแน่นอนว่าประชาชนคนทั่วไปย่อมพูดคุยเกี่ยวกับการแข่งขันที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็น แข่งวันไหน คู่ไหนแข่งกัน ใครเป็นฝ่ายชนะ ซึ่งคนหูหนวกไม่สามารถที่จะสื่อสารกับคนอื่นได้ เพราะฉะนั้นสัญลักษณ์ต่างๆ ในหนังสือเล่มนี้ จึงเปรียบเสมือนสื่อกลางในการทำความเข้าใจร่วมกันระหว่างคนพิการกับคนธรรมดาทั่วไป เพราะอย่างน้อยเป็นการลดช่องว่างทางสังคมระหว่างเด็กพิการกับคนธรรมดาทั่วไป เพื่อทำให้สังคมเกิดความเท่าเทียม



เรียนรู้ผ่านกิจกรรม

น.ส.ญาดา ชินะโชติ หรือครูญาดา ในฐานะเจ้าของโครงการ เปิดเผยถึงที่มาของการทำหนังสือ ว่า เดิมทีเมื่อปีพ.ศ.2526 ตนเริ่มเก็บสะสมรวบรวมผลงานของนักเรียน เช่น รักนี้คือการให้แบบเรียนภาษามือและการสะกดนิ้วมือ แบบสะกดนิ้วมือคำศัพท์ A-Z สนุกกับฟุตบอลโลกปี 2006 หนังสือเมื่อมีฉันก็ต้องมีเธอ ภาษามือจากเลข 1 เป็นต้น เพราะฉะนั้นหนังสือที่ออกมาทุกเล่ม ผู้พิการหรือประชาชนที่สนใจจะได้รับความรู้และรูปแบบการใช้สัญลักษณ์ภาษามือ ในการสื่อสาร เพื่อให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ต่อมาจึงนำผลงานจัดทำเป็นหนังสือทำมือออกขายในงานกาชาดทุกปี

ครูญาดา กล่าวถึงการจัดทำหนังสือสนุกกับฟุตบอลโลก ปี 2010 ว่า สืบเนื่องมาจากช่วงปิดภาคเรียน ตนได้มอบหมายให้นักเรียนอ่านข่าวและเลือกข่าวที่มีประโยชน์มาทำเป็นรายงานมาส่งหนึ่งเรื่อง ซึ่งนักเรียนชั้นม.6 ได้คัดเลือกนำเสนอข่าวฟุตบอลโลกปี 2010 โดยได้จัดทำเป็นหนังสือที่มีรูปแบบสัญลักษณ์ภาษามือ แนะนำธงชาติของทีมทั้งหมดที่ผ่านเข้ามาเล่นฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย ทั้งหมด 32 ประเทศ ซึ่งเนื้อหาส่วนใหญ่ในหนังสือนั้นประกอบด้วย การฝึกสะกดนิ้วมือด้วยอักษร A-Z รวมไปถึงการใช้สัญลักษณ์ภาษามือเรียกชื่อแต่ละประเทศด้วย นอกจากนี้ ยังมีการเว้นที่นักเรียนหรือผู้ที่สนใจ สามารถระบายสีธงชาติได้อีกด้วย อย่างไรก็ตาม การวางจำหน่ายหนังสือในงานกาชาด ประจำปี 2553 ครั้งนี้ นักเรียนสามารถจำหน่ายหนังสือได้ถึง 200 เล่ม





หนังสือทำมือจากเด็กหูหนวก

สำหรับขั้นตอนการทำหนังสือนั้น ในขั้นตอนแรก ตนต้องมาคิดว่าจะทำหนังสือเกี่ยวกับประเภทอะไร และออกแบบรูปเล่มอย่างไร จากนั้นเริ่มจัดหาทีมงาน เพื่อวาดภาพสัญลักษณ์ภาษามือ โดยนักเรียนเกือบทุกระดับชั้น เข้ามาช่วยหาภาพสัญลักษณ์ภาษามือ จากหนังสือรุ่นเก่า ขณะที่นักเรียนชั้น ม.6 ได้เข้ามาช่วยเรื่องการวาดภาพ ขณะเดียวกันรุ่นพี่จะช่วยสอนรุ่นน้องวาดภาพด้วย เมื่อวาดภาพเสร็จเรียบร้อยแล้ว ตนจะตรวจความเรียบร้อยอีกครั้ง ก่อนนำภาพวาดทั้งหมดมารวบรวมเป็นรูปเล่ม เพื่อนำส่งโรงพิมพ์และถ่ายเอกสารเก็บไว้อีกหนึ่งชุด เมื่อโรงพิมพ์พิมพ์หนังสือเสร็จเรียบร้อยแล้ว ตนพร้อมนักเรียนจะช่วยกันไปวางจำหน่ายภายในงานกาชาด ซึ่งกำไรทั้งหมดเมื่อหักลบต้นทุนแล้ว กำไรที่เหลือจะนำไปบริจาคเข้าสภากาชาดไทย เพื่อช่วยเหลือเด็กพิการต่อไป

"นักเรียนมีความตั้งใจทำหนังสือเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะภาพวาดต่างๆ นักเรียนจะเป็นคนวาดเองทั้งหมด รวมทั้งการวาดสัญลักษณ์ภาษามือ ซึ่งดิฉันทำหน้าที่เพียงแค่แนะนำเท่านั้น กว่าจะได้เป็นหนังสือสนุกกับฟุตบอลโลก ปี 2010 นั้น ต้องใช้เวลาเตรียมการ 1 ปี เต็มๆ โดยศึกษาหาข้อมูลจากข่าว ดูชื่อประเทศ รวมทั้งคิดค้นสัญลักษณ์ภาษามือแบบใหม่ ซึ่งในระหว่าง 1 ปี ได้ลองผิดลองถูกมาหลายครั้งหลายหน เมื่อได้ออกมาเป็นรูปเล่มอย่างที่เห็นแล้ว ก็จะนำออกไปวางจำหน่ายในงานกาชาด โดยให้นักเรียนรุ่นพี่ที่มีประสบการณ์ด้านการขาย มาช่วยสอนแนะนำและเทคนิควิธีการขายให้กับนักเรียนรุ่นน้อง ซึ่งรายได้จากการขายในครั้งนี้ ได้หักลบต้นทุนไปเรียบร้อยแล้ว ส่วนกำไรที่เหลือได้บริจาคเข้าสภากาชาดไทย เพื่อช่วยเหลือเด็กพิการต่อไป" ครูญาดา กล่าว

ครูญาดา กล่าวอีกว่า ผลที่นักเรียนจะได้รับจากการทำหนังสือเป็นอันดับแรก คือความสามัคคี เนื่องจากการทำหนังสือนั้น รุ่นพี่จะช่วยสอนเทคนิคการวาดภาพและเทคนิคการขายให้กับรุ่นน้อง เนื่องจากที่ผ่านมาได้มีปัญหาเรื่องการขาย เพราะนักเรียนรุ่นน้อง ไม่กล้าเข้าหาคนทั่วไป เนื่องจากกลัวและไม่สามารถที่จะติดต่อสื่อสารกับคนปกติได้ ดังนั้นจึงต้องให้รุ่นพี่ คอยแนะนำและเทคนิคต่างๆ ให้กับรุ่นน้อง ซึ่งเมื่อรุ่นพี่จบออกไปแล้วรุ่นน้องก็สามารถสานต่อได้ ซึ่งถือว่าเป็นภูมิปัญญาที่ถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น จากนั้นจะเป็นการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ การเข้ามามีส่วนร่วมในการทำกิจกรรม มีความกล้าแสดงออก เป็นต้น นักเรียนทุกคนจะมีสามัคคี

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าผู้ซื้อหนังสือส่วนใหญ่จะซื้อหนังสือเพราะอยากจะทำบุญ อยากช่วยเหลือ แต่เมื่อลองอ่านดูแล้วจะพบว่าแท้ที่จริงแล้ว ภาษามือไม่ได้ยากอย่างที่คิด ที่ผ่านมามีคนจำนวนไม่น้อยที่อ่านหนังสือแล้วรู้สึกชอบ จนต้องติดต่อตน เพื่อขอเรียนภาษามือ

ทุกชีวิตเลือกเกิดไม่ได้ แต่เลือกที่จะเป็นได้ เพียงแค่สังคมเปิดโอกาสและให้การสนับสนุน

หน้า 21

How to be deaf

21 พฤษภาคม 2553

ถามคำศัพท์

บุญเชียบแสดงสะกดนิ้วมือ ส, ไม้เอก, สระอา, ย แล้วก็ถามบุญหนวก แปลว่าอะไร

บุญหนวกบอกว่า ไม่รู้ (พร้อมกับส่ายหัว)

บุญเชียบก็บอกว่าใช่นั่นแหละ นั่นแหละ คำตอบ

บุญหนวกก็งง (!!) บุญหนวกก็ตอบ ไม่รู้ เช่นเดิม

บุญเชียบก็ตอบว่าใช่ๆ นั่นแหละ คำตอบ

บุญหนวกก็ไม่เข้าใจต่อไปอย่างงั้นแหละ

เหล้าเพลิน

บุญหนวกกับบุญเชียบ

สองหนุ่มหูหนวกนั่งคุยกันด้วยภาษามือ

บุญหนวกเริ่มระบายความในใจให้เพื่อนฟัง

บุญหนวก : เมื่อคืน ผมกินเหล้ากับเพื่อนเพลิน ถึงตี1 จนลืมเวลา ต้องรีบกลับบ้าน เพราะเมียรออยู่ที่บ้าน

. . . . . . . (เงียบ)

บุญเชียบ: แล้วเมียว่าไง

บุญหนวก: ก็เจอเมียงอนไฟแลบเลย น่าเบื่อที่สุด

บุญเชียบ: โธ่เอ๊ย! ของกล้วยๆ

บุญหนวก: กล้วย ยังไงล่ะ

บุญเชียบ: คุณดับไฟเสียก็สิ้นเรื่อง การสนทนาก็จะจบไปเอง

ฮา

เขียนตามครู

บุญเชียบ: อ้าวเด็กๆ เขียนคำตามสะกดนิ้วมือของครูพี่เลี้ยงนะ

เด็กๆหูหนวก พร้อมหน้าพร้อมตา พร้อมสมุดดินสอตรงหน้าแล้ว

บุญเชียบ ชูมือสะกดคำว่า “ค.”

เด็กๆ ก็ก้มหน้าลงมือเขียนอย่างตั้งใจด้วยความรู้ความสามารถเคยเรียนมา

บุญเชียบ ชูมือสะกดคำว่า “ว.”

เด็กๆ ก็ก้มหน้าลงมือเขียนอย่างรวดเร็ว หวังจะเขียนเสร็จก่อนเพื่อน

บุญเชียบ: บอกเด็กๆว่า ตัวสุดท้าย ก็ชูมือสะกดคำว่า “ย.”

เด็กๆ ก็ก้มหน้าลงมือเขียนทันที

เด็กบางคนทำหน้าแหยๆ “เอครูพี่เลี้ยงแกล้งหรือเปล่าคะ?”

เรื่องนี้สอนให้รู้ว่าอย่าเชื่อได้ทั้งหมด แม้แต่ครูพี่เลี้ยง

ฮิ

เรื่องของกบ

เจ้ากบน้อย ได้มาร่วมกันจัดการแข่งขัน
ปีนขึ้นไปบนยอดเสาเพื่อหาผู้นำของฝูง
เมื่อการแข่งขันได้เริ่มขึ้น กบตัวที่หนึ่ง ก็ปีนขึ้นไป
พวกฝูงกบข้างล่างก็ตะโกนขึ้นมาว่า ไม่สำเร็จหรอก เสานั้นมันสูงเกินไป
พอพูดไม่ทันจบประโยค กบตัวแรกก็รู้สึกเหนื่อยและท้อจนตกลงมา

กบตัวที่สอง ก็พยายามปีนขึ้นไป สักพักฝูงกบก็ตะโกนอีกว่า มันยากเกินไป
ไม่มีใครทำได้หรอก ไม่นานกบตัวนั้นก็ตกลงมาอีก
จนถึงตัวที่ สาม สี่ ห้า ก็เป็นเช่นเดิม
จนถึงกบตัวที่สุดท้าย มันตั้งหน้าตั้งตาปีนขึ้นไปสูงขึ้นสูงขึ้น
ฝูงกบข้างล่างยังตะโกนเหมือนเช่นเดิมว่า ลงมาเถอะ ไม่มีใครทำได้หรอก
แต่กบตัวนี้ยังปีนขึ้นไปปีนขึ้นไป จนในที่สุดมันก็ปีนไปถึงยอดเสาได้

เพื่อนๆอยากรู้ไหมคะว่าทำไมกบตัวนี้ถึงสามารถปีนถึงยอดเสา
ไม่เหมือนกบที่ตกลงมาตัวแล้วตัวเล่า
ที่ปีนไปได้เพราะมันหูหนวกไม่ได้ยินเสียงที่เพื่อนพ้องกบตะโกนเรียกให้ลงมา

นิทานเรื่องนี้จึงบอกให้รู้ว่า

คำพูดนั้นมีพลังอันยิ่งใหญ่ ที่สามารถจะดึงความฝัน ความหวัง
ความปรารถนาในหัวใจ ของคนเราให้สูญสิ้นหมดไปได้
เพราะฉะนั้นแล้ว ควรที่จะเลือกเก็บแต่คำพูดที่ทำให้หัวใจเราชุ่มชื่น
และเลือกละเลยคำพูดที่ทำให้กำลังใจเราเหือดแห้งหมดหวัง
และเหนือสิ่งอื่นใด หากมีความหวังเกิดขึ้นแล้ว
ขอให้เชื่อมั่นในศักยภาพและเป็นตัวของตัวเองค่ะ

คัดลอกจาก...
http://th.uncyclopedia.info/wiki/%E0%B8 ... 7%E0%B8%81

ลืมเบอร์ห้อง

สองหนุ่มหูหนวกขับรถมาถึงหน้าคอนโดเพื่อน กลางดึก

บุญหนวก: จำเบอร์ห้องบุญเงียบไม่ได้ว่ะ

บุญเชียบ: ก็ให้บีบแตรเรียกสิ

บุญหนวก: บีบแตรทำไม เขาไม่ได้ยินเสียงนี่

บุญเชียบ: ไม่ได้จะให้บุญเงียบได้ยินหรอก แต่จะให้คนอื่นเขาตื่นขึ้นมาเปิดไฟ จะได้รู้ห้องที่ปิดไฟ นั่นแหละห้องเพื่อนเรา ฮิ

11 พฤษภาคม 2553

นางงามหูหนวกโลก

สวัสดีค่ะ พี่น้องชาวไทยหูหนวก

ในเดือนกรกฤาคม การเเข่งขันประกวด นางงามทั่วโลกสำหรับคนหูหนวก จัดขึ้นในวันที่ 16 กค 2553 ที่ Las Vegas ณ สหรัฐอเมริกา


ขอช่วยเชียร์กำลังใจให้นางงามไทย (Thailand) กรุณาส่งต่อ


คลิก http://www.missdeafinternational.com/photosbios.php




มีคำถาม หรือแลกเปลี่ยนความคิดเห็น สอบถามได้ ไปที่อีเมล์

looktal25@hotmail.com ยินดีเสมอ




ขอบคุณมากค่ะ


ลูกตาล

03 พฤษภาคม 2553

ขอเชิญอาสาสมัครค่ายผู้นำคนหูหนวก


สวัสดีพี่ๆน้องๆ

ค่ายผู้นำเยาวชนคนหูหนวก จะมีจัดขึ้นประมาณวันที่ 5 - 9 ส.ค. 2553 ขอเชิญคนหูหนวกท่านใดสนใจอาสาสมัครผู้นำ อายุ 20-35 ปี จำนวน 8 - 10 คน โดยเข้าทำงานร่วมกับคนหูหนวกอเมริกัน จะมีการคัดเลือกอาสาสมัครผู้นำค่ายที่มีประสบการณ์จริง

โครงการนี้ได้จัดขึ้นโดยคนหูหนวกอเมริกัน โดยผู้นำอาสาสมัครคนหูหนวกอเมริกัน ประมาณ 8 - 10 คน ซึ่งเป็นของกลุ่มชื่อว่า GRO (Global Reach Out Initiative, Inc)

เว๊บไซต์ http://www.globalreachout.org/

จัดค่ายขึ้นเพื่อนักเรียนหูหนวกจากโรงเรียนต่างๆในภาคกลาง ประมาณ 20 คน ฝึกฝนความเป็นผู้นำ

สถานที่จัดค่ายนั้นจะแจ้งให้ทราบอีกครั้ง

ติดต่อขอใบสมัคร ติอต่อได้ที่คุณผคม: hunuak@live.com
และนำส่งตามที่อยู่ด้านล่างนี้

ม.ล.ณิชอิสรีย์ จักรพันธุ์ (ผู้ประสานงาน)
690/1 ซอยประดิพัทธ์5 (ฝั่งเหนือ)
ถนนพระราม6 สามเสนใน
พญาไท กรุงเทพฯ 10400

ครู"ญาดา ชินะโชติ" เชื่อมโลกเงียบด้วยภาษามือ



วันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2553 ปีที่ 20 ฉบับที่ 7091 ข่าวสดรายวัน

คัคนานต์ ดลประสิทธิ์ รายงาน





โดยธรรมชาติคนทั่วไปที่มีการได้ยินปกติมักจะติดต่อสื่อสารกันด้วยการใช้ภาษาพูด หรือใช้การฟังเสียงพูดและใช้การพูด ซึ่งฝึกโดยการเปล่งเสียงพูดเลียนแบบเสียงที่ได้ยิน เมื่อคนหูหนวกไม่สามารถได้ยินเสียงพูด คนหูหนวกจึงไม่สามารถเปล่งเสียงพูดหรือใช้ภาษาพูดเหมือนคนทั่วไปได้

เพราะฉะนั้นคนหูหนวกทั่วโลกสื่อสารด้วยการใช้ "ภาษามือ" ซึ่งใช้จากการดูและการเคลื่อนไหวของมือประกอบกับการเคลื่อนไหวส่วนอื่นๆ ของร่างกาย รวมทั้งการแสดงออกทางสีหน้า

ดังนั้น น.ส.ญาดา ชินะโชติ อายุ 65 ปี อาสาสมัคร อดีตอาจารย์ 3 ระดับ โรงเรียนเศรษฐเสถียร ในพระราชูปถัมภ์ จึงมีแนวคิดที่จะเปิดสอนภาษามือให้กับคนหูหนวกและคนปกติ ฟรีไม่เสียค่าใช้จ่าย ในทุกวันเสาร์ที่โรงเรียนเศรษฐเสถียร วันละ 2 ชั่วโมง โดยจะเริ่มสอนในวันเสาร์ที่ 5 มิ.ย.นี้

สำหรับครูญาดาเล่าถึงชีวิตของตัวเองว่า "เกิดที่กรุงเทพฯ แต่ตายคงเป็นที่ราชบุรี เพราะไปซื้อบ้านไว้ใกล้บ้านพักคนชรา ต.น้ำพุ จ.ราชบุรี มาหูหนวกตอนอายุ 11 ขวบ เพราะป่วยไข้ไทฟอยด์แล้วแพ้ยา"

หลังจากหูหนวกครูญาดาได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเศรษฐเสถียร เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายส่งให้เรียนที่โรงเรียนเศรษฐเสถียร

เมื่อเรียนจบจากโรงเรียนเศรษฐเสถียร สอบครูประถมครูมัธยมได้ และได้ไปดูงานสอนเด็กหูหนวกที่ประเทศสหรัฐ อเมริกา 1 ปี เมื่อกลับมาได้มาเรียนต่อและจบปริญญาตรี เอกอนุบาล ที่วิทยาลัยครูสวนดุสิต แล้วมาได้ปริญญาตรี เอกประถมอีกใบ ที่มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

"หลังจากเรียนจบก็มาเป็นครูสอนที่โรงเรียนเศรษฐเสถียรจนเกษียณ ระหว่างที่เป็นครูได้รางวัลครูสอนระดับประถมดีเด่นระดับประเทศภูมิใจแล้วคะ"

พอเกษียณก็มาเป็นอาสาสมัคร เพื่อให้คนหูหนวกกับคนปกติมีกิจกรรม โดยใช้ภาษามือเป็นสื่อ



สําหรับการสอนภาษามือให้กับคนหูหนวกและคนปกติ ในทุกวันเสาร์

ครูญาดามีจุดประสงค์หลักคือ ให้คนปกติและคนหูหนวกสามารถร่วมกิจกรรมกันได้ โดยใช้ภาษามือเป็นสะพานเชื่อม ซึ่งตรงนี้เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด

ขณะเดียวกัน เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมให้เด็กใหม่เรียนรู้คำศัพท์ของภาษามือ ขณะที่การสอนภาษามือให้กับเด็กโต ก็เพื่อให้เด็กโตเตรียมความพร้อมและสามารถใช้คำศัพท์ภาษามือที่เหมือนและเป็นที่เข้าใจกัน เช่น การกินข้าว เด็กที่มาจากโรงเรียนอื่นอาจจะใช้ในอีกคำศัพท์หนึ่ง แต่ถ้ามาเรียนที่นี่จะมีคำศัพท์โดยเฉพาะที่นักเรียนทุกคนจะต้องใช้เหมือนกัน รวมทั้งสอนให้รู้จักการแปลภาษามือให้เป็นภาษาไทย



ส่วนการสอนภาษามือให้กับคนปกติ ก็เพื่อสอนคำศัพท์ภาษามือและแนะนำไวยากรณ์ภาษามือ แนะนำการช่วยเหลือคนหูหนวก แนะนำการเป็นล่ามภาษามือ รวมทั้งการแนะนำการใช้เวลาว่างให้มีประโยชน์

ครูญาดาอธิบายผ่านการเขียนและภาษามือว่า การมาสอนพูดให้กับคนหูหนวก โดยปกติแล้วคนหูหนวกไม่กล้าเข้าหาคนหูดี เพราะกลัวว่าตัวเองจะเขียนภาษาไทยผิด ซึ่งคนหูดีจะไม่เข้าใจในเรื่องนี้

อย่างไรก็ตาม คนหูหนวกกับคนหูหนวกจะรับภาษามือกันได้เร็วกว่าคนหูดี เด็กสามารถเรียนรู้ภาษามือได้จากครูพี่เลี้ยง ขณะที่ครูปกติจะช่วยเรื่องการเขียนภาษาไทยและการฝึกพูด ทั้งนี้ เพื่อให้โอกาสกับเด็กทุกคนที่มีความสามารถแตกต่างกัน

ครูญาดากล่าวถึงประโยชน์ที่ได้รับจากการเรียนภาษามือว่า เด็กจะได้คำศัพท์ใหม่ๆ เพิ่มขึ้นและรู้จักการนำคำมาใช้เป็นประโยคภาษาไทย รวมทั้งรู้จักโลกกว้างกว่าเดิม ขณะเดียวกันเด็กจะมีความกล้าที่จะเข้าพบคนปกติมากขึ้น ตลอดจนมีความมั่นใจในการใช้ภาษาไทยมากขึ้น

ลักษณะการสอนภาษามือให้กับเด็กเล็กนั้น จะสอนโดยใช้ของจริงพร้อมทั้งอธิบายคำศัพท์ เช่น ก.ไก่ คนปกติจะเริ่มอ่านคำว่า กอ.ไก่ แต่สำหรับคนหูหนวกจะสอนโดยเขียนเป็นคำ เช่น เขียนคำว่ากิน จากนั้นจะบอกว่า ก.เป็นพยัญชนะตัวที่เท่าใด น.เป็นพยัญชนะตัวที่เท่าใด และสระอิ คืออะไร และที่สำคัญคือคนหูหนวกจะจดจำเพียงแค่ตัวเดียว เช่น กอ.ไก่ จะจำเพียง ไก่ เท่านั้น ขอ.ไข่ จะจำเพียง ไข่ เท่านั้น

ทั้งนี้ การสอนจะเริ่มจากสิ่งที่ใกล้ตัว สิ่งดำรงชีวิตประจำวัน และจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในรอบวัน

ขณะเดียวกันการสอนภาษามือให้กับเด็กโตก็จะสอนคำศัพท์ใหม่ๆ และสอนเพิ่มเติมจากประสบการณ์เดิมและประสมประสานหรือปรับ เช่น คำว่าจังหวัด โดยเด็กโตจะมีความรู้ คำว่า วัด จากนั้นจะเพิ่มเป็น หวัด ส่วนคำว่าจังจะใช้ภาษามือจดจำไว้ แล้วรวมกันว่า จังหวัด





ครูญาดายังได้อธิบายความแตกต่างระหว่างภาษามือสากล-ภาษามือไทย ว่า ภาษามือของคนหูหนวกแต่ละชาติมีความแตกต่างกันเช่นเดียวกับภาษาพูด ตามวิถีชีวิต วัฒนธรรม และประเพณีและสภาพแวดล้อมของแต่ละชาติ

รัฐบาลหลายประเทศรวมทั้งประเทศไทย จึงประกาศให้ภาษามือเป็นภาษาแม่และภาษาประจำชาติของคนหูหนวก อย่างไรก็ตาม คนหูหนวกที่อยู่ในประเทศเดียวกันก็อาจมีภาษามือท้องถิ่นในแต่ละภูมิภาคเช่นเดียวกับภาษาพูดที่เป็นภาษาถิ่นประจำภาค

ภาษามือมีคุณสมบัติของการเป็นภาษาเช่นเดียวกับภาษาต่างๆ ภาษามือของแต่ละชาติมีศัพท์และไวยากรณ์หรือกฎระเบียบการเรียงคำและคุณสมบัติอื่นๆ แตกต่างกัน เพราะฉะนั้นภาษามือไม่ได้เป็นภาษาสากลที่คนหูหนวกทุกชาติใช้สื่อสารกันได้

"ความแตกต่างระหว่างภาษามือสากล-ภาษามือไทยนั้น จะแตกต่างกันที่ภาษามือไทยท่ามือจะสะกดมากกว่าภาษามือสากล เพราะภาษามือไทยจะมีสระและวรรณยุกต์ ทั้งนี้ คำศัพท์อักษร A-Z ก็จะใช้ตามแบบของประเทศสหรัฐ อเมริกา แต่ทุกประเทศจะมีภาษามือเป็นของตัวเอง เช่น A=อ, K=ก, K+1=ข, K+3=ค, L=ล, L+1=ฬ, P=พ, P+1=ป, P+2=ผ เป็นต้น"

ศัพท์ภาษามือส่วนใหญ่กำหนดโดยคนหูหนวก เพื่อให้คนหูหนวกในกลุ่มเดียวกันสามารถสื่อสารกันได้โดยง่ายและกว้างขวาง แต่ศัพท์ภาษามือส่วนหนึ่งเป็นการใช้ภาษาร่างกายหรือการเคลื่อนไหวอวัยวะต่างๆ ของร่างกายตามธรรมชาติ ซึ่งคนทั่วไปที่มีการได้ยินปกติอาจเข้าใจความหมายได้

ครูญาดากล่าวถึงข้อจำกัดของศัพท์ภาษามือไทยว่า ปัจจุบันแต่ละประเทศได้พัฒนาความรู้ต่างๆ อย่างรวดเร็วต่อเนื่องและมีการติดต่อกันอย่างกว้างขวาง จึงทำให้เกิดองค์ความรู้เพิ่มขึ้นอย่างมาก

ดังนั้น ในการกล่าวถึงหรืออธิบายเกี่ยวกับความรู้ใหม่ๆ จึงต้องมีการบัญญัติศัพท์ใหม่เพื่อใช้สื่อสารกัน ทั้งนี้ ประเทศไทยก็มีการกำหนดศัพท์เกี่ยวกับความรู้ใหม่ๆ ทั้งในรูปแบบการใช้คำภาษาไทยและการใช้ศัพท์ของต่างชาติ เช่น โลกาภิวัตน์ เจตคติ การ์ตูน ไอศกรีม คอมพิวเตอร์ เป็นต้น

ภาษามือไทยเป็นภาษาของคนหูหนวกซึ่งมีอยู่จำนวนน้อย จึงมีโอกาสได้รับการพัฒนาศัพท์น้อย ศัพท์พื้นฐานของภาษามือไทยมีน้อยกว่าภาษาไทยและภาษาอื่นๆ มาก

ครูญาดาอธิบายเพิ่มเติมว่า ดังนั้น คนหูหนวกและคนทั่วไปที่เกี่ยวข้องกับคนหูหนวก โดยเฉพาะครูและผู้ปกครองของคนหูหนวก จึงได้คิดค้นและกำหนดคำศัพท์ภาษามือเพิ่มขึ้นอยู่เสมอ โดยมักเทียบเคียงหรือใช้ศัพท์ภาษาไทยเป็นฐาน เมื่อมีความรู้ใหม่เกิดขึ้นก็ต้องกำหนดศัพท์ภาษามือเพิ่ม

เพื่อให้คนหูหนวกมีศัพท์ภาษามือเพียงพอที่จะสามารถเรียนรู้และสื่อสารกันได้ใกล้เคียงกับคนทั่วไปมากที่สุด



โรงเรียนเศรษฐเสถียร ในพระราชูปถัมภ์

โรงเรียนเศรษฐเสถียร เดิมชื่อโรงเรียนคนหูหนวกดุสิต เป็นโรงเรียนสอนคนหูหนวกแห่งแรกในประเทศไทย สังกัดกองการศึกษาพิเศษ กรมสามัญศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ

ตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 10 ธ.ค.2496 ซึ่งตรงกับวันสิทธิมนุษยชนโดยที่ คุณหญิงโต๊ะ นรเนติบัญชากิจ ได้บริจาคที่ดินจำนวน 4 ไร่ 2 งาน 99 ตารางวา พร้อมตึก ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของท่านให้จัดตั้งโรงเรียนสำหรับคนหูหนวกขึ้น

และได้ตั้งมูลนิธิเพื่อสนับสนุนโรงเรียน ชื่อมูลนิธิเศรษฐเสถียร ซึ่งมาจาก โชติกเสถียร (นามสกุลเดิมของคุณหญิงโต๊ะ) และ เศรษฐบุตร (นามสกุลเดิมของพระยานรเนติบัญชากิจ) สามีของท่าน และต่อมากระทรวงศึกษาธิการได้เปลี่ยนชื่อโรงเรียนสอนคนหูหนวกดุสิตเป็นโรงเรียนเศรษฐเสถียร เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่มูลนิธินี้ ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2518 เป็นต้นมา

โรงเรียนเศรษฐเสถียรมีตราประจำโรงเรียนเป็นอักษรย่อ ส.ศ.ส. ล้อมรูปมือ หู และปาก ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของวิธีการสื่อความหมายของคนหูหนวกที่ใช้ภาษามือร่วมกันกับการใช้การได้ยินที่หลงเหลืออยู่ โดยการฝึกให้พูดและการอ่านริมฝีปาก

ต่อมาเมื่อวันที่ 26 ก.ย.2545 สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับโรงเรียนเศรษฐเสถียรไว้ในพระราชูปถัมภ์

ซึ่งเป็นโรงเรียนสอนคนหูหนวกแห่งแรกของประเทศไทย ที่ได้รับพระราชทานและอนุญาตให้ใช้ตราประจำโรงเรียนอักษรย่อ ส.ศ.ส. ล้อมรูปมือ หู และปาก

ภายใต้ชื่อโรงเรียนเศรษฐเสถียร ในพระราชูปถัมภ์

หน้า 21

29 เมษายน 2553

ล่ามภาษามือชุมชน

อนุกรรมการส่งเสริมและพัฒนาล่ามภาษามือ ได้ประกาศรับจดแจ้งล่ามภาษามือชุมชน เพื่อให้ได้บุคคลปฏิบัติหน้าที่ล่ามภาษามือมากขึ้น ตั้งแต่วันที่ 2 มีนาคม - 30 เมษายน 2553

คลิกอ่านรายละเอียดได้ที่ http://www.nep.go.th/index.php?mod=news_detail&id=100

สำหรับคนหูหนวก หรือล่ามภาษามือ มาขอจอแจ้งล่ามภาษามือไม่ทัน กรุณารอติดตามข่าวต่อไป
ขอให้สมัครไว้ ถือเป็นโอกาสงานที่ดี เมื่อชุมชนต้องการล่ามภาษามือ สามารถช่วยเหลือได้

ขออภัยที่ลงข่าวนี้อย่างล่าช้า

26 เมษายน 2553

ขอนำข่าวทุนสนับสนุนคนพิการรับปริญญา จากสำนักงาน ก.พ.

สำนักงาน ก.พ.รับสมัครคัดเลือกบุคคลเพื่อรับทุนรัฐบาลตามความต้องการของส่วนราชการประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2553 ทุนสนับสนุนการศึกษาของคนพิการ (ระดับปริญญา) ตั้งแต่วันที่ 26 เมษายน ถึง 14 พฤษภาคม 2553



ด้วยสำนักงาน ก.พ. จะดำเนินการคัดเลือกบุคคลเพื่อรับทุนรัฐบาลตามความต้องการของส่วนราชการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2553 ทุนสนับสนุนการศึกษาของคนพิการ (ระดับปริญญา) ฉะนั้นอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 13 (9) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2551และระเบียบ ก.พ. ว่าด้วยทุนของรัฐบาล พ.ศ.2551 จึงประกาศรับสมัครคัดเลือกพร้อมทั้งกำหนดหลักสูตรและวิธีการดำเนินการคัดเลือกเพื่อรับทุน ดังต่อไปนี้

ทุนที่รับสมัครคัดเลือก จำนวน 7 หน่วย รวม 7 ทุน ได้แก่

1.1 ทุนสำหรับบุคคลที่มีความบกพร่องทางการเห็น จำนวน 2 หน่วย รวม 2 ทุน
1.2 ทุนสำหรับบุคคลที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน จำนวน 5 หน่วย รวม 5 ทุน

ผู้ประสงค์จะสมัครรับการคัดเลือก สามารถขอใบสมัครได้ที่สำนักงาน ก.พ.เครือข่ายมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา สำนักงาน ก.พ. เครือข่ายมหาวิทยาลัยบูรพา จังหวัดชลบุรี สำนักงาน ก.พ. เครือข่ายมหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง จังหวัดราชบุรี สำนักงาน ก.พ. เครือข่ายมหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง สำนักงาน ก.พ. เครือข่ายมหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม จังหวัดพิษณุโลก สำนักงาน ก.พ. เครือข่ายมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี สำนักงาน ก.พ. เครือข่ายมหาวิทยาลัยขอนแก่น สำนักงาน ก.พ. เครือข่ายมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี สำนักงาน ก.พ. เครือข่ายมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาลัยราชสุดา สมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย สมาคมคนหูหนวกแห่งประเทศไทย สมาคมคนพิการแห่งประเทศไทย สภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย มูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์ มูลนิธิอนุเคราะห์คนหูหนวกในพระบรมราชินูปถัมภ์ มูลนิธิอนุเคราะห์คนพิการในพระราชูปถัมภ์ของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ศูนย์แนะแนวการศึกษาและข้อมูลข่าวสาร สำนักงาน ก.พ. กรุงเทพมหานคร กลุ่มงานบริหารการสอบและระบบทุน ศูนย์สรรหาและเลือกสรร สำนักงาน ก.พ. เลขที่ 47/101 ถนนติวานนท์ ซอย 4 ตำบลตลาดขวัญ อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี หรือพิมพ์ใบสมัคร และแบบฟอร์มที่ใช้ในการสมัครได้ทางInternet ที่ Website ของสำนักงาน ก.พ. ที่ http://www.ocsc.go.th

รับสมัครตั้งแต่วันที่ 26 เมษายน ถึง 14 พฤษภาคม 2553 ผู้สมัครสามารถยื่นใบสมัครได้ด้วยตนเอง หรือทางไปรษณีย์

การยื่นใบสมัครด้วยตนเอง ให้ยื่นในวัน และเวลาราชการ ภายในวันที่ 14 พฤษภาคม 2553 ณ กลุ่มงานบริหารการสอบและระบบทุน ชั้น 2 อาคาร 8 ศูนย์สรรหาและเลือกสรร สำนักงาน ก.พ. ถนนติวานนท์ จังหวัดนนทบุรี หรือจะให้ผู้อื่นไปยื่นแทนก็ได้
ผู้สมัครจะต้องกรอกรายละเอียดในใบสมัครให้ครบถ้วน ถูกต้องตามความเป็นจริง และลงลายมือชื่อด้วยตนเอง ในกรณีที่ไม่สามารถ
ลงลายมือชื่อได้ให้พิมพ์ลายนิ้วมือด้วยนิ้วหัวแม่มือ ใบสมัครเอกสาร และหลักฐาน ที่ส่งหลังวันที่ 14 พฤษภาคม 2553
จะไม่รับสมัคร

การยื่นใบสมัครทางไปรษณีย์ จะต้องยื่นใบสมัครพร้อมเอกสารและหลักฐานในการสมัครคัดเลือก ไปที่กลุ่มงานบริหารการสอบและระบบทุน ศูนย์สรรหาและเลือกสรรสำนักงาน ก.พ. เลขที่ 47/101 ถนนติวานนท์ ซอย 4 ตำบลตลาดขวัญ อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี 11000 โดยเขียนที่มุมซองให้เห็นชัดเจนว่า “สมัครทุนคนพิการ” ภายในวันที่ 14 พฤษภาคม 2553 ทั้งนี้ จะถือวันที่ที่ทำการไปรษณีย์ต้นทางประทับตรารับจดหมายเป็นสำคัญ ใบสมัคร เอกสารและหลักฐาน ที่ส่งหลังวันที่ 14 พฤษภาคม 2553
จะไม่รับสมัคร

ดาวโหลดข้อมูลและใบสมัคร ทุนเพื่อสนับสนุนการศึกษาของคนพิการ (ระดับปริญญา)

21 เมษายน 2553


นิทรรศการภาพถ่าย “ผู้หญิงพิการ: แรงบันดาลใจ ความงามและคุณค่า”/ Photo Exhibition “ Women with Disabilities: Inspiration, Grace and Value”

18- 28 พ.ค. 53 ณ บริเวณโถงชั้น L หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร18-28 May 2010, L. Floor, Bangkok Art and Cultural Centre

องค์การคนพิการสากล ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ภายใต้การสนับสนุนของสถาบันสร้างเสริมสุขภาพคนพิการ

Arranged by Disabled Peoples’ International- Asia Pacific Under the sponsorship of the Institute of Health for People with Disability

พิธีเปิดและการเสวนา: 20 พ.ค. 13.00-16.00 น. ณ บริเวณโถงชั้น L หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร Opening Ceremony and Seminar: 20 May, 2010 at 1-4 p.m., L Floor, Bangkok Art and Cultural Centre

***************************************************

นิทรรศการภาพถ่ายขาวดำจำนวน 50 ภาพ โดยช่างภาพอิสระอภิลักษณ์ พวงแก้วซึ่งถ่ายทอดเรื่องราวชีวิตและการทำงานของผู้หญิงพิการจำนวน 25 คนจากหลากหลายอาชีพและหลากหลายความพิการ เพื่อเปิดเผยให้เห็นถึงแง่มุมที่มักไม่ถูกพูดถึงในสังคมไทยของผู้หญิงพิการในฐานะของการเป็นแรงผลักดัน ผู้สร้างสรรค์และผู้ให้

พร้อมทั้งเชิญร่วมรับฟังการเสวนาในวันพุธที่ 20 พ.ค. ตั้งแต่เวลา 13.00 น. ในหัวข้อ “เรื่องเพศของหญิงพิการ เรื่องต้อง (ไม่) ห้าม” ซึ่งนักวิชาการ นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิคนพิการและศิลปิน นำโดย ดร. เพ็ญจันทร์ ประดับมุข- เชอร์เรอร์ คณะสังคมศาสตร์ฯ ม. มหิดล ผู้เชี่ยวชาญด้านเพศวิถีของคนพิการ คุณนิวัติ กองเพียร ศิลปินและนักวิจารณ์งานศิลปะ ฯลฯ จะร่วมพูดคุยและทำความเข้าใจเกี่ยวกับเพศวิถีและความสำคัญของสิทธิทางด้านอนามัยเจริญพันธุ์ของหญิงพิการ รวมทั้งรับฟังประสบการณ์ที่น่าประทับใจของตัวแทนหญิงพิการ ผู้เป็นแรงบันดาลใจให้กับศิลปิน


A collection of 50 black & white photos by independent and activist photographer Aphiluck Puangkaew who volunteers to tell the stories of 25 women with disabilities from various walks of life and physical challenges. This exhibition shows the unspoken and forgotten fate of women with disabilities who, despite barriers and discrimination in society, strive to succeed and contribute as agent of change, creator and giver in Thai society.

On May 20, 2010 at 1 p.m., the seminar is led by Dr. Penchan Pradubmook, a specialist in Sexuality from the faculty of Social Sciences&Humanities, Mahidol University and Niwat Kongpien, a famous artist & art critics etc.



เพิ่มเติมรายละเอียดนิทรรศการภาพถ่ายฯและประวัติช่างภาพ ได้ที่เอกสารไฟล์แนบ



สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ผู้ประสานงาน คุณ สุรีพร ยุพา - โทร 02 271 2123 มือถือ 086 7183140 อีเมล Sureeporn@dpiap.org

Contact Person: Ms. Sureeporn Yupa - Tel: 02 271 2123 Mobile: 086 7183140 E- mail Sureeporn@dpiap.org

ติดตามข้อมูลล่าสุดในเวบไซต์องค์การคนพิการสากลประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกได้ที่ http://www.dpiap.org/

26 มีนาคม 2553

ก้าวย่างใหม่ของล่ามภาษามือในประเทศไทย นวัตกรรมเพื่อคุณภาพชีวิตคนหูหนวก


วันที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2553 เวลา 16:03:28 น. มติชนออนไลน์

ก้าวย่างใหม่ของล่ามภาษามือในประเทศไทย นวัตกรรมเพื่อคุณภาพชีวิตคนหูหนวก

ความพิการเป็นเพียงลักษณะทางกายไม่ใช่ ตัวบ่งชี้ศักยภาพของคน ไม่ว่าจะเป็นการบกพร่องการเคลื่อนไหวจิตใจ อารมณ์ สติปัญญาและการเรียนรู้ ดังนั้น คนหูหนวกอยู่ที่ไหนก็ต้องมีล่ามภาษามืออยู่ที่นั่น เพื่อเสริมคุณภาพชีวิตให้ดำเนินไปได้อย่างปกติสุข

เพื่อยกระดับคนพิการทางการได้ยิน ซึ่งว่าเป็นความพิการอันดับ 2 ของคนไทย ให้ใช้ชีวิตในสังคมได้ตามปกติ


กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานสร้างเสริมสุขภาพคนพิการในสังคมไทย (สสพ.) และสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) จึงร่วมกันจัดงานเสนวนา “ก้าวย่างใหม่ของล่ามภาษามือในประเทศไทย” เพื่อกระตุ้นให้เกิดการผลิตบุคคลากรที่มีความสามารถทางการสื่อสารล่ามมือ เพื่อตอบสนองความต้องการผู้พิการทางการได้ยินให้เข้าถึงการใช้ประโยชน์จาก ล่ามมือในชีวิตประจำวันได้มากขึ้น อันจะยังผลให้เกิดคุณภาพชีวิตที่ดี ตรงตามเจตนารมณ์ของรัฐบาลที่บัญญัติไว้ว่า ผู้พิการทางการได้ยินมีสิทธิ์ได้รับล่ามภาษามืออย่างเพียงพอ และมีประสิทธิภาพ ซึ่งถือว่าเป็นนวัตกรรมหนึ่งในการพัฒนาคุณภาพชีวิต


“ขณะนี้มีผู้มาจดแจ้งเป็นล่ามมือประมาณ 300 คน ขณะที่ผู้พิการทางการได้ยินทั่วประเทศจากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ เมื่อปี 2550 มีประมาณ 700,000 คน ซึ่งหมายถึง เพียงแต่กลับมีผู้พิการทางการได้ยินที่มาจดทะเบียนคนพิการเพื่อขอรับสิทธิใน การเข้าถึงบริการล่ามมือกับพม.เพียง 140,000 คนเท่านั้น ทั้งที่ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย” นายอิสสระ สมชัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าว


นายอิสสระ เสริมอีกว่า พม.ตระหนักถึงความจำเป็นที่ต้องจัดให้บริการล่ามภาษามือ ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการทางการได้ยิน จึงได้เร่งผลักดันให้เกิดระบบบริการล่ามภาษามือที่มีประสิทธิภาพขึ้น โดยมีค่าตอบแทนให้ผู้ปฏิบัติงาน ที่จะเป็นสื่ออำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ของคนหูหนวก ให้สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารทุกด้านที่เกี่ยวข้องกับการดำรงชีวิตประจำวัน และได้รับบริการทางสังคมต่างๆ รวมทั้งการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นและมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคมได้อย่าง เต็มศักยภาพเท่าเทียมกับบุคคลทั่วไป


“เราได้ร่วมดำเนินการกับเครือข่ายทั้งภาครัฐ เอกชน องค์กรของคนพิการ ตลอดจนสมาคมล่ามภาษามือแห่งประเทศไทย ซึ่งเตรียมพร้อมขยายการให้บริการให้สามารถครอบคลุมทั่วถึงทุกจังหวัด โดยค่าตอบแทนให้ผู้ปฏิบัติงาน คิดเป็นรายชั่วโมง ชั่วโมงละ 300 – 500 บาท แต่หากเป็นการบรรยายในการสัมมนา หรือเป็นวิทยากร มีค่าตอบแทนชั่วโมงละ 600 บาท” รมว.พม.กล่าว และทิ้งท้ายว่า


“ความพิการเป็นเพียงลักษณะทางกายไม่ใช่ตัวบ่งชี้ศักยภาพของคน ไม่ว่าจะเป็นการบกพร่องทางการเคลื่อนไหวจิตใจ อารมณ์ สติปัญญาและการเรียนรู้…ดังนั้นคนหูหนวกอยู่ที่ไหนก็ต้องมีล่ามภาษามืออยู่ ที่นั่น เพื่อเสริมคุณภาพชีวิตให้ดำเนินไปได้อย่างปกติสุข”


ด้านนางกิ่งแก้ว อินหว่าง เลขาธิการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ (พก.) กล่าวว่า เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2552 คณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ ได้มีมติให้ตั้งคณะอนุกรรมการส่งเสริมและพัฒนาล่ามภาษามือ เพื่อให้เป็นไปตามระเบียบคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่ง ชาติ ว่าด้วยล่ามภาษามือ พ.ศ.2552


“เมื่อพม.เปิดให้ล่ามภาษามือมายื่นจดทะเบียนแล้ว หากคนหูหนวกต้องการขอรับบริการล่ามภาษามือ ก็มายื่นคำขอรับบริการได้ใน 4 กรณี ได้แก่ 1. ใช้บริการทางการแพทย์และสาธารณสุข 2.สมัครงานหรือติดต่อประสานงานด้านการประกอบอาชีพ 3.ร้องทุกข์กล่าวโทษ หรือเป็นพยานในชั้นพนักงานสอบสวน และ 4.เข้าร่วมประชุมสัมมนาและฝึกอบรม โดยในเขตกรุงเทพฯ ให้ยื่นคำขอต่อกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ส่วนต่างจังหวัดให้ยื่นติดต่อขอใช้บริการได้ที่สำนักงานการพัฒนาสังคมและ ความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดทุกแห่งทั่วประเทศ (พมจ.)” เลขาธิการ พก.กล่าว


ส่วน ดร.มลิวัลย์ ธรรมแสง นายกสมาคมล่ามภาษามือแห่งประเทศไทย กล่าวว่า วันนี้คนหูหนวกทั่วโลกจะต้องชื่นชมที่ทางมูลนิธิให้โอกาสกับคนหูหนวก ซึ่งล่ามภาษามือ คือ ผู้ทำหน้าที่อำนวยความสะดวกให้คนหูหนวกเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร และติดต่อสื่อสารกับผู้ที่มีการได้ยิน หรือผู้ที่สื่อสารด้วยภาษาที่แตกต่างกัน


“บทบาทสมาคมล่ามภาษามือ คือ 1.เป็นองค์กรวิชาชีพหนึ่งที่อาจแปลกใหม่ แต่ในสากลมีเกิดขึ้น ซึ่งไทยมีองค์กรที่เป็นตัวแทนแล้วด้วย 2.มุ่งหวังส่งเสริมพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนหูหนวก และส่งเสริมให้อาชีพล่ามภาษามือเป็นเสมือนหนึ่งงานเชิงวิชาการ และทำให้สังคมตระหนักถึงความสำคัญของล่ามมือที่ต้องใช้ความอดทน และความชำนาญสูง แต่เมื่อเรียนจบแล้วกลับไม่มีงานที่มั่นคง สมาคมฯ จึงได้เสนอให้ พม.เร่งบรรจุล่ามภาษามือเข้าเป็นข้าราชการ เพราะเป็นหน่วยงานที่มีภาระหน้าที่ดูแลคนพิการโดยตรง” ดร.มลิวัลย์ กล่าว


ขณะที่ นายยงยุทธ บริสุทธิ์ นายกสมาคมคนหูหนวกแห่งประเทศไทย ได้ลุกขึ้นกล่าวขอบคุณด้วยภาษามือและบอกว่า คนหูหนวกคาดหวังกับการมีล่ามภาษามือมาก นอกจากนี้การมีล่ามมือที่มีประสิทธิภาพจะช่วยสนับสนุนผู้พิการทางการได้ยิน 2 ทางได้คือ 1.ได้ทำหน้าที่เป็นสื่อกลางเพื่อถ่ายทอดสิ่งที่คนหูหนวกต้องการสื่อไปยัง บุคคลอื่นให้ได้รู้ในสิ่งที่ต้องการจะบอกและได้แปลจากสิ่งที่คนปกติอยากจะ บอกให้กับคนหูหนวกรับทราบด้วย และ 2.คิดว่าล่ามภาษามือจะมีความรู้และความเข้าใจ ที่สำคัญล่ามต้องมีความเป็นวิชาชีพ รักษาความลับในบางอย่างที่คนหูหนวกไม่ต้องการเปิดเผยด้วย

06 มีนาคม 2553

อบรมเชิงปฏิบัติการเรื่อง จิตอาสาเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ


ฝากประชาสัมพันธ์ทุกท่านด้วยนะคะ
วิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดล ขอเชิญผู้สนใจเข้าร่วมอบรมเชิงปฏิบัติการ
เรื่อง จิตอาสาเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ
ระหว่างวันที่ 30 เมษายน -2 พฤษภาคม2553

เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับคนพิการ และทักษะในการช่วยเหลือคนพิการ
ให้แก่บุคคลทั่วไปที่สนใจ

หัวข้อในการอบรม
1.จิตอาสากับการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ
2.ความรู้เรื่องคนพิการ/ความพิการ
3.ความรู้เรื่องกฎหมาย/นโยบายที่เกี่ยวข้องกับคนพิการ
4.ความรู้เรื่องจิตวิทยาและการเป็นอาสาสมัคร
5.ความรู้เรื่องการช่วยเหลือ/การปฏิบัติตัวต่อคนพิการแต่ละกลุ่ม
6.การสาธิตและฝึกปฏิบัติเรื่องการช่วยเหลือคนพิการ

อบรมฟรี สำรองที่นั่งได้ที่
Disability Support Services Center
ศูนย์บริการสนับสนุนสำหรับนักศึกษาพิการ
มหาวิทยาลัยมหิดล (วิทยาลัยราชสุดา)
111 หมู่ 6 ถ.พุทธมณฑล สาย 4 ศาลายา นครปฐม 73170
โทร 0 28895315 - 9 ต่อ 120,121,112 หรือ 081 941 6577
http://www.rs.mahidol.ac.th
e-mail : dss.mahidol@gmail.com

02 มีนาคม 2553

BMCL ต้อนรับน้องๆ ร.ร.เศรษฐเสถียรฯ

เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา คณะผู้บริหาร บริษัท รถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BMCL) ผู้ให้บริการรถไฟฟ้า MRT นำโดย ดร.สมบัติ กิจจาลักษณ์ กรรมการผู้จัดการ คุณวิทูรย์ หทัยรัตนา ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการ คุณชาติชาย ประดิษพงษ์ ผู้อำนวยการงานส่งเสริมและเผยแพร่กิจกรรม และตัวแทนพนักงาน ให้การต้อนรับคณะนักเรียนและคุณครูจากโรงเรียนเศรษฐเสถียร ในพระราชูปถัมภ์ เข้าเยี่ยมชมกิจการรถไฟฟ้า MRT ในกิจกรรม “พาน้องผู้พิการทางการได้ยิน เรียนรู้ระบบรถไฟฟ้า MRT” เนื่องในเทศกาลวันแห่งความรัก (Valentine’s Day) ประจำปี 2553 และทดลองโดยสารรถไฟฟ้า MRT จากสถานีบางซื่อ – สถานีศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย เพื่อเข้าชมนิทรรศการส่วนต่อขยายบริเวณชานชาลาสายสีส้ม พร้อมร่วมทำกิจกรรมและรับประทานอาหารกลางวัน บริเวณพื้นที่ Metro Mall สถานีกำแพงเพชร

ที่มา : http://www.bangkokmetro.co.th/nap.aspx?Lang=Th&Content=791&Menu=19

25 กุมภาพันธ์ 2553

"กัญจนา" เปิดสมาคมสมาพันธ์เครือข่ายเด็ก และสตรีหูหนวกไทย



เมื่อวันที่๑๓ สิงหาคม ๒๕๕๒ เวลา ๑๐.๓๐ น. นางสาวกัญจนา ศิลปอาชา ประธานมูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย ได้ไปเป็นประธานในพิธีเปิด"สมาคมสมาพันธ์เครือข่ายเด็กและสตรีหูหนวกไทย" ซึ่งตั้งอยู่ที่ ๙๘/๖ หมู่บ้านกลางเมือง ซอยอ่อนนุช ๑๗ แยก๑๖ ถนนสุขุมวิท ๗๗ เขตสวนหลวง กรุงเทพฯ ๑๐๒๕๐

นางพนมวรรณ บุญเต็ม นายกสมาคมฯ กล่าวรายงานว่า “สมาคมสมาพันธ์เครือข่ายเด็กและสตรีหูหนวกไทย เป็นสมาคมใหม่ที่เกิดจากการรวมตัวของสตรีหูหนวกไทย และผู้สนใจสนับสนุนการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็กและสตรีหูหนวกไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความสามัคคีและเป็นศูนย์กลางแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารของสมาชิก เป็นองค์กรในการผลักดันและพิทักษ์สิทธิของเด็กและสตรีหูหนวกในด้านต่างๆ เผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับคนหูหนวกโดยเฉพาะเด็กและสตรีหูหนวก เพื่อให้เกิดความเข้าใจและทัศนคติที่ถูกต้อง ส่งเสริมการฟื้นฟูสมรรถภาพของเด็กและสตรีหูหนวกตามแนวความคิดเห็นพื้นฐาน ให้สามารถช่วยตนเองได้ และมีชีวิตความเป็นอยู่อย่างอิสระ ส่งเสริมและสนับสนุนให้สตรีหูหนวกได้ทำประโยชน์ต่อสังคม เผยแพร่เกียรติคุณของสตรีหูหนวก สนับสนุนและส่งเสริมให้มีการจัดตั้งองค์กรช่วยเหลือตนเองของสตรีหูหนวกในระดับท้องถิ่นและระดับจังหวัด ส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างชายหญิงโดยการไม่เลือกปฏิบัติ และสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับองค์กรคนพิการทั่วโลก โดยไม่หวังผลกำไรและไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง ดังนั้น เพื่อให้สมาคมสมาพันธ์เครือข่ายเด็ก และสตรีหูหนวกไทย สามารถดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ คณะกรรมการสมาคมฯ จึงได้จัดตั้งสำนักงานดำเนินการของสมาคมฯ โดยได้รับการสนับสนุนอาคารและงบประมาณดำเนินงานจากคุณพนมวรรณ บุญเต็ม และครอบครัว“

“ การที่คุณพนมวรรณได้ริเริ่มก่อตั้งสมาคมสมาพันธ์เครือข่ายเด็ก และสตรีหูหนวกไทย แสดงให้เห็นว่า คุณพนมวรรณ มีวิสัยทัศน์ที่ดีและทันสมัย เห็นความสำคัญของการเอาใจใส่ ดูแล และเสริมสร้างความเข้มแข็ง ให้เด็กและสตรีหูหนวกไทยสามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีความสุข มีศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ และสิทธิเสมอภาคกับคนทั่วไป ซึ่งเป็นกระแสสากลที่มีการดำเนินการกันทั่วโลก ดิฉัน หวังว่า ท่านที่มาร่วมงานทุกคน รวมทั้งคนที่ทำงานด้านคนพิการทั้งภาครัฐและเอกชน ตลอดจนคนหูหนวกทั้งผู้ชายและผู้หญิงจะช่วยกันสนับสนุนสมาคมสมาพันธ์เครือข่ายเด็กและสตรีหูหนวกไทย ให้สามารถดำเนินงานบรรลุวัตถุประสงค์ตามที่กำหนดไว้” นางสาวกัญจนา กล่าวในพิธีเปิดสมาคมฯ พร้อมกันนี้ได้มอบเงินสนับสนุนการดำเนินงานสมาคมสมาพันธ์ฯ จำนวน ๕,๐๐๐ บาท ( มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย ๑๔ ส.ค. ๒๕๕๒ )

ความคิดเห็นที่ 1

ยินดี ดีใจด้วยครับ ผมเพิ่งอ่านเจอ จึงนำมาเล่าให้เพื่อนฟัง

Hunuak

22 กุมภาพันธ์ 2553

ฟุตซอลหูหนวก อินเตอร์แชมเปี้ยนชิพ



สมาคมกีฬาคนพิการแห่งประเทศไทยฯ จับมือ บริษัท บางกออกกล๊าส จำกัด เตรียมจัดการแข่งขันฟุตซอลคนหูหนวกรายการ "ฟุตซอลอินเตอร์แชมเปี้ยนชิพ 2010" ระหว่างวันที่ 25 มกราคม ถึง 2 กุมภาพันธ์ ศกนี้ ณ อาคารจันทรยิ่งยง สนามกีฬาแห่งชาติ ปทุมวัน


โดยจะมีทีมเข้าร่วมการแข่งขัน 4 ทีมได้แก่ จีน คูเวต จอร์แดน และไทย การแข่งขันครั้งนี้ใช้ระบบพบกันหมด เหย้าและเยือน ทีมที่มีคะแนนสูงสุดจะเป็นผู้ชนะเลิศ โดยจุดประสงค์ของการจัดแข่งขันครั้งนี้ก็เพื่อเป็นการเตรียมทีมฟุตซอลคนหูหนวกทีมชาติไทยก่อนไปเข้าร่วมการแข่งขันฟุตซอลเอเชี่ยนแปซิฟิก ที่ประเทศสิงคโปร์ เพื่อคัดเลือกเป็นตัวแทนทวีปเอเชียไปเข้าร่วมการแข่งขันฟุตซอลคนหูหนวกชิงแชมป์โลกที่ประเทศสวีเดน ปี 2555

Tuesday, 19 January 2010
http://www.sportpost.net/sp/home/49-futsal/3816-futsal.html

ความคิดเห็นที่ 1

พี่จะช่วยเป็นล่ามภาษามือไทยในประเทศสวีเดนด้วย
พี่อ้อม สวีเดน กล่าว

18 กุมภาพันธ์ 2553

งานผู้เขียน

ผู้เขียนได้เข้าไปทำงานที่ APCD นานเกือบสองเดือนแล้ว ขอเชิญคลิกชมเว็บไซต์ที่ทำงานด้วยครับ

http://www.apcdfoundation.org/?q=background


ขอบคุณครับ

โอละพ่อ นสพ.แอฟริกาใต้ตีข่าวคนถูกล็อตเตอรี่ผิดตัว ทำชายหูหนวกชีวิตวุ่นวาย


สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานข่าววุ่น ๆ ในประเทศแอฟริกาใต้ เมื่อหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นตีข่าวว่านายสแตนลีย์ ฟิแลนเดอร์ ชายหูหนวกวัย ๕๒ ปี ซึ่งเป็นพนักงานทำความสะอาดในร้านขายเครื่องมือโลหะแห่งหนึ่ง ในกรุงเคปทาวน์ เป็นผู้ถูกล็อตเตอรี่รางวัลแจ๊คพ็อตมูลค่า ๑๒ ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ ๓๙๖ ล้านบาท แต่ในเวลาต่อมา สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลของแอฟริกาใต้กลับแถลงว่า ผู้ชนะรางวัลแจ๊คพ็อตดังกล่าวที่แท้จริงคือสตรีวัย ๔๓ ปี ผู้ไม่เปิดเผยชื่อรายหนึ่ง ไม่ใช่นายฟิแลนเดอร์ตามข่าว

"ฟิแลนเดอร์ซื้อล็อตเตอรี่หมายเลขเดียวกับเลขที่ถูกรางวัล เราอธิบายไม่ได้ว่าทำไมจึงมีเหตุการณ์เช่นนั้นเกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม หมายเลขล็อตเตอรี่ที่ฟิแลนเดอร์ซื้อไม่ได้มาจากกองสลากอย่างแน่นอน" โฆษกของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลของแอฟริกาใต้ กล่าว อย่างไรก็ตาม การเผยแพร่ข่าวเรื่องการถูกล็อตเตอรี่ของนายฟิแลนเดอร์โดยหนังสือพิมพ์ ได้ส่งผลให้เขาและภรรยาซึ่งหูหนวกเช่นกัน พร้อมด้วยลูก ๆ อีก ๒ คน ต้องหลบไปพักอาศัยอยู่ในสถานที่ปลอดภัยแห่งหนึ่ง เนื่องจากมีญาติมิตรจำนวนมากมายพากันมารุมล้อมขอเงินจากพนักงานทำความสะอาดที่หูหนวกรายนี้ หลังจากได้ทราบข่าวดังกล่าว (มติชนออนไลน์/มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย ๑๗ ก.พ. ๒๕๕๓ )

17 กุมภาพันธ์ 2553

สิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนหูหนวก


เครื่องรับสัญญาณด้วยระบบสั่น เป็นเครื่องไว้สำหรับติดตัว สามารถรับสัญญาณต่างๆ แปรเป็นระบบสั่นได้ จากทุกกรณี เช่น นาฬิกา รับเสียงเด็กทารกร้องเป็นระบบสั่น โทรศัพท์ กริ่งหน้าบ้าน ซึ่งทำงานแบบไร้สายอีกด้วย ผู้เขียนเคยเห็นที่อเมริกา ในร้านกึ่งผับ จะมีบริการเสิร์ฟเบียร์ เสิร์ฟอาหาร มีโต๊ะสนุ๊กเกอร์ ตู้เกมส์ต่างๆ เวลาลูกค้ามาสั่งอาหาร ซึ่งต้องรอนาน เพราะมีลูกค้าจำนวนมาก จึงใช้เครื่องเรียกระบบสั่น เข้าไปรับอาหารเองที่เคาน์เตอร์ คือ ร้านนี้ไม่มีพนักงานคอยเสิร์ฟให้ ซึ่งอำนวยความสะดวกดีจริงๆ ไม่ต้องตะโกนเรียกให้ลูกค้ามารับอาหาร อย่างที่เห็นในเมืองไทย ยังมีอยู่เลย (งานบริการที่ไม่มีพนักงานเสิร์ฟนะ เคยเห็นร้านในเมืองไทยไหม ผู้เขียนเคยเห็นมาแล้ว)


สิ่งอำนวยความสะดวกนี้ก็เป็นเรื่องของความปลอดภัย สำหรับเตือนเวลาไฟไหม้ สามารถเตือนในรูปแบบระบบสั่นได้ หรือ ใช้ไฟแฟลต ก็ได้ เมื่อเร็วนี้ ประเทศญี่ปุ่นได้วิจัยและพัฒนาโดยใช้กลิ่นวาซาบิ เวลาเกิดเพลิงไหม้ มันจะส่งกลิ่นแรงแสบจมูก ก็ไม่เลวเหมือนกันนะ ผู้เขียนจะลองใช้ดูบ้าง สามารถเลือกใช้ให้เหมาะสมตามผู้ใช้ด้วย เพราะมีเพื่อนหูหนวกคนหนึ่ง เป็นคนชาติซาอุฯ ไม่เฉพาะหูหนวกอย่างเดียว เขาจมูกหนวกด้วย เป็นอันหมดสิทธิ์สำหรับเครื่อเตือนภัยวาซาบิ เป็นเรื่องจริง เขามักจะโดนให้ใช้งานทำความสะอาดที่มีกลิ่นเหม็นมาก เช่น กลิ่นอ้วก หรือแม้กลิ่นน้ำยาฆ่าเชื้อโรค ใครๆก็สุดจะทน ทนไม่ไหวจริงๆ เพื่อนเขาคนนี้สบายมากสำหรับคนจมูกหนวก เขาเกิดมาพร้อมกับหูหนวกอยู่แล้ว ไม่ใช่เป็นเพราะเขาเป็นหวัดหรอกนะ ฮา



เครื่องมือสื่อสาร เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับคนหูหนวกอย่างมาก ไว้ใช้ติดต่อกับผู้คน โทรศัพท์โน๊ตบุค เป็นอีกรูปแบบหนึ่งที่ได้รับการพัฒนา ซึ่งใช้เหมือนกับโทรศัพท์บ้าน คือใช้เบอร์บ้านนี่แหละ ในการติดต่อ สะดวกดี

ขอขอบคุณ พี่อ้อม สวีเดน นำข่าว

12 กุมภาพันธ์ 2553

ขอเล่าข่าว

มีเว็บหนึ่งน่าสนใจดี www.deafread.com ผู้เขียนเพิ่งจะมาเปิดอ่าน เพิ่งจะรู้ว่างานนี้เป็นงานอดิเรกหนึ่งของผู้เขียนเอง (เพิ่งจะรู้นะเนี่ย) คืออ่านแล้วชอบความคิด (Idea)ของเขาที่จัดรวบรวมข่าวหูหนวกจากเว็บทั่วโลก มีให้เลือกอ่านได้ตามใจชอบ ลองคลิกอ่านดูนะครับ ได้ฝึกภาษาไปด้วย

มีเว็บดีๆ มากมายในโลกที่เกี่ยวกับคนหูหนวก ได้ออกมาแสดงศักยภาพคนหูหนวกให้ชมกัน เช่น เว็บบล็อกคนหูหนวกญี่ปุ่น http://deafjapan.blogspot.com ลองคลิกเข้าไปชมอ่านได้นะครับ คล้ายๆกับบล็อกนี้เลย แต่ของเขาอินเตอร์กว่า :]

มีเว็บไซต์วีดีโออื่นมาแนะนำให้ชมกัน พัฒนาโดยฝีมือคนหูหนวก

http://www.zoom.coip.no/


http://www.ur.se/Mediespelaren/Start/Barn/Krokodill2/Krokodill/


ใครมีฝีมือ มีไอเดียเจ๋งๆ พัฒนาเว็บไซต์หูหนวกไทย หรือวีดีทัศน์ ก็มาแชร์กัน ไม่ว่าจะเป็นสื่อใดๆ ก็ตาม ก็สามารถเปลี่ยนแปลงทัศนคติที่ดีต่อคนพิการ ร่วมกันสร้างสื่อเพื่อสร้างสรรค์ โดยยึดจุดยืน คือความเท่าเทียมของสิทธิมนุษยชน

04 กุมภาพันธ์ 2553

หนุนคนพิการเรียนฟรีถึงป.ตรี และเปิดหลักสูตรล่ามภาษามือ รุ่นแรกปี 53


ทำเนียบรัฐบาล : คนพิการเฮรัฐหนุนเรียนฟรีถึงปริญญาตรีโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายทั้งสถาบันของรัฐและเอกชน คาดรุ่นแรกเข้าเรียนได้ในปีการศึกษา 2553 พร้อมเปิดหลักสูตรล่ามภาษามือเป็นครั้งแรกสำหรับคนทั่วไป

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยถึงผลการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้ยกร่างระเบียบคณะกรรมการส่งเสริมการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการว่าด้วยการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษาสำหรับคนพิการ ซึ่งเป็นการดำเนินการครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่จะกำหนดหลักเกณฑ์ชัดเจนเพื่อให้คนพิการทั่วประเทศได้เรียนฟรีจนถึงระดับปริญญา โดยจะระบุให้มหาวิทยาลัยทุกแห่งทั้งรัฐและเอกชนต้องรับเด็กพิการเข้าเรียนในระดับปริญญาโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย

ทั้งนี้ เป็นอำนาจของสภามหาวิทยาลัยที่จะจัดทำแผนและกำหนดแนวทางการรับนักศึกษาพิการ โดยจะต้องคำนึงถึงความหลากหลายของความพิการและกำหนดจำนวนรับต่อปี โดยแผนการรับนักศึกษาดังกล่าวต้องเสร็จสิ้นภายใน 120 วันก่อนเปิดภาคเรียนในทุกปีการศึกษา สำหรับงบประมาณสนับสนุนให้มหาวิทยาลัยทำเรื่องขอเบิกจากสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) แต่หากงบไม่พอสามารถขออนุมัติเพิ่มเติมจากกองทุนส่งเสริมการศึกษาคนพิการ ที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ดูแลอยู่

“หลังจากคณะทำงานได้ยกร่างระเบียบดังกล่าวและนำเสนอรัฐมนตรีศึกษาธิการลงนามแล้วจะมีผลบังคับในทางปฏิบัติทันที โดยมหาวิทยาลัยต้องไปจัดทำเกณฑ์การรับนักศึกษาพิการเข้าไปเรียนในระดับปริญญาตรีฟรี คาดว่าภายในปีการศึกษา 2553 จะสามารถรับนักศึกษาพิการเข้าเรียนฟรีในรุ่นแรกได้” นายจุรินทร์กล่าว

นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้รับทราบการจัดทำหลักสูตรการเรียนล่ามภาษามือเป็นครั้งแรกของประเทศ ซึ่งประกอบด้วย 3 ส่วนคือ หลักสูตรการเรียนล่ามภาษามือขั้นพื้นฐาน ภาษามือเพื่อการสื่อสารกับคนหูตึง และหลักสูตรการปฏิบัติจริง ใช้เวลาเรียนหลักสูตรละ 1 สัปดาห์ โดยผู้ที่มีสิทธิเข้าเรียนคือคนปรกติทั่วไปและคนหูตึงแต่สื่อสารด้วยวาจาได้และอยู่ในเกณฑ์ที่เรียนได้

นายจุรินทร์กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีว่า ที่ประชุมเห็นชอบเรื่องการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่ 2 ระหว่างปี 2552-2556 ที่มุ่งเน้นการยกระดับคุณภาพการศึกษา การขยายโอกาส และการแสวงหาการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน โดยในเรื่องคุณภาพจะเน้นสร้าง 4 ยุคใหม่คือ คนไทยยุคใหม่ ครูยุคใหม่ แห่งเรียนรู้ยุคใหม่ และสถานศึกษายุคใหม่ พร้อมตั้งสถาบันคุรุศึกษาเพื่อผลิตและกำหนดมาตรฐานครู ตั้งสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพเพื่อกำหนดเกณฑ์ในการชี้วัดสถานะในการปฏิบัติงานจริงของผู้จบการศึกษาว่าอยู่ในระดับใด เพื่อจะได้รับค่าตอบแทนตามคุณวุฒิวิชาชีพนั้น

นักวิทย์ยุ่นคิด กริ่งเตือนไฟไหม้ กลิ่นวาซาบิ.....ช่วยคนหูหนวก




สำนักข่าวต่างประเทศรายงานเมื่อวันที่ ๓ ก.พ. ๒๕๕๓ ว่า นักวิทยาศาสตร์ชาวญี่ปุ่น คิดประดิษฐ์นวัตกรรมใหม่สำหรับเครื่องตรวจจับควัน หรือสัญญาณเตือนไฟไหม้ ให้สามารถช่วยเหลือชีวิตได้มากยิ่งขึ้น โดยเป้าประสงค์อยู่ที่ผู้สูงวัย ซึ่งความสามารถในการฟังเสียงสัญญาณเตือนอาจลดน้อยกว่าคนวัยหนุ่มสาว รวมถึงสำหรับผู้พิการด้านการฟัง หรือ คนหูหนวกด้วยเช่นกัน โดยมาโกโตะ อิมอาอิ ผู้ช่วยศาสตรจารย์จากมหาวิทยาลัยการแพทย์ชิงะ ของประเทศญี่ปุ่นเผยว่า จำนวนเหยื่อผู้ประสบภัยเพลิงไหม้ กว่า ๕๐ เปอร์เซ็นต์เป็นผู้สูงวัย และผู้พิการด้านการฟัง จึงประดิษฐ์สัญญาณเตือนภัยที่มีทั้งเสียงและกลิ่น ซึ่งกลิ่นที่จะใช้สำหรับเตือนภัยนั้น คือกลิ่นของวาซาบิ ซึ่งความฉุนของมัน อาจช่วยให้ไหวตัวทันต่อสถานการณ์ สำหรับสิ่งประดิษฐ์ใหม่ดังกล่าว คาดว่าจะสามารถวางจำหน่ายในอีก ๒ ปีข้างหน้าส่วนราคาอาจอยู่ที่ ๓๕๐ ปอนด์ (ราว ๑๘,๕๐๐ บาท) (ไทยรัฐออนไลน์/มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย ๔ ก.พ. ๒๕๕๓ )

เครือข่ายคนหูหนวก

สวัสดีครับท่านผู้อ่าน ผม Bkom จะนำเรื่องเล่ามาสู่กันฟังครับ

ยุคนี้เป็นยุคของการยกระดับสิทธิมนุษยชน ได้มีการเรียกร้องให้มีการปฏิบัติโดยเท่าเทียมกันในสังคม โดยได้มีการพัฒนามุมมองจากคนพิการส่วนบุคคล โดยแก้ไขความพิการ ให้หายขาดด้วยเทคโนโลยีชั้นสูง เช่น เครื่องช่วยฟัง ประสาทหูเทียม ในบางครั้งก็ไม่ตรงกับความต้องการของคนพิการ จึงได้มีการเปลี่ยนมุมมอง ด้วยการพัฒนาการอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างมีความสุข โดยเริ่มจาก ครอบครัว หมู่บ้าน ไปสู่สังคมใหญ่ในที่สุด ด้วยความพยายามสร้างชุมชนให้เข้มแข็ง โดยเฉพาะชุมชนคนพิการที่อยู่ร่วมกับคนทั่วไป และการเข้าถึงได้ (Accessibility)ในทุกด้าน เช่น ข้อมูลข่าวสาร การเดินทาง เป็นต้น

ในขณะนี้ได้มีกลุ่มคนพิการหลายๆกลุ่มได้พยายามสร้างองค์กรของตัวเอง สร้างเครือข่าย ระดับชาติและ ระดับโลก เพื่อพัฒนาศักยภาพของตนให้ดีขึ้น การดำเนินการของกลุ่มคนหูหนวกหลายๆ องค์กรได้จัดประชุมขึ้น เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และสร้างเครือข่ายให้เข้มแข็ง เช่นเรื่องดังต่อไปนี้

ในประเทศแถบสแกนดิเนเวีย ยุโรปภาคเหนือ ประกอบด้วย เดนมาร์ก ฟินแลนด์ ไอซ์แลนด์ นอร์เวย์ และสวีเดน และดินแดนปกครองตนเองในสังกัดประเทศเหล่านั้นสามแห่ง ได้แก่ กรีนแลนด์ (เดนมาร์ก) หมู่เกาะแฟโร (เดนมาร์ก) และหมู่เกาะโอลันด์ (ฟินแลนด์)(อ้างอิงจาก วิกีพีเดีย)ได้จัด the Nordic Cultural Festival for Deaf เชิญคลิกและติดตามข่าวได้ที่

http://www.dovkulturfestival2010.se/1001?lang=en


ถ้าเป็นบ้านเรา ระดับ อาเซียน 11 ประเทศ ก็เคยจัดกิจกรรมค่ายเยาวชนพัฒนาความเป็นผู้นำคนหูหนวกมาแล้ว 3 ประเทศ เช่นประเทศมาเลย์เซีย อินโดนีเซีย และสิงค์โปร์ (ถ้าจัดเรียงลำดับไม่ถูกต้อง ขออภัยด้วย)และประเทศไทย จักได้พยายามจัดในปีนี้ 2010 โดยประมาณตุลาคม ก่อน ชลบุรีเกมส์ ครั้งที่ 29 เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่จะพัฒนาความสัมพันธ์เครือข่ายสมาชิกคนหูหนวกประเทศ ด้วยกิจกรรมค่ายเยาวชน ระดับประเทศในอาเซียน





มาต่อข่าวแถบระดับเอเชียบ้าง The Deaf Dialouge ได้จัดตั้งขึ้นโดย the Chinese University of Hong Kong และ เลขานุการภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก WFD (the World Federation of the Deaf) เพื่อสร้างเครือข่าย แลกเปลี่ยนความรู้ พัฒนาการศักยภาพผู้นำ ในแถบเอเชียนี้ ซึ่งได้สปอนเซอร์สำคัญ จาก The Nippon Foundation of Japan ได้จัดขึ้นที่ ฮ่องกง เมื่อวันที่ 27-30 ธ.ค. 2552ไปแล้ว เชิญคลิกติดตามข่าวการเคลื่อนไหวได้ทื่

http://www.deaf-dialogue.net/