30 เมษายน 2555

เครื่องช่วยฟัง

เครื่องช่วยฟังระบบดิจิตอล จะมีราคาตั้งแต่หมื่นขึ้นไป สามารถปรับความถี่ ด้วยความพิวเตอร์

ส่วนมากคนที่สูญเสียการได้ยินไม่มากนัก จะใช้เครื่องช่่วยฟังช่วยในขยายเสียงให้ดังขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็น และใช้ใส่ตลอดเวลา 

สำหรับผม เครื่องช่วยฟังจะช่วยผมได้ดีมาก ในการสื่อสาร แต่ผมไม่มีปัญญาซื้อเครื่องใหม่ เนื่องจากของเก่าหมดอายุการใช้งาน อย่างมากก็ 3 ปี ปัจจุบันนี้ ผมไม่ใส่เครื่องช่วยฟังนาน 2 ปีกว่าแล้ว และตอนนี้ ก็ยังมีอาการหูอื้อ เนื่องจากหกล้มรุนแรง หัวฟาดพื้น ไม่หายขาด ผมมักจะหูอื้อตอนที่พักผ่อนน้อย

เด็กหูหนวก ควรจะบังคับให้เขาใส่เพื่อฝึกการพูด และการฟัง เมื่อโตขึ้น ก็แล้วแต่ว่าใครจะชอบใส่ หรือไม่ใส่ก็ได้ ขึ้นอยู่ักับว่า เครื่องช่วยฟัง จะช่วยให้การได้ยินหรือไม่ หรือช่วยในการสื่อสารหรือไม่ เพราะในบางครั้ง คนหูหนวกที่สูญเสียความสามารถการได้ยินมาก อาจใส่ไป ไม่มีประโยชน์ อาจสร้างความรำคาญก็ได้

เพราะฉะนั้นเครื่องช่วยฟัง เป็นสิ่งจำเป็นในการฝึกพูดเมื่อตอนยังเล็ก ช่วยในการฟังด้วยในตอนโต ขึ้นอยู่กับความพอใจส่วนบุคคล

หูหนวก ผู้พิการทางการได้ยิน ใช้ได้โดยทั่วไป ผมชอบบอกกับทุกๆคนว่า "ผมเป็นคนหูหนวก" มากกว่า ใครๆ ก็มองว่าผมเป็นคนหูตึง เพราะผมพูดได้ สำหรับความรู้สึกผมแล้ว คำว่า"หูตึง"นั้น ฟังแล้วแปลกแยก

คำว่าหูตึงนั้น คือ คนที่ชอบการพูดมากกว่า และใช้ภาษามือตามคำพูด ซึ่งไม่ใช่ภาษามือแบบฉบับของคนหูหนวก ด้วยเหตุนี้ผมไม่ใช่คนหูตึง เพราะผมใช้ภาษามือแบบฉบับของคนหูหนวก และใช้ภาษาพูดด้วย เหมือนกับนักแปลภาษามือคนหนึ่งครับ

การเรียกใช้ ไม่ควรใช้ คำว่า บกพร่องทางการได้ยิน (hearing Impairment)และเช่นเดียวกันคำว่า "ใบ้"

Bkom HUNUAK

เลขา พก.แนะใช้เทคโนโลยีสร้างนวัตกรรมช่วยคนหูหนวกสื่อสารแทนล่ามภาษามือ

นางนภา เศรษฐกร เลขาธิการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ (พก.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมวิชาการ เรื่อง “แผนพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ ฉบับที่ ๔ พ.ศ.๒๕๕๕ – ๒๕๕๙” เมื่อวันที่ ๒๘ เม.ย.๒๕๕๕ ณ โรงแรมรอยัล ซิตี้ ปิ่นเกล้า กรุงเทพมหานคร ซึ่งจัดโดยสมาคมคนหูหนวกแห่งประเทศไทย และได้รับการสนับสนุนจากกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พก.หลังพิธีเปิดการประชุมดังกล่าว นางนภา เศรษฐกรได้บรรยายพิเศษ เรื่อง “พก. กับ การพัฒนาคุณภาพชีวิตคนหูหนวก” ซึ่งประกอบด้วยสาระสำคัญ ดังนี้
แม้คนหูหนวกมีจุดเสียเปรียบเรื่องการมีความบกพร่องทางการได้ยินและการสื่อสารด้วยภาษาพูด แต่คนหูหนวกมีจุดได้เปรียบที่ลักษณะภายนอกดูเหมือนคนทั่วไป อย่างไรก็ตาม คนหูหนวกเป็นคนพิการกลุ่มใหญ่ที่มีพลังมาก ซึ่งในฐานะที่มีหน้าที่ส่งเสริมหน่วยงานด้านคนพิการทุกหน่วยงาน พก.พร้อมที่จะสนับสนุนคนหูหนวกโดยเฉพาะชมรมคนหูหนวกจังหวัดซึ่งปัจจุบันมีครบทุกจังหวัดรวม ๗๗ ชมรมและมีสมาคมคนหูหนวกแห่งประเทศไทยเป็นองค์กรแม่ ทั้งนี้ ชมรมฯต้องคิดเองว่า ต้องการทำอะไร เพื่อบริการช่วยเหลือสังคมและช่วยเพื่อนหูหนวกด้วยกันเองในการพัฒนาคุณภาพชีวิต การมาร่วมประชุมครั้งนี้ จึงเป็นโอกาสดีที่จะชมรมฯ จะร่วมกันคิดยุทธศาสตร์พัฒนาคุณภาพชีวิตคนหูหนวกและเดินหน้าดำเนินการต่อไป
สำหรับการสื่อสารของคนหูหนวก ถ้าไม่มีล่ามภาษามือ ก็ลำบากมาก ชมรมฯ ควรสำรวจศึกษาว่า จำนวนล่ามมีเพียงพอหรือไม่และคุณภาพของล่ามภาษามือเป็นอย่างไร ประชาสัมพันธ์ให้คนหูหนวกได้รับรู้เรื่องการขอใช้บริการล่ามภาษามือ และวิธีสื่อสารกับคนทั่วไป อย่างไรก็ตาม คนหูหนวกจะอาศัยล่ามภาษามืออย่างเดียว คงไม่ได้ และการใช้บริการของศูนย์บริการถ่ายทอดการสื่อสารสำหรับผู้ที่บกพร่องทางการได้ยินและผู้ที่บกพร่องทางการพูด (Thai Telecommunication Relay Service : TTRS) ก็ช่วยได้ระดับหนึ่ง นอกจากนั้น การขอใช้บริการล่ามภาษามือ ก็ยังขอไม่ได้ทุกเรื่อง กล่าวคือ ตามระเบียบฯ คนหูหนวกขอใช้ล่ามได้เพียง ๔ ด้านได้แก่ ด้านการศึกษา การรักษาพยาบาล กระบวนการยุติธรรม และการประชุมวิชาการ อย่างไรก็ตาม พก.กำลังดำเนินการแก้ไขระเบียบฯ ให้ขยายบริการล่ามภาษามือครอบคลุมถึงความขัดแย้งในครอบครัว และเรื่องอื่นๆ ในชีวิตประจำวัน ปัญหาสำคัญ คือ จำนวนล่ามภาษามือมีไม่เพียงพอ และกระบวนการผลิตล่ามภาษามือค่อนข้างยุ่งยากและใช้งบประมาณจำนวนมาก
ขณะนี้ สมาคมล่ามภาษามือและ พก.กำลังยกร่างแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาบริการล่ามภาษามือ ฉบับที่ ๑ พ.ศ. ๒๕๕๕ – ๒๕๕๙ ซึ่งจะเสร็จเร็วๆ นี้ เพื่อเป็นกรอบให้ชมรมคนหูหนวกทั้ง ๗๗ จังหวัดพิจารณาว่าจะมีส่วนร่วมดำเนินการพัฒนาบริการล่ามภาษามืออย่างไร การพัฒนาบริการล่ามภาษามือประกอบด้วย ๕ ยุทธศาสตร์ ได้แก่ ๑)การกำหนดนโยบายและกลไกการบริหารจัดการระบบบริการล่ามภาษามือให้มีประสิทธิภาพ ๒)การผลิตและพัฒนาล่ามภาษามือ ให้มีคุณภาพและเพียงพอ๓)การกำหนดมาตรฐานการให้บริการล่ามภาษามือ และการสร้างและพัฒนาระบบประเมินการให้บริการล่ามภาษามือ ๔)การพัฒนาองค์กรที่จัดบริการล่ามภาษามือ และ ๕)การสร้างสังคมให้มีส่วนร่วมในการสื่อสารด้วยภาษามือและบริการล่ามภาษามือ นอกจากนั้นชมรมฯ ควรตระหนักถึงการร่วมกับ พก.ดำเนินการส่งเสริมคนหูหนวกให้พัฒนาตนเองและมีส่วนร่วมพัฒนาประเทศไทยเมื่อเห็นความสำเร็จของการพัฒนาตนเอง จะเกิดความภาคภูมิใจ ดังนั้น ชมรมฯ ควรดำเนินการให้ได้รับการรับรองมาตรฐานองค์กรจาก พก. ซึ่งเป็นกลไกที่ทำให้การให้บริการคนหูหนวกของทุกชมรมฯ มีประสิทธิภาพเท่าเทียมกัน เนื่องจากหลักเกณฑ์ในการรับรองมาตรฐานครอบคลุมการพัฒนาองค์กร ผู้นำและบุคลากร รวมถึง การใช้จ่ายเงิน การให้บริการ รูปแบบการให้บริการ และคุณภาพการให้บริการ เป็นต้น ถ้าทั้ง ๗๗ ชมรม ได้รับการรับรองมาตรฐานองค์กร คนหูหนวกในทุกจังหวัดจะได้รับบริการมาตรฐานที่เท่าเทียมกัน ฉะนั้น ทุกชมรมฯ จึงต้องเร่งพัฒนาตนเองและเข้าสู่การประเมินมาตรฐานองค์กรโดยเร็ว ถ้าชมรมฯ ได้มาตรฐาน พก.จะพิจารณาให้เงินสนับสนุนการบริหารจัดการชมรมฯ ด้วย
ส่วนการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ฯ ชมรมฯ จะต้องรวมกลุ่มคนหูหนวกเพื่อจัดทำแผน โครงการ และกิจกรรมในการพัฒนาบริการล่ามภาษามือ รวมถึง สำรวจความต้องการใช้ล่ามภาษามือ ควบคุมมาตรฐานบริการล่ามภาษามือ และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเห็นความสำคัญของคนหูหนวกว่าสามารถเป็น “พลัง” และไม่ใช่ “ภาระ” ของสังคมอีกต่อไป อนึ่ง การดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ฯ รวมทั้งการจัดทำแผน โครงการ / กิจกรรมจะต้องสอดคล้องกับ “แผนพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ ฉบับที่ ๔ พ.ศ.๒๕๕๕ – ๒๕๕๙” ซึ่งสอดคล้อง “แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ ๑๑ พ.ศ.๒๕๕๕ – ๒๕๕๙” ทั้งนี้ ชมรมฯไม่ต้องห่วงว่าจะทำโครงการอย่างไร เพราะ พก.พร้อมจะจับมือกับชมรม และสนับสนุนชมรมฯเสมอ
นอกจากนั้น สมาคมคนหูหนวกฯ และชมรมฯ ควรพิจารณากำหนดแนวทางการพัฒนาเทคโนโลยีในการสร้างนวัตกรรมการสื่อสารสำหรับคนหูหนวกในปัจจุบัน และอนาคต เช่น การใส่โปรแกรมภาษามือในโทรศัพท์มือถือเพื่อให้คนหูหนวกสามารถใช้สื่อสารกับคนทั่วไปทุกคนได้อย่างกว้างขวาง โดยไม่ต้องพึ่งล่ามภาษามือ ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมคนหูหนวกให้สามารถดำรงชีวิตอิสระ และอยู่ร่วมกับคนทั่วไปในสังคมโดยไม่มีอุปสรรคกีดกั้น
ท้ายสุด นางนภา เศรษฐกร กล่าวว่า การเป็นองค์กรมาตรฐานจะส่งผลให้ชมรมฯ สามารถให้บริการล่ามภาษามืออย่างมีประสิทธิภาพเท่าเทียมกันทุกชมรมฯ อันจะทำให้ผลการประเมินปรากฏว่า คนหูหนวกพอใจการให้บริการของล่ามภาษามือ ล่ามภาษามือพึงพอใจการบริการและการจ่ายเงินค่าตอบแทนโดยชมรมฯ รวมถึงการประสานงานระหว่างชมรมฯ ล่ามภาษามือ และสมาชิกหูหนวกมีประสิทธิภาพ และเป็นที่พึงพอใจของทุกฝ่าย (มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย ๒๘ เม.ย.๒๕๕๕) 29509