03 พฤษภาคม 2553

ครู"ญาดา ชินะโชติ" เชื่อมโลกเงียบด้วยภาษามือ



วันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2553 ปีที่ 20 ฉบับที่ 7091 ข่าวสดรายวัน

คัคนานต์ ดลประสิทธิ์ รายงาน





โดยธรรมชาติคนทั่วไปที่มีการได้ยินปกติมักจะติดต่อสื่อสารกันด้วยการใช้ภาษาพูด หรือใช้การฟังเสียงพูดและใช้การพูด ซึ่งฝึกโดยการเปล่งเสียงพูดเลียนแบบเสียงที่ได้ยิน เมื่อคนหูหนวกไม่สามารถได้ยินเสียงพูด คนหูหนวกจึงไม่สามารถเปล่งเสียงพูดหรือใช้ภาษาพูดเหมือนคนทั่วไปได้

เพราะฉะนั้นคนหูหนวกทั่วโลกสื่อสารด้วยการใช้ "ภาษามือ" ซึ่งใช้จากการดูและการเคลื่อนไหวของมือประกอบกับการเคลื่อนไหวส่วนอื่นๆ ของร่างกาย รวมทั้งการแสดงออกทางสีหน้า

ดังนั้น น.ส.ญาดา ชินะโชติ อายุ 65 ปี อาสาสมัคร อดีตอาจารย์ 3 ระดับ โรงเรียนเศรษฐเสถียร ในพระราชูปถัมภ์ จึงมีแนวคิดที่จะเปิดสอนภาษามือให้กับคนหูหนวกและคนปกติ ฟรีไม่เสียค่าใช้จ่าย ในทุกวันเสาร์ที่โรงเรียนเศรษฐเสถียร วันละ 2 ชั่วโมง โดยจะเริ่มสอนในวันเสาร์ที่ 5 มิ.ย.นี้

สำหรับครูญาดาเล่าถึงชีวิตของตัวเองว่า "เกิดที่กรุงเทพฯ แต่ตายคงเป็นที่ราชบุรี เพราะไปซื้อบ้านไว้ใกล้บ้านพักคนชรา ต.น้ำพุ จ.ราชบุรี มาหูหนวกตอนอายุ 11 ขวบ เพราะป่วยไข้ไทฟอยด์แล้วแพ้ยา"

หลังจากหูหนวกครูญาดาได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเศรษฐเสถียร เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายส่งให้เรียนที่โรงเรียนเศรษฐเสถียร

เมื่อเรียนจบจากโรงเรียนเศรษฐเสถียร สอบครูประถมครูมัธยมได้ และได้ไปดูงานสอนเด็กหูหนวกที่ประเทศสหรัฐ อเมริกา 1 ปี เมื่อกลับมาได้มาเรียนต่อและจบปริญญาตรี เอกอนุบาล ที่วิทยาลัยครูสวนดุสิต แล้วมาได้ปริญญาตรี เอกประถมอีกใบ ที่มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

"หลังจากเรียนจบก็มาเป็นครูสอนที่โรงเรียนเศรษฐเสถียรจนเกษียณ ระหว่างที่เป็นครูได้รางวัลครูสอนระดับประถมดีเด่นระดับประเทศภูมิใจแล้วคะ"

พอเกษียณก็มาเป็นอาสาสมัคร เพื่อให้คนหูหนวกกับคนปกติมีกิจกรรม โดยใช้ภาษามือเป็นสื่อ



สําหรับการสอนภาษามือให้กับคนหูหนวกและคนปกติ ในทุกวันเสาร์

ครูญาดามีจุดประสงค์หลักคือ ให้คนปกติและคนหูหนวกสามารถร่วมกิจกรรมกันได้ โดยใช้ภาษามือเป็นสะพานเชื่อม ซึ่งตรงนี้เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด

ขณะเดียวกัน เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมให้เด็กใหม่เรียนรู้คำศัพท์ของภาษามือ ขณะที่การสอนภาษามือให้กับเด็กโต ก็เพื่อให้เด็กโตเตรียมความพร้อมและสามารถใช้คำศัพท์ภาษามือที่เหมือนและเป็นที่เข้าใจกัน เช่น การกินข้าว เด็กที่มาจากโรงเรียนอื่นอาจจะใช้ในอีกคำศัพท์หนึ่ง แต่ถ้ามาเรียนที่นี่จะมีคำศัพท์โดยเฉพาะที่นักเรียนทุกคนจะต้องใช้เหมือนกัน รวมทั้งสอนให้รู้จักการแปลภาษามือให้เป็นภาษาไทย



ส่วนการสอนภาษามือให้กับคนปกติ ก็เพื่อสอนคำศัพท์ภาษามือและแนะนำไวยากรณ์ภาษามือ แนะนำการช่วยเหลือคนหูหนวก แนะนำการเป็นล่ามภาษามือ รวมทั้งการแนะนำการใช้เวลาว่างให้มีประโยชน์

ครูญาดาอธิบายผ่านการเขียนและภาษามือว่า การมาสอนพูดให้กับคนหูหนวก โดยปกติแล้วคนหูหนวกไม่กล้าเข้าหาคนหูดี เพราะกลัวว่าตัวเองจะเขียนภาษาไทยผิด ซึ่งคนหูดีจะไม่เข้าใจในเรื่องนี้

อย่างไรก็ตาม คนหูหนวกกับคนหูหนวกจะรับภาษามือกันได้เร็วกว่าคนหูดี เด็กสามารถเรียนรู้ภาษามือได้จากครูพี่เลี้ยง ขณะที่ครูปกติจะช่วยเรื่องการเขียนภาษาไทยและการฝึกพูด ทั้งนี้ เพื่อให้โอกาสกับเด็กทุกคนที่มีความสามารถแตกต่างกัน

ครูญาดากล่าวถึงประโยชน์ที่ได้รับจากการเรียนภาษามือว่า เด็กจะได้คำศัพท์ใหม่ๆ เพิ่มขึ้นและรู้จักการนำคำมาใช้เป็นประโยคภาษาไทย รวมทั้งรู้จักโลกกว้างกว่าเดิม ขณะเดียวกันเด็กจะมีความกล้าที่จะเข้าพบคนปกติมากขึ้น ตลอดจนมีความมั่นใจในการใช้ภาษาไทยมากขึ้น

ลักษณะการสอนภาษามือให้กับเด็กเล็กนั้น จะสอนโดยใช้ของจริงพร้อมทั้งอธิบายคำศัพท์ เช่น ก.ไก่ คนปกติจะเริ่มอ่านคำว่า กอ.ไก่ แต่สำหรับคนหูหนวกจะสอนโดยเขียนเป็นคำ เช่น เขียนคำว่ากิน จากนั้นจะบอกว่า ก.เป็นพยัญชนะตัวที่เท่าใด น.เป็นพยัญชนะตัวที่เท่าใด และสระอิ คืออะไร และที่สำคัญคือคนหูหนวกจะจดจำเพียงแค่ตัวเดียว เช่น กอ.ไก่ จะจำเพียง ไก่ เท่านั้น ขอ.ไข่ จะจำเพียง ไข่ เท่านั้น

ทั้งนี้ การสอนจะเริ่มจากสิ่งที่ใกล้ตัว สิ่งดำรงชีวิตประจำวัน และจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในรอบวัน

ขณะเดียวกันการสอนภาษามือให้กับเด็กโตก็จะสอนคำศัพท์ใหม่ๆ และสอนเพิ่มเติมจากประสบการณ์เดิมและประสมประสานหรือปรับ เช่น คำว่าจังหวัด โดยเด็กโตจะมีความรู้ คำว่า วัด จากนั้นจะเพิ่มเป็น หวัด ส่วนคำว่าจังจะใช้ภาษามือจดจำไว้ แล้วรวมกันว่า จังหวัด





ครูญาดายังได้อธิบายความแตกต่างระหว่างภาษามือสากล-ภาษามือไทย ว่า ภาษามือของคนหูหนวกแต่ละชาติมีความแตกต่างกันเช่นเดียวกับภาษาพูด ตามวิถีชีวิต วัฒนธรรม และประเพณีและสภาพแวดล้อมของแต่ละชาติ

รัฐบาลหลายประเทศรวมทั้งประเทศไทย จึงประกาศให้ภาษามือเป็นภาษาแม่และภาษาประจำชาติของคนหูหนวก อย่างไรก็ตาม คนหูหนวกที่อยู่ในประเทศเดียวกันก็อาจมีภาษามือท้องถิ่นในแต่ละภูมิภาคเช่นเดียวกับภาษาพูดที่เป็นภาษาถิ่นประจำภาค

ภาษามือมีคุณสมบัติของการเป็นภาษาเช่นเดียวกับภาษาต่างๆ ภาษามือของแต่ละชาติมีศัพท์และไวยากรณ์หรือกฎระเบียบการเรียงคำและคุณสมบัติอื่นๆ แตกต่างกัน เพราะฉะนั้นภาษามือไม่ได้เป็นภาษาสากลที่คนหูหนวกทุกชาติใช้สื่อสารกันได้

"ความแตกต่างระหว่างภาษามือสากล-ภาษามือไทยนั้น จะแตกต่างกันที่ภาษามือไทยท่ามือจะสะกดมากกว่าภาษามือสากล เพราะภาษามือไทยจะมีสระและวรรณยุกต์ ทั้งนี้ คำศัพท์อักษร A-Z ก็จะใช้ตามแบบของประเทศสหรัฐ อเมริกา แต่ทุกประเทศจะมีภาษามือเป็นของตัวเอง เช่น A=อ, K=ก, K+1=ข, K+3=ค, L=ล, L+1=ฬ, P=พ, P+1=ป, P+2=ผ เป็นต้น"

ศัพท์ภาษามือส่วนใหญ่กำหนดโดยคนหูหนวก เพื่อให้คนหูหนวกในกลุ่มเดียวกันสามารถสื่อสารกันได้โดยง่ายและกว้างขวาง แต่ศัพท์ภาษามือส่วนหนึ่งเป็นการใช้ภาษาร่างกายหรือการเคลื่อนไหวอวัยวะต่างๆ ของร่างกายตามธรรมชาติ ซึ่งคนทั่วไปที่มีการได้ยินปกติอาจเข้าใจความหมายได้

ครูญาดากล่าวถึงข้อจำกัดของศัพท์ภาษามือไทยว่า ปัจจุบันแต่ละประเทศได้พัฒนาความรู้ต่างๆ อย่างรวดเร็วต่อเนื่องและมีการติดต่อกันอย่างกว้างขวาง จึงทำให้เกิดองค์ความรู้เพิ่มขึ้นอย่างมาก

ดังนั้น ในการกล่าวถึงหรืออธิบายเกี่ยวกับความรู้ใหม่ๆ จึงต้องมีการบัญญัติศัพท์ใหม่เพื่อใช้สื่อสารกัน ทั้งนี้ ประเทศไทยก็มีการกำหนดศัพท์เกี่ยวกับความรู้ใหม่ๆ ทั้งในรูปแบบการใช้คำภาษาไทยและการใช้ศัพท์ของต่างชาติ เช่น โลกาภิวัตน์ เจตคติ การ์ตูน ไอศกรีม คอมพิวเตอร์ เป็นต้น

ภาษามือไทยเป็นภาษาของคนหูหนวกซึ่งมีอยู่จำนวนน้อย จึงมีโอกาสได้รับการพัฒนาศัพท์น้อย ศัพท์พื้นฐานของภาษามือไทยมีน้อยกว่าภาษาไทยและภาษาอื่นๆ มาก

ครูญาดาอธิบายเพิ่มเติมว่า ดังนั้น คนหูหนวกและคนทั่วไปที่เกี่ยวข้องกับคนหูหนวก โดยเฉพาะครูและผู้ปกครองของคนหูหนวก จึงได้คิดค้นและกำหนดคำศัพท์ภาษามือเพิ่มขึ้นอยู่เสมอ โดยมักเทียบเคียงหรือใช้ศัพท์ภาษาไทยเป็นฐาน เมื่อมีความรู้ใหม่เกิดขึ้นก็ต้องกำหนดศัพท์ภาษามือเพิ่ม

เพื่อให้คนหูหนวกมีศัพท์ภาษามือเพียงพอที่จะสามารถเรียนรู้และสื่อสารกันได้ใกล้เคียงกับคนทั่วไปมากที่สุด



โรงเรียนเศรษฐเสถียร ในพระราชูปถัมภ์

โรงเรียนเศรษฐเสถียร เดิมชื่อโรงเรียนคนหูหนวกดุสิต เป็นโรงเรียนสอนคนหูหนวกแห่งแรกในประเทศไทย สังกัดกองการศึกษาพิเศษ กรมสามัญศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ

ตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 10 ธ.ค.2496 ซึ่งตรงกับวันสิทธิมนุษยชนโดยที่ คุณหญิงโต๊ะ นรเนติบัญชากิจ ได้บริจาคที่ดินจำนวน 4 ไร่ 2 งาน 99 ตารางวา พร้อมตึก ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของท่านให้จัดตั้งโรงเรียนสำหรับคนหูหนวกขึ้น

และได้ตั้งมูลนิธิเพื่อสนับสนุนโรงเรียน ชื่อมูลนิธิเศรษฐเสถียร ซึ่งมาจาก โชติกเสถียร (นามสกุลเดิมของคุณหญิงโต๊ะ) และ เศรษฐบุตร (นามสกุลเดิมของพระยานรเนติบัญชากิจ) สามีของท่าน และต่อมากระทรวงศึกษาธิการได้เปลี่ยนชื่อโรงเรียนสอนคนหูหนวกดุสิตเป็นโรงเรียนเศรษฐเสถียร เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่มูลนิธินี้ ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2518 เป็นต้นมา

โรงเรียนเศรษฐเสถียรมีตราประจำโรงเรียนเป็นอักษรย่อ ส.ศ.ส. ล้อมรูปมือ หู และปาก ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของวิธีการสื่อความหมายของคนหูหนวกที่ใช้ภาษามือร่วมกันกับการใช้การได้ยินที่หลงเหลืออยู่ โดยการฝึกให้พูดและการอ่านริมฝีปาก

ต่อมาเมื่อวันที่ 26 ก.ย.2545 สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับโรงเรียนเศรษฐเสถียรไว้ในพระราชูปถัมภ์

ซึ่งเป็นโรงเรียนสอนคนหูหนวกแห่งแรกของประเทศไทย ที่ได้รับพระราชทานและอนุญาตให้ใช้ตราประจำโรงเรียนอักษรย่อ ส.ศ.ส. ล้อมรูปมือ หู และปาก

ภายใต้ชื่อโรงเรียนเศรษฐเสถียร ในพระราชูปถัมภ์

หน้า 21

1 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

สวัสดีค่ะคุณครูญาดา ไม่ได้เจอกันนานแล้ว เคยเรียนภาษามือกะครูญาดาเมื่ออยู่ชั้นม.5