30 เมษายน 2555

เลขา พก.แนะใช้เทคโนโลยีสร้างนวัตกรรมช่วยคนหูหนวกสื่อสารแทนล่ามภาษามือ

นางนภา เศรษฐกร เลขาธิการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ (พก.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมวิชาการ เรื่อง “แผนพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ ฉบับที่ ๔ พ.ศ.๒๕๕๕ – ๒๕๕๙” เมื่อวันที่ ๒๘ เม.ย.๒๕๕๕ ณ โรงแรมรอยัล ซิตี้ ปิ่นเกล้า กรุงเทพมหานคร ซึ่งจัดโดยสมาคมคนหูหนวกแห่งประเทศไทย และได้รับการสนับสนุนจากกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พก.หลังพิธีเปิดการประชุมดังกล่าว นางนภา เศรษฐกรได้บรรยายพิเศษ เรื่อง “พก. กับ การพัฒนาคุณภาพชีวิตคนหูหนวก” ซึ่งประกอบด้วยสาระสำคัญ ดังนี้
แม้คนหูหนวกมีจุดเสียเปรียบเรื่องการมีความบกพร่องทางการได้ยินและการสื่อสารด้วยภาษาพูด แต่คนหูหนวกมีจุดได้เปรียบที่ลักษณะภายนอกดูเหมือนคนทั่วไป อย่างไรก็ตาม คนหูหนวกเป็นคนพิการกลุ่มใหญ่ที่มีพลังมาก ซึ่งในฐานะที่มีหน้าที่ส่งเสริมหน่วยงานด้านคนพิการทุกหน่วยงาน พก.พร้อมที่จะสนับสนุนคนหูหนวกโดยเฉพาะชมรมคนหูหนวกจังหวัดซึ่งปัจจุบันมีครบทุกจังหวัดรวม ๗๗ ชมรมและมีสมาคมคนหูหนวกแห่งประเทศไทยเป็นองค์กรแม่ ทั้งนี้ ชมรมฯต้องคิดเองว่า ต้องการทำอะไร เพื่อบริการช่วยเหลือสังคมและช่วยเพื่อนหูหนวกด้วยกันเองในการพัฒนาคุณภาพชีวิต การมาร่วมประชุมครั้งนี้ จึงเป็นโอกาสดีที่จะชมรมฯ จะร่วมกันคิดยุทธศาสตร์พัฒนาคุณภาพชีวิตคนหูหนวกและเดินหน้าดำเนินการต่อไป
สำหรับการสื่อสารของคนหูหนวก ถ้าไม่มีล่ามภาษามือ ก็ลำบากมาก ชมรมฯ ควรสำรวจศึกษาว่า จำนวนล่ามมีเพียงพอหรือไม่และคุณภาพของล่ามภาษามือเป็นอย่างไร ประชาสัมพันธ์ให้คนหูหนวกได้รับรู้เรื่องการขอใช้บริการล่ามภาษามือ และวิธีสื่อสารกับคนทั่วไป อย่างไรก็ตาม คนหูหนวกจะอาศัยล่ามภาษามืออย่างเดียว คงไม่ได้ และการใช้บริการของศูนย์บริการถ่ายทอดการสื่อสารสำหรับผู้ที่บกพร่องทางการได้ยินและผู้ที่บกพร่องทางการพูด (Thai Telecommunication Relay Service : TTRS) ก็ช่วยได้ระดับหนึ่ง นอกจากนั้น การขอใช้บริการล่ามภาษามือ ก็ยังขอไม่ได้ทุกเรื่อง กล่าวคือ ตามระเบียบฯ คนหูหนวกขอใช้ล่ามได้เพียง ๔ ด้านได้แก่ ด้านการศึกษา การรักษาพยาบาล กระบวนการยุติธรรม และการประชุมวิชาการ อย่างไรก็ตาม พก.กำลังดำเนินการแก้ไขระเบียบฯ ให้ขยายบริการล่ามภาษามือครอบคลุมถึงความขัดแย้งในครอบครัว และเรื่องอื่นๆ ในชีวิตประจำวัน ปัญหาสำคัญ คือ จำนวนล่ามภาษามือมีไม่เพียงพอ และกระบวนการผลิตล่ามภาษามือค่อนข้างยุ่งยากและใช้งบประมาณจำนวนมาก
ขณะนี้ สมาคมล่ามภาษามือและ พก.กำลังยกร่างแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาบริการล่ามภาษามือ ฉบับที่ ๑ พ.ศ. ๒๕๕๕ – ๒๕๕๙ ซึ่งจะเสร็จเร็วๆ นี้ เพื่อเป็นกรอบให้ชมรมคนหูหนวกทั้ง ๗๗ จังหวัดพิจารณาว่าจะมีส่วนร่วมดำเนินการพัฒนาบริการล่ามภาษามืออย่างไร การพัฒนาบริการล่ามภาษามือประกอบด้วย ๕ ยุทธศาสตร์ ได้แก่ ๑)การกำหนดนโยบายและกลไกการบริหารจัดการระบบบริการล่ามภาษามือให้มีประสิทธิภาพ ๒)การผลิตและพัฒนาล่ามภาษามือ ให้มีคุณภาพและเพียงพอ๓)การกำหนดมาตรฐานการให้บริการล่ามภาษามือ และการสร้างและพัฒนาระบบประเมินการให้บริการล่ามภาษามือ ๔)การพัฒนาองค์กรที่จัดบริการล่ามภาษามือ และ ๕)การสร้างสังคมให้มีส่วนร่วมในการสื่อสารด้วยภาษามือและบริการล่ามภาษามือ นอกจากนั้นชมรมฯ ควรตระหนักถึงการร่วมกับ พก.ดำเนินการส่งเสริมคนหูหนวกให้พัฒนาตนเองและมีส่วนร่วมพัฒนาประเทศไทยเมื่อเห็นความสำเร็จของการพัฒนาตนเอง จะเกิดความภาคภูมิใจ ดังนั้น ชมรมฯ ควรดำเนินการให้ได้รับการรับรองมาตรฐานองค์กรจาก พก. ซึ่งเป็นกลไกที่ทำให้การให้บริการคนหูหนวกของทุกชมรมฯ มีประสิทธิภาพเท่าเทียมกัน เนื่องจากหลักเกณฑ์ในการรับรองมาตรฐานครอบคลุมการพัฒนาองค์กร ผู้นำและบุคลากร รวมถึง การใช้จ่ายเงิน การให้บริการ รูปแบบการให้บริการ และคุณภาพการให้บริการ เป็นต้น ถ้าทั้ง ๗๗ ชมรม ได้รับการรับรองมาตรฐานองค์กร คนหูหนวกในทุกจังหวัดจะได้รับบริการมาตรฐานที่เท่าเทียมกัน ฉะนั้น ทุกชมรมฯ จึงต้องเร่งพัฒนาตนเองและเข้าสู่การประเมินมาตรฐานองค์กรโดยเร็ว ถ้าชมรมฯ ได้มาตรฐาน พก.จะพิจารณาให้เงินสนับสนุนการบริหารจัดการชมรมฯ ด้วย
ส่วนการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ฯ ชมรมฯ จะต้องรวมกลุ่มคนหูหนวกเพื่อจัดทำแผน โครงการ และกิจกรรมในการพัฒนาบริการล่ามภาษามือ รวมถึง สำรวจความต้องการใช้ล่ามภาษามือ ควบคุมมาตรฐานบริการล่ามภาษามือ และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเห็นความสำคัญของคนหูหนวกว่าสามารถเป็น “พลัง” และไม่ใช่ “ภาระ” ของสังคมอีกต่อไป อนึ่ง การดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ฯ รวมทั้งการจัดทำแผน โครงการ / กิจกรรมจะต้องสอดคล้องกับ “แผนพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ ฉบับที่ ๔ พ.ศ.๒๕๕๕ – ๒๕๕๙” ซึ่งสอดคล้อง “แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ ๑๑ พ.ศ.๒๕๕๕ – ๒๕๕๙” ทั้งนี้ ชมรมฯไม่ต้องห่วงว่าจะทำโครงการอย่างไร เพราะ พก.พร้อมจะจับมือกับชมรม และสนับสนุนชมรมฯเสมอ
นอกจากนั้น สมาคมคนหูหนวกฯ และชมรมฯ ควรพิจารณากำหนดแนวทางการพัฒนาเทคโนโลยีในการสร้างนวัตกรรมการสื่อสารสำหรับคนหูหนวกในปัจจุบัน และอนาคต เช่น การใส่โปรแกรมภาษามือในโทรศัพท์มือถือเพื่อให้คนหูหนวกสามารถใช้สื่อสารกับคนทั่วไปทุกคนได้อย่างกว้างขวาง โดยไม่ต้องพึ่งล่ามภาษามือ ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมคนหูหนวกให้สามารถดำรงชีวิตอิสระ และอยู่ร่วมกับคนทั่วไปในสังคมโดยไม่มีอุปสรรคกีดกั้น
ท้ายสุด นางนภา เศรษฐกร กล่าวว่า การเป็นองค์กรมาตรฐานจะส่งผลให้ชมรมฯ สามารถให้บริการล่ามภาษามืออย่างมีประสิทธิภาพเท่าเทียมกันทุกชมรมฯ อันจะทำให้ผลการประเมินปรากฏว่า คนหูหนวกพอใจการให้บริการของล่ามภาษามือ ล่ามภาษามือพึงพอใจการบริการและการจ่ายเงินค่าตอบแทนโดยชมรมฯ รวมถึงการประสานงานระหว่างชมรมฯ ล่ามภาษามือ และสมาชิกหูหนวกมีประสิทธิภาพ และเป็นที่พึงพอใจของทุกฝ่าย (มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย ๒๘ เม.ย.๒๕๕๕) 29509

ไม่มีความคิดเห็น: