02 พฤษภาคม 2555

พจนานุกรมดิจิตอลภาษามือไทย



ภาษามือไทย เป็นภาษาที่ใช้สื่อสารกันในกลุ่มคนหูหนวกต่างๆทั่วประเทศ อย่างไรก็ตาม ภาษามือไทยของคนหูหนวกแต่ละกลุ่มอาจมีความแตกต่างกันบ้าง โดยเฉพาะภาษามือไทยซึ่งสอนโดยคนที่ได้ยินปกติมักได้รับอิทธิพลจากภาษาไทย ในชีวิตประจำวัน ความสับสน และการสื่อสารไม่ตรงกับความหมาย เป็นเหตุการณ์ปกติที่เกิดขึ้นระหว่างคนหูหนวกที่ใช้ภาษามือไทยเป็นภาษาแม่และคนที่ได้ยินปกติซึ่งใช้ภาษามือไทยเป็นภาษาที่สอง
พจนานุกรมสารสนเทศภาษามือไทย เป็นโครงการวิจัยที่ได้รับการสนับสนุนจากสถาบันวิจัยและพัฒนามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกในการสื่อสารระหว่างคนหูหนวกที่ใช้ภาษามือไทยกับคนหูดีที่ใช้ภาษาไทย ซึ่งเป็นผลที่ได้จากการวิเคราะห์ภาษามือไทยในแนวภาษาศาสตร์และจากความร่วมมือของผู้ใช้ภาษามือไทยเป็นภาษาแม่
พจนานุกรมฉบับนี้เป็นสื่อสารสนเทศฉบับแรกสำหรับภาษามือไทย ประกอบด้วยศัพท์ภาษาอังกฤษและภาษา ไทยมากกว่า ๑,๐๐๐ คำ มีการแสดงท่ามือของลักษณะนามภาษามือไทยในภาพสามมิติ สำหรับคำนามที่เป็นศัพท์ตั้งมีกว่า ๕๐๐ คำ มีวีดิทัศน์แสดงท่ามือประกอบศัพท์ตั้งในหมวดคำต่างๆ เช่น คำนาม คำกริยา และมีวีดิทัศน์แสดงท่ามือการสะกดนิ้วมืออักษรไทย คำอธิบายไวยากรณ์ภาษามือไทย วีดิทัศน์แสดงท่ามือภาษามือเชียงใหม่และท่ามือภาษามือสงขลาควบคู่กับท่ามือภาษามือไทย(กลาง) สำหรับศัพท์ตั้งกว่า ๒๐๐ คำ
เข้าถึงพจนานุกรมนี้ได้โดย อุปกรณ์พกพาและโทรศัพท์มือถือ เป็นประโยชน์สำหรับคนหูหนวกไทยและต่างประเทศ คนไทยและชาวต่างประเทศที่สนใจเรียนภาษามือไทย พจนานุกรมนี้ช่วยลดช่องว่างในการสื่อสารระหว่างคนหูหนวกกลุ่มต่างๆ และระหว่างคนหูหนวกกับคนที่ได้ยินปกติ อันมีผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อการพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตของคนหูหนวกไทย ซึ่งสอดคล้องกับแนวนโยบายของรัฐบาลในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนพิการไทย
ผู้สนใจวีดิทัศน์ภาษามือไทยออนไลน์และพจนานุกรมดิจิตอลภาษามือไทย ในรูปแบบภาษามือไทย และภาษาไทย ศึกษาได้ที่ http://pirun.ku.ac.th/~fhumalt/THSL/THSL/html/nav_th/THSL_intro_th.htm www.rilc.ku.ac.th และhttp://rilc.ku.ac.th/iWeb/index.html
หากต้องการใช้แอพพลิเคชั่นภาษามือไทยออนไลน์ บน ไอแพด ( iPad ) ไอโฟน ( iPhone ) หรือโทรศัพท์มือถือระบบแอนดรอยด์ (android) สามารถดาวน์โหลดได้ฟรีที่ไอจูนซ์ ( iTunes) (สถาบันภาษาศาสตร์และวัฒนธรรมศึกษาราชนครินทร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์/มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย ๑ พ.ค. ๒๕๕๕)

ไม่มีความคิดเห็น: