23 พฤษภาคม 2555

CAI สื่อมัลติมีเดียเพื่อ “เด็กพิการทางการได้ยิน”นวัตกรรม “ทำด้วยใจ” ที่โรงเรียนภูเก็ตปัญญานุกูล

“โรงเรียนภูเก็ตปัญญานุกูล” เป็นโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษาให้กับเด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญาและทางการได้ยิน จากจังหวัดภูเก็ต พังงา สุราษฎร์ธานี กระบี่ และนครศรีธรรมราช โดยเปิดสอนในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ไปจนถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 ซึ่งมุ่งเน้นในเรื่องของหลักสูตรการเรียนรู้ควบคู่ไปกับทักษะอาชีพ

โดยปกติแล้วเด็กที่มีปัญหา “บกพร่องได้ยิน” มาตั้งแต่กำเนิด คนทั่วไปก็มักจะคิดว่าเป็นเรื่องที่ “เป็นไปไม่ได้” หากจะทำให้เด็กกลุ่มนี้สามารถสื่อสารกับคนอื่นได้ด้วย “การพูด” แต่สิ่งเหล่านี้กลับ “เป็นไปได้!” ในโรงเรียนแห่งนี้ด้วยความตั้งใจของ “ครูจุรี โก้สกุล” ครูสอนดีของ “สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน” ตามโครงการ “สังคมไทยร่วมกันคืนครูดีให้ศิษย์ เชิดชู ยกย่อง ครูสอนดี”

“ข้อจำกัดของเด็กกลุ่มนี้ก็คือหู ของเขาไม่ได้ยินเสียง ซึ่งเป็นจุดด้อยที่เราจะต้องพัฒนาให้เขาไปสู่การเรียนรู้ที่ชัดเจนเหมือนเด็กปกติ สามารถอ่านออกเสียง และสามารถทำภาษามือ พูดและใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับคนปกติได้อย่างมีความสุข” ครูจุรีเล่าถึงความตั้งใจในการทำงาน

ด้วยเหตุนี้ “ครูจุรี” ได้ทุ่มเทแรงกายและแรงใจ ผนวกกับประสบการณ์ที่ดูแลเด็กพิเศษกลุ่มนี้มายาวนานกว่า 30 ปี โดยเฉพาะในเรื่องของการ “ฝึกพูด” ควบคู่ไปกับการเรียน “ภาษามือ” โดยได้ออกแบบเครื่องมือและสื่อการเรียนการสอนที่เรียกว่า “ซีเอไอ ” หรือ Computer Assisted Instruction (CAI) ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่สามารถบูรณาการหลักสูตรการเรียนการสอนสำหรับเด็กพิเศษได้อย่างครอบคลุมทุกมิติ และยังสามารถสร้างทักษะในการคิดวิเคราะห์ให้กับเด็กที่มีปัญหาทางการได้ยินอย่างมีประสิทธิภาพ

โดยสื่อ “ซีเอไอ” จะเป็นสื่อการเรียนการสอนที่ผู้เรียนสามารถเรียนรู้เพียงคนเดียวผ่านหน้าจอทีวี หรือเรียนเป็นกลุ่มผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์ก็ได้ โดยโปรแกรมนี้ผู้เรียนจะสามารถมองเห็นภาพของ “ปาก” ในขณะที่กำลังอ่านออกเสียงคำนั้นๆ เพื่อฝึกอ่านปาก ในขณะเดียวกันก็จะเห็นการทำท่าทางของ “ภาษามือ” ที่สื่อความหมายถึงคำที่พูดถึง พร้อมมีตัวหนังสือ “ภาษาไทย-ภาษาอังกฤษ” ให้เกิดการเรียนรู้ความหมาย และ “รูปของวัตถุ” ต่างๆ ที่กล่าวถึง ปรากฏขึ้นมาพร้อมกัน

ทั้งนี้เนื่องจากการสอนเด็กพิเศษ “สื่อการสอน” มีความจำเป็นเป็นอย่างมาก เพราะเด็กกลุ่มนี้จะไม่ได้ยินเสียง ดังนั้นสื่อที่จะนำมาใช้จึงต้องมีคุณลักษณะที่พิเศษกว่าสื่อการเรียนการสอนสำหรับเด็กปกติกล่าวคือ ต้องมองเห็นได้ชัด มีการขยายผล ขยายนาม ขยายกรรม และขยายกริยา

“ซีเอไอ เป็นสื่อแบบมัลติมีเดีย ที่จะช่วยให้เด็กกลุ่มนี้สามารถ ฝึกพูด ฝึกอ่านปาก ฝึกภาษามือ ฝึกภาษาไทย ฝึกภาษาอังกฤษ แบบบูรณาการ และสามารถคิดวิเคราะห์ไปสู่เรื่องอย่างอื่นได้ โดยเป็นสื่อที่ทันสมัย ทำให้เด็กๆ มีความสนใจและสามารถพัฒนาการเรียนได้เพิ่มขึ้น” ครูจุรีกล่าว

นอกจากนี้ในเรื่องของ “การฝึกพูด” นั้น “ครูจุรี” ได้มีการออกแบบสื่อการเรียนการสอนมากมายหลายรูปแบบ และยังได้พัฒนา “เทคนิคการบริหารกล้ามเนื้อปากและลิ้น” เพื่อเป็นพื้นฐานในการแก้ไขการพูดสำหรับเด็กพิเศษ รวมไปถึงการขยาย “เครือข่ายครู” ที่ทำงานกับกลุ่มเด็กที่มีปัญหาทางการได้ยิน เพื่อให้คุณครูท่านอื่นๆ ที่ดูแลเด็กพิเศษ ได้นำเอาประสบการณ์และความรู้ของตนเองไปประยุกต์ใช้เพื่อเติมเต็มศักยภาพให้กับเด็กพิเศษในที่อื่นๆ อีกด้วย

โดยสิ่งที่ถือว่าเป็นหัวใจที่ใช้การจัดกระบวนการเรียนการสอนให้กับเด็กกลุ่มก็คือ “ทฤษฏีแห่งความรัก” ที่ประกอบไปด้วย “L T H” ซึ่ง “ครูจุรี” อธิบายว่า L ก็คือ Love คือความรักในวิชาชีพ T คือ Touch คือการสัมผัส สัมผัสเด็กด้วยแผ่วเบา สัมผัสอุปกรณ์ สัมผัสด้วยสายตา สัมผัสด้วยมือ สัมผัสอย่างเข้าใจ และ H ก็คือ Heart หรือใจที่หมายถึงต้องรักลูกศิษย์และดูแลเอาใจใส่เขาให้เหมือนลูกของเรา

“อยากให้มองว่าคนหูหนวกเขาก็พูดได้ ไม่ใช่หูหนวกแล้วจะพูดไม่ได้ ถ้าเขาได้รับการฝึกเขาก็จะพูดได้ เพียงแต่ว่าเราจะช่วยเหลือเขาอย่างไร เพื่อให้เขาสามารถอยู่ในสังคมได้ ด้วยความที่เราอยู่กับเด็กพิเศษและจบทางด้านการศึกษาพิเศษก็อยากจะบอกว่า เขาพูดได้ เพียงแต่ว่าเราต้องค่อยๆ ฝึกเขา และสังคมอย่าทอดทิ้งเขาในการพัฒนา โดยสิ่งที่เห็นและความภูมิใจคือรอยยิ้มและแววตาของเขามีความสุข และที่สำคัญผู้ปกครองเขามีความสุขด้วย” ครูจุรีกล่าวถึงแรงบันดาลใจในการทำงาน

นายวิรัช กล้าหาญ ผู้อำนวยโรงเรียนภูเก็ตปัญญานุกูล เล่าถึงเป้าหมายของโรงเรียนว่ามีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะพัฒนาและส่งเสริมให้ครูและนักเรียนได้รับการศึกษาอย่างมีประสิทธิภาพ แต่การที่จะขับเคลื่อนไปสู่ความสำเร็จได้นั้นขึ้นอยู่กับคุณภาพของ “ครู” เป็นสำคัญ

“ถ้าครูสอนดี เด็กนักเรียนก็จะมีคุณภาพได้อย่างแน่นอน แต่ปัญหาของโรงเรียนในปัจจุบันก็คือการขาดแคลนครู เพราะการสอนและดูแลเด็กพิการนั้นจะสอนยากและต้องเหนื่อยกว่าครูปกติ ครูผู้สอนจะต้องใส่ใจดูแลเป็นพิเศษ ซึ่งครูจุรีนั้นก็เป็นแบบอย่างที่ดีให้กับครูคนอื่นๆ ในเรื่องของความเสียสละทุ่มเทในการทำงาน จนทำให้ได้รับรางวัลจากองค์กรและหน่วยงานต่างๆ มากมาย” ผอ.วิรัชกล่าว

ในวัย 55 ปีของ “ครูจุรี” ในวันนี้ มีความตั้งใจสูงสุดอีกอย่างหนึ่งนอกเหนือไปจากการทุ่มเทเอาใจใส่ดูแลเด็กพิเศษให้ได้มีโอกาสในการเรียนรู้ทัดเทียมกับเด็กปกติคนอื่นๆ ในสังคม นั่นก็คือการขยายผลนวัตกรรมต่างๆ ที่ได้คิดค้นขึ้นมาให้ได้รับการเผยแพร่ออกไปสู่เด็กพิเศษในพื้นที่ต่างๆ ของประเทศไทยให้กว้างขวางมากยิ่งขึ้น เพื่อให้เพื่อนครูที่ทำงานเกี่ยวข้องกับเด็กๆ กลุ่มนี้ ได้นำเครื่องมือและสื่อการเรียนการสอนที่ออกแบบไว้ไปใช้ในการเพิ่มพูนและพัฒนาศักยภาพของเด็ก

รวมไปถึงเผยแพร่องค์ความรู้ในการพัฒนาเด็กพิเศษไปสู่ผู้ปกครอง เพื่อให้เด็กที่ขาดโอกาสทางการศึกษาที่อยู่กับครอบครัวที่บ้าน ได้อาศัยสื่อการเรียนเหล่านี้ในการฝึกฝน และเรียนรู้ในสิ่งที่จำเป็นสำหรับผู้ที่บกพร่องทางการได้ยิน เพื่อให้เขาสามารถใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างปกติและมีความสุข

“เขาก็เหมือนเด็กปกติ เพียงแต่ว่าหูของเขาไม่ได้ยิน แต่เขามีทักษะ มีความคิด มีไอเดียที่ดีเยี่ยม แต่ต้องค้นพบเขา พยายามแก้ปัญหา และให้กำลังใจในการที่จะนำเขาสู่โลกภายนอกและสังคมปกติได้ เพราะเด็กพิการเขาก็พิการแต่เพียงร่างกาย แต่ว่าจิตใจของเขาปกติ ดังนั้นสังคมอย่าทอดทิ้งเขา อย่าดูถูกเขา เพราะเขาก็มีความรู้สึกเหมือนกับเราเหมือนกัน ให้โอกาสเขาได้อยู่ในสังคมอย่างมีความสุข” ครูจุรีกล่าวสรุป

(บ้านเมืองออนไลน์ 22/05/2012)

ไม่มีความคิดเห็น: