05 สิงหาคม 2555

ฝึกคนหูหนวกเป็นนักวิทยาศาสตร์


ด้วยข้อจำกัดด้านการฟังของนักเรียนหูหนวก ทำให้พวกเขาอาจต้องใช้เวลาในการเรียนรู้มากกว่าเด็กทั่วไป ขณะเดียวกันสื่อการเรียนการสอนที่สนุกและเหมาะสมต่อการพัฒนานักเรียนหูหนวกก็ยังขาดอยู่มาก โลกของนักเรียนหูหนวกจึงยังคงดูเงียบงัน ทั้งที่พวกเขามีศักยภาพและมันสมองในการเรียนรู้ไม่แพ้คนปกติ เพื่อปลุกพลังการเรียนรู้ของนักเรียนหูหนวก ฝ่ายบริหารค่ายวิทยาศาสตร์ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สวทช.) ได้จัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์สำหรับครูสอนนักเรียนหูหนวกและนักเรียนหูหนวก จำนวน ๒๐ คนในหัวข้อ “ฝึกเป็นนักวิทยาศาสตร์ผ่านผลไม้ตระกูลส้ม” กิจกรรมวิทยาศาสตร์ที่สนุกและเข้าใจง่าย ณ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ คลองห้า ปทุมธานี
นางฤทัย จงสฤษดิ์ ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารค่ายวิทยาศาสตร์ สวทช. กล่าวว่า แนวคิดกิจกรรมดังกล่าวได้ประยุกต์มาจากความร่วมมือทางด้านวิชาการของห้องปฏิบัติการทอยโท มหาวิทยาลัยบีเลเฟลด์ ประเทศเยอรมนี ที่เน้นการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ผ่านการทดลอง เด็กจะได้เรียนรู้ผ่านการฝึกประสาทสัมผัสและการสังเกตปรากฏการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นรอบตัว โดยทาง สวทช. ได้นำแนวกิจกรรมดังกล่าวมาปรับปรุงให้เหมาะสมกับนักเรียนหูหนวก และใช้วัสดุและอุปกรณ์ที่เหมาะกับท้องถิ่นมากยิ่งขึ้น เช่น ใช้มะนาวหรือส้มของไทยในการทดลอง น้ำสีม่วงก็ใช้อัญชัน หรือผักหรือผลไม้ท้องถิ่นของไทยบางชนิดที่ให้สีม่วงแทน และใช้เปลือกไข่ไก่ที่มีแคลเซียมคาร์บอเนตแทนกระเบื้องหินอ่อนในการทดสอบกรด
เด็กชายณัฐวุฒิ สุวรรณย้อย นักเรียนโรงเรียนโสตศึกษานนทบุรี จังหวัดนนทบุรี กล่าวว่า กิจกรรมที่ชื่นชอบเป็นพิเศษคือ มายากลหมึกล่องหน ที่ใช้น้ำมะนาวมาวาดภาพบนกระดาษ เมื่อแห้งแล้วไม่เห็นภาพใดๆ แต่เมื่อนำไปรีดกับเตารีดแล้วปรากฏเป็นภาพเข้มปรากฏขึ้นอย่างชัดเจน และคิดจะกลับไปเล่นเขียนจดหมายลับกับเพื่อนๆ อีกครั้ง
ส่วนนายวนรินทร์ แสงภิรมย์ นักเรียนโรงเรียนโสตศึกษานนทบุรี จังหวัดนนทบุรี กล่าวว่า ชื่นชอบกิจกรรมทดลองน้ำมันจากผิวเปลือกส้ม โดยหันเปลือกส้มเข้าหาเปลวเทียน แล้วบีบเปลือกส้ม จะปรากฏเปลวไฟสว่างลุกวาบขึ้นมา ตนรู้สึกสนุกและตื่นเต้นมาก และไม่เคยทราบมาก่อนเลยว่า ภายในผิวเปลือกส้มที่แกะออกมานี้จะมีน้ำมันที่สามารถนำมาทดลองเล่นสนุกได้แบบนี้
ด้าน นางสาวจีรนันท์ โฉมแผลง ครูสอนนักเรียนหูหนวก จากโรงเรียนโสตศึกษาเทพรัตน์ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า กิจกรรมทดลองดังกล่าวสามารถเชื่อมโยงสาระทางวิทยาศาสตร์และนำไปจัดการเรียนการสอนทางวิทยาศาสตร์ได้เป็นอย่างดี และมีแผนในการพัฒนาไปใช้ในการจัดกิจกรรมค่ายและการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ในชั้นเรียนต่อไป
“ชอบกิจกรรมการทดลองเรื่อง อินดิเคเตอร์จากพืช เพราะโดยส่วนตัวมีความสนใจเรื่องกรดและเบสอยู่แล้ว และเมื่อได้ทดลองปฎิบัติในการนำวัสดุจากพืชในธรรมชาติมาทดลองความเป็นกรด-เบสทำเกิดสีสันสวยงาม ดึงดูดนักเรียนช่วยสร้างความน่าสนใจในการเรียน” (newswit.com ออนไลน์/มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย ๓ ส.ค.๕๕)

ไม่มีความคิดเห็น: