27 กรกฎาคม 2555

มก. ปิ๊งไอเดีย ช่องทางสื่อสารภาษามือไทยผ่าน Thai SL App

   มนุษยศาสตร์ มก. ปิ๊งไอเดีย พัฒนานวัตกรรมผสมผสานภาษามือไทยกับเทคโนโลยีสารสนเทศ  เป็น Thai SL App แอปพลิเคชันภาษามือไทย ทลายกำแพงการสื่อสารระหว่างคนปกติและผู้บกพร่องทางการได้ยิน 

      
       ปัจจุบันเทคโนโลยีทางด้านการสื่อสาร มีการพัฒนาอย่างไม่หยุดนิ่ง สถาบันภาษาศาสตร์และวัฒนธรรมศึกษาราชนครินทร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คิดค้นและพัฒนานวัตกรรม Thai SL App แอปพลิเคชันภาษามือไทยที่ผสมผสานภาษามือไทยกับเทคโนโลยีสารสนเทศเข้าด้วยกัน ก่อให้เกิดประโยชน์ทางการสื่อสาร และยังสร้างเสริมความเข้าใจทั้งผู้บกพร่องทางการได้ยิน ผู้ได้ยินปกติ รวมถึงผู้ที่สนใจเรียนภาษามือไทยด้วย
รศ.ดร. อภิลักษณ์ ธรรมทวีธิกุล ผู้อำนวยการสถาบันภาษาศาสตร์และวัฒนธรรมศึกษาราชนครินทร์ คณะมนุษยศาสตร์ เล่าถึงที่มาของนวัตกรรมชิ้นนี้ว่า แอปพลิเคชันภาษามือไทยหรือนวัตกรรมสื่อพกพาภาษามือไทย Thai Sign Language iPhone/IPad App และ Android App (Thai SL App) ถือกำเนิดมาจากงานวิจัยที่ทำร่วมกับนิสิตปริญญาโทที่ใช้ภาษามือ จากพจนานุกรมดิจิตอลภาษามือไทย เพื่อให้คนหูหนวกและคนหูดีเชื่อมโยงสื่อสารระหว่างกัน
      
       
"ต่อมาได้พัฒนาต่อยอดเป็นพจนานุกรมสารสนเทศภาษามือไทยซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากภาครัฐและเอกชนในการจัดทำ โดยมีคณะผู้วิจัยคือ รศ. ดร. อภิลักษณ์ ธรรมทวีธิกุล หัวหน้าโครงการ และผู้วิจัยหลัก น.ส. จิรภา นิวาตพันธุ์ ผู้ร่วมวิจัย และ Mr. Philipp Dill ผู้เชี่ยวชาญด้านสารสนเทศ นอกจากนี้ยังได้รับการสนับสนุนด้านบุคลากรจากวิทยาลัยราชสุดา และมูลนิธิภาษาศาสตร์ประยุกต์ในการร่วมวิจัย จากนั้นได้พัฒนาต่อยอดมาเป็นแอปพลิเคชันภาษามือไทย ซึ่งเปิดให้ดาวน์โหลดฟรีตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2555 ที่ผ่านมา"

       รศ.ดร. อภิลักษณ์กล่าวต่อไปว่า ภาษามือมีรูปแบบที่ชัดเจน แต่ละภาษามีพยัญชนะ สระ คำนาม สรรพนาม กริยา และไวยากรณ์ที่ชัดเจนเหมือนภาษาพูดทั่วไป ต่างกันตรงที่วงจรการสื่อสารของภาษามือใช้ท่ามือแทนคำพูด เนื่องจากการรับสารเกิดจากการมองเห็น แทนการได้ยิน และเนื่องจากคำศัพท์ใช้ท่ามือและรับรู้โดยสายตา ศัพท์จำนวนหนึ่งจึงอาจเข้าใจได้ง่ายและคล้ายกันในภาษามือต่างๆ เพราะท่ามือมีรูปแบบใกล้เคียงกับรูปลักษณ์ของสิ่งที่อ้างถึง
      
       
"ผู้ที่มีอุปสรรคในการสื่อสารภาษามือ สามารถค้นหาคำศัพท์ที่สงสัยจากแอปพลิเคชันภาษามือไทยและพจนานุกรมสารสนเทศภาษามือไทยได้ ซึ่งคำตอบจะเป็นวีดิโอคลิป มีทั้งศัพท์ภาษามือเชียงใหม่และภาษามือสงขลา พร้อมมีตัวอักษรภาษาไทย และภาษาอังกฤษประกอบ ทำให้ง่ายต่อการเรียนรู้ภาษามือไทย นอกจากนี้ในโปรแกรมยังจัดเรียงศัพท์เป็นหมวดต่างๆ ตามคุณสมบัติทางไวยากรณ์เพื่อความสะดวกและรวดเร็วในการสืบค้น และมีการเพิ่มคำอธิบายไวยากรณ์ พร้อมตัวอย่างการใช้จริงในพจนานุกรมฉบับสารสนเทศ"
      
      
      
       ผอ.สถาบันภาษาศาสตร์ฯ เพิ่มเติมว่า การจัดหมวดหมู่ต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกในการสื่อสารกับคนที่บกพร่องทางการได้ยิน รวมถึงเป็นเครื่องมือช่วยสำหรับการสื่อสารระหว่างกลุ่มคนหูหนวกไทยต่างๆ ที่ใช้ภาษามือแตกต่างกันไปตามท้องถิ่นของตน และยังใช้เป็นเครื่องมือช่วยการเรียนการสอนในการอ่านเขียนภาษาไทยและภาษาอังกฤษสำหรับนักเรียนนักศึกษาหูหนวกไทยได้ด้วย
      
       
"จากผลสำรวจยังพบว่า คนหูหนวกมีความสนใจฝึกออกเสียงพูด ซึ่งถ้าหากพัฒนาได้ พวกเขาจะมีความสุขมากหากสามารถสื่อสารกับคนได้ยินปกติได้ด้วยการออกเสียงพูด แต่อุปสรรคขณะนี้คือ มีการสื่อสารอ่านออกเขียนได้ พูดได้น้อยมาก ทางสถาบันฯ จึงได้ต่อยอดพัฒนาโปรแกรมสอนการออกเสียงพูด โปรแกรมระบบเสียงภาษาไทยออนไลน์ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนหูหนวก หรือเรียกว่านวัตกรรมสื่อระบบเสียงภาษาไทยออนไลน์ ซึ่งแสดงระบบเสียงภาษาไทยผ่านมัลติมีเดียโดยมีการสาธิตการออกเสียงสระ พยัญชนะและวรรณยุกต์ภาษาไทย เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการศึกษาระบบการออกเสียงภาษาไทย ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่บกพร่องทางการได้ยิน คนได้ยินปกติ รวมถึงชาวต่างชาติด้วย" ผอ.สถาบันภาษาศาสตร์ฯ กล่าวทิ้งท้าย
      
       
สำหรับผู้สนใจสามารถดาวน์โหลดฟรี ได้ที่ App Store หรือที่เว็บไซต์ สถาบันภาษาศาสตร์และวัฒนธรรมศึกษาราชนครินทร์  และสำหรับผู้ที่ต้องการศึกษาระบบเสียงภาษาไทย สามารถเยี่ยมชมนวัตกรรมสื่อระบบเสียงภาษาไทยออนไลน์ได้  >>ที่นี่<<  หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ สถาบันภาษาศาสตร์และวัฒนธรรมศึกษาราชนครินทร์ โทร. 02 - 579 - 5567 - 8 ต่อ 1516

ไม่มีความคิดเห็น: