21 ธันวาคม 2552

ฮีโร่หญิงตะกร้อไทย ฉายาเพชฌฆาตเงียบ




กีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ ๒๔ ที่เพิ่งปิดฉากลงไป นิตินัดดา แก้วคำไสย์ หรือ อุ้ม ตะกร้อหญิงทีมชาติไทย วัย ๒๑ ปี เจ้าของฉายา เพชฌฆาตความเงียบ ถือเป็นหัวหอกสำคัญในนัดล้างตา ชนะคู่ปรับเก่าเวียดนาม อย่างได้ใจคนไทยทั้งประเทศ อุ้มเสิร์ฟทำแต้มเอาชนะได้อย่างใจเย็นตามฉายา ซึ่งหลายคนอาจจะรู้แล้วว่า...ฉายาเพชฌฆาต ความเงียบ มาจากความพิการทางหู เป็นใบ้มาตั้งแต่กำเนิด การสื่อสารสำหรับคนหูหนวกเป็นใบ้ เป็นอุปสรรคสำคัญในการดำรงชีวิตประจำวัน แต่สำหรับ อุ้มข้อด้อยนี้กลายเป็นจุดแข็ง ในสนามแข่ง...ความเงียบ เป็นผลดีทำให้อุ้มมีสมาธิมากขึ้น "อุ้มเป็นเด็กที่มีพรสวรรค์ด้านตะกร้อสูงมาก พื้นฐานแน่นเพราะได้รับการฝึกจากคุณพ่อ มาอย่างดีตั้งแต่เด็กๆ" วีรัส ณ หนองคาย โค้ชตะกร้อหญิงทีมชาติไทย อดีตนักกีฬาทีมชาติไทยช่วงปี ๒๕๒๔-๒๕๓๒ อายุ ๕๔ ปี บอก

กว่าจะมีฝีมือระดับอุ้ม...ถ้ามีพรสวรรค์ ก็ต้องใช้เวลาฝึก ๔-๕ ปี คนที่มีพรสวรรค์ในกีฬาตะกร้อ ต้องมีความจำ มีความคิดประดิษฐ์สร้างที่รวดเร็ว มีไหวพริบที่เฉียบคม เป็นความจริงที่ว่า พรสวรรค์เหล่านี้ ไม่มีใครสอนใครได้ โค้ชวีรัส บอกว่า ถึงอุ้มจะมีปัญหาเรื่องการสื่อสาร แนะนำด้วยคำพูดไม่ได้ ก็ใช้การทำให้ดู และให้ทำตาม ท่าไหนผิด ก็รีบแก้ โชคดีที่อุ้มเรียนรู้เร็ว จำเก่ง ลูกเสิร์ฟ...ถือว่าสำคัญ กว่าอุ้มจะเสิร์ฟได้ขนาดนี้ ต้องใช้เวลาฝึกฝนนานพอดู

ไม่เฉพาะเพชฌฆาตมือเสิร์ฟเท่านั้น อุ้มยังถือได้ว่าเป็นนักตะกร้อครบเครื่อง เล่นได้ทุกตำแหน่ง จะเสิร์ฟก็ได้ จะเป็นตัวทำก็ทำได้ดี เพื่อนฝูงเห็นฝีมือกันมายาวนาน มักเรียกอุ้มว่าอัจฉริยะ เพราะคนปกติซ้อมหนักแค่ไหนก็ยังเล่นตะกร้อไม่ได้เก่งครบเครื่องเท่าอุ้ม ในเกม...อุ้มออกแม่ไม้ทีเด็ดให้เห็นบ่อยๆ ไม่ว่า เสิร์ฟลูกปั่นหยอด เสิร์ฟหลังเท้า แปฝ่าเท้า ตอนเล่น...ก็มีทั้งลูกเหยียบ ลูกปาด เขกหัว ฟาดได้ ทุกลีลาเป็นไหวพริบ ปฏิภาณ พรสวรรค์เฉพาะบุคคล ที่ผ่านการฝึกมาอย่างโชกโชน

ในสนามแข่งขัน อุ้มเป็นคนเดียวที่มีปัญหาด้านการสื่อสาร หัวหน้าทีมจะใช้ภาษามือสื่อสาร กับอุ้ม บางครั้งก็เข้าใจกันดี แต่บางครั้งก็มีปัญหา "โค้ชตัดปัญหาด้วยการเขียนเป็นตัวหนังสือ ชูป้ายบอกอยู่ข้างๆ จะแก้เกมแบบไหน โยนเสิร์ฟสั้นไป ยาวไป จะให้จังหวะการเล่น ช้าไปหรือเร็วไปแค่ไหน ก็ปรับกันไปเรื่อยๆ" อย่าเข้าใจผิดว่านี่คือวิธีพิเศษ...ไม่ปกติเฉพาะนักกีฬาที่มีปัญหาการสื่อสาร โค้ชวีรัส บอกว่า ปกติบรรยากาศในสนาม เสียงเชียร์โห่ร้องดังสนั่นอยู่แล้ว โค้ชตะโกนเท่าไหร่ลูกทีมก็ไม่ได้ยิน วิธีเขียนบอกจะทำให้ลูกทีมเล่นได้ตามแผนแม่นขึ้น

สิทธิ์ แก้วคำไสย์ อายุ ๔๕ ปี ผู้เป็นทั้งพ่อและครูตะกร้อคนแรกของอุ้ม เล่าว่า อุ้มเล่นตะกร้อ ตั้งแต่อายุ ๑๐ ขวบ เล่นกับเด็กผู้ชายสนามกีฬาประจำชุมชนใกล้บ้าน เหตุผลจริงๆที่ให้อุ้มเล่นตะกร้อ...พ่อไม่ได้หวังจะให้ไปไกลถึงทีมชาติ แต่อยากให้ลูกได้เล่นกับ เพื่อนๆพี่ๆที่เป็นคนปกติ ให้อุ้มได้ฝึกการใช้ชีวิตร่วมกันกับคนในสังคมปกติ บังเอิญอุ้มเล่นแล้วชอบตะกร้อมาก มีแววไปไกล พ่อก็ซ้อมให้จริงจัง...เช้าเล่น ๑ ชั่วโมง เย็นก็เล่นอีก ๓ ชั่วโมง คุณพ่ออุ้มเป็นครู สอนหนังสืออยู่โรงเรียนบ้านหนองแวง อาศัยหน้าที่การงานช่วยให้อุ้มเรียนหนังสือกับคนปกติจนจบ ป.๖ อุ้มเรียนรู้สังคมได้มากขึ้นก็จริงอยู่ แต่โรงเรียน ไม่มีครูสอนคนหูหนวกโดยตรง ด้านการเรียนอุ้มรับรู้ได้ไม่ถึง ๒๐ เปอร์เซ็นต์

อุ้มอายุได้ ๑๐ กว่าขวบ...พอจะเขียนหนังสือ อ่านหนังสือได้แล้ว อุ้มพยายามตั้งคำถามถามพ่อ "ทำไมอุ้มพูดไม่ได้ แต่คนอื่นพูดได้?" พ่อก็เขียนตอบกลับพร้อมทำท่าอธิบายให้เข้าใจว่า "หูหนูพิการ ไม่ได้ยิน เลียนเสียงพูดไม่ได้ คนอื่นหูไม่มีปัญหา" จบ ป.๖ แล้ว ฝีมือกีฬาตะกร้อของอุ้มพัฒนาโดดเด่นกว่าใคร ถึงจะหูหนวกเป็นใบ้ ก็ได้รับโอกาส เรียนต่อด้านตะกร้อโดยตรง ที่โรงเรียนกีฬา อุบลราชธานี อุ้มครองแชมป์หลายสนาม ทั้งระดับจังหวัด ระดับประเทศ กระทั่งติดทีมชาติ อุ้มก็คว้า แชมป์ระดับนานาชาติมาแล้วหลายรายการ ถึงวันนี้อุ้มประสบความสำเร็จสูงสุดแล้ว แต่คุณพ่อก็ยังไม่มั่นใจว่า ลูกสาวคนนี้ เข้มแข็งพอที่จะ ยืนอยู่บนสังคมนี้ได้เหมือนคนปกติ "พ่อยังห่วง...บางเรื่องอุ้มยังไม่เข้าใจสังคมเท่าใดนัก" คุณพ่อสิทธิ์ บอกว่า ไปเก็บตัวซ้อมนานๆ อยู่ไกลกัน โทรศัพท์พูดคุยกันไม่ได้ ก็อาศัยฝาก ความคิดถึง ความห่วงหาอาทรไปกับการส่งข้อความ "ทุกวัน...พ่อจะส่งข้อความเป็นกำลังใจ ให้ตั้งใจซ้อม ซ้อมให้สนุกนะลูก พ่อแม่รัก คิดถึง พอตกกลางคืนก็จะส่งข้อความไปอีกครั้ง ให้อุ้มหลับฝันดี" บางครั้ง...อุ้มก็ส่งข้อความกลับมา "คิดถึงพ่อ คิดถึงแม่ คิดถึงน้องมาก พ่อแม่ทำอะไรอยู่..." วันไหนอุ้มส่งข้อความคุยกันยาว แสดงว่าอุ้มมีปัญหา โค้ชดุ เล่นไม่เก่ง อุ้มเครียด จะระบาย ให้พ่อแม่รู้ พ่อก็ส่งข้อความกลับไป อุ้มเก่งอยู่แล้ว ไม่เป็นไรบางวันเล่นดี บางวันเล่นไม่ดี ทุกคนก็ต้องเจอแบบนี้ ทำใจให้สบาย ซ้อมให้สนุกก็พอ

คุณพ่อสิทธิ์ บอกอีกว่า อุ้มยังไม่ได้วางแผนไปไกลถึงอนาคต คิดแต่ว่าอยากเล่นตะกร้อ ต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าร่างกายจะไม่ไหว แต่พ่ออยากให้อุ้มมาอยู่ใกล้ๆตัวจะได้คอยดูแล อุ้มจะค้าขาย ทำธุรกิจส่วนตัวเล็กๆก็ได้ เพราะถึงยังไง บั้นปลายชีวิตคนหูหนวกเป็นใบ้ จะไปทำงานที่ไหนก็ลำบาก ในสังคมที่ซับซ้อนอย่างทุกวันนี้ ยังไงพ่อก็อดห่วงลูกไม่ได้ มีหลายเรื่องที่คุณพ่อสิทธิ์อยาก จะอธิบายให้ลูกเข้าใจ ก็ทำได้ลำบาก แต่ในเมื่อลูกรักตะกร้อ อยากเล่นตะกร้อไปเรื่อยๆ พ่อก็ตั้งใจว่าจะคอยสนับสนุนอย่างเต็มที่

เผยหัวใจพ่อไปแล้ว ถามหัวใจอุ้มบ้าง เป็นอย่างไร? อุ้มบรรยายความรู้สึกผ่านหน้ากระดาษ ให้ฟังว่า... "ตะกร้อเป็นสิ่งเดียวที่ทำให้อุ้มรู้สึกไม่แตกต่างจากคนปกติ เมื่อใดที่ได้เล่นตะกร้อ ทำให้รู้สึกว่าตัวเองไม่มีปัญหา ไม่ว่าจะเป็นการฟัง หรือพูดกับคนข้างตัว" เครื่องยืนยันถึงความรัก ความผูกพัน และกำลังใจอันมากล้นที่อุ้มได้รับจากครอบครัว อุ้มจะชอบวาดรูปครอบครัว พ่อแม่ น้อง เป็นตัวการ์ตูน ยืนจับมือกัน แล้วก็เขียนคำว่า "คิดถึงพ่อกับแม่มากนะคะ" แปะไว้ที่หัวเตียงตอนเก็บตัวซ้อมทุกครั้ง ก่อนจะจบการสนทนา อุ้มฝากความคิดถึงไปยังบ้านที่ร้อยเอ็ด ด้วยหน้าตายิ้มแย้มสดใส ด้วยว่า "คิดถึงพ่อแม่มากๆ...รักพ่อแม่ อยากเจอและกอดแน่นๆค่ะ". (ไทยรัฐออนไลน์ ๑๗ ธค. ๒๕๕๐)

ไม่มีความคิดเห็น: