04 กุมภาพันธ์ 2553

หนุนคนพิการเรียนฟรีถึงป.ตรี และเปิดหลักสูตรล่ามภาษามือ รุ่นแรกปี 53


ทำเนียบรัฐบาล : คนพิการเฮรัฐหนุนเรียนฟรีถึงปริญญาตรีโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายทั้งสถาบันของรัฐและเอกชน คาดรุ่นแรกเข้าเรียนได้ในปีการศึกษา 2553 พร้อมเปิดหลักสูตรล่ามภาษามือเป็นครั้งแรกสำหรับคนทั่วไป

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยถึงผลการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้ยกร่างระเบียบคณะกรรมการส่งเสริมการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการว่าด้วยการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษาสำหรับคนพิการ ซึ่งเป็นการดำเนินการครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่จะกำหนดหลักเกณฑ์ชัดเจนเพื่อให้คนพิการทั่วประเทศได้เรียนฟรีจนถึงระดับปริญญา โดยจะระบุให้มหาวิทยาลัยทุกแห่งทั้งรัฐและเอกชนต้องรับเด็กพิการเข้าเรียนในระดับปริญญาโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย

ทั้งนี้ เป็นอำนาจของสภามหาวิทยาลัยที่จะจัดทำแผนและกำหนดแนวทางการรับนักศึกษาพิการ โดยจะต้องคำนึงถึงความหลากหลายของความพิการและกำหนดจำนวนรับต่อปี โดยแผนการรับนักศึกษาดังกล่าวต้องเสร็จสิ้นภายใน 120 วันก่อนเปิดภาคเรียนในทุกปีการศึกษา สำหรับงบประมาณสนับสนุนให้มหาวิทยาลัยทำเรื่องขอเบิกจากสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) แต่หากงบไม่พอสามารถขออนุมัติเพิ่มเติมจากกองทุนส่งเสริมการศึกษาคนพิการ ที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ดูแลอยู่

“หลังจากคณะทำงานได้ยกร่างระเบียบดังกล่าวและนำเสนอรัฐมนตรีศึกษาธิการลงนามแล้วจะมีผลบังคับในทางปฏิบัติทันที โดยมหาวิทยาลัยต้องไปจัดทำเกณฑ์การรับนักศึกษาพิการเข้าไปเรียนในระดับปริญญาตรีฟรี คาดว่าภายในปีการศึกษา 2553 จะสามารถรับนักศึกษาพิการเข้าเรียนฟรีในรุ่นแรกได้” นายจุรินทร์กล่าว

นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้รับทราบการจัดทำหลักสูตรการเรียนล่ามภาษามือเป็นครั้งแรกของประเทศ ซึ่งประกอบด้วย 3 ส่วนคือ หลักสูตรการเรียนล่ามภาษามือขั้นพื้นฐาน ภาษามือเพื่อการสื่อสารกับคนหูตึง และหลักสูตรการปฏิบัติจริง ใช้เวลาเรียนหลักสูตรละ 1 สัปดาห์ โดยผู้ที่มีสิทธิเข้าเรียนคือคนปรกติทั่วไปและคนหูตึงแต่สื่อสารด้วยวาจาได้และอยู่ในเกณฑ์ที่เรียนได้

นายจุรินทร์กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีว่า ที่ประชุมเห็นชอบเรื่องการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่ 2 ระหว่างปี 2552-2556 ที่มุ่งเน้นการยกระดับคุณภาพการศึกษา การขยายโอกาส และการแสวงหาการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน โดยในเรื่องคุณภาพจะเน้นสร้าง 4 ยุคใหม่คือ คนไทยยุคใหม่ ครูยุคใหม่ แห่งเรียนรู้ยุคใหม่ และสถานศึกษายุคใหม่ พร้อมตั้งสถาบันคุรุศึกษาเพื่อผลิตและกำหนดมาตรฐานครู ตั้งสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพเพื่อกำหนดเกณฑ์ในการชี้วัดสถานะในการปฏิบัติงานจริงของผู้จบการศึกษาว่าอยู่ในระดับใด เพื่อจะได้รับค่าตอบแทนตามคุณวุฒิวิชาชีพนั้น

ไม่มีความคิดเห็น: