06 ตุลาคม 2552

ภาษามือสื่อสารเงียบๆ


ห้วงยามที่นักการเมืองเข้าไปสุมกันในสภา-เริ่มพูด มีสาระบ้าง ไม่มีสาระบ้าง-แล้วเรียกมันว่า การประชุมสภา (แต่คนทางบ้านที่ดูโทรทัศน์อาจไม่รู้สึกอย่างนั้นในบางครั้ง) ลองเคลื่อนสายตาไปที่มุมล่างขวาของจอ ‘นักสื่อสารในโลกไร้เสียง’ หรือ ‘ล่ามภาษามือ’ ก็กำลังทำหน้าที่อย่างแข็งขันและอดทน ต้องใช้คำว่า ‘อดทน’ ...อันเนื่องจากความปั่นป่วนในสภาและการประท้วงของผู้ทรงเกียรติ สำหรับบางคน ถ้าภูมิคุ้มกันไม่ดีพอ อาจถึงขั้นหลอนนอนไม่หลับถ้าเปลี่ยนช่องหนีไม่ทัน แต่สำหรับพวกเธอ หน้าที่ย่อมต้องเป็นหน้าที่
สมัยประธานสภาฯ อุทัย พิมพ์ใจชน ครั้งนั้น องค์กรที่ทำงานเกี่ยวกับคนพิการได้ยื่นเอกสารเพื่อเรียกร้องให้รัฐสภาจัดหาสิ่งอำนวยความสะดวกให้แก่คนพิการ และสมาคมคนหูหนวกแห่งประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในองค์กรที่ว่า กลายเป็นที่มาของการมีล่ามภาษามือเพื่อสื่อสารเนื้อหาการประชุมให้กับผู้พิการทางหูได้รับรู้
กนิษฐา รัตนสินธุ์ กันยา แซ่อึ่ง และจุฑามาศ สุธนวัฒนาเจริญ คือเจ้าหน้าที่จากสมาคมคนหูหนวกแห่งประเทศไทย ที่คอยรับหน้าที่ประจำวันพฤหัสบดี หากทางรัฐสภาร้องขอล่ามภาษามือไปทางสมาคมคนหูหนวกแห่งประเทศไทย คำถามแรกที่เรายิงใส่พวกเธอทั้ง ๓ คน คือ “ภาษามือยากมั้ย?”
คำตอบโดยสรุป-ไวยากรณ์ภาษามือจะมีการเรียงประโยคต่างจากภาษาพูด โดยจะเรียงจากประธาน กรรม กริยา เช่น ถ้าพูดว่า ‘ฉันกินข้าว’ ภาษามือจะเป็น ‘ฉันข้าวกิน’ แต่พวกเธอบอกว่าภาษามือก็ไม่ต่างจากภาษาอังกฤษ คือเรียนแล้วต้องใช้ ใช้ก็ส่วนใช้ แต่คนจะเป็น ‘ล่ามภาษามือ’ ได้จำต้องผ่านการเรียน การอบรม ที่มีหลักสูตรกำกับ เนื่องจากภาษามือที่ใช้สำหรับสื่อสารกับภาษามือที่ใช้ในการแปลมีลักษณะต่างกันออกไป แต่โดยหลักการแล้ว ภาษามือจะมีองค์ประกอบ ๕ อย่าง คือ รูปแบบท่ามือ ตำแหน่งวางการมือ การพลิกหันฝ่ามือ ทิศทางการเคลื่อนไหวมือ และการเคลื่อนไหวของลำตัวและการใช้สีหน้าซึ่งใช้ในการแสดงอารมณ์ ความรู้สึก และน้ำเสียงของสิ่งที่แปล
“สื่อสารก็คือการพูดคุยธรรมดา แต่ถ้าเป็นล่ามต้องฝึกการฟัง ฝึกการตีความ ฝึกการจับประเด็นแล้วก็ถ่ายทอดออกไป” กนิษฐาอธิบายความเหมือนที่แตกต่าง “การแปลที่ดีที่สุดคือทำยังไงก็ได้ให้คนหูหนวกเห็นภาพ เหมือนกับเราเอาสตอรีบอร์ดมาเรียง อย่างพูดถึงแตงโมลูกหนึ่งนี่เห็นชัด แต่อย่างคำว่า กตัญญู จะแปลยังไง เราก็ต้องอธิบายความหมายของคำคำนี้”
การแปลภาษาพูดเป็นภาษามือจึงเป็นไปเพื่อให้ผู้พิการทางหู ‘เข้าใจ’ เนื้อหามากที่สุด เรื่องความสละสลวยของถ้อยคำ ระดับชั้นของภาษา เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ดังที่จุฑามาศอธิบายว่า “การแปลภาษามือ เราจะแปลสารให้คนเข้าใจ เราไม่ได้ต้องการให้เขารู้ภาษาไทย นั่นเป็นสิ่งที่เขาต้องไปเรียนรู้ ไม่ใช่หน้าที่ของล่าม หน้าที่ของเราคือฟังสิ่งที่เราจะถ่ายทอด แล้วถ่ายทอดออกมาเป็นภาษามือให้เขาเข้าใจเนื้อหามากที่สุด อย่างถ้าเราจะบอกว่าพระฉัน เราก็แค่บอกว่าพระกิน ส่วนคนหูหนวกจะแปลเป็นพระฉันหรือพระกิน นั่นขึ้นอยู่กับความรู้ทางภาษาไทยของคนคนนั้น”
เตรียมมือ เตรียมใจ - การเป็นล่ามภาษามือในการประชุมสภาก็เหมือนกับอาชีพอื่นๆ ที่จะต้องมีการเตรียมตัวก่อนทำงาน สิ่งที่ขาดไม่ได้คือการติดตามข่าวสารบ้านเมือง เพื่อจะได้ทราบว่าทิศทางข่าวและเรื่องราวที่น่าจะถูกหยิบยกขึ้นมาถกในสภาเป็นเรื่องอะไร ส่วนที่ ๒ ที่ล่ามภาษามือต้องเตรียมซึ่งคนที่ไม่มีปัญหาเรื่องการฟังอาจไม่เคยรู้ก็คือ เสื้อผ้า ทำไม? ผู้พิการทางหูต้องใช้สายตาเป็นหลักเพื่อรับรู้ข้อมูลจากภาษามือ ดังนั้น เสื้อผ้าที่ล่ามภาษามือใช้จะต้องเป็นสีเรียบและเข้มที่ตัดกับสีผิวของมือ (ถ้าสังเกตดู พวกเธอจะใส่เสื้อสีดำตลอด) บรรดาเครื่องประดับหรือแม้แต่กระดุมเสื้อที่สะท้อนแสงวิบวับก็ไม่ควรใส่เพราะจะเป็นการรบกวนสายตาผู้พิการทางหู
ยังไม่นับรวมการเตรียมสุขภาพร่างกายให้พร้อม ไม่เจ็บไข้ได้ป่วย โดยปกติล่าม ๓ คน จะทำหน้าที่ผลัดเปลี่ยนกันคนละ ๒๐ นาที ซึ่งถ้าเป็นการประชุมสภาทั่วๆ ไปก็ไม่ใช่เรื่องหนักหนานัก แต่ถ้าเป็นการอภิปรายไม่ไว้วางใจซึ่งบางครั้งลากยาวไปจนถึงตี ๒ ตี ๓ ถ้าร่างกายไม่พร้อมอาจน็อกตั้งแต่หัวค่ำ กนิษฐาสาธยายความเหนื่อยล้าว่า “เจออภิปรายติดกัน ๓ วัน วันแรกเสร็จตี ๔ สภาพร่างกายก็เริ่มแย่ วันที่ ๒ เลิกตี ๓ วันที่ ๓ เลิกตี ๒ ร่างกายไม่ไหว สมองเราจะล้ามากกว่า ฟัง แต่สมองไม่สั่งการ มือก็ไป มือก็ตก สมมติแรกๆ ถ้าแปลถึงแค่ ๔ โมงเย็นก็ยังโอเค แต่ถ้าเลยไปสัก ๒ ทุ่มก็จะเริ่มล้าแล้ว ช่วงแรกๆ มือก็ตั้งดี แต่หลังๆ จะตกลงเรื่อยๆ บางทีก็จะหลับ แต่จะต้องทำยังไงก็ได้ไม่ให้คนดูจับผิดเราได้ว่าเรากำลังอ่อนเพลียอยู่”
เตรียมร่างกายแล้ว ยังต้องเตรียมจิตใจด้วย ไม่ว่าจะทะเลาะกับที่บ้าน เจ้าหนี้ทวงหนี้ ลูกไม่สบาย พวกเธอบอกว่าเมื่อต้องทำหน้าที่ ภาระทุกอย่างในใจที่แบกหามไว้ต้องตัดออกให้หมด เพื่อไม่ให้รบกวนการทำงาน นอกจากนี้ สภาพแวดล้อมก็เป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะเรื่องเสียง ถ้ามีเสียงรบกวนมาก การทำงานจะยิ่งลำบาก ซึ่งถ้าไม่เหลือบ่ากว่าแรงนัก พวกเธอก็จะขอให้เจ้าหน้าที่ที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงลดเสียงลง
เจออย่างนี้ แปลยังไง? - ข้อจำกัดของภาษามืออยู่ที่ไม่สามารถสื่อสารคำที่เป็นนามธรรมได้ชัดเจนนัก พอมาอยู่ในที่ประชุมสภาที่เต็มไปด้วยศัพท์แสงยากๆ ที่ไม่ค่อยใช้ในชีวิตประจำวัน ความยากในการสื่อสารก็ยิ่งทวีคูณ ลองนึกถึงคำประเภท ‘วาระ’ ‘ญัติ’ ‘กระทู้’ หรือ ‘อารยะขัดขืน’ บางทีล่ามถึงกับต้องกุมขมับ แต่ถึงที่สุดก็ต้องแปลออกมาให้ได้ วิธีการหนึ่งคือการแปลคำยากๆ เหล่านี้ออกมาเป็นคำที่เข้าใจได้ทั่วไป เช่น คำว่า ‘กระทู้’ ก็แปลเป็น ‘คำถาม’ เป็นต้น หรือถ้ายากกว่านั้น จุฑามาศอธิบายว่า “อย่างคำว่า อารยะขัดขืน เราเข้าใจนะ แต่มันเยอะมากไง ถ้าเรารู้ว่าต้องมาแปล เราก็ต้องเตรียมตัว ปรึกษาหารือกันก่อน ถ้าเราเตรียมความพร้อมมาก การแปลของเราก็มีโอกาสที่จะลื่นไหลมากขึ้น ต้องฟังบริบทที่เขาพูด เช่น พูดว่าจะอารยะขัดขืนด้วยการไม่เสียภาษี เวลาเราแปลจะไปบอกอารยะขัดขืนก็ไม่ได้ เราก็บอกไปเลยว่า เราจะไม่เสียภาษี คือเราไม่ได้แปลเป็นคำๆ มันต้องฟังเนื้อเรื่องด้วย แล้วตีความให้ออก “หรือคำว่ายานพาหนะ ก็มีหลายอย่าง แต่เวลาเราแปล เราต้องแปลทุกอย่าง คนหูดีพูดแค่ยานพาหนะรู้เรื่อง แล้วแต่จะจินตนาการ แต่บริบทของเรื่องคืออะไร เช่น ถ้าพูดเรื่องรถเช่าเอ็นจีวี จะแปลคำว่ายานพาหนะเป็นรถมอร์เตอร์ไซต์ไม่ได้แล้ว ในเมื่อเรื่องนั้นเป็นเรื่องของรถเมล์ ภาษามือก็พูดไปได้เลยว่ารถเมล์”
แล้วเคยแปลผิดหรือเปล่า? - “ตั้งใจแปลผิดไม่มีแน่ แต่บางครั้งเสียงบางเสียงมันใกล้เคียงกันมาก อย่างเสียงว่า สอทอ ถ้าอยู่ๆ พูดขึ้นมาแบบนี้ มันก็มีตั้งหลายอย่าง แล้วเราจะเลือกแปลยังไง บอกไม่ได้ อาจจะเป็นศึกษาธิการหรือสาธารณสุขก็ได้ แต่ถ้าเขาพูดเรื่องยามาก่อนแล้ว เราก็จะรู้ว่าเขากำลังพูดเรื่องกระทรวงสาธารณสุข แต่ถ้าอยู่ๆ ขึ้นมา สอทอ ประกาศ ล่ามต้องแปลแล้ว ต้องคิดว่าจะสออะไรดี หรือไม่ก็ต้องรอช่วงเวลานิดหนึ่งให้เขาพูดออกมาว่าเป็นสอไหน”
แต่เรื่องที่เราสงสัยที่สุดก็คือ แล้วเวลาที่บรรดาผู้ทรงเกียรติเอาแต่ประท้วงเรื่อยเปื่อย แย่งกันพูดจนฟังไม่ได้ศัพท์ คนเป็นล่ามจะทำอย่างไร ซึ่งเราได้รับการเฉลยว่า ฟังจากเสียงเป็นหลัก จับเสียงไหนได้ก็เลือกแปลเสียงนั้น แต่ถ้าจับได้ทั้งสองเสียงก็จะเลือกแปลทั้งสองเสียง โดยใช้สีหน้าและการเคลื่อนไหวลำตัว ขยับซ้ายขวา ผู้พิการทางหูก็จะรู้ว่ามีคน ๒ คนกำลังพูด พวกเธอเล่าว่าเคยมีบางครั้งที่ผู้ทรงเกียรติประท้วงกันไปมา กระทั่งล่ามภาษามือไม่ได้แปลอะไรเลยตลอด ๒๐ นาที!!!
“แต่ในกรณีที่ประธานสภาดับไมค์ เราไม่แปล เพราะเราถือว่าคนฟังก็ไม่ได้ยินเหมือนกัน เราต้องเลือกแปลเสียงที่เปิดจากไมค์ก่อน เพราะเสียงนั้นเป็นเสียงที่ถ่ายทอดออกไป” จุฑามาศเสริม
“นักการเมืองบางคนต้องไปเรียนการใช้ภาษาไทยใหม่ด้วยซ้ำ” ความยากอีกประการของการทำหน้าที่ล่ามภาษามือในการประชุมรัฐสภา ส่วนหนึ่งอยู่ที่นักการเมือง กันยาบอกกับเรา “นักการเมืองบางคนพูดคำความหมายเดียว แต่แยกคำ มือเราก็ไปไปก่อนแล้ว แต่พอจบคำแล้วไม่ใช่ ก็ต้องเปลี่ยน หรือถ้าพูดช้ามากก็จะแปลยาก มือก็จะค้างอยู่กลางอากาศ” หรือหนักกว่านั้น พวกเธอถึงกับบอกว่านักการเมืองบางคนต้องไปเรียนการใช้ภาษาไทยใหม่ด้วยซ้ำ เพราะว่าพูดไม่มีจังหวะ ไม่มีวรรคตอน ส่วนเป็นใครนั้นขออนุญาตไม่บอก เราถามว่าแล้วนักการเมืองคนไหนพูดแล้วแปลง่าย คำตอบคืออดีตนายกรัฐมนตรี สมัคร สุนทรเวช ต้องหมายเหตุให้เข้าใจว่า ‘แปลง่าย’ ของคนเป็นล่ามภาษามือหมายถึงคนพูดพูดจาชัดถ้อยชัดคำ มีจังหวะจะโคนในการพูด และแบ่งวรรคได้ถูกต้อง ซึ่งไม่ได้เกี่ยวกับว่าเนื้อหาที่พูดนั้นดีหรือไม่ดี นายกฯ อภิสิทธิ์ก็เป็นอีกคนที่ล่ามภาษามือไม่ต้องทำงานหนักมาก เพราะพูดชัด แบ่งวรรคตอนการพูดได้ดี เสียตรงที่สำนวนเยอะไปหน่อย บางทีล่ามต้องตีความให้ออกมาเป็นภาษามือที่ตรงกับความหมายที่นายกฯ อภิสิทธิ์ต้องการพูด
“แล้วอย่างเวลาคุณเฉลิม อยู่บำรุงพูดถึงภาษิตกฎหมายภาษาละติน ทำยังไง? กนิษฐาตอบว่า “ไม่แปล เราต้องรอให้คุณเฉลิมพูดเป็นภาษาไทยก่อน แล้วค่อยแปล” หน้าที่ของนักสื่อสารในโลกไร้เสียง
“แล้วอย่างเวลาคุณเฉลิม อยู่บำรุงพูดถึงภาษิตกฎหมายภาษาละติน ทำยังไง? กนิษฐาตอบว่า “ไม่แปล เราต้องรอให้คุณเฉลิมพูดเป็นภาษาไทยก่อน แล้วค่อยแปล” หน้าที่ของนักสื่อสารในโลกไร้เสียง
เมื่อการสนทนาเสร็จสิ้น เราขอเข้าไปสังเกตการณ์การทำงานของพวกเธอในห้องประชุมรัฐสภา ซึ่งตอนแรกเราเข้าใจว่าสถานที่ทำงานของล่ามภาษามือจะแบ่งเป็นสัดเป็นส่วน มีสิ่งอำนวยความสะดวกตามสมควร แต่ที่ไหนได้ มันเป็นแค่ซอกมุมเล็กๆ มุมหนึ่งบนชั้นลอยของห้องประชุมสภา พวกเธอต้องเตรียมผ้าใบพลาสติกมาปูนั่งกันเอง เวลาประชุมกันดึกดื่น พวกเธอก็นอนแหมะกันบนผ้าใบนั่น ซึ่งเราขอเรียกร้องไปยังทางรัฐสภาว่าถ้าจริงใจกับสิ่งอำนวยความสะดวกแก่คนพิการจริง ก็ควรจะดูแลเรื่องสถานที่ สิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับล่ามภาษามือให้ดีกว่านี้
สุดท้ายก่อนลา เราใช้ความรู้สึกเวลาดูถ่ายทอดการประชุมสภาเป็นตัวนำคำถาม บ่อยครั้งที่เราทนไม่ได้กับการนั่งดูนักการเมืองพูดจาไม่มีเนื้อหาหรือประท้วงไร้สาระ เราจึงอยากรู้ความรู้สึกของพวกเธอว่าเป็นอย่างไรกันบ้าง สุขภาพจิตยังดีอยู่หรือที่ต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมเช่นนี้คำตอบที่ได้วนกลับไปสู่สิ่งที่เรียกว่า ‘หน้าที่’ พวกเธอไม่ได้บอกว่า ‘ไม่มีความรู้สึก’ แต่เมื่ออยู่ตรงนั้นก็ต้องทำหน้าที่ให้ดีที่สุด ต้องตัดความรู้สึกออก เพราะถ้าเกิดความรู้สึกไม่พอใจ รำคาญ สิ่งเหล่านี้จะแสดงออกมาทางสีหน้า ซึ่งผู้พิการทางหูจะจับได้เวลาอยู่หน้าจอ แต่พอลงมาจากเก้าอี้นั่นก็อีกเรื่องหนึ่ง พวกเธออาจจะมานั่งคุยกันหรือนั่งคิดตามลำพังว่าสิ่งที่ได้ยินนั้น บ่งบอกแก่นสารของนักการเมืองได้มากน้อยแค่ไหน เพราะในฐานะประชาชนคนหนึ่ง พวกเธอย่อมมีเสรีภาพเต็มในการคิดต่อพฤติกรรมของนักการเมือง
นักการเมืองคนนี้ใช้ท่ามือว่าอะไร? ภาษามือที่ใช้เรียกนักการเมือง สำหรับผู้พิการทางหู พวกเขาก็มีศัพท์เฉพาะไม่ต่างกับคนที่หูไม่พิการ เช่น ยี้ห้อย หลงจู๊เติ้ง หรือเทพเทือก ศัพท์พวกนี้เรารู้ได้ทันทีโดยไม่ต้องเอ่ยชื่อ ผู้พิการทางหูก็เช่นกัน พวกเขาจะจับจากลักษณะเด่นของนักการเมืองแต่ละคนมาใช้เป็นภาษามือ ซึ่งคนที่เป็นล่ามจะต้องคอยถามไถ่ผู้พิการทางหูถึงท่ามือเฉพาะของแต่ละคน ไม่สามารถคิดขึ้นเองได้ และนี่คือตัวอย่าง อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ภาษามือคือหน้าตาดี+ตัว อ.อ่าง บรรหาร ศิลปอาชา ภาษามือคือ บ.ใบไม้+ตัวเตี้ย พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ ภาษามือจะทำเป็นรูปใบหู สมัคร สุนทรเวช ท่ามือจะขยุ้มที่จมูก ชวน หลีกภัย ท่ามือจะบอกลักษณะของผมที่ขึ้นเป็นกระบังตลอดเวลา พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ท่ามือคือแว่นกับคาง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ท่ามือคือการเอานิ้วชี้ชี้ขึ้นไปบนฟ้า (ประมาณว่าชี้ดาวเทียม) ส่วนอดีตนายกฯ สมชาย วงศ์สวัสดิ์ ไม่มีท่ามือเฉพาะ ใครจะแปลความว่าไม่มีอะไรโดดเด่นเลย นั่นก็แล้วแต่จะคิด (เรื่อง-กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล ASTV ออนไลน์ ๒๒ เมย. ๒๕๕๒ )

ไม่มีความคิดเห็น: