25 ตุลาคม 2552

ชีวิตในโลกเงียบของ "ดร.ดอน แบงส์" กับบทบาทครูสอนคนหูหนวก

แหล่งที่มา กรุงเทพธุรกิจ ฉบับที่ 5233 [หน้าที่ 5 ] ประจำวันที่ 20 มกราคม 2546

ในบรรยากาศที่เงียบสงบ อาจจะมีเสียงดังเล็ดลอดออกมาบ้าง เป็นครั้งคราวของโรงเรียนเศรษฐเสถียร โรงเรียนสำหรับผู้ที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน บุรุษร่างท้วม ผิวขาว จมูกโด่ง สวมแว่นตากลมๆ เขาไม่ใช่คนไทย แต่กลับยินดีเดินทางมาเมืองไทยหลายครั้ง ด้วยงบประมาณส่วนตัว เพื่อเป็นอาสาสมัครสอนเด็กหูหนวกที่โรงเรียนแห่งนี้

ดร.ดอน แบงส์ ชายผู้มีความบกพร่องทางการได้ยิน คืออาสาสมัครที่เอ่ยถึง เขาเป็นคนหูหนวกชาวอเมริกัน แต่กลับมีความสามารถมากกว่าคนปกติอีกหลายคนเสียอีก ด้วยตำแหน่งปัจจุบันคือผู้จัดการฝ่ายศิลปะการละคร Califonia Sign Rise Theater และผู้ประสานงานด้านภาษามืออเมริกันของวิทยาลัยเซ็นต้า โรซ่า จูเนียร์ และเซ็นต้า โรซ่า แคลิฟอร์เนีย

"งานหลักของผมเป็นผู้จัดการฝ่ายศิลปะการละคร ซึ่งเป็นหน่วยงานภาคเอกชนที่สหรัฐอเมริกา การละครจะไม่ใช่งานที่ทำทุกวัน กว่าละครจะเปิดก็เดือน 9 คือเดือนพฤศจิกายนถึงเดือน 5 แล้วปิดประมาณ 5 เดือน ผมว่างก็จะมาเมืองไทย 5-6 อาทิตย์ และก็จะมาช่วยสอนเด็กหูหนวกที่โรงเรียนเศรษฐเสถียร เนื่องจากว่าผมรู้จัก ดร.มลิวัลย์ ธรรมแสง ผู้อำนวยการของโรงเรียนเป็นอย่างดี ท่านเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านภาษามือ ที่ให้ความช่วยเหลือผมเป็นอย่างดี" ดร.ดอน แบงส์ กล่าวด้วยล่ามภาษามือ ผ่าน ดร.มลิวัลย์ เพื่อถ่ายทอดให้คนหูดีๆ อย่างเราๆ เข้าใจ

ส่วนงานที่สอง เขาทำงานเป็นอาจารย์สอนวิชาภาษามือในมหาวิทยาลัย มีนักเรียนประมาณ 1,500 คน เขาบอกว่าที่สหรัฐอเมริกา คนเรียนภาษามือมีเป็นจำนวนมาก ปัจจุบัน 7 แสนคนที่รู้ภาษามือ และเมืองไทยต่อไปก็คาดหวังว่าจะเหมือนกัน

การที่ ดร.ดอน แบงส์ ยอมมาเป็นอาสาสมัครช่วยสอนเด็กที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน ที่ตัวเขาเองก็มีปัญหาเช่นกัน เนื่องจากต้องการที่จะช่วยให้นักเรียนได้รู้จักสร้างทัศนคติที่ดีต่อคนหูหนวกต่อตนเอง ที่แต่ละคนกำลังประสบอยู่ โดยการใช้ตัวละครเป็นสื่อ สร้างภาพพจน์คนหูหนวกในทางสังคม เพราะคนหูหนวกในสหรัฐอเมริกาที่มองตัวเองในด้านลบ การละครจะช่วยลดปัญหานี้ได้มากทีเดียว

"ผมจะสอนการเล่นเกมที่ช่วยให้สร้างความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ไม่ใช่เรื่องการเขียน แต่ผมอยากจะสอนให้เกิดการทำงานเป็นกลุ่มให้กว้างออกไปมากกว่า คนหูหนวกตั้งแต่เล็กจนโต มักจะมีข้อขัดแย้งกับพ่อแม่อยู่เรื่อย ไม่ค่อยมีข้อแลกเปลี่ยน ผมอยากจะให้สื่อภาษาให้ชัดเจน ผมมาช่วยเสริมประสบการณ์ความคิดของเด็กเท่านั้นเอง" เขากล่าว

ดร.ดอน แบงส์ เขาใช้เทคนิคการสอนด้วยละคร เช่น สอนเด็กด้วยลักษณะการมองเห็นของมนุษย์โดยใช้ละครประกอบ ให้เด็กเป็นส่วนประกอบของตา มนุษย์มองเห็นได้อย่างไร ลักษณะการได้ยินเสียงของมนุษย์ การได้ยินเกิดขึ้นได้อย่างไร การได้ยินของหู เด็กคนแรกอาจเป็นไก่ขัน คนต่อไปจะเป็นแก้วหู คนต่อไปจะเป็นกระดูกฆ้อน กระดูกทั่ง กระดูกโกลน อวัยวะครึ่งวงกลม เส้นประสาท ส่วนตัวละครตัวสุดท้ายจะเป็นคนที่นอนหลับอยู่

และถ้าแก้วหูเสียจะเป็นอย่างไร เด็กก็จะแสดงออกมา เพื่อบอกว่าเสียงสามารถส่งผ่านได้นิดเดียว สรุปแล้ว ดร.ดอน แบงส์ สามารถทำให้เป็นการแสดงอะไรก็ได้ ใครเป็นล้อ ใครเป็นควาย ใครเป็นคนขี่ควาย ใครเป็นหาง เกวียน ความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ มนุษย์แสดงแทนล้อ แทนควายเพื่อให้เห็นลักษณะเคลื่อนไหว

"ผมชอบสอนเด็ก ผมอยากเห็นเด็กหูหนวกเบิกบานเหมือนดอกไม้บาน เพราะว่าคนหูหนวกอ่านเขียนไม่เก่ง ถ้าเรามาฝึกเรื่องการอ่านเขียนอย่างเดียว เด็กไม่มีความสุข แต่การละครช่วยให้จิตวิญญาณของภาษาดีขึ้น หลายครั้งผมได้สังเกตเห็นที่ประเทศสหรัฐอเมริการก็เหมือนกัน ภาษาไม่ดี แต่พอใช้การละคร ทำให้ความสนใจ ความสามารถทางด้านภาษาเพิ่มขึ้น ทำให้เด็กเกิดความเชื่อมั่นในตนเองขึ้น"

ดร.ดอน แบงส์ คิดว่าเด็กหูหนวกทั่วโลกเหมือนกันหมด ต้องการที่จะสื่อสารกับคนอื่น พ่อแม่ กับทุกคนที่บ้าน ปัญหาในการสื่อสารกับที่บ้านมีน้อย พอเข้าโรงเรียนเด็กก็อยากจะเรียนมากขึ้น อยากเป็นคนหูหนวกที่โตๆ แล้วทำงานเป็นนักวิชาชีพ ปัญหาจริงๆ อยู่ที่แต่ละคนมักจะเหงา เพราะว่าเป็นคนหูหนวก แต่ถ้ามีล่ามภาษามือสบายมาก

เขาจบเอกการละคร จากมหาวิทยาลัยเบิร์กเลย์ (Berkely) ที่เปรียบเสมือนมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด หรือไม่ก็จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยของเมืองไทย โดยจบปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยกาลอเด็ท วอชิงตัน เป็นมหาวิทยาลัยสอนคนหูหนวก ปริญญาโท 2 ปริญญา จากเทนเทสซี การศึกษาสำหรับคนหูหนวก และจากเท็กซัส เอกการทำภาพยนตร์

"ผมมาเมืองไทยเรื่อยๆ มีครอบครัวเป็นคนหูหนวก แต่งงานแต่หย่าแล้ว ตอนนี้ก็เลยชอบมาทำงานที่นี่ อยากบอกว่าคนหูหนวกทั่วๆ ไป มี 2 ครอบครัว คือ ครอบครัวจริงๆ ที่เขาเกิดมา กับคนหูหนวกด้วยกัน เพราะว่าครอบครัวที่เขาเกิดจริงๆ มักจะมีปัญหาในการสื่อสารกันเป็นไปโดยลำบาก ยิ่งโตขึ้นมาการสื่อสารก็ยังไม่เข้าใจ ตอนที่ผมยังเป็นเด็ก สื่อสารไม่รู้เรื่อง พอเก่งขึ้นแม่ก็ตกใจ แม่อายุ 68 พอเห็นผมสื่อสารดีขึ้นกว่าเดิม แม่ก็ไปเรียนภาษามือ พอผมกลับไปบ้าน แม่ก็ไปจ้างล่ามมา จ้างมาสัก 2 ชั่วโมง ทำให้รู้เรื่อง ไม่มีปัญหาการสื่อสารอีกต่อไป"

บทบาทของ ดร.ดอน แบงส์ แม้จะอยู่ในฐานะคนหูหนวก เขาเคยไปที่ประเทศแคนาดา ทำภาพยนตร์วิดีโอเทปเกี่ยวกับการล่วงละเมิดทางเพศ เป็นภาพยนตร์ประชาสัมพันธ์ เขาช่วยเขียนบท กำกับการแสดง เหมือนกับการให้ไอเดียการทำกิจกรรมต่างๆ

สำหรับคนหูหนวกนั้น เขาบอกว่า การยอมรับของคนในสังคมในเรื่องหน้าที่การงานเมื่อก่อนมีปัญหา แต่เดี๋ยวนี้เริ่มดีขึ้น ในสหรัฐ เมื่อสองปีที่แล้วนางงามสหรัฐก็เป็นคนหูหนวก เมื่อ 10 ปีที่แล้ว อธิการบดีของมหาวิทยาลัยสอนคนหูหนวกก็เป็นคนหูหนวก เนื่องจากมีการประท้วงว่าต้องการอธิการบดีที่เป็นคนหูหนวก ข่าวนี้ช่วยกระตุ้นให้คนในสังคมตื่นตัว และรับรู้มากขึ้น ทำให้คนหูหนวก ได้รับการสนับสนุนได้รับโอกาสที่ทัดเทียม

"3 ปีที่แล้วประเทศแคนาดา มีการเลือกตั้งและมีคนหูหนวกได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เดี๋ยวนี้คนให้การยอมรับคนหูหนวกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อย่างหนังเรื่อง Bangkok Dangerous พระเอกเป็นคนหูหนวก คนหูหนวกในสหรัฐ จบระดับดอกเตอร์ 500-600 คน เป็นหมอก็มี เป็นผู้พิพากษา เป็นทนายความ 40 คน หมอฟันประมาณ 10 คน มีทุกสาขาวิชาชีพ"

ศักยภาพของคนหูหนวกอย่าง ดร.ดอน แบงส์ เขาพยายามแสดงให้สังคมเข้าใจว่า ชีวิตของคนหูหนวกจะต้องมีจิตใจที่เบิกบาน การสอนเด็กหูหนวกด้วยละคร เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ดีที่สุด ที่จะสร้างสรรค์ชีวิตในโลกเงียบให้ครึกครื้น รื่นเริงและชื่นฉ่ำ ใช้ชีวิตอยู่ในโลกได้อย่างมีความสุขเฉกเช่นคนปกติทั่วไป...

ไม่มีความคิดเห็น: