25 ตุลาคม 2552

ระบบโทรทัศน์สำหรับคนหูหนวก

Submitted by ContentAdmin on Wed, 12/17/2008 - 02:03.
ฉบับที่ : 8 / 2549
โดย : รศ. ดร.เอกชัย ลีลารัศมี

โครงการวิจัยและพัฒนาอุปกรณ์เทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวก เพื่อช่วยเหลือผู้พิการ ที่ได้จัดทำขึ้นภายในคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนั้นมีอยู่หลายโครงการ ซึ่ง รศ. ดร.เอกชัย ลีลารัศมี อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า ก็เป็นบุคลากรท่านหนึ่งของคณะฯ ที่ได้คิดค้นอุปกรณ์สำหรับให้ผู้พิการได้ใช้เพื่อการดำรงค์ชีวิตอยู่ได้อย่างไม่ลำบากจนเกินไปนัก รศ.ดร.เอกชัย ได้เล่าถึงงานวิจัยที่ท่านได้คิดค้นขึ้นผ่านทางช่างพูด



“งานที่ทำเกี่ยวกับคนพิการชิ้นล่าสุดคือ เกี่ยวกับคนหูหนวก คือ ทำอย่างไรให้คนหูหนวก ชมรายการโทรทัศน์ได้ เพราะเขาไม่ได้ยินเสียง ก็ต้องใช้วิธีอ่านตัวหนังสือแทนหรือไม่ก็ดูภาพภาษามือ เราจึงทำระบบโทรทัศน์ที่สามารถแสดงตัวอักษรคำบรรยายใต้ภาพ ให้อ่านแทนการฟังเสียงได้ ที่เรียกว่าเป็นระบบ เพราะมันมีทั้งฮาร์ดแวร์ และซอฟต์แวร์ ที่ประกอบไปที่ตัวเครื่องรับโทรทัศน์ แล้วก็ทางด้านการส่งของสถานีโทรทัศน์ด้วย โดยผู้ใช้บริการจะสามารถกดปุ่ม สั่งให้โทรทัศน์แสดงตัวหนังสือขึ้นมาได้ เรียกว่า Caption“



“ผู้ชมจะกดปุ่มชมรายการที่บ้านได้เลย แต่จะต้องติดตั้งเครื่องถอดรหัส / ขยายภาพ (set top box) เข้ากับเครื่องรับโทรทัศน์ด้วย จึงจะสามารถใช้บริการได้ ระบบนี้จะไม่รบกวนการรับชมของคนปกติ และผู้ใช้บริการสามารถเลือกชมคำบรรยายภาพได้ 2 ภาษา คือ ไทย และ อังกฤษ”



“ในกรณีที่รายการโทรทัศน์มีการแสดงภาพภาษามืออยู่แล้วโดยมักแสดงในหน้าต่างหรือจอเล็กๆ (ตามรูป) ฮาร์ดแวร์เราก็สามารถขยายจอเล็กนี้ให้ใหญ่ขึ้นได้ คนหูหนวกบางคน เคยบอกว่าอยากให้กลับกันด้วยซ้ำไป คือ ภาพหลักคือภาพคนแสดงภาษามือ ส่วนภาพเล็กเป็นภาพที่คนธรรมดาดู เขาอ้างว่าบางประเทศ เช่น สวีเดน มีบางรายการที่ทำให้คนหูหนวกโดยเฉพาะ แต่ถ้าทำแบบนี้ต้องไปถ่ายทำและต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับทางสถานีด้วย ซึ่งของเราจะไม่ไปข้องเกี่ยวกับทางสถานีเลย อย่างระบบขยายภาษามือ เราก็อาศัยว่ามันมีรูปอยู่แล้วแต่ว่ามันเล็กไป เราก็ขยายออกมาด้านละ 2 เท่า รวมเป็น 4 เท่า เครื่องที่ทำขึ้นจะให้เลือกอัตราขยายได้เช่น 1 เท่าครึ่ง แต่ต้องไม่เกิน 4 เท่า ฮาร์ดแวร์ที่เราทำรุ่นล่าสุดจะรวม 2 ฟังชั่นนี้ไว้ด้วยกัน ในเครื่องเดียว”



วิวัฒนาการในการพัฒนา
“เราใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 8 ปี ตั้งแต่เริ่มต้นทำงานชิ้นนี้ โดยเริ่มจากการทำ Caption ก่อน ซึ่งจะต้องไปติดตั้งที่สถานีโทรทัศน์ด้วย ใช้เวลาหลายปี ประมาณ 4-5 ปี แล้วก็มาทำภาษามือนี้ต่ออีก 3 ปี ตอนนี้ก็หยุดทำไปชั่วคราว ซึ่งมันใช้ได้แล้ว แต่เราไม่ได้ทำขาย เมื่อ 2 ปีที่แล้ว เนคเทคพยายามสนับสนุนให้ผลิตจำนวนมาก แต่ติดปัญหาหลายด้าน ตั้งแต่ผู้ผลิตรายการ สถานี และ เงิน เพราะคนหูหนวกก็คงไม่อยากซื้อเอง ตอนนี้การเอาผลงานไปใช้ประโยชน์ทางพาณิชย์ หรือเอาไปใช้ประโยชน์จริงๆ ก็ยังไม่เกิดขึ้น”



“ผลงานนี้ได้ให้วิทยาลัยราชสุดา และ สมาคมคนหูหนวก ลองใช้บ้าง แต่สุดท้าย เขาก็ยังไม่เห็นความสำคัญเท่าไหร่ คือ เขายังพอทนได้ในเรื่องของการดูภาษามือ หรือว่าการที่ดูโทรทัศน์ไม่รู้เรื่อง พวกเขาก็ไม่เดือดร้อนมากเท่ากับเรื่องการประกอบอาชีพ ยังไม่ถึงขนาดทนไม่ได้“



ต้นทุนของของ ตัวเครื่องถอดรหัส / ขยายภาพ ( set top box)
“ต้นทุนเฉพาะค่าวัสดุของเครื่องถอดรหัส / ขยายภาพ ( set top box) จะอยู่ที่ประมาณ 3,000 บาท เสียค่าจูนเนอร์เข้าไปอย่างเดียวก็ 700 บาทแล้ว แต่ถ้าซื้อจำนวนมากๆ ก็ถูกลง แต่เราใช้จูนเนอร์สำเร็จรูปแบบที่มีคุณภาพ”



สัญญาณทีวี จะต้องเข้าในกล่องเรา แล้วเราผสมสัญญาณในกล่องเรา
“เราจะมีจูนเนอร์อยู่ในเครื่องของเราด้วย เพราะมันต้องรับสัญญาณ ช่อง 3, 5, 7, 9 ได้ แต่ถ้าเอาเครื่องนี้ไปฝังอยู่ในโทรทัศน์ก็ใช้จูนเนอร์ร่วมกันได้ แล้วเราต้องติดตั้งเครื่องเข้ารหัส (Encoder)ข้อความของเราที่สถานีโทรทัศน์ด้วย ซึ่งเคยทดลองทำได้ผลที่ช่อง 7 เมื่อปีที่แล้ว นับว่าสถานีนี้จะลงทุนน้อยมากเพราะเป็นอนาล็อกทั้งระบบตั้งแต่ห้องส่งไปจนถึงเสาส่ง ซึ่งอยู่ห่างกันหลายกิโลเมตร จนต้องยิงไมโครเวฟจากห้องส่งไปที่เสาส่ง ช่อง 7 จึงออกอากาศระบบของเราได้โดยไม่ต้องลงทุนเพิ่มเลย เพราะตัวเครื่องเข้ารหัส (Encoder) เป็นของเรา ส่วนทีวีช่องอื่นๆ เช่น ช่อง 9 ยังทำไม่สำเร็จ เพราะว่าห้องส่งของเขาเป็นระบบดิจิตอล แม้ว่าตอนออกจากเสาส่งจริงจะเปลี่ยนกลับมาเป็นอนาล็อก เลยต้องหาเงินซื้อหรือสร้างอุปกรณ์เพิ่มเพื่อส่งข้อความของเราตามไปรวมกันที่เสาส่ง ประกอบกับสถานีไม่สะดวกที่จะให้ไปทดลองบ่อยๆ พอติดปัญหาทางเทคนิคนี้ ทางช่อง 9 ก็เฉยเลย จริงๆ แล้ว ลงทุนไม่แพงเท่าไหร่ แต่ก็ไม่อยากทำอยู่ดี ถ้าช่อง 7 จะไปต่างจังหวัด เขายิงเป็นดิจิตอลส่งออกไปขึ้นดาวเทียม เราเสร็จเหมือนกัน ข้อความของเราก็ถูกตัดออกจากสัญญาณภาพ เราก็ต้องยิงข้อความของเราเป็นดาต้าตามไป พอถึงปลายทางที่สถานีถ่ายทอดของเขาก็นำกลับมารวมกันใหม่ สุดท้ายก็ต้องส่งเป็นอนาล็อก ที่อเมริกาก็เป็นแบบนี้ ก็ยังลงทุนไม่มากอยู่ดี”



ตัว Caption มีคนพิมพ์เข้าไปหรืออัตโนมัติ
“Caption ถ้าทำแห้ง หมายถึงรายการสารคดี ทำที่สตูดิโอก็ได้ ถือออกมาเป็นม้วนวิดีโอเลย ปกติรายการทั่วๆไป ยังเป็นเบต้าอยู่ คือยังเป็นอนาล็อก ถือมาส่งที่สถานี ก็ออกอากาศไปเลย ตัวหนังสือข้อความก็อยู่ในนั้นอยู่แล้ว โดยถูก Encode รหัสเข้าไปในสัญญาณภาพ สัญญาณภาพที่เป็นอนาล็อก มันจะมีช่วงเวลาที่เงียบๆ ไม่มีภาพอยู่ ช่วงนั้นจะใส่อะไรไปก็ได้ การทำสารคดี ก็คือไปเอาสารคดีม้วนนั้นมา แล้วเราก็เติมข้อความโดยพิมพ์ให้เครื่อง Encoder แทรกเป็นรหัส ASCII เข้าไป ต่างประเทศเช่น ญี่ปุ่น เคยใช้เครื่องถอดเสียงเป็นตัวหนังสืออย่างอัตโนมัติ แต่ระบบนี้จะแพงมาก ถ้าใครเคยเปิดช่อง 3 แล้วเวลาภาพมันเลื่อน จะเห็นเป็นโลโก้ช่อง 3 ซึ่งเป็นที่ว่างๆ ที่ใส่อะไรก็ได้ โดยคนดูจะไม่รู้ ขายสัมปทานได้ด้วย คือ สามารถส่งข้อมูลต่างๆออกไปยังผู้รับปลายทางทุกคนทางเครื่องรับโทรทัศน์ได้ เช่น ราคาหุ้น ตารางเที่ยวบิน ข้อมูลอะไรก็ได้ และส่วนหนึ่งที่เราเอามาใช้ เพื่อคนพิการ ใช้เพียงนิดเดียวเอง ไม่ได้ใช้ทั้งหมด ก็ยังมีส่วนว่าง ที่ยังใช้ประโยชน์อื่นๆ ได้อีก”



ที่ทำมาทั้งหมด ได้รับการสนับสนุนมาจากสภาวิจัยแห่งชาติก่อน ประมาณ 3-4 ล้านบาท เป็นโครงการ 3 ปี ตามด้วยจากเนคเทค ไม่เกิน 1 ล้านบาท



โครงการนี้เป็นโครงการที่มีประโยชน์มาก เพราะอะไรถึงไม่มีใครเอาไปพัฒนาต่อยอด เพื่อเอาไปใช้ได้จริง
“จริงๆ แล้วมีการสัมมนาหลายครั้ง ไม่ใช่ว่าเราอยู่เฉยๆ เราเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องกับทางสถานีมา เขาก็ส่งฝ่ายเทคนิคเข้ามา ประเด็นก็คือ เขาไม่รู้ว่าจะทำไปทำไม หากว่าทำแล้วรายได้ไม่ได้เพิ่มขึ้นแถมยังต้องเสียเวลาเพิ่มอีก มันจึงต้องมีมาตรการบังคับของภาครัฐ อย่างที่สหรัฐอเมริกาจะบังคับ ถ้าหากไม่บังคับเค้าก็ไม่ทำ เพราะว่างานเค้าก็เยอะอยู่แล้ว ถ้าทำแล้วเค้าก็กลัวว่าจะมีผลเสียอะไรหรือเปล่า หรือว่าจะต้องมีมาตรฐานอย่างไรบ้าง“



สมมุติว่า ถ้าเมื่อไหร่ก็ตามที่รัฐบาลบังคับ เครื่องไม้เครื่องมือที่เรามีอยู่ พร้อมใช้ได้เลย โดยเฉพาะช่อง 7 และถ้าบ้านของผู้พิการมีกล่องอยู่ ก็ใช้ได้เลย คือถ้ามีใครมาลงทุนแล้วทำให้เกิดขึ้น ก็พร้อมแล้ว
“ถูกต้อง คือเรารู้วิธีออกแบบ หรือวิธีสร้างอุปกรณ์พวกนี้แล้ว เรามีประสบการณ์พวกนี้แล้ว ต้นทุนก็ไม่ได้แพง ถ้าทำจำนวนมาก ราคาก็ถูกลงไปอีก แต่คนใช้ก็ไม่น่าจะเยอะ ยกเว้นคนหูดีอยากจะใช้ด้วย เช่น ดูรายการเสียงภาษาอังกฤษแล้วไม่รู้เรื่อง ก็ขึ้นตัวหนังสือให้ก็ได้ ตลาดก็จะกว้างขึ้น”



ภาระตอนนี้ก็อยู่ที่สถานีส่งว่า เค้าจะต้องมานั่งคีย์ Caption พวกนี้เข้าไป ก็เลยไม่อยากทำ
“อันนั้นจะเป็นปัญหาอันหนึ่งด้วย ผู้ผลิตรายการเองก็มีปัญหา เราเคยคุยกับผู้ผลิตรายการ ถ้าเขาเองต้องเสียเวลาอีกหนึ่งวัน เพื่อจะคีย์ข้อมูลอันนี้ Encode เข้าไป เค้ารู้สึกว่าเป็นภาระที่หนักมาก คือ บางรายการก็ไม่ค่อยมีเวลาอยู่แล้ว ทำงานแบบวันต่อวัน ถ้าทำจะต้องปรับเวลา คือต้องทำเสร็จอย่าง น้อย 2 วัน เพื่อที่จะมาเข้าระบบนี้อีก 1 วัน กว่าที่จะไปออกรายการได้ เขายังไม่คุ้นกับระบบนี้ รายการละครยิ่งไม่ต้องพูดเลย เขาบอกว่าบางทีก่อนจะออก 1 ชั่วโมงค่อยเสร็จ แล้วเอาไปส่งที่สถานีส่ง นี้คือชีวิตของเขา เพราะฉะนั้นไม่ต้องพูดเลยว่า ทำไมเขาทำไม่ได้ แต่จริงๆ แล้วเราก็ไม่ได้สนใจรายการละครอยู่แล้ว เราสนใจรายการข่าว หรือรายการที่เป็นสารคดี อย่างวันที่ 12 สิงหาคม ก็จะพยายามทำสดเลย แต่กลัวว่าจะพิมพ์พลาด แล้วจะมีปัญหา ก็ไม่กล้าทำ”



จำนวนคนหูหนวกที่ใช้บริการ ในปัจจุบันเป็นอย่างไร
“โดยเฉลี่ยประมาณเกือบ 10 % รวมถึงคนหูตึงด้วย จากประชากรทั้งหมด ซึ่งเอาตัวเลขมาจากอเมริกา แต่ถ้าเอาแต่คนหูหนวกแต่กำเนิด ก็มีจำนวนหลายแสนเหมือนกัน แต่หลายคนก็อาจอ่านหนังสือไม่ออก เพราะฉะนั้นการขึ้น Caption ก็ไม่มีประโยชน์ เราถึงต้องทำภาษามือขยายให้เขา”



ในส่วน Caption ถ้ามีการขึ้นโดยอัตโนมัติ ก็คงเป็นคำตอบที่ช่วยให้สถานีทำมากขึ้น
“ถึงอย่างไรก็ต้องมีคนมาดูแลอยู่ดี เพราะมันมีภาพ มีการตัดต่อเพื่อให้มันเหมาะสม ผมคิดว่าคงเป็นข้ออ้างเท่านั้นเองสำหรับสถานีในการที่ไม่ยอมออกอากาศ จริงๆ แล้วใช้แรงคนก็ยังทำได้ อาสาสมัครก็ได้ อย่างสหรัฐอเมริกา อาสาสมัครก็ยังมี ต่างประเทศก็ยังใช้แบบพิมพ์เข้าไป แต่ต้องฝึกโดยเฉพาะ เพื่อที่จะได้พิมพ์เร็วขึ้น เพราะถ้าคนธรรมดาไปทำก็จะผิดบ้าง พิมพ์ไม่ทันบ้าง ซึ่งบ้านเรายังไม่มีใครทำ อาจจะต้องให้วิทยาลัยราชสุดา ไปฝึกอบรมพวกนี้ก็ได้ ถ้าหากจะทำอะไรให้เป็นประโยชน์”



ผลงานชิ้นนี้ ได้ตีพิมพ์ในวารสาร IEEE Transactions on Consumer Electronics
“เมื่อปีที่แล้วผมส่งตัวฮาร์ดแวร์ไปลงในวารสาร IEEE Transactions on Consumer Electronics เนื่องจากงานชิ้นนี้มันมีกลไกในการเก็บภาพและขยายภาพแบบเรียลไทม์ หมายความว่าต้องทำให้ได้ทันที ตอนนั้นเราทำบนฮาร์ดแวร์ ซึ่งค่อนข้างจะมีรีซอร์ส (Resources) จำกัดมาก เพราะเราไม่ค่อยมีเงิน ต้องคิดทุกวิธีประหยัดรีซอร์ส สุดท้ายก็ทำมาได้ เราก็เลยได้ตีพิมพ์”



ถ้าเปรียบเทียบตัวนี้กับอุปกรณ์ถ้าซื้อมาจากต่างประเทศ อย่างต้องทำ Caption และเรื่องของขยาย
“ต่างประเทศไม่มีอุปกรณ์ขยายจออันนี้อยู่แล้ว เพราะฉะนั้นเราก็จดสิทธิบัตรด้วย ที่จุฬาฯ แต่ว่าจดมาแล้ว 3 ปี ก็ยังเงียบอยู่ ก็เข้าใจว่าขั้นตอนมันนาน สินค้าแบบนี้หรือผลิตภัณฑ์แบบนี้มันไม่มีในโลก เพราะกลุ่มเป้าหมายมีไม่เยอะ ไม่ใช่ว่าทำไม่ได้ จริงๆ ทำได้แต่เค้าไม่ทำ ถ้าเป็น Caption ของเรามัน 2 ภาษา ต่างประเทศก็ทำไม่ได้เหมือนกัน พอเราทำ 2 ภาษา ก็ไม่มีใครเหมือน แต่ถ้าเป็นภาษาอังกฤษอย่างเดียว ก็มีปัญหาอีก เพราะระบบโทรทัศน์ของสหรัฐอเมริกาเป็น.แบบ NTSC เอามาใช้กับบ้านเราซึ่งเป็นระบบ PAL ก็ไม่ได้อีก คือมันมีข้อจำกัด ที่สินค้านำเข้าใช้ไม่ได้ แต่ถ้าใช้ได้เราก็คงไม่ทำเหมือนกัน”



นอกเหนือจากการทำ Caption มีอะไรบ้าง
“ถ้าเกี่ยวกับคนพิการ ก็ทำคนตาบอดมาก่อน เราเริ่มต้นจากการร่วมมือกับทางภาควิชาภาษาศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ โดยมี ผศ. ดร.สุดาพร ลักษณียนาวิน เป็นหัวหน้า เราเข้าไปช่วยทางเทคนิค เรียกง่ายๆ ว่าฝ่ายช่าง เราเป็นคนออกแบบ สร้าง แต่ว่าหัวใจของการสังเคราะห์เสียงมาจากทางคณะอักษรฯ เราก็สร้างกล่องฮาร์ดแวร์ที่พูดไทยได้ขึ้นมากล่องหนึ่ง เวลาใช้ก็ต่อพ่วงกับคอมพิวเตอร์ แต่ถ้ามันเจอคำภาษาอังกฤษที่ปนมาด้วย ก็จะโยนคำนั้นไปที่อีกกล่องที่พูดภาษาอังกฤษได้ซึ่งมีอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นคนใช้ก็สามารถอ่านตำราทั้ง 2 ภาษาบนจอภาพได้ เพราะฉะนั้นระบบของเราเลยพูดได้ทั้งภาษาไทยและอังกฤษ ซึ่งก็เป็นตัวเดียวในโลกอีกเหมือนกัน เพราะไม่มีใครทำแบบนี้ ตอนนั้นเราก็ได้รางวัลสภาวิจัยแห่งชาติด้วย ตัวนี้ทำมา 10 กว่าปีมาแล้ว โครงการตอนนั้นประมาณ 3 ปีได้ ตอนหลังเราก็มาทำเป็นซอฟต์แวร์แทน เพราะพีซี สมัยนี้ทำงานได้เร็วมาก และ ผศ. ดร.สุดาพร ก็ไปได้งานจาก IBM อีก เราก็เป็นฝ่ายช่างให้เหมือนเดิมคือทำซอฟต์แวร์สังเคราะห์เสียงภาษาไทยจนสำเร็จ หลังจากนั้นก็จบไป”



“ตอนนี้ที่เราทำอยู่ก็เป็นชิป (Chip) ช่วยฟัง นิสิตปริญญาโทของเรากำลังออกแบบชิปที่กินไฟน้อยมากๆ จะได้ทำเครื่องช่วยฟังที่ใช้ได้นานเป็นเดือนโดยไม่ต้องเปลี่ยนถ่าน แต่เป็นงานวิชาการมากกว่า เพราะโอกาสที่จะทำชิปจริงๆ ตัวนี้ไม่มี หมายถึงว่า เราต้องคิดวิธีที่จะขยายสัญญาณ โดยที่ใช้ไฟน้อยจริงๆ ก็เป็นเรื่องที่ต่างประเทศก็ทำเหมือนกัน ต่างคนต่างทำ วงจรก็ไม่เหมือนกัน“



“ส่วนที่น่าจะเป็นสินค้าจริงๆ ก็มี รศ.ดร.มานะ ศรียุทธศักดิ์ เคยทำเครื่องช่วยฟัง ผมคิดว่าจริงๆ แล้ว น่าสนับสนุน แต่ถ้าอินแทรนด์หน่อย ก็ต้องทำแบบที่ว่าดูไม่ออกว่าใช้เครื่องช่วยฟังอยู่ ซึ่งต้องมีขนาดเล็กมาก ออกแบบยาก เป็นปัญหาท้าทาย ถ้า low-tech หน่อย คือมีสายห้อยลงมา มีห่วงคล้อง มีไมค์ จะถูกมากๆ เพราะของหาซื้อได้อยู่แล้ว แต่คนก็อาจจะรู้สึกว่ามันไม่ดี เมื่อก่อนอาจจะมีปัญหาว่า มันเห็นเป็นเครื่องช่วยฟัง แต่เดี๋ยวนี้อาจจะไม่รู้สึก เพราะคิดว่าเป็นเครื่องเล่น MP3 ก็ได้ ผมคิดว่าน่าจะมีกลุ่มเป้าหมายที่ใช้ประโยชน์จากตรงนี้ได้ คือไม่ต้องไปใช้อะไรที่มันพิสดารมาก”



“นอกจากนี้ ที่เราทำ คือ มิเตอร์ระบบอิเล็คทรอนิกส์ โดยทำให้การไฟฟ้านครหลวงทดลอง อันนี้ค่อนข้างจะเป็นระดับอุตสาหกรรมหน่อยหนึ่ง ถ้าได้ผลก็จะมีการใช้จำนวนมาก เพราะทุกบ้านต้องใช้ ถ้าเทียบกับมิเตอร์แบบจานหมุน ราคาจะไม่ถูกกว่า แต่ว่ามันแม่นกว่า และมีประสิทธิภาพเหนือกว่า เช่น มีหน่วยความจำสามารถบันทึกอัตราการใช้พลังงานตามเวลาได้เลย คือมันเก็บว่าช่วงเวลาไหนเราใช้เยอะหรือใช้น้อย แบบจานหมุน เดือนหนึ่งก็อ่านได้ครั้งเดียว เราก็ไม่รู้ว่าตัวเลขตรงนี้มันไปกระจุกตัวอยู่ที่เวลาไหนบ้าง แต่ถ้าเป็นอิเล็คทรอนิกส์ มีหน่วยความจำ เราเก็บได้ทีทั้งเดือนเลย สามารถดูข้อมูลออกมาได้ว่า ใช้ไปอย่างไร และระบบคิดค่าไฟต่อไปนี้ จะคิดตามช่วงเวลาด้วย คือ กลางวันคิดราคาหนึ่ง กลางคืนคิดราคาหนึ่ง เพราะฉะนั้นมิเตอร์จะต้องมีตัวเลข 2 ตัวเลขเสมอ ถ้าเป็นระบบใหม่ มันจะเริ่มยุ่งในการจด ซึ่งจดไม่ไหวแล้ว ด้วยเหตุนี้จึงต้องมีวิธีอ่านโดยที่ไม่ต้องใช้คนจด”



อยากฝากอะไรไว้ให้คนใหม่ๆ ได้รับทราบ
“แนวโน้มทางด้านการใช้วงจรอิเล็คทรอนิกส์ ในบ้านเรา หรือการออกแบบ มันจะมีมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีสำหรับคนที่เรียนมาทางด้านนี้ เพราะจบไปแล้วได้ใช้ความรู้จริงๆ ถ้าเทียบกับสมัย 10 ปีที่แล้ว แทบไม่มี เดี๋ยวนี้ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบชิปก็ดี การออกแบบวงจรที่ต้องใช้ระบบฝังตัว ความต้องการบุคลากรกลุ่มนี้เพิ่มขึ้นมาก ถ้าเราสื่อให้กับนิสิตของเราให้รับรู้ก็อาจจะมีคนสนใจมากขึ้น เพราะมันมีแหล่งทุนและมีความต้องการอยู่แล้ว”

ไม่มีความคิดเห็น: