01 ตุลาคม 2552

เรื่องเล่า...จากโลกเงียบ ของ”วัชรินทร์ จินะมุสิ”


ไม่น่าเชื่อ อยากเก็บมาให้อ่าน :) เรื่องราวของเธอ
“เขาไม่อยากให้ใครมองเราว่ามีพ่อแม่เป็นใบ้” เจอหน้ากันไม่เท่าไหร่ วัชรินทร์ จินะมุสิ หรือที่คนส่วนใหญ่รู้จักในนาม แหม่ม เอเอฟ ๑ ก็พูดจ๋อยๆ เล่าเรื่องโน้นเรื่องนี้ให้ฟัง ประหนึ่งว่ารู้จักกันมาเป็นปี
พูดเก่งนะนี่ เราแซวเธอก็ว่า “ค่ะ” แล้วพูดต่อยิ้มๆ ว่า “เก่งที่สุดในบ้าน” จากนั้นจึงเฉลยว่าที่เป็นอย่างนั้นเพราะบ้านอันประกอบด้วยพ่อ แม่ และเธอ มีเพียงเธอคนเดียวเท่านั้นที่พูดได้ ใช่, เข้าใจไม่ผิด พ่อและแม่ของเธอเป็นผู้พิการทางหู จึงทั้งไม่ได้ยินและพูดไม่ได้

”สงสัยล่ะซิว่าแล้วแหม่มพูดได้ไง” ไม่ทันได้ถาม เธอก็ดักคอ แล้วก็เฉลยเสร็จสรรพว่า “เพราะตอนเด็กๆ มีญาติช่วยเลี้ยงค่ะ” การเติบโตมากับพ่อแม่ที่พิเศษกว่าพ่อแม่คนอื่นๆ แหม่มว่าสำหรับเธอไม่ใช่ปัญหาเลยสักนิด “เรื่องที่พ่อแม่ไม่ได้ยินมันไม่ใช่เรื่องใหญ่จนทำให้เรารู้สึกเป็นปมด้อย” แน่นอนอาจมีความรู้สึกบ้างตอนยังเป็นเด็กเล็กมากๆ หากเมื่อค่อยโตขึ้นก็ค่อยๆ เข้าใจ ดังนั้นขณะที่บางคนอาจจะอายเวลาพาพ่อแม่ออกไปเจอคนอื่น แต่เธอ “ไม่เลย” “เราลั้นลามาก” กลับเป็นพ่อและแม่ด้วยซ้ำที่ระยะหนึ่งในช่วงที่เธอเติบโตและเข้าเป็นสมาชิกเอเอฟ อะคาเดมี แฟนเทเชีย ใหม่ๆ ที่ทั้งคู่ดูจะอึดอัดเวลาต้องไปไหนมาไหนด้วย “เขาไม่อยากให้ใครมองเราว่ามีพ่อแม่เป็นใบ้ แต่แหม่มก็บอกให้เขาเป็นตัวของตัวเองนะแหละ แหม่มชอบที่พ่อกับแม่เป็นแบบนี้ ชอบที่เขาใช้ภาษามือกับเรา อย่าไปแคร์ แค่เราแฮปปี้ก็พอ” นี่อาจจะเป็นเพราะตลอดเวลาที่ผ่านมา เธอมีครอบครัวที่อบอุ่น และแม้จะไม่สามารถพูดคุยหยอกล้อกันได้อย่างพ่อแม่ลูกทั่วไป แต่ก็มีวิธีแสดงความรักต่อกันอย่างสม่ำเสมอ ”พวกเราจะโอเวอร์แอ๊คมาก” แหม่มบอกยิ้มๆ การกอดกันของพวกเธอจึงเป็นเรื่องสามัญและทำบ่อยครั้งจนนับไม่ถ้วน และเพราะการแสดงออกที่ชัดเจนแบบนี้แหละ แหม่มถึงว่าในวันที่พ่อกับแม่ตัดสินใจแยกทางกัน เธอจึงเข้าใจ รับได้ และไม่เห็นเป็นปัญหา “เรื่องที่เกิดขึ้นมันอาจจะเลวร้าย แต่อย่าไปจมอยู่กับมันนัก ไปเก็บมันมาคิดก็ช่วยอะไรไม่ได้ เรื่องดีๆ ต่างหากที่เราควรเก็บเอาไว้” ถามเธอว่า การเติบโตมาในครอบครัวลักษณะพิเศษนี้ เมื่อเทียบกับครอบครัวปกติทั่วไป มีอะไรที่แตกต่างบ้างไหม? เธอนิ่ง คิดอยู่สักครู่ ก่อนจะพูดยิ้มๆ ว่า ดูเหมือนสมาชิกครอบครัวเธอจำเป็นจะต้องเจอหน้ากันบ่อยกว่าสมาชิกครอบครัวปกติอื่นๆ “พวกเราไม่สามารถบอกความรู้สึกผ่านทางมือถือ เลยต้องมาเจอกัน ซึ่งมันอาจจะทำให้ต้องเดินทางมากขึ้น ต้องเสียเวลามากขึ้น เหนื่อยมากขึ้น แต่มันก็ทำให้เราได้เห็นหน้ากัน ได้สัมผัส แล้วการได้เจอหน้ากัน ความรู้สึกมันต่างจากการส่งข้อความหรือพูดผ่านมือถือนะ” “ที่สำคัญคือมันอิ่ม” ท่าทางขณะที่บอกเล่า ดูแล้วเจ้าตัวมีความสุขเหลือเกิน

นอกจาก “อิ่ม” แล้ว แหม่มยังว่า ทุกครั้งที่ได้เจอ ไม่ว่าจะพ่อหรือแม่ ทั้งคู่เป็นต้องแนะนำทั้งในเรื่องคำสอน มุมมอง และประสบการณ์ชีวิต “แม่ทำให้แหม่มรู้ว่าการให้ไม่ต้องหวังผลหรอก ให้ไปเถอะ ให้เท่าที่เราให้ได้” เป็นการ “ทำให้รู้” แบบการสอนผ่านภาษามือ รวมไปถึงผ่านการปฏิบัติตนที่เธอเห็นผ่านสังคมของแม่และเพื่อนซึ่งเป็นผู้พิการทางหูด้วยกัน “มันอาจจะเป็นลักษณะพิเศษเฉพาะของพวกเขาก็ได้ สังเกตดูเวลาคนหูหนวกเขาเจอกัน ไม่รู้จักกันหรอก แต่เขาจะยิ้มให้กัน คุยกันด้วยภาษามือ ที่สำคัญคือเขามีน้ำใจแตกต่างจากคนปกตินะ คือคนพวกนี้เขาพร้อมที่จะช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และมันทำให้แหม่มได้เรียนรู้” เช่นเดียวกับเรื่องความพยายาม “เคยมีคนพูดว่า พระเจ้าให้ความพยายามกับมนุษย์มา ๑๐๐% แต่มนุษย์ใช้ไปไม่ถึง ๓๐% นั่นคือสิ่งที่คนปกติอย่างเราๆ เป็นกัน คือรอคอยแต่โอกาส แต่กับคนที่เขาไม่ครบ ๓๒ เขาพยายามมากกว่านั้น

“อย่างพ่อแม่แหม่ม เขาเลี้ยงแหม่มมาได้จนโตขนาดนี้ สอนให้แหม่มเข้าใจโลกและเข้มแข็ง และก็ยังมีพ่อแม่ที่เป็นใบ้คู่อื่นที่แหม่มรู้จักที่เขาสามารถเลี้ยงลูกให้เติบโตมา มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีหน้าที่การงานที่ดี” ซึ่งเธอรู้สึกขอบคุณอยู่ทุกวัน และเพื่อแสดงความรู้สึก รวมถึงอยากบอกเล่าแง่มุมต่างๆ ที่ได้สัมผัส ตอนนี้เธอจึงกำลังซุ่มเขียนหนังสือ ชื่อ “เรื่องเล่าบนโลกเงียบ” เพื่อตอบโจทย์ในใจที่อยากทำอะไรสักอย่างให้พ่อกับแม่ และรวมไปถึงให้เพื่อนของพ่อและแม่ “แหม่มจะหยิบเอาตรงส่วนระหว่างโลก ๒ ใบ ทั้งโลกที่เงียบของพ่อแม่ และโลกที่มีเสียงของแหม่มที่มันเกี่ยวเนื่องกันอยู่มาเล่าให้คนอื่นฟัง” เผื่อเรื่องเล่าบนโลกเงียบใบนั้นจะให้แง่คิดที่ก่อให้เกิดประโยชน์กับใครๆ บ้าง(มติชนออนไลน์ ๓๑ ส.ค. ๒๕๕๒)

ไม่มีความคิดเห็น: