07 ตุลาคม 2552

กฎหมาย อาชีพสำหรับคนพิการ



ในประเทศต่างๆ เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฟิลิปปินส์ และสวีเดน เป็นต้น ได้มีการตรากฎหมาย ระเบียบ และข้อบังคับเพื่อคุ้มครองสิทธิประโยชน์ และสิทธิขั้นพื้นฐานของคนพิการ กล่าวคือ สิทธิในการศึกษา การทำงานประกอบอาชีพ การมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ ของสังคม จึงทำให้มีการจัดการให้การฟื้นฟูสมรรถภาพบุคคลพิการทุกด้านคือ ด้านการแพทย์ การศึกษา สังคม และอาชีพในประเทศต่างๆ เหล่านี้

สำหรับประเทศไทยนั้น ได้มีการดำเนินการร่าง "พระราชบัญญัติการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ" มาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๒๒ โดยที่กรมประชาสงเคราะห์เป็นผู้รับผิดชอบ ทางกรมประชาสงเคราะห์ได้ประกาศที่จะให้พระราชบัญญัติการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการเป็นของขวัญแก่คนพิการไทย ในปีคนพิการสากลที่ทางองค์การสหประชาชาติได้ประกาศไว้ซึ่งตรงกับ
ปี พ.ศ. ๒๕๒๔ แต่ก็ไม่บรรลุผล คนพิการจึงได้รวมตัวกันจัดตั้ง "สภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย" ขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๒๖ เพื่อรณรงค์ให้มีกฎหมายดังกล่าว สภาคนพิการฯได้จัดสัมมนาในระหว่างกลุ่มคนพิการด้วยกันและกับบุคคลที่เกี่ยวข้องจากหน่วยงานต่างๆหลายครั้งเพื่อนำข้อมูลมายกร่างพระราชบัญญัติการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการเสนอต่อรัฐบาลในขณะเดียวกันทางกรมประชาสงเคราะห์ก็ได้นำร่างพระราชบัญญัติที่กรมประชาสงเคราะห์เป็นผู้รับผิดชอบ เสนอคณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายของกระทรวงมหาดไทย และได้รับการพิจารณาให้มีการปรับปรุงแก้ไข และให้ดำเนินการจัดหาข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อประกอบการพิจารณาใหม่ ต่อมาได้นำเสนอคณะรัฐมนตรีและจนในที่สุดคณะรัฐมนตรีที่ประชุมวันที่๑๔ พฤษภาคม ๒๕๓๔ ก็ได้สร้างประวัติศาสตร์ขึ้น โดยมีมติเห็นชอบด้วยตามร่างพระราชบัญญัติการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการที่คณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตรวจสอบพิจารณา และยังให้กระทรวงมหาดไทยและคณะกรรมการกฤษฎีกาแก้ไขเพิ่มเติม โดยให้คงหลักการเดิมในร่างมาตรา ๑๗ คือ การกำหนดให้เจ้าของอาคาร สถานที่ยานพาหนะ หรือบริการสาธารณะอื่นๆ จัดอุปกรณ์อำนวยความสะดวกแก่คนพิการและกำหนดให้นายจ้างหรือสถานประกอบการของรัฐ หรือสถานประกอบการของเอกชน รับคนพิการเข้าทำงานในอัตราส่วนที่เหมาะสมกับลูกจ้างอื่น แต่ให้ปรับลักษณะที่เป็นบทบังคับบทกำหนดโทษในร่างมาตร ๑๘ เป็นลักษณะให้การสนับสนุน ให้สิ่งจูงใจให้ปฏิบัติ เช่น กำหนดให้เจ้าของอาคารสถานที่ ยานพาหนะหรือบริการสาธารณะสุขอื่นๆ ที่จัดสิ่งอำนวยความสะดวกแก่คนพิการ สามารถนำค่าใช้จ่ายที่เสียไปเพื่อการนั้นตามจำนวนที่เหมาะสมไปหักเป็นค่าลดหย่อน เพื่อประโยชน์ในการคำนวณภาษีเงินได้และผู้ใดจ้างคนพิการปฏิบัติงานให้สามารถหักค่าใช้จ่ายเป็นค่าลดหย่อนภาษีได้เป็น ๒ เท่าเป็นต้น ทางคณะกรรมการกฤษฎีกาจึงได้แก้ไขเพิ่มเติมตามมติคณะรัฐมนตรี และได้นำเสนอคณะรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่งในวันที่ ๑๓ สิงหาคม ๒๕๓๔ ซึ่งคณะรัฐมนตรีก็ได้มีมติให้นำเสนอร่างพระราชบัญญัติการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้มีมติผ่านพระราชบัญญัติดังกล่าวในวาระที่หนึ่ง พร้อมทั้งได้ส่งให้คณะกรรมาธิการการปกครองพิจารณาจนเสร็จสิ้น แล้วจึงนำเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติในวาระที่สองและที่สาม ซึ่งที่ประชุมได้มีมติผ่านร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวทั้ง ๒ วาระ รัฐบาลจึงได้นำร่างพระราชบัญญัติการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย และได้นำไปประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๐๘ ตอนที่ ๒๐๕ ลงวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๓๔ แล้ว
จากปี พ.ศ. ๒๕๒๒ จนถึงปี พ.ศ. ๒๕๓๔ รวมเป็นเวลาประมาณ ๑๒ ปี ทั้งฝ่ายรัฐบาลและหน่วยงานทุกหน่วยที่เกี่ยวข้องกับบุคคลพิการเห็นพ้องกันว่าถึงเวลาที่เราจะต้องมอบกฏหมายฉบับนี้แก่คนพิการเพื่อประกาศอย่างชัดแจ้งว่า ทั้งรัฐบาลและปวงชนชาวไทยมีความเห็นว่า คนพิการเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่สำคัญของประเทศและจะไม่ถูกปล่อยปละละเลยอีกต่อไป คนพิการจะได้รับการพัฒนาฟื้นฟูสมรรถภาพทุกด้าน และมีสิทธิเสรีภาพเท่าเทียมกับคนปกติและมีการเปิดโอกาสให้คนพิการเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองและสังคมได้อย่างเต็มที่เพื่อให้คนพิการสามารถดำรงชีวิตยู่ในสังคมไทยได้อย่างมีศักดิ์ศรี
สรุปประเด็นสำคัญของพระราชบัญญัติการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ พ.ศ. ๒๕๓๔
๑. ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งเรียกว่า "คณะกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ" มีหน้าที่หลักดังนี้ คือ เสนอแนะนโยบายการดำเนินงานและแผนบริหารงานเกี่ยวกับการสงเคราะห์การพัฒนาและการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการต่อรัฐมนตรี เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบ และมอบหมายให้ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป พร้อมทั้งให้คำแนะนำปรึกษาเสนอความเห็นแก่รัฐมนตรีในการปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ สนับสนุนและส่งเสริมการดำเนินงานโดยให้ความช่วยเหลือทางวิชาการ เงินอุดหนุน ฯลฯ แก่ส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐและเอกชน ที่เกี่ยวข้องกับการให้การสงเคราะห์ การพัฒนาและการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ จัดทำโครงการ และวางระเบียบข้อบังคับและข้อกำหนดต่างๆ ภายในขอบเขตการดำเนินงานเกี่ยวกับการสงเคราะห์ การพัฒนา และการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ อนุมัติโครงการหรือแผนงานที่จะใช้เงินกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ และวางระเบียบเกี่ยวกับการบริหารและการใช้จ่ายเงินกองทุนดังกล่าว รวมทั้งปฏิบัติงานอื่นตามที่รัฐมนตรีมอบหมาย
๒. ให้บริการฟื้นฟูสมรรถภาพทุกด้านคือ ด้านการแพทย์ การศึกษา การสังคม และการอาชีพครบทุกด้านแก่คนพิการ รวมทั้งกำหนดให้มีศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษาพิเศษในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ
๓. ให้จัดตั้ง "กองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ" ขึ้นในสำนักงานคณะกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ เพื่อดำเนินงานและสงเคราะห์ช่วยเหลือคนพิการ สนับสนุนสถาบันบริการด้านการฟื้นฟูสมรรถภาพทุกด้าน รวมทั้งสนับสนุนศูนย์เทคโนโลยีทางการศึกษาพิเศษด้วย
๔. ให้เจ้าของอาคารสถานที่ ยานพาหนะหรือบริการสาธารณะอื่นๆ จัดอุปกรณ์อำนวยความสะดวกแก่คนพิการ
๕. ให้นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการของเอกชน รับคนพิการเข้าทำงานตามลักษณะของงานในอัตราส่วนที่เหมาะสมกับลูกจ้างอื่น
อ้างอิงจาก สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 16
จากพรบ.การฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ พ.ศ. 2534 ได้กำหนดอัตราส่วนพนักงานคนพิการต่อคนทั่วไป ในบริษัท หรือหน่วยงาน ในอัตราส่วนประมาณ 1% หมายถึง พนักงานในบริษัท มี 100 คนต้องมีคนพิการอย่างน้อย 1 คน หรือถ้าไม่รับคนพิการเข้ามาทำงานก็ให้ทดแทนด้วยการทำบุญบริจาคช่วยเหลือได้
อย่างไรก็ตาม มีกฎหมายรองรับอาชีพคนพิการ ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี แต่สังคมไทย จะเคร่งครัดปฏิบัติตามกฎหมายมากน้อยกแค่ไหน ใครจะเป็นผู้ตรวจสอบ
สัญลักษณ์คนพิการ ด้วยสีเขียว สัญลักษณ์สากลที่บอกให้ผู้พิการทราบว่าสามารถใช้สถานที่นั้น ๆ ได้


ไม่มีความคิดเห็น: