07 ตุลาคม 2552

เครื่องเสียงปราบม็อบ “แอลแรด” ทำให้หูหนวก


การประชุมสุดยอดกลุ่มจี-๒๐ ที่เมืองพิตส์เบิร์ก สหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ ๒๔-๒๕ ก.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งนายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เข้าร่วมประชุมด้วย งานนี้มีกลุ่มเคลื่อนไหวต่อต้านระบบทุนนิยม รวมพลประท้วงป่วนการประชุมหลายพันคนและตำรวจสหรัฐได้งัดเครื่องเสียงควบคุมฝูงชน “แอลแรด” ขึ้น มาใช้เป็นครั้งแรกในประเทศ

แอลแรด (LRAD : Long Range Acoustic Device) ยังเป็นของใหม่และยังไม่มีชื่อเรียกเป็นทางการในบ้านเรา เท่าที่เห็นบ้างก็เรียกว่า เครื่องขยายเสียง (รบกวน) ระยะไกล เครื่องที่ก่อให้เกิดคลื่นความถี่สูง หรือเครื่องรบกวนพิเศษระยะไกล แต่บางคนบอกว่า เรียก “เครื่องเสียงปราบม็อบ” ดูจะง่าย และตรงตามจุดประสงค์ของมันมากที่สุด เท่ากับว่าสหรัฐประเทศผู้ผลิตคิดค้นมัน ตำรวจนำออกมาใช้หลังไทยเราเสียอีก เพราะตำรวจไทยนำมาใช้รับมือการชุมนุมประท้วงของสหภาพแรงงานบริษัทไทรอัมพ์ และคนงานบริษัทเวิลด์ เวลล์ การ์เมนต์ บริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล และรัฐสภา เมื่อวันที่ ๒๗ ส.ค. อันที่จริงมันถูกนำไปใช้ในอิรักหลายปีแล้ว สำหรับสกัดฝูงชนที่อยู่นอกเหนือการควบคุม แต่ที่ทำให้มันเป็นที่รู้จักกันแพร่หลาย เห็นจะเป็นคราวที่ใช้ปราบปรามการ ชุมนุมของคนนับแสน ประท้วงขับไล่รัฐ บาลจอร์เจีย ในกรุงทบิลิซีเมื่อเดือน พ.ย. ๒๕๕๐

ถึงแม้มันจะเข้าข่ายเป็น “อาวุธสงคราม” ชนิดหนึ่ง แต่องค์การสหประชาชาติก็ได้ให้การรับรองการใช้งาน คลื่นลำเสียง เหมือนลำแสงของไฟสปอตไลต์ สามารถส่งเสียงรบกวนประสาทหูมนุษย์ ในระดับ ๑๕๑ เดซิเบล หากยืนอยู่ห่าง ๑ เมตร แต่พิกัดทำการปกติของมัน จะอยู่ที่ประมาณ ๓๐๐-๕๐๐ เมตร ซึ่งเสียงรบกวนจากแอลแรดจะดังประมาณ ๙๐ เดซิเบล แค่นี้ประสาทหูคนปกติก็ทนไม่ได้ อยู่ไม่ไหวแล้ว ระดับเสียงที่จะทำให้มนุษย์ เจ็บปวดประสาทหู อยู่ที่ ๑๐๖ เดซิเบลขึ้นไป ถ้าเปิดเสียงดังเต็มที่ สามารถได้ยินไกลถึง ๓ กิโลเมตรกว่า คนที่เคยได้ยินเสียงมัน บางคนบอกในระยะไกลเสียงมันเหมือนสัญญาณกันขโมยในรถยนต์ แต่ถ้าเข้าใกล้จะคล้ายเสียงเครื่องยนต์ไอพ่น หลังจากตำรวจมะกันนำออกมาใช้เป็นครั้งแรกที่พิตส์เบิร์ก มีเสียงต่อต้านเซ็งแซ่ ทั้งจากคนในวงการกฎหมาย และกลุ่มสิทธิมนุษยชน

โจเอล คัพเฟอร์แมน ทนายความจากสมาคมนักกฎหมายแห่งชาติสหรัฐ หนึ่งในผู้เข้าร่วมการชุมนุมประท้วงการประชุมจี-๒๐ ที่พิตส์ เบิร์ก ด้วย ในฐานะผู้สังเกตการณ์ทางด้านกฎหมายบอกกับนักข่าวที่ไปสัมภาษณ์ว่า เสียงของมัน “สุดจะทนไหว” ส่วนวิค วอลแซค หัวหน้าฝ่ายกฎ หมายของสหภาพเสรีภาพพลเมืองอเมริกัน ในรัฐเพนซิลเวเนีย บอกว่ามันเป็นอาวุธสำหรับกองทัพ ที่สามารถทำให้คนสูญเสียการได้ยินอย่างถาวร และมันท้าทายต่อการถูกฟ้องร้อง ในข้อหาใช้กำลังประทุษร้ายเกินกว่าเหตุ

ขณะที่ แคเธอรีน พาลเมอร์ แห่งคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย อธิบายว่า ระดับเสียง ๑๔๐ เดซิเบล สามารถทำให้คนหูหนวกได้ในทันที ดังนั้นจึงถือว่ามันเป็นเครื่องมือที่อันตรายมาก หากถูกใช้โดยไม่ระมัดระวังเพียงพอ แต่สำหรับโรเบิร์ต พัตนั่ม โฆษก บริษัทอเมริกัน เทคโนโลยี คอร์ป แห่งเมือง ซานดิเอโก ซึ่งเป็นผู้ผลิตแอลแรด บอกว่า ตั้งแต่มันถูกใช้งานมานานหลายปี ในหลายประเทศ ยังไม่เคยได้รับรายงานมีผู้บาดเจ็บจากมัน มีแต่เสียงชมเชยจากผู้ใช้บอกว่าเป็น เครื่องมือสื่อสารระยะไกล ที่ใช้ได้ผลดีจริง ๆ ( เดลินิวส์ออนไลน์/มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย ๖ ต.ค. ๒๕๕๒ )

ไม่มีความคิดเห็น: