13 มกราคม 2555

ชีวิตไม่เคยพิการ 'ถึงผมเป็นใบ้ แต่ไม่ไร้ไอเดีย'


อีกหนึ่งตัวอย่างของชีวิตที่ไม่มีวันล้ม ซึ่งถ้าใครได้เห็นแล้วคงต้องอึ้งถึงความสามารถในตัวผู้ชายคนนี้ อรรถ -อรรถพล กรวิทยานนท์ หนุ่มพิการหูหนวกมาตั้งแต่กำเนิด เขาอาจเลือกเกิดไม่ได้ว่าอยากให้ร่างกายครบถ้วนสมบูรณ์ แต่เขาก็สามารถใช้ชีวิตได้เหมือนคนปกติ มีความมุ่งมั่น และความฝันของตัวเอง ซึ่งคนบางคนที่สมบูรณ์แบบ ยังทำไม่ได้เสียด้วยซ้ำ

แม้ว่าจะมีอุปสรรคเรื่องอาการหูหนวกที่เป็นมาตั้งแต่กำเนิดก็ตาม แต่สำหรับ อรรถ ไม่เคยหยิบปมนี้มาเป็นข้อต่อรองให้ความคิดของเขารู้สึกท้อแท้ เขาเลือกที่จะทำในสิ่งที่ตัวเองรักและฝันมาตลอด ก็คือ การเป็นนักออกแบบเสื้อผ้า และสร้างแบรนด์เป็นของตัวเอง หลังจากที่เรียนจบปริญญาตรีจากคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และปริญญาโท ที่คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในสาขาออกแบบแฟชั่น

“ตั้งแต่เด็กผมก็รู้สึกชอบเรื่องเสื้อผ้า ชอบใช้ความคิดออกแบบเสื้อ คงเพราะครอบครัวทำธุรกิจด้านนี้ด้วย ก็เลยซึมซับ พอโตขึ้นก็เลยเลือกเรียนสาขานี้ จะได้มีพื้นฐานที่แน่นขึ้น จนเรียนจบก็เริ่มออกแบบเสื้อผ้าขายจริงๆจังมากขึ้น จนเมื่อ ๓ ปีที่แล้วก็ทำแบรนด์ตัวเองขึ้นมาใช้ชื่อว่า ‘ATTAE’ (เอตเต้) มาจากชื่อของผมเอง” แม้ว่าผลงานของเขา อาจจะยังไม่เป็นที่รู้จักในวงการแฟชั่นชั้นนำมากนัก แต่อรรถก็ไม่เคยคิดหยุดนิ่ง ๓ ปีที่แล้วเคยทำอะไรไปบ้าง ทุกวันนี้เขาก็พัฒนางานตัวเองให้ดีมากขึ้น และถูกใจคนใส่มากขึ้น

“เสื้อผ้าของผมจะเน้นออกแบบเพื่อผู้หญิงอายุตั้งแต่ ๓๐ ปีขึ้นไป เริ่มแรกที่ทำจะออกแบบเรียบๆ ไม่ค่อยมีรายละเอียดมาก ซึ่งก็ได้รับคำติชมจากลูกค้ามาเรื่อยๆ จนเราพัฒนางานให้ดียิ่งขึ้น เริ่มดึงงานปัก ถัก มาใช้กับเสื้อผ้า ซึ่งลูกค้าก็ชอบ เพราะมันเป็นงานที่ดูใส่ใจ มีรายละเอียด และมันก็สะท้อนถึงตัวผมได้ดี เพราะส่วนตัวเป็นคนชอบปักเย็บอยู่ด้วย คอลเลกชั่นส่วนใหญ่ หลังๆ มานี้จึงเห็นว่าจะมีงานปักให้เห็นอยู่ตลอด จะเล็กหรือใหญ่ก็ว่าไปตามการออกแบบมากกว่า”

อาการหูหนวกของอรรถ อาจไม่มีผลต่อการใช้ความคิดสร้างสรรค์ในเรื่องออกแบบเสื้อผ้า แต่สำหรับเรื่องการติดต่อสื่อสารนั้นเป็นอุปสรรคสำคัญ เพราะอรรถไม่ได้ทำแค่หน้าที่ดีไซเนอร์ของแบรนด์ ATTAE อย่างเดียว แต่เขายังเป็นคนติดต่อประสานงานกับลูกค้า ดูแลลูกน้อง รวมไปถึงต้องช่วยงานกิจการของครอบครัวด้วย

“หลักๆ ที่ผมทำงานทุกวันนี้ก็เป็นเรื่องการคิดแบบใหม่ๆ ต้องเรียนรู้ ดูแฟชั่นเยอะมาก จะได้รู้ว่าเขาไปกันถึงไหนแล้ว แต่อีกอย่างที่ต้องทำด้วยก็เรื่องการดูแลลูกน้อง ที่เป็นช่างตัดเย็บ และที่คอยช่วยเราประสานงานกับลูกค้าซึ่งต้องคอยสอนเขาด้วยว่าต้องทำอย่างไรบ้าง นอกจากนั้นก็คงเป็นธุรกิจเสื้อผ้าของที่บ้านครับ ยังไงก็ต้องช่วยดูแล เพราะเป็นของครอบครัว ตอนนี้ก็เลยไปๆ มาๆ สลับกันตลอด (ยิ้ม)”

ชีวิตดีไซเนอร์ของอรรถ อาจมีข้อจำกัดในเรื่องการสื่อสารอยู่บ้าง แต่เขาก็ไม่เคยมองว่าเป็นเรื่องที่แย่ที่สุดในชีวิต ซ้ำยังหันมาทุ่มเทเพิ่มขึ้น และมองเรื่องต่างๆในทางที่ดีไว้ก่อน

“ปัญหาที่เคยเจอมาหนักสุด คงเรื่องเหตุการณ์ทางการเมืองเมื่อปีที่แล้ว เพราะตอนนั้นร้านผมเปิดที่ห้างเซ็นทรัลเวิลด์ พอมีเรื่องก็ต้องปิด แต่ตอนนี้โชคดีได้ย้ายมาเปิดที่พาราไดซ์ พาร์คแล้ว ส่วนเรื่องอื่น ตอนนี้ผมคิดว่าก็จะทำให้ดีที่สุดก่อน พยายามเรียนรู้ให้มากๆ เพราะการเป็นดีไซเนอร์ที่ดีไม่ใช่เก่งแต่เรื่องการออกแบบเท่านั้น แต่เรื่องการวางแผนการตลาด มันก็เป็นสิ่งที่จำเป็นด้วย เพราะถ้าเราไม่รู้อะไรเลย เราก็จะสอนลูกน้องก็ไม่ได้ ผมยังคิดว่าปัญหา หรืออุปสรรคยังไงมันก็ต้องเจอครับ แต่เราต้องเข้าใจ และเต็มที่กับสิ่งที่ทำไว้ก่อนดีกว่า ไม่งั้นก็เสียเวลาเปล่าๆ ถ้ามานั่งคิดท้อแท้กับมัน”. ( ไทยรัฐออนไลน์/มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย ๑๙ พ.ค.๒๕๕๔)

โดย ไทยรัฐออนไลน์/มูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย ๑๙ พ.ค.๒๕๕๔ - 19 พ.ค. 54

ไม่มีความคิดเห็น: