13 มกราคม 2555

"TTRS" เพื่อคนหูหนวก


การถ่ายทอดการสื่อสารระหว่างผู้บกพร่องทางการได้ยิน มักมีข้อจำกัดในการสื่อสารด้วยการพูด อาจทำให้มีปัญหาทางการสื่อสารที่ผ่านอุปกรณ์โทรคมนาคมที่ฝ่ายผู้รับปลายทางอาจไม่มีหรือผู้รับไม่เข้าใจเนื้อหาที่สื่อสารโดยตรง เช่น การสื่อสารด้วยภาษามือ
ทว่าอีกไม่กี่เดือน คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ได้มีการอนุมัติให้มีการจัดทำโครงการนำร่อง ศูนย์บริการถ่ายทอดการสื่อสารสำหรับผู้บกพร่องทางการได้ยินและผู้บกพร่องทางการพูด โดยได้ร่วมมือกับมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ และศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ จัดทำ "ศูนย์ถ่ายทอดการสื่อสารแห่งประเทศไทย" (Thai Telecommunication Relay Service ) หรือเรียกสั้นๆว่า ศูนย์ TTRS
"ศูนย์ TTRS เป็นบริการใหม่ล่าสุดในประเทศไทย จะเปิดใช้งานจริงในเดือนตุลาคมที่จะถึงนี้ มีลักษณะเป็นคอลเซ็นเตอร์ จะมีประโยชน์มาก ยกตัวอย่างเช่น เด็กนักเรียนที่บกพร่องทางการได้ยินจะติดต่อสื่อสารให้แม่มารับ หากแม่นั้นใช้โทรศัพท์บ้านก็ไม่สามารถที่จะใช้ข้อความผ่านโทรศัพท์มือถือมาที่โทรศัพท์บ้านได้ หากศูนย์เปิดให้บริการก็จะเป็นสื่อกลาง แปลข้อความจากมือถือโทรศัพท์ไปบอกแม่ที่เบอร์บ้าน ถ้าแม่จะบอกให้ลูกรออยู่ที่ไหน ล่ามก็จะส่งข้อความกลับไป" วันทนีย์ พันธชาติ ผู้อำนวยการฝ่ายศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติแนะนำ


ผอ.วันทนีย์ ยังเสริมว่า นอกจากการส่งข้อความผ่านมือถือแล้ว แล้วยังสามารถถ่ายคลิปที่ผู้ส่งสารใช้ภาษามือ ส่งเป็นคลิปวิดีโอมาศูนย์ จะมีเจ้าหน้าที่ที่จะแปลข้อความไปยังผู้รับได้ โดยการคิดค่าใช้จ่ายจะคิดตามโปรโมชั่นปกติของแต่ละเครือข่ายในการส่งเข้ามา เช่น ข้อความละ 3 บาท แต่ข้อความที่ส่งกลับไปหรือส่งไปหาปลายทางนั้นจะไม่มีการคิดเงินแต่อย่างใด
นอกจากนี้ ยังเปิดบริการที่เป็น "Internet relay service" เป็นเหมือนกับแชท ผ่านตู้สีฟ้า ที่กำลังนำไปตั้งไว้ตามจุดบริการนำร่องทั้ง 30 จุด โดยหลักการทำงานของตู้ดังกล่าว ผู้บกพร่องทางการได้ยินจะสามารถสื่อสารด้วยภาษามือกับเจ้าหน้าที่ผ่านตู้นี้


ขณะนี้หลายหน่วยงานให้ความสนใจในการให้บริการของศูนย์ อาทิ โรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลรามาฯ ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลปิ่นเกล้า, เซ็นทรัลเวิลด์, พันธุ์ทิพย์ และ สน.ทุ่งมหาเมฆ สน.คลองตัน เป็นต้น โดยแต่ละสถานที่ที่ให้ความสนใจติดต่อเข้ามา ต้องดูด้วยว่าสถานนั้นๆ มีไฟและอินเทอร์เน็ตความเร็วไม่ต่ำ 1 เมก
สำหรับเจ้าหน้าที่คอลเซ็นเตอร์ สมัครและคัดเลือกมาจากนักศึกษามหาวิทยาลัยราชสุดา 7 คน มีเจ้าหน้าที่ควบคุมอีก 2 คน หมุนเวียนกันทำงานตั้งแต่ 7 โมงเช้าถึง 5 ทุ่ม ทั้งนี้ ในช่วงการทดลองระบบ มีการเทรนล่าม รวมทั้งหาผู้บกพร่องทางการได้ยิน 300 คนมาใช้บริการเพื่อเป็นการทดสอบระบบว่าต้องแก้ไขเพิ่มเติมอย่างไรหรือไม่


6 บริการ...จาก "TTRS"



- บริการถ่ายทอดการสื่อสารแบบ "เอสเอ็มเอส" (ข้อความสั้นๆ) "เอ็มเอ็มเอส" (ข้อความภาพนิ่ง, ภาพเคลื่อนไหว) : ผู้บกพร่องทางการได้ยินจะส่งผ่านข้อความต่างๆ ไปยังศูนย์ที่มีเจ้าหน้าที่ถ่ายทอดการสื่อสาร จากนั้นเจ้าหน้าที่จะส่งเป็นเสียงพูดไปยังผู้รับปลายทาง
- บริการถ่ายทอดการสื่อสารแบบข้อความออนไลน์บนอินเทอร์เน็ต : ผู้บกพร่องทางการได้ยิน จะส่งข้อความออนไลน์บนอินเทอร์เน็ตไปยังเจ้าหน้าที่ถ่ายทอดการสื่อสาร จากนั้นจะมีการส่งเป็นเสียงพูดไปยังผู้รับปลายทาง
- บริการถ่ายทอดการสื่อสารแบบภาพเคลื่อนไหวบนอินเทอร์เน็ต : ผู้บกพร่องทางการได้ยิน จะส่งภาพเคลื่อนไหวออนไลน์บนอินเทอร์เน็ตไปยังเจ้าหน้าที่ถ่ายทอดการสื่อสาร ส่งเป็นเสียงพูดและส่งไปยังผู้รับปลายทาง
- บริการถ่ายทอดการสื่อสารแบบภาพเคลื่อนไหวบนโทรศัพท์เคลื่อนที่ : ผู้บกพร่องทางการได้ยินจะส่งภาพเคลื่อนไหวบนโทรศัพท์เคลื่อนที่ไปยังเจ้าหน้าที่ถ่ายทอดการสื่อสาร จากนั้นส่งเป็นเสียงพูดไปยังผู้รับปลายทาง
- บริการถ่ายทอดการสื่อสารแบบภาพเคลื่อนไหวบนเครื่องบริการสาธารณะ : ผู้ที่บกพร่องทางการได้ยินกับผู้รับส่งภาพเคลื่อนไหวออนไลน์บนบริการสาธารณะ ไปยังเจ้าหน้าที่ถ่ายทอดการสื่อสาร จะส่งเป็นเสียงพูดกลับมายังผู้รับปลายทางที่อยู่ข้างๆ
- บริการถ่ายทอดการสื่อสารเพื่อแจ้งเหตุฉุกเฉิน : ผู้ที่บกพร่องทางการได้ยินส่งทุกวิธีใน 1-5 เจ้าหน้าที่ถ่ายทอดการสื่อสารส่งเป็นเสียงพูดให้หน่วยงานรับแจ้งเหตุฉุกเฉิน

ไม่มีความคิดเห็น: